ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : 75 ปี “สงครามแอลเอ” และตำนานเหยียดผิวของแอลเอ


ภาพเหตุการณ์ สงครามลอส แอนเจลิส บนหน้าหนึ่งของ แอลเอไทมส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1942




ทหารเรือและกลาสีเรือ ถือคมแฝกออกทุบตีทำร้ายแม็กซิกัน ในเหตุการณ์จลาจล ซูทสูท ในปี 1943




ชาวแม็กซิกันถูกทำร้ายร่างกาย และเปลื้องผ้า




วัยรุ่นแม็กซิกันในชุดซูทสูท




แม้จะถูกรังแก แต่กลุ่มวัยรุ่นแม็กซิกันในชุดซูทสูท กลับถูกจับกุมตัวในข้อหาทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย




สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Battle of Los Angeles หรือเหตุการณ์ที่เมืองลอส แอนเจลิส ยิงตอบโต้การรุกรานของฝูงบินญี่ปุ่นชนิดยิบตา... ทั้งๆ เหนือน่านฟ้าแอลเอในคืนนั้น ไม่มีเครื่องบินญี่ปุ่นแม้แต่ลำเดียว...


ผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกเหมือนกันว่าเป็นประสบการณ์ที่ “น่ากลัวที่สุด” และน่าอับอายที่สุดไปพร้อมๆ กัน

เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งประเทศกำลังตึงเครียดจากการโจมตี เพิร์ลฮาเบอร์ ของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 โดยทั่วเมืองแอลเอ มีการติดตั้งไซเรนเตือนการโจมตีทางอากาศ (air-raid siren) และไฟส่องเป้าที่เรียกว่า เสิร์ชไลท์ รวมถึงมีฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ หลายแห่ง มีการฝึกซ้อมประชาชนให้รู้จักวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่นต้องดับไฟ (blackout) และรู้จักวิธีหลบระเบิดด้วย

จนถึงค่ำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1942 ความเครียดที่สั่งสมมาสองเดือนเศษก็ปะทุเป็น สงครามลอส แอนเจลิส ขึ้น

แจ็ค สมิธ คอลัมนิสต์ของแอลเอไทมส์ เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์วันกล่าวตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 หรือในอีก 50 ปีต่อมาเอาไว้ว่า...

“ในคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1942 ชาวลอส แอนเจลิส ต้องเจอกับการโจมตีทางอากาศครั้งยิ่งใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเชื่อแน่ว่า “ความหวาดวิตก” ว่ากองทัพของญี่ปุ่นจะโจมตีแผ่นดินใหญ่ของอเมริกากลายเป็นความจริงขึ้นมา แถมยังเลือกลอส แอนเจลิส เป็นเป้าหมาย ด้วย...

การโจมตีทางอากาศเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 02.25 น. ในค่ำคืนที่ท้องฟ้ามีแสงจันทร์กระจ่าง ทหารบกสหรัฐฯ ประกาศก้องว่าอากาศยานของศัตรูกำลังมุ่งหน้าเข้ามา ตามด้วยเสียงไซเรนเตือนภัยดังกึกก้องขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ประเทศอเมริกาเข้าสู่ภาวะสงคราม

จากนั้น ท้องฟ้าของเมืองแอลเอ ก็สว่างไสวด้วยแสงไฟจากเสิร์ชไลท์ ที่กวาดไกวไปทั่วท้องฟ้า ขณะที่พลปืนของทุกฐานทัพ รวมถึงตลอดแนวชายฝั่ง ก็ระดมยิงปืนต่อสู้อากาศยานขึ้นสู่ท้องฟ้า... (รวมจำนวนกระสุนทั้งหมด 1,433 นัด)

ชาวเมืองกว่าแสนคน ที่ถูกปลุกด้วยเสียงไซเรนและเสียงปืนใหญ่ แตกตื่นอลหม่านออกจากห้องนอน โดยลืมปิดไฟทุกดวงในบ้านพัก ตามที่ฝึกมา

พอสร่างเสียงปืนที่ดังสนั่นหวั่นไหวอยู่นานกว่าชั่วโมง ความปรีดาปราโมทย์ก็เกิดขึ้น เพราะเมืองลอส แอนเจลิส ได้ลิ้มรสชาติแห่งชัยชนะจากความกล้าหาญเป็นครั้งแรก แต่รสชาติแห่งความฮึกเหิมก็เปลี่ยนเป็นความอับอายในวันรุ่งขึ้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการทบวงทหารเรือ (Secretary of the Navy) แถลงว่าไม่มีการโจมตีทางอากาศใดๆ ทั้งสิ้น... ไม่มีเครื่องบินของศัตรู และว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น เป็นเพราะมีการคำนวนที่ผิดพลาดเท่านั้น...

จากความอับอายเปลี่ยนเป็นความโกรธแค้น ทหารบกถูกกล่าวหาว่ายิงปืนต่อสู้อากาศยานขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ว่างเปล่า สูญเปล่างบประมาณทหารมหาศาล หน่วยงานเชอรีฟต้องรีบออกมาขอโทษชุมชนญี่ปุ่น ที่ช่วยเหลือเอฟบีไอ จับชาวญี่ปุ่นในแอลเอ หลายคน รวมถึงกลุ่มคนงานของร้านต้นไม้แห่งหนึ่ง เพราะมีพยานชี้ตัวว่าเป็นคนส่งสัญญาณให้กับเครื่องบินรบที่ (น่าจะ) บินอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองแอลเอ ในเวลานั้น

แม้จะไม่มีการทิ้งระเบิด และเมืองลอส แอนเจลิส ไม่ได้ถูกเปลวไฟเผาผลาญเหมือนสมรภูมิอื่นทั่วไป แต่สงคราม ลอส แอนเจลิส ที่เกิดขึ้นก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงห้าราย โดยสามรายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ขณะพยายามหนีออกจากเมือง อีกสองคนเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย อีกทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากมาย ทั้งบรรดาทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไป

ส่วนความเสียหายกับทรัพย์สินก็มากมายเหลือคณานับ โดยเฉพาะจากกระสุนปืนใหญ่ที่ไม่แตกกลางอากาศ และตกลงมาสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน รถยนต์ ฯลฯ หลายแห่งทั่วเมือง

ด้านรัฐมนตรีทบวงสงคราม (The Secretary of War) พยายามกู้หน้าตัวเองโดยบอกว่าถึงจะไม่มีเครื่องบินรบของศัตรูบินเข้ามา แต่เชื่อว่ามีเครื่องบินพาณิชย์ถึง 15 ลำ ที่มี “สายลับของศัตรู” เป็นกัปตัน บินวนเวียนอยู่เหนือน่านฟ้าแอลเอ ซึ่งแม้จะไม่มีใครเชื่อ แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกับรัฐมนตรีทบวงสงครามว่า “ตื่นตัวมากเกินไป” ย่อมดีกว่า “ไม่ตื่นตัวเพียงพอ”

ต่อมาในปี 1947 ในสมัยของประธานาธิบดี แฮร์รี่ ทรูแมน ตำแหน่งรัฐมนตรีทบวงสงคราม ก็ถูกยกเลิก และภาระหน้าที่ภายใต้ตำแหน่งนี้ถูกยกให้รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำสามเหล่าทัพ “ร่วมกัน” ดูแลแทน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี 1945 รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงปฏิเสธว่าไม่เคยส่งฝูงบินเข้าไปเหนือท้องฟ้าเมืองแอลเอ ในวันนั้น หรือวันไหนๆ ทั้งสิ้น ส่วนกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ตั้งสมมุติฐานถึงสาเหตุของ “สงคราม ลอส แอนเจลิส” เอาไว้สองข้อ หนึ่งคือมีการปล่อยบอลลูนตรวจอากาศจำนวนมากขึ้นสู่ท้องฟ้าในคืนนั้น โดยบอลลูนเหล่านี้ติดตั้งดวงไฟเอาไว้เพื่อให้สามารถติดตามได้ง่าย ซึ่งบอลลูนติดดวงไฟดังกล่าว ทำให้เกิดการเข้าใจว่าเป็นเครื่องบินรบของศัตรู บวกกับสาเหตุที่สอง คือการแตกของกระสุนปืน ที่ถูกอาบด้วยแสงจากไฟส่องเป้า (searchlight) ยิ่งทำให้พลปืนคิดว่าเป็นเครื่องบินรบของศัตรูจริงๆ

คอลัมนิสต์ของแอลเอ ไทมส์ ปิดท้ายบทความของเขาว่าเรื่องราวของ สงคราม ลอส แอนเจลิส ที่เขานำมาเล่าใหม่ในโอกาสครบรอบ 50 ปี เมื่อปี 1992 นั้น เป็นเพราะเขาต้องการให้ประวัติศาสตร์ (ที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก) คงอยู่ต่อไป และเพื่อลบล้างคำสบประมาณของใครๆ ที่คิดว่าเมืองแอลเอ ไม่มีประวัติศาสตร์ เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ...

แต่ที่เราเอาเรื่องราวของสงคราม ลอส แอนเจลิส มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งในวาระครบรอบ 70 ปีในที่นี้ เพราะต้องการโยงเข้าสู่ประเด็นที่ “น่าเกลียด-น่าชัง” ซึ่งเกิดขึ้นจากความหวาดกลัว...ทั้งกลัวภัยจากสงครามในครั้งนั้น และกลัวภัยจากกลุ่มก่อการร้าย หรือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในวันนี้...

ด้วยว่าดูๆ แล้ว บรรยากาศของวันนี้กับเมื่อ 75 ปีก่อนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

เพราะเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ถือเป็นวาระครบรอบ 75 ปีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Japanese internment ที่ประธานาธิบดี แฟร็งคลิน ดี รูสซาเวลท์ ลงนามในคำสั่งบริหาร 9066 อนุญาตให้จับกุมชาวญี่ปุ่นในอเมริกา รวมถึงเด็กอเมริกันที่มีพ่อหรือแม่เป็นญี่ปุ่น จำนวนไม่ต่ำกว่า 120,000 คน เข้าค่ายกักกัน เพราะเกรงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นไส้ศึกให้กับประเทศแม่ของตัวเอง

และปีต่อมา คือปี 1943 ชาวเมืองลอส แอนเจลิส ได้เห็นภาพการเหยียดผิวชังพันธ์ุที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยงอย่างเต็มสองตา กับเหตุการณ์จลาจลที่เรียกว่า Zoot Suit riots หรือเหตุการณ์อัปลักษณ์ ที่บรรดาตำรวจและทหารผิวขาว ทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ออกทำร้ายชาวแม็กซิกันตามท้องถนน หรือสถานบันเทิงต่างๆ ชนิดไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย โดยเน้นไปที่แม็กซิกันที่แต่งตัวด้วยชุดสูทตัวใหญ่รุมร่าม แบบที่เรียกว่า Zoot suit ใส่หมวกปีกกว้าง ห้อยนาฬิกา อันเป็นแฟชั่นยอดฮิตของวัยรุ่นฮิสแปนิกในยุคนั้น

ภาพของวัยรุ่นแม็กซิกันในแฟชั่นที่เด่นแตะตาดังกล่าว ถูกมองแบบหมั่นไส้จากคนผิวขาวว่าเป็น “พาชูโก้” (Pachucos) หรือนักเลงหัวไม้ และความหมั่นไส้ทวีเป็นความเกลียดชังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากบรรดาอเมริกันผิวขาวในกองทัพเรือ ที่ประจำการอยู่ในลอส แอนเจลิส

เพราะในช่วงเวลาที่อเมริกากำลังอยู่ในสภาวะสงครามเช่นนั้น วัยรุ่นแม็กซิกันใน ซูทสูท ถูกบรรดาทหารเรือและลูกเรือผิวขาว มองว่าเป็นพวกหนีความรับผิดชอบ และที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือในภาวะสงครามนั้น ผ้าขนแกะ (wool) และผ้าชนิดอื่นๆ กลายเป็นสินค้าควบคุม การนำเอามาตัดเย็บเป็นชุดที่ “โอเวอร์ไซด์” เช่นนั้น ถือเป็นการสิ้นเปลือง ถึงขั้น “ไม่รักชาติ” หรือ unpatriotic กันเลยทีเดียว

ในที่สุด ความเครียด ความไม่เข้าใจ และความเกลียดชังในเชื้อชาติผิวพรรณที่ถูกเก็บกดเอาไว้ ก็ปะทุออกมาเป็นเหตุการณ์จลาจลเต็มรูปแบบเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 1943 เมื่อเหล่าทหารเรือ โดยความสนับสนุนของทหารบก รวมตัวกันออกตามล่าวัยรุ่นแม็กซิกันในชุดซูทสูท ตามท้องถนน เมื่อเจอก็ทุบตีทำร้าย ฉีก หรือถอดเสื้อผ้าจนเหลือแต่ชุดชั้นใน ท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชนชาวแอลเอ รวมถึง “ตำรวจ” ที่ยืนดูเหตุการณ์แบบไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ทั้งสิ้น

ประวัติศาสตร์บอกว่า มีทหารเรือและชาวเมืองแอลเอ หลายพันคน แปลงตัวเป็นอันธพาลออกไล่ล่าทำร้ายคนเชื้อสายแม็กซิกัน มีการบุกเข้าไปในคาเฟ่ หรือโรงภาพยนตร์  คนผิวสีหลายพันถูกทำร้าย ไม่เว้นแม้แต่เด็กอายุ 12 ปีที่ไม่ได้ใส่ชุด ซูทสูท หรืออิมมิแกรนท์เชื้อสายอื่น เช่นคนผิวดำ และฟิลิปปินส์ ต่างพลอยโดนลูกหลงแห่งความเกลียดชังจนได้เลือดไปทั่วหน้า

ขณะที่ตำรวจของเมืองแอลเอ ก็ทำตัวเหมือนผู้สังเกตุการณ์ โดยจะลงมือจับกุมเฉพาะชาวแม็กซิกันที่สู้ หรือไม่ยอมให้ถูกรังแกแต่ฝ่ายเดียว หลายคนถูกข้อหาทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกาย

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเสนอข่าวเหตุการณ์  “จราจล ซูทสูท” ว่าเป็นปฏิกิริยาของผู้รักความยุติธรรม ที่ใช้ระบบ “ศาลเตี้ย” ตอบสนองปัญหาอาชญากรรมที่ผู้อพยพก่อขึ้น เพราะนับวันปัญหาที่เกิดจากผู้อพยพเหล่านี้ ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกือบสัปดาห์ จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 1943 กองทัพเรือมีคำสั่งห้ามทหารออกจากค่ายโดยเด็ดขาด เรื่องราวจึงสงบลง และในวันรุ่งขึ้น สภาเมืองลอส แอนเจลิส ได้ออกประกาศ “แบน” ห้ามชาวเมืองใส่ชุดซูทสูท อีกต่อไป

เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่า เหตุการณ์จลาจลรุนแรงที่กินเวลานานเกือบสัปดาห์ดังกล่าว ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตเลย

แต่กระแสความเกลียดชังแม็กซิกันไม่ได้ยุติลงเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากจราจล ซูทสูท ในแอลเอ สงบลง เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ปะทุขึ้นในอีกหลายเมือง เช่นฟิลาเดลเฟีย ชิคาโก้ และดีทรอยท์ เป็นต้น

การจับคนญี่ปุ่นเข้าค่ายกักกัน หรือเหตุจลาจลซูทสูท ที่เกิดขึ้นในนครลอส แอนเจลิส เมื่อ 75 ปีที่แล้วนี้ ถูกนักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นตัวอย่างของความวุ่นวาย อันเป็นผลมาจากความกลัว และความเครียดของผู้คนในช่วงสงคราม

ส่วนการกวาดจับผู้อยพ หรือรังเกียจเดียดฉันท์คนต่างเชื้อชาติศาสนา ที่กำลังเข้มข้นจนสัมผัสได้ในสมัยที่สหรัฐฯ มีผู้นำขวาจัดอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นี้ ส่วนหนึ่งพยายามอ้างว่าเป็นผลจากความหวาดกลัวกลุ่มผู้ก่อการร้าย ตามที่ผู้นำสหรัฐฯ อ้างว่าเข้าใกล้มาทุกที

ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง มองว่าเป็นเรื่องที่กำลังเป็นไป ผลมาจากความเป็นคนเหยียดผิว หลงตัวเอง และไร้เหตุผลของผู้นำผิวขาวคนนี้เท่านั้น...


……


หมายเหตุ : เหตุการณ์ที่เรียกว่า สงครามลอส แอนเจลิส หรือ The Battle of Los Angeles เคยถูก สตีเว่น สปีลเบิร์ค นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คอมเมอดี้ เรื่อง 1941 นำแสดงโดย แดน แอครอยด์, จอห์น เบลูชี่ และจอห์น แคนดี้ ออกฉายเมื่อปี 1979.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/290) 
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/72) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/170) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/262) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/274) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข