ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : ว่าด้วยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร


ชาวไทยในลอส แอนเจลิส  ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ณ หน่วยเลือกตั้งวัดไทย ลอส แอนเจลิส เมื่อเดือนมินุนายน 2011




ก่อนวันสิ้นปีไม่กี่วัน สยามทาวน์ยูเอส มีโอกาสได้สอบถามรองกงสุลใหญ่ฯ โกศล สถิตย์ธรรมจิต ถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ของพวกเราที่อยู่ในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ว่าควรมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ถามเพราะข่าวจากเมืองไทย (ขณะนั้น) บอกว่าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย น่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนมีนาคม หากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2019 เพราะกฎหมายบอกว่าการเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายใน 60 วันนับจากพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้

ท่านรองกงสุลใหญ่ฯ บอกว่ายังไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยว่ายังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหลายฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้

ด้วยความไม่รู้คิว และไม่ทันผิดสังเกตุว่าท่านรองฯ โกศล มีท่าทีอึดอัดกับคำถามนี้ค่อนข้างมาก จึงถามต่อว่าขอคำแนะนำแบบกลางๆ ก็ได้... พ.ร.ฏ.ผ่านเมื่อไหร่ค่อยว่ากันแบบชัดเจนอีกครั้ง

ท่านบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ พร้อมกระซิบถามว่า “ไม่เห็นข่าวสถานทูตที่ฟินแลนด์เหรอครับ”

นั่นทำให้เราต้องกลับมากูเกิล หาข่าวนี้ในทันที... เจอในเว็บไซต์ข่าวสด พาดหัวข่าวว่า “ดอน” สั่งตรวจสอบ ปมสถานทูตไทยในฟินแลนด์ โพสต์แจ้งคนไทยเตรียมเลือกตั้ง เป็นข่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2018

เนื้อข่าวบอกว่าเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลชิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก เชิญชวนบุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักในฟินแลนด์และเอสโตเนีย ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โปรดเตรียมเอกสารประจำตัวเพื่อใช้สำหรับการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และสำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทางไทยที่มีอายุการใช้งาน และมีข้อมูลตรงตามทะเบียนราษฎร์ หากพบว่าเอกสารดังกล่าวหมดอายุ หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ ขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องในโอกาสแรก

ข่าวสดบอกว่าประกาศดังกล่าว ทำให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ สั่งการให้มีการตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งการให้สถานทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ ออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบไม่พบว่าเรื่องนี้ลงเอยอย่างไร ทางสถานทูต, ท่านทูต หรือเจ้าหน้าที่สถานทูต ได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่

แต่เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะเป็นการกระทำ (ที่เรามองว่า) มีความบริสุทธิ์ใจเป็นฐานที่ตั้ง หาได้มีเจตนากดดันรัฐบาล หรือเจตนาแอบแฝงอื่นใดอย่างที่มีการติติงกัน

ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีสื่อมวลชนไทยในแอลเอ ท่านหนึ่ง โพสต์ขอความเชิญชวนให้คนไทยนอกราชอาณาจักรลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในกลุ่มไลน์ “สื่อมวลชนไทยในสหรัฐ” ทำให้ท่านรองกงสุลใหญ่ฯ โกศล สถิตย์ธรรมจิต ต้องรีบออกมาแก้ข่าวทันที โดยบอกว่าข้อความประชาสัมพันธ์ให้ลงทะเบียนดังกล่าว ไม่ได้ออกโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส

“ข้อความประชาสัมพันธ์ให้ลงทะเบียนฯ ข้างต้น ไม่ได้ออกจาก สกญ. นะครับ (เรายังไม่สามารถกำหนดวันลงทะเบียนฯ ได้หากกฎหมายยังไม่ออก) และฟอร์มลงทะเบียนนั้น เป็นฟอร์มเก่าที่เลิกใช้แล้วครับผม (ฟอร์มใหม่ยังไม่ออก) เลยจะขอความกรุณาพี่ๆ ว่า อย่าเพิ่งนำไปประชาสัมพันธ์ต่อเลยนะครับ” และลงท้ายว่า หากมีความคืบหน้าอะไรที่ประชาสัมพันธ์ได้ ตนรับรองว่าจะแจ้งให้ทราบโดยด่วน

และล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2018 ทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ก็ได้ออกหนังสือสารนิเทศ เลขที่ 48/2561 (ลต. นรจ. 2) เรื่อง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของหน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส มายังสื่อมวลชนในแอลเอ เพื่อทำความเข้าใจ “อย่างเป็นทางการ” อีกครั้ง... ความว่า...

“ตามที่ในรอบ 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้รับการติดต่อสอบถามจากคนไทยที่พำนักอยู่ในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ณ หน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยว่า จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น
   
สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งจะให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้งฯ อย่างเป็นทางการ) กอปรกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหลายฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงไม่สามารถออกประกาศใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งกับหน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ อย่างเป็นทางการได้ อย่างไรก็ดี ขอแจ้งข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เพื่อประกอบการเตรียมตัวของคนไทยที่พำนักอยู่ในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ ดังนี้

1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ได้แก่ ผู้มีสัญชาติไทย (ถ้าแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง  โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง (ของไทย) มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันถึงวันเลือกตั้ง (ซึ่งมีนัยรวมถึงว่าต้องไม่ใช่ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางด้วย) และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (กล่าวคือไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่ ไม่ถูกคุมขังโดยหมายศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน) ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามมาตรา 95 และ 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมาตรา 31 และมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

2. การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกับหน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ
       
2.1 ตามมาตรา 109 – 112 ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิฯ ทุกครั้งที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมีนัยว่า ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ จะต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิฯ ใหม่ทุกคน
       
2.2 สถานกงสุลใหญ่ฯ จะประกาศให้เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ณ 
หน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ หลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้ หากวันเลือกตั้งเป็นไปตามที่เป็นข่าว (คือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562) ก็คาดว่าจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนฯ ได้ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม 2562
       
2.3 เท่าที่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คาดว่า เมื่อเปิดให้ลงทะเบียนฯ ได้แล้ว การลงทะเบียนฯ จะกระทำได้ 3 ช่องทาง โดยให้ท่านเลือกเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ดังนี้
           
- ลงทะเบียนด้วยตนเองทางเว็บไซต์ www.khonthai.com (ซึ่งบริหารจัดการโดยกระทรวงมหาดไทยของประเทศไทย) หรือ
           
- ลงทะเบียนด้วยตนเองกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ หรือ
           
- ลงทะเบียนโดยกรอกแบบฟอร์มที่เป็นกระดาษ แล้วส่งกลับมาถึงสถานกงสุลใหญ่ฯ ภายในเวลาที่กำหนด
   
3. วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการเลือกตั้งปี 2562


โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่กว้างขวางของเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ กอปรกับการมีข้อจำกัดด้านเงื่อนเวลา สถานกงสุลใหญ่ฯ คาดว่า จะใช้การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ (กล่าวคือ ผู้ที่ลงทะเบียนไว้และมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้รับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้ และเมื่อลงคะแนนแล้วก็ปิดซองที่ให้ไปคราวเดียวกัน ส่งไปรษณีย์กลับมาที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ภายในเวลาที่กำหนด หรือนำซองเลือกตั้งที่ปิดผนึกแล้วมาหย่อน ณ จุดรับคืนซองบัตรเลือกตั้งฯ) ซึ่งเป็นวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งฯ ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา
   
4. ช่องทางการรับข่าวสารจากหน่วยเลือกตั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ

 สถานกงสุลใหญ่ฯ จะออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฯ และดำเนินการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งฯ ในโอกาสแรกที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการได้ ในการนี้ เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารสำคัญ ขอเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ เพิ่มเพื่อนจาก LINE ID ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ @thaiconsulatela ตลอดจนติดตามข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ของสถานกงสุลใหญ่ฯ  ทางเว็บไซต์ (www.thaiconsulatela.org) Facebook (Royal Thai Consulate-General, Los Angeles) 
ทวิตเตอร์ (ThaiCGLA) และอินสตาแกรม (thaiconsulatela)

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
                           
….

ทั้งนี้ คนไทยทุกคนที่มีถิ่นฐานอยู่นอกราชอาณาจักรไทย มีสิทธ์ิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพุทธศักราช 2550 ที่ระบุว่า “การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในประเทศไทย เพียงแต่เป็นการจัดการเลือกตั้งนอกประเทศไทย โดยมีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งให้”

และที่ผ่านมา คนไทยนอกราชอาณาจักรอย่างเราๆ ท่านๆ มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยมาแล้วถึงแปดหน คือการเลือกตั้งปี 2000 (2 ครั้ง) ปี 2004 (1 ครั้ง) ปี 2006 (2 ครั้ง) ปี 2007 (1 ครั้ง), ปี 2008 (1 ครั้ง) 

และครั้งสุดท้าย มีขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2011 หรือเมื่อแปดปีที่แล้ว ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งผู้แทนราษฎรเกินครึ่ง (อีกเป็นครั้งที่สอง) และทำให้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 และเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ครั้งล่าสุดของพวกเราเมื่อแปดปีก่อนนั้น สยามทาวน์ยูเอส และสื่อในเครือ มีส่วนร่วมอย่างมากในการรณรงค์ให้ชาวไทยในอเมริกา ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ แอลเอ เพิ่มจาก 4,570 คนในปี 2007 เป็น 8,325 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 181.50 เปอร์เซ็นต์ ขณะตัวเลขรวมทั่วอเมริกาก็เพิ่มขึ้นกว่า 195 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15,031 คน

ส่วนจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง วัดจากจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกส่งถึงสถานกงสุลใหญ่ฯ ทันกำหนดปิดหีบ คือวันที่ 30 มิถุนายน 2011 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,842 คน คิดเป็น 70.17 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ แอลเอ

ส่วนบัตรเลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ขาดหายไปนั้น สถานกงสลุใหญ่ฯ บอกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 150 ใบ เป็นบัตรเลือกตั้งที่ถูกตีกลับเพราะไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า อาจมีการย้ายที่อยู่หรือย้ายกลับเมืองไทยโดยไม่ได้แจ้งสถานกงสุลฯ ฯลฯ ที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์นั้น คือบัตรที่ผู้รับไม่ได้ส่งกลับมายังสถานกงสุลฯ จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่...

ส่วนตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน อยู่ที่ 2,199 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ฯ 3,148 คน หรือ 68.23 เปอร์เซ็นต์, สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ค มีผู้ใช้สิทธิ์ 1,223 คน จาก 1,664 คน คิดเป็น 73.49 เปอร์เซ็นต์ และที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก มีผู้ใช้สิทธิ์ 1,280 คน จาก 1,964 คน คิดเป็น 65.17 เปอร์เซ็นต์

รวมจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั่วสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 10,180 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 15,098 คน หรือคิดเป็น 69.41 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าขณะนี้ จะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปที่แน่นอน แต่ขอให้ทุกคนมองโลกในแง่ดีว่าการเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน และขอให้รอฟังข่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อว่าทันทีที่สถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พวกเราทุกคน จะได้รีบลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์ตามอำนาจหน้าที่ของพวกเรากันให้เต็มที่

ท่านทูตจักร บุญ-หลง ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการกงสุล เคยกล่าวกับสยามทาวน์ยูเอส ถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทยนอกราชอาณาจักร เมื่อปี 2011 ว่า ไม่ได้มีความสำคัญแค่การมีส่วนร่วมคัดเลือก “คนดี” และมีความสามารถ เข้าไปบริหารประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของพวกเราเองด้วย

   “มันไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้สิทธิทางการเมือง แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของเรา เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันเป็นคนไทยอยู่ที่นี่ ยังมีสิทธิ์มีเสียงอยู่ ถ้าเสียงฉันหมื่นเสียงก็ดังมากขึ้น ถ้าเสียงฉันแค่ห้าพัน มันดังน้อยกว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เขาจะได้คิดว่าเสียงที่นี่มีความหมายนะ หมื่นเสียงสองหมื่นเสียง มีอะไรก็ต้องนึกถึงเรา เช่น เราร้องว่า เฮ้ย! คุณมาตัดงบประมาณชุมชนไทยเข้มแข็งไปได้ไง เสียงสองหมื่นเสียงมันดังพอที่เขาจะต้องคิด เราต้องช่วยดูแลผลประโยชน์ของเราเอง อย่าให้เขามองข้าม”

ท่านจักร บุญ-หลง บอกกับสยามทาวน์ยูเอส ถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั้งแปดครั้งของคนไทยในอเมริกาว่า เป็นแค่เสียงกระซิบที่แผ่วๆ ของคนไทยที่นี่เท่านั้น

"ผมอยากได้ยินเสียงตะโกนดังๆ จากชุมชนไทยที่นี่ จากชุมชนไทยในต่างประเทศ เพื่อให้คนที่เมืองไทยตระหนักถึงความสำคัญ การมีตัวตนที่แท้จริงของคนไทยที่นี่ และสิ่งที่จะตามมาก็คือความสนับสนุนในโครงการต่างๆ ที่พวกเรากำลังทำอยู่ ที่พวกเรามีแผนที่จะทำเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ท่านทูตจักร บุญ-หลง ระบุชัดเจน...

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/179)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/64) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/162) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/248) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/272) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข