ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
กำเนิดสุรา





ในพรรษานี้อาตมาจำพรรษากับพี่น้องชาววัดพุทธปัญญาเต็มพรรษา เป็นปีแรกหลังจากที่ได้ธรรมสัญจรไปตามที่ต่างๆเสียหลายปี เมื่อมาอยู่ด้วยกัน จึงชวนกันศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก ด้วยการคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาศึกษากันก่อน การศึกษาพระไตรปิฎกนี้ก็ทำทั้งที่วัดและออกอากาศทาง facebook ของวัดพร้อมๆกันไป ได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนตามสมควร


การศึกษาและการเผยแผ่พระธรรมจากพระไตรปิฎก ถือว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งพุทธบริษัทด้วย จะเห็นได้ว่าในบางประเทศที่พระพุทธศาสนาในรูปแบบอื่นถูกคุกคามทำร้าย แต่สุดท้ายที่เหลืออยู่ก็คือ พุทธธรรม นี้เอง การพยายามศึกษาสืบทอดพุทธธรรมจึงเป็นวิธีการปกป้องรักษา พระพุทธศาสนาประการหนึ่ง

วันนี้จะได้นำเรื่องวิวัฒนาการแห่งสุราตามหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎกว่า ในอดีตกาลนานโพ้น เมืองพาราณสี อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้าพรหมทัต มีนายพรานคนหนึ่งชื่อ สุระ จำชื่อนี้ไว้ดีๆ นายพรานคนนี้ตามปกติก็จะออกป่าล่าสัตว์เป็นประจำ วันหนึ่งออกจากบ้านที่แคว้นกาสี เมืองพาราณสีนั่นแหละ เดินทางเข้าไปยังป่าหิมพานต์เพื่อล่าสัตว์และหาของป่าตามอาชีพของเขา

เมื่อเขาเดินทางเข้าไปยังป่าหิมพานต์พบต้นไม้ต้นหนึ่ง ขยายกิ่งใหญ่ๆกระจายออกไปสามกิ่งใหญ่ๆ ตรงจุดที่กิ่งขยายออกไปนั้น มีโพรงไม้โพรงขนาดใหญ่เท่าตุ่ม นั่นก็หมายความว่า ทั้งต้นไม้ กิ่งไม้ และโพรงไม้รอยแยกของกิ่งที่ยื่นออกไปทั้งสามกิ่งล้วนแต่ใหญ่มาก เมื่อฝนตกโพรงไม้นั้นรองรับน้ำไว้เต็มที่

ใกล้ๆกับต้นไม้ มีต้นสมอ มะขามป้อม และพริกไทย ขึ้นล้อมรอบต้นไม้นั้น กิ่งยื่นประสานกันตามธรรมชาติของต้นไม้ในป่าใหญ่ ผลต้นไม้ที่ล้อมรอบต้นไม้นี้เมื่อสุกเต็มที่ส่วนหนึ่งตกลงบนพื้น แต่อีกส่วนหนึ่งหลุดร่วงตกลงในโพรงไม้นั้น

รอบๆต้นไม้นั้น ยังมีข้าวสาลีที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติ นกแขกเต้าทั้งหลายมาคาบเอารวงข้าวสาลีจากที่นั้น แล้วบินไปจับและกินข้าวสาลีอยู่บนกิ่งไม้แห่งต้นไม้นั้น เมื่อนกแขกเต้าจิกกินข้าวสาลีอยู่นั้นเมล็ดข้าวสาลีจำนวนมากก็ค่อยๆหลุดตกลงในโพรงไม้ที่มีน้ำผสมผลไม้นั้น ต่อมาทั้งข้าวสาลีและผลไม้เหล่านั้นก็ถูกหมักไว้โดยธรรมชาติเมื่อถูกแสงแดดแผดเผา น้ำก็ค่อยเปลี่ยนเป็นสีแดงและมีรสชาติขึ้น

ในฤดูร้อน ฝูงนกทั้งหลายที่กระหายน้ำ บินลงมาดื่มน้ำนั้น มึนเมาพลัดตกลงที่โคนต้นไม้ ม่อยหลับไปหน่อยหนึ่งแล้วส่งเสียงคูขันบินไป ถึงสุนัขป่าและลิงก็ดื่มน้ำแล้วมีอาการเดียวกันกับนกที่ตกลงมาม่อยหลับอยู่ที่โคนต้นไม้

พรานสุระเห็นเหตุการณ์นั้นแล้วคิดว่า ถ้าน้ำนี้เป็นพิษ สัตว์เหล่านี้คงตาย แต่นี่มันม่อยหลับไปหน่อยหนึ่งแล้วบินไปสบาย น้ำนี้คงไม่มีพิษ เขาจึงลองนำน้ำนั้นมาดื่มบ้าง พอดื่มแล้วอยากจะกินเนื้อสัตว์ จึงก่อกองไฟขึ้นแล้วนำนกและไก่ป่าที่ตกลงมานั้นปิ้งกินเป็นกับแกล้มกับน้ำพิเศษนี้ เมื่อดื่มน้ำพิเศษและกินกับแกล้มเข้าไป ก็รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจลุกขึ้นฟ้อนรำคนเดียวรอบๆต้นไม้นั้นสองวัน น้ำสมุนไพรผสมผลไม้นี้นอกจากนายพรานดื่มเข้าไปแล้วจะรู้สึกรสชาติดี ยังดื่มแล้วรู้สึกเพลิดเพลินลืมทุกข์ไปชั่วคราว

    เมื่อนายพรานสุระ ดื่มน้ำแสนสุขอยู่คนเดียวก็คิดว่าน่าจะมีเพื่อนสรวลเสเฮฮาตามมาด้วย เคยเดินผ่านบริเวณนั้นพบดาบสคนหนึ่ง ชื่อวารุณะ อยากจะมาชวนดื่มด้วยกัน จึงตัดกระบอกไม้ไผ่ ตักน้ำแสนสุขนี้ใส่เข้าไปจนเต็ม ย่างเนื้อ ย่างนก ไปอย่างเต็มที่เพื่อเป็นกับแกล้ม มิให้ขาดตกบกพร่องแล้ว เดินตรงไปยังอาศรมดาบสทันที

เมื่อเดินไปถึงจึงนิมนต์ดาบสให้ดื่มน้ำแสนสุขนี้ว่า

“ท่านขอรับ จงลองดื่มน้ำนี้ดูเถิด”

แล้วทั้งสองก็ดื่มด้วยกันคุยกันลุกขึ้นฟ้อนรำสนุกสนานกันสุดเหวี่ยงด้วยฤทธานุภาพแห่งน้ำแสนสุขนั้น

เพราะนายพรานสุระ และ ดาบสวารุณี เป็นคนดื่มน้ำชนิดนี้คนแรก ต่อมาคนจึงเรียกน้ำชนิดนี้ว่า สุรา เพราะพรานสุระ เป็นผู้พบและได้ลิ้มรสคนแรก เรียกว่า วารุณีบ้างเพราะ ดาบสวารุณี เป็นคู่ขาดื่มสุรากับนายพรานสุระด้วยความพึงใจ

แต่ชื่อว่า สุรา จึงได้รับการเรียกขานมากกว่าชื่อวารุณี

วิวัฒนาการแห่งสุราและพฤติกรรมการดื่มสุราของนักดื่มระดับคอทองแดง ก็ยังไม่ทิ้งร่องรอยพฤติกรรมการดื่มในอดีตมากนัก กล่าวคือ เมื่อเริ่มดื่มสุรา นักดื่มจะคิดถึงกับแกล้มขึ้นมาทันที กับแกล้มจะเป็นอะไรก็ได้ หากหาอะไรมาไม่ได้เลย แม้แต่มะขามเปียกก็ยังใช้เป็นกับแกล้มได้ดี และกับแกล้มอันโอชะสำหรับนักดื่มก็ยังไม่ทิ้งร่องรอยพรานสุระผู้ให้กำเนิดสุรา คือ เนื้อสัตว์ ปิ้ง ย่าง หรือ ทอด

เมื่อดื่มสุราได้ที่แล้ว ความรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ อยากฟ้อน อยากรำขึ้นมาก็ล้วนเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตามเรื่องนี้ พรานสุระ ดื่มคนเดียวยังลุกขึ้นฟ้อนรำคนเดียวด้วยพลังแห่งสุราอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเป็นวันเป็นคืน

ส่วนเมื่อเวลาดื่มสุรา แม้สุราก็เหมือนน้ำดื่มทั่วไปที่ดื่มไม่ยากเย็นอะไร ดื่มตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีแล้วละก็ต้องมีเพื่อนดื่ม บางคนอยู่บ้านไม่ดื่มเลย แต่ถ้าเจอเพื่อนฝูงแล้ว ทนไม่ไหวต้องดื่มจนเมามายดึกดื่นเพื่อเรียกพลังแห่งความสนุกสนานรื่นเริงขึ้นมา ดั่งพรานสุระต้องตักน้ำแสนสุขไปเรียกดาบส ซึ่งจะมุ่งมั่นหาความสุขจากฌานและภาวนา มาลิ้มลอง เมื่อได้ดื่มก็ติดใจ จึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ดื่มสุรากับมิตรที่รู้ใจ เมามายแค่ไหนก็มีความสุข ดังที่เห็นได้ในภาพยนต์จีนเกือบจะทุกเรื่อง หรือ ในชีวิตจริง ยามถึงวันหยุด การดื่มสุราและคุยกับคนที่รู้ใจ จึงเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่กระทำกัน เมื่อดื่มกินเต็มที่แล้วก็จะเปิดเพลงดังๆเต้นรำกันดึกดื่นแล้วจึงหลับไปอย่างมีความสุขแบบสุดๆ พฤติกรรมการหาความสุขแบบนี้เป็นพฤติกรรมสามัญที่มีมาแต่โบราณและจะมีต่อไป ตราบเท่าที่มนุษย์ยังหาความสุขอย่างอื่นที่สงบเย็นกว่ามาทดแทนไม่ได้

    เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุรานี้ยังมีอีกยาว แต่จะขอจบไว้แค่นี้ก่อน ที่เล่ามานี้เพื่อจะเพื่อจะบอกให้ท่านฟังว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสถึงกำเนิดสุราไว้อย่างไร


ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
วันที่ 25 กันยายน 2560 เวลา 9.08 น.
   
   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2868) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/668) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/632) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/703) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/686) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข