อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
ทั่วโลกไม่สนใจท่าที’ทรัมป์’ ถอนตัวข้อตกลงแก้’โลกร้อน’





แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : เมืองใหญ่น้อยทั่วอเมริกา รวมถึงนักการเมืองระดับหัวแถวของสหรัฐฯ ประกาศ “ไม่เอาด้วย” กับ “ทรัมป์” ในการนำประเทศถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ"

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนว่า เขาได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติที่เกือบ 200 ประเทศให้ความสนับสนุนเพื่อลดสภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26-28 เปอร์เซ็นต์ จากระดับของปี 2005 ภายในปี 2025

โดยทรัมป์ประกาศว่า “สหรัฐฯ จะยุติการมีส่วนร่วมในความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ถือเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และทำให้สหรัฐฯ ยืนอยู่ข้างเดียวกับซีเรีย และนิการากัว ซึ่งเป็นเพียงสองประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ถือเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และทำให้สหรัฐฯ ยืนอยู่ข้างเดียวกับซีเรีย และนิการากัว ซึ่งเป็นเพียงสองประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทันทีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถึงท่าทีของเขาออกมา เขาก็ได้รับเสียงต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เช่น ริค แพร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ให้คำมั่นเมื่อ 5 มิถุนายนว่า สหรัฐฯ จะยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้วก็ตาม

โดยนายแพร์รี่ ได้แสดงความเห็นดังกล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยนายแพร์รี่ กล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว และว่าสหรัฐฯ จะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติต่อไป

และในวันเดียวกัน จอห์น เคอร์รี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามถึงความจริงใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่บอกว่าสหรัฐ “อาจจะ” กลับไปเจรจาเพื่อเข้าร่วมกับความตกลงปารีสใหม่อีกครั้งในวันข้างหน้า โดยอดีตรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวเอ็นบีซี ว่าไม่มีทางที่ทรัมป์จะทำเช่นนั้น เนื่องจากเขา “ไม่เชื่อ” ในความตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนมาตั้งแต่ต้น มิเช่นนั้นก็คงจะไม่ประกาศถอนตัว"

"ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน แม้กระทั่งบรรดาประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกัน เช่น จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ก็มีทิศทางนโยบายไปในทางเดียวกัน" นายเคอร์รีกล่าว

นอกจากนี้ ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีผลให้ เดวิด แรงค์ อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงการตอบโต้ด้วย

ข้อมูลบนเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำจีนระบุว่า นายแรงค์ได้เริ่มทำงานให้กับกระทรวงต่างประเทศเมื่อปี 1990 โดยก่อนหน้าจะมาดำรงตำแหน่งที่ประเทศจีน เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายอัฟกานิสถานในสังกัดกระทรวงต่างประเทศ และยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับผู้แทนเฉพาะการประจำอัฟกานิสถานและปากีสถาน

และก่อนหน้านั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน นายกเทศมนตรีเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ รวม 88 เมือง ได้ออกมาแสดงพลังสนับสนุนความตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนต่อไป พร้อมกับประกาศว่า พวกเขาจะยังคงยึดมั่นในพันธกิจขององค์กรเครือข่าย "Mayors National Climate Action Agenda -  MNCAA" ในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาของข้อตกลงปารีส แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติดังกล่าวแล้วก็ตาม

องค์กรดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Climate Mayors นั้น เป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนายกเทศมนตรี 88 เมืองในสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันกว่า 43 ล้านคนทั่วประเทศ โดยพวกเขาจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความพยายามของท้องถิ่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลนานาชาติกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

อีริค การ์เซตติ นายกเทศมนตรีของเมืองลอส แอนเจลิส ซึ่งเป็นผู้นำองค์กร Climate Mayors เปิดเผยว่า เขารู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อข้อตกลงปารีสต่อไป

องค์กร Climate Mayors ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า "เราจะพยายามต่อไปเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของแต่ละเมือง และจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดแห่งศตวรรษที่ 21 ให้สำเร็จ"

องค์กรดังกล่าวยังให้คำมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน และส่งเสริมให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายอีกด้วย

ทั้งนี้ ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ ในเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะเขาแสดงความเชื่อตลอดมาว่าปรากฎการณ์โลกร้อนเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง และก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนมีนาคม เขาก็ได้ลงนามคำสั่งพิเศษ เพื่อล้มเลิกแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา มาแล้ว

โดยคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ เรียกว่า "Energy Independence Executive Order” เป็นคำสั่งพิเศษที่เขาทำพิธีลงนามในระหว่างเดินทางเยือนสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) เป็นครั้งแรก โดยหลายฝ่ายมองว่า คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มเลิกแผนการพลังงานสะอาดของรัฐบาลชุดก่อนของประธานาธิบดีโอบามา ที่พยายามจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามกรอบความตกลงปารีสปี 2015 เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก อีกทั้งยังมีจุดประสงค์เพื่อยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนในกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งถอนเงื่อนไขด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ออกจากการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ตลอดจนให้ทำการประเมินต้นทุนทางสังคมเกี่ยวกับการปล่อก๊าซเรือนกระจกใหม่อีกครั้ง

คำสั่งพิเศษของทรัมป์จะมีผลบังคับให้สำนักงาน EPA เริ่มต้นกระบวนการทบทวนและแก้ไขกฎเกณฑ์ในยุคของโอบามา ซึ่งได้ถูกศาลสูงสหรัฐสั่งยับยั้งตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข