ข่าวคนไทยในอเมริกา
บุคคลหน้าสาม : “เสาวภา ออลล์ไบรท์” กับความภูมิใจ เนื้อแท้ที่เป็นไทยในงาน “แกะสลัก”


อาจารย์เสาวภา ออลล์ไบรท์







โดย : กฤติยา รักแต่งาม


คติประจำใจของเธอคือ “ถือว่าลงมือทำแล้ว ต้องทำให้ตลอด”...เพราะประสบการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ยุ่ง ที่อีนุงตุงนังกับกองผัก-ผลไม้-ดอกไม้ ที่ต้องนำไปจัดแต่งประดับประดาสถานที่ใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน “ความในใจ” สรุปสั้นๆ คือ...ก็ต้องไปให้จบม้วน

ตัวอย่าง “งานมาก” นัมเบอร์วันของ อาจารย์เสาวภา ออลล์ไบรท์  (Allbrite) ที่  “เอ็มจีเอ็ม” อันเป็นสถานที่สร้างหนังใหญ่ ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เธอได้มีโอกาสเข้าไปจัดเตรียมอาหารตามเต๊นท์ยักษ์ต่างๆ ถึงแปดเต๊นท์ เธอเล่าว่า...

“...เต๊นท์ๆ หนึ่งใหญ่เท่าบ้านสองหลัง เราต้องเอาข้าวของของเราไปบรรจุ หลักๆ คือเป็นอาหารตั้งกลางเต๊นท์ มีเกาะน้ำแข็ง เราต้องสลักพัมกิ้นและคว้านไส้ในออก ทำให้เป็นโถ แต่ละเต๊นท์ต้องมีพัมกิ้น 8-10 ลูกตั้งอยู่ เพื่อนำมาบรรจุเครื่องจิ้ม (dip) และต้องมีผักสลักตกแต่ง แล้วก็ต้องจัดดอกไม้ทุกโต๊ะ ทุกที่...”

อีกที ที่เรียกว่า “งานมาก” ได้ คือการประดับประดาดอกไม้บน “รถบุปผชาติ” ของบริษัท “การบินไทย” ที่นำมาอวดสายตาผู้คนทั่วโลก ในขบวน “โรสพาเหรด” พาเหรดฉลองปีใหม่ที่เมืองพาซาดีน่า ซึ่ง “อาจารย์เสาวภา” จะต้องเข้าไปดำเนินงานเรื่องดอกไม้ ทั้งไซส์ ทั้งสี ขนาดและจำนวน มากมายก่ายกอง ง่วนอยู่เป็นเดือน

จะทำงาน “ใหญ่ยักษ์” ระดับประเทศอย่างนี้ได้ ถ้า “ใจไม่เพรียก” ก็เรียกไม่มา...เสาวภา ออลล์ไบรท์ ก่อนจะมาเป็นอาจารย์สอนแกะสลักผัก-ผลไม้อยู่ที่โรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทย ลอส แอนเจลิส เรื่องของเธอ “ตั้งหลัก” ไกล “มีดสลัก” ยิ่งนัก

“...หลังจากจบมัธยมแปดแล้วอาจารย์ก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่บังเอิญไปได้งานที่บริษัทญี่ปุ่นด้วย เขาทำอิมพอร์ท-เอ็กซ์พอร์ท มีบริษัทแม่อยู่ที่ญี่ปุ่น พอเอาเข้าจริงๆ ก็ปรากฎว่างานเยอะมาก อยู่ทำงานจนเย็นค่ำ ในที่สุดก็ต้องออกกลางคันแล้วทำงานอย่างเดียว

...ต่อมาอาจารย์ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม แล้วก็เปลี่ยนงานไปทำกับบริษัทที่มีสัมปทานสร้างสนามบินต่างๆ อย่างสนามบินอู่ตะเภา ก็บริษัทนี้สร้างตอนทหารอเมริกันเข้ามา มีทหารบก ทหารอากาศ อาจารย์ไปทำงานเป็นเลขาที่บริษัทสัมปทานสร้างเครื่องบินนี้ ต่อมาก็มีบริษัท “อเมริกันจิวเวลรี่” มาเปิดในประเทศไทย เลยออกจากการเป็นเลขาฯ ไปทำเป็น จิวเวลรี่ ดีไซเนอร์ ก็ไม่ทราบว่าทำไปได้ยังไง ทำอยู่พักใหญ่เลย...

จนกระทั่งมาเจอแฟน พอเจอเขาก็มีความคิดอยากจะมาเรียนที่อเมริกา เป็น “gemologist” (นักอัญมณีศาสตร์) แฟนบอกต้องแต่งงานก่อนถึงจะมาได้ พอแต่งงานแล้วก็มาอเมริกา มาเรียนเป็น “จิวเวลรี่ กับ เพิร์ลด์ ดีไซเนอร์” อาจารย์ได้ส่งงานเข้าประกวดด้วย ส่งไปที่ศูนย์กลางการประกวดเครื่องประดับของยูเอสเอเลย ได้รางวัลที่หนึ่งและรางวัลชมเชย

...ตอนนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นที่เขาทำเครื่องประดับเข้ามาติดต่อด้วย อาจารย์ก็คิดว่างานมันเพลนๆ ไม่ได้ดีไซน์หวือหวาอะไร แต่ปรากฎว่า ญี่ปุ่นบอกยูออกแบบมาใช้ได้หมด การออกแบบงานเพลนๆ กลายเป็นเรื่องไปตรงกับหลักการของเขาพอดี เพราะจิวเวลรี่มันมีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว การนำเสนอดีไซน์แบบเรียบๆ จะช่วยให้ไม่ตกสมัย อยู่ได้นาน...

ช่วงนั้นพอดีคุณแม่ป่วยหนักเลยชะงักงานออกแบบไว้ก่อน ต้องกลับเมืองไทยไปดูแลคุณแม่ และเป็นช่วงที่ตั้งท้องพอดี ก็อยู่ดูแลคุณแม่จนครรภ์แก่ สามีบอกอยากให้ลูกมาเกิดที่อเมริกา พอดีกับคุณแม่ก็อาการดีขึ้นแล้ว อาจารย์เลยกลับอเมริกามาคลอด...

คลอดลูกแล้วอาจารย์ก็ไปทำงานที่บริษัท “ที อาร์ ดับเบิ้ลยู” เป็นบริษัทศูนย์รวมข้อมูลเครดิตทั่วประเทศอเมริกา ตอนนั้นทำอยู่แผนกเก็บข้อมูล ทำอยู่สักพักก็มีเหตุจำเป็นต้องย้ายตามสามีไป “ซิมิ แวลเล่ย์” เพราะเขาไปได้งานที่นั่น...อาจารย์ก็เปลี่ยนงานอีกแล้ว คราวนี้ไปทำงานที่บริษัท “บลู ครอส” ทำเกี่ยวกับอินชัวรันซ์สุขภาพ และก็อยู่กับบริษัทนี้จนรีไทร์เลย...

 ช่วงย้ายมา “ซิมิ แวลเล่ย์” นี่แหละ อาจารย์ก็เข้ามาวัดไทยฯ มาทำดอกไม้ประดับตกแต่งตามที่ต่างๆ สมั้ยนั้น คนเริ่มต้นคือ คุณชาญชัย เกียรติไกลขจร เจ้าของร้าน “ชาญชัย” นั่นแหละค่ะ เข้ามาแล้วก็มาช่วยกันทำงานร้อยแปด ไม่ว่าแกจะทำอะไรอาจารย์ก็ช่วยอยู่ด้วย ตอนหลังแกก็ปล่อยเพราะร้านแกยุ่งมาก ต่อมาก็ได้พบกับคุณเรณู หิรัญรัตน์ แล้วก็คุณละออ อเนกานนท์...

...คนเก่าๆ สมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว จะรู้จักคนวัดทั้งสามท่านนะคะ คุณเรณูเป็นผู้สอนให้อาจารย์แกะสลักผัก-ผลไม้ เป็นครูคนแรกของอาจารย์ เราทำงานนี้กันอยู่สักระยะ คุณละออก็ดำริว่าควรจะเปิดคลาสสอน แล้วก็เป็นแรงใจให้อาจารย์เปิดคลาสสอนการสลักผัก-ผลไม้ ขึ้นมาจนได้...”

สามสิบกว่าปีแล้วที่ห้องเรียนแกะสลักผัก-ผลไม้ ที่วัดไทยฯ อยู่คู่กับโรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทยฯมา และทุกวันนี้ก็ยังคงเปิดรับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่-คุณพ่อที่พาเด็กๆ ไปเรียนภาษาไทยที่นั่นและใช้เวลาการรอลูกหลาน ไปเข้าคลาสเรียนการแกะสลัก หรือจะเป็นบุคคลนอกรั้ววัด ก็สามารถไปลงทะเบียนเรียนได้ ทั้งเสาร์-อาทิตย์ ห้องเรียนเปิดเวลา 11 โมง-บ่าย 3 จ่ายค่าเรียนแล้วมีอุปกรณ์ในการแกะสลักให้พร้อมสรรพ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 818-780-4200

แต่เนื่องด้วย อาจารย์เสาวภา ออลไบรท์  อยู่ในวัยรีไทร์แล้ว กอปรกับเธอมี “ศิษย์เอก” ซ้าย-ขวา ทั้ง กาญจนา (ตุ๊ก) ทวีทรัพย์ และ นิด้า (จิต) คงเจริญ “ถอดแบบ” ความวิจิตรงดงามมาได้อย่างหาตัวจับยาก เนื่องจากศึกษาเทคนิคการสลักเสลากับอาจารย์เสาวภามากว่าสิบปี รู้ “เคล็ดวิชา” หมดทุกรายละเอียด

“กาญจนา ทวีทรัพย์” มีธุรกิจ “เดย์ แคร์” เป็นของตนเอง มาเสริม “ทีมสอน” ร่วมกับ “นิด้า คงเจริญ” ซึ่งงานหลักของเธอคือการทำบัญชีให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งในออเรนจ์ เค้าน์ตี้ และใช้เวลาวันหยุดมาช่วยสอนงานแกะสลักผัก-ผลไม้ ในขณะที่โรงเรียนที่เธอทำงานอยู่นั้นมีการบรรจุวิชาแกะสลักไว้ในหลักสูตร และเธอเองเป็นผู้ดำเนินการสอน จนมีลูกศิษย์ชาวต่างชาติชื่นชอบและสนุกกับการเรียนวิชานี้ จนตามมาช่วยงานแกะสลักบ่อยๆ ในยามที่มีงานโชว์

“...อาจารย์ตอนนี้รีไทร์แล้ว แต่ยังมาอยู่บ้าง เวลาส่วนใหญ่ก็ไปปฏิบัติธรรม...ถ้าไม่กลับเมืองไทยก็จะมาอยู่ที่ห้องเรียนทุกเสาร์-อาทิตย์ มาช่วยกันสอน แต่วันที่ 9 ตุลาฯนี้จะกลับเมืองไทย และกลับมาวันที่ 5 เดือนกุมภาฯ 2018 ใครจะมาเจออาจารย์ก็ต้องรอเดือนกุมภาฯนะคะ...”

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะก่อน “วันแห่งความรัก” ใครจะ “ออร์เดอร์” ผักสลักอะไรไป “เซอร์ไพรส์” ในวงสำรับมื้อพิเศษพร้อมหน้า สั่งตรงเข้ามือถืออาจารย์เสาวภาได้ ที่ (818)284-7286 ราคาแล้วแต่ขนาดของผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น โถพัมพ์กิ้น ที่สามารถนำไปใส่เครื่องจิ้มต่างๆ, หรือผักหลากสีหลายชนิด ทำเป็นชุด เพื่อนำไปตกแต่งจานน้ำพริก หรือจานสลัด ฯลฯ

“...อาจารย์สอนใครแล้วก็อยากให้เขาไปค้นคว้าเพิ่มเติม ไปสร้างสรรค์ ความจริงเด็กใหม่ๆ ที่ทำขึ้นมา เขามีไอเดียของเขาเอง ฝีมือดีๆ ทั้งนั้นเลย ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีฝีมืออยู่บ้าง ก็เปิดเว็บไซด์ฝึกงานได้เอง รุ่นอาจารย์ควรจะหยุดได้แล้วและก็คอยเป็นแรงใจ คอยสนับสนุนเขา อาจารย์ก็ขอขอบใจเขาด้วยที่เขาช่วยทำและส่งเสริมสิ่งนี้ให้เป็นสมบัติของชาติไทยเราอยู่ อย่าทิ้งไปเสีย ช่วยกันสนับสนุนความภูมิใจของเรา...”

น้ำทุกหยด ล้วนทั้งหมดมีต้นน้ำ...ศิลป์ และอารยธรรม ล้วนมีที่มา.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/191)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/64) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/163) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/252) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/272) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข