ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : เมื่อคนศรีราชาพูดถึง “ศรีราชา” สัญชาติอเมริกัน








ส่วนหนึ่งของบรรดาแม่ค้าในตลาดศรีราชา ซึ่ง วีโอเอ ให้ทดลองชิมซอสพริกศรีราชาอเมริกัน เพื่อนำมาเขียนบทความชิ้นนี้




ซอสศรีราชาของทาบาสโก้




ส่วนหนึ่งของซอสพริกศรีราชายี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในอเมริกา




ศรีราชาตราไก่โต้งของฮุยฟอง




กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของ วอยซ์ออฟอเมริกา นำเสนอบทความเรื่อง Thailand is ‘Hot’ over American Sriracha sauce ซึ่งถ้าเห็นเฉพาะชื่อเรื่องก็น่าจะให้ความรู้สึกประมาณว่า... คนไทยเราโมโห หรืออย่างน้อยก็รู้สึกร้อนรุ่มกับซอสพริกศรีราชา สัญชาติอเมริกัน ชนิดนี้

แต่เมื่ออ่านเนื้อหาแล้ว กลับให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะไม่ “ร้อนรุ่ม” แล้ว คนไทยเรายังใจกว้างพอที่จะยอมรับว่าซอสพริกศรีราชาสร้างชื่อเสียงจนคับอเมริกาได้ด้วยตัวมันเอง... ไม่ใช่เพราะ “ชื่อ” ที่แอบก็อปมาจากซอสพริกยอดนิยมของคนไทยแต่อย่างใด

และเพราะเนื้อหาโดยรวมค่อนข้างมีความน่าสนใจ และให้ “ข้อมูลใหม่” เกี่ยวกับซอสพริกตราไก่โต้งในแง่มุมที่สยามทาวน์ยูเอส (ซึ่งเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับซอสพริกศรีชาต่อเนื่องมาหลายปี) ยังไม่เคยนำเสนอ... ดังนั้นจึงขออนุญาตเจ้าของบทความ คือคุณ แอนนา แมทติโอ้ นำมาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง...

บทความของคุณแอนนา แมทติโอ้ เริ่มต้นโดยการปูพื้นถึงความนิยมชมชอบซอสพริกศรีราชาของคนอเมริกัน โดยบอกว่าทุกวันนี้ ซอสพริกศรีราชาได้กลายเป็น “รสชาติ” ของสินค้า “เมดอินอเมริกา” สารพัดชนิด ตั้งแต่ป็อปคอร์น, มันฝรั่งแผ่น, ลูกอม กระทั่งเบียร์, มีคุ๊กบุ๊กที่อุทิศเนื้อหาทั้งเล่มให้กับซอสพริกศรีราชา มีเสื้อผ้าและของที่ระลึกเกี่ยวกับซอสพริกขวดแดงฝาเขียวมากมาย มีเพลงเกี่ยวกับซอสพริกศรีราชา และที่สำคัญคือมีภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Sriracha ออกฉายแนะนำประวัติความเป็นมาของซอสพริกศรีราชาตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งในอเมริกาและต่างประเทศตลอดปี 2013

ที่ไม่เอ่ยถึงคือ ศรีราชาถูกนำไปใช้ในร้านอาหารดังๆ เยอะแยะมากมาย ตั้งแต่เชนฟาสฟู้ดไปจนถึงร้านระดับภัตตาคารหลายๆ แห่ง รวมถึงซอสปรุงรสที่เป็น “แบรนด์เนม” อย่าง Kikkoman ของญี่ปุ่น, Lee Kum Kee ของฮ่องกง ต่างก็มีซอสพริกศรีราชาของตัวเองออกมาแย่งส่วนแบ่งตลาดกับฮุยฟอง กระทั่ง Heinz ผู้ผลิตแคชชัพชื่อดังของอเมริกาก็ยังผลิตแคชชัพรสศรีราชา ออกวางขายเหมือนกัน

ความดังชนิดหยุดไม่อยู่เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ยอดขายซอสพริกศรีราชาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนตัวเลขล่าสุดของปีที่แล้วสูงกว่า 80 ล้านดอลลาร์ และทำให้ชื่อของเมืองชายทะเลของไทย กลายเป็น “เฮาส์โฮลด์เนม” หรือชื่อที่คุ้นหูของชาวอเมริกันไปโดยปริยาย

บทความของ วีโอเอ บอกว่าความสำเร็จระดับนี้ของศรีราชา เป็นเรื่อง “อเมซิ่ง” มาก หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทฮุยฟอง ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชา ไม่เคยเสียเงินสักแดงเดียวในการทำโฆษณาสินค้าของตัวเองเลย

เจ้าของและผู้ผลิตซอสพริกศรีราชา เดวิด ตรัน คนเวียดนามเชื้อสายจีนที่อพยพมาอยู่แคลิฟอร์เนียช่วงไซ่ง่อนแตก เจาะจงใช้พริกฮาลาพินโย่สีแดง (jalapeño peppers) ที่ปลูกในแคลิฟอร์เนียใต้ เป็นวัตถุดิบในการผลิตซอสพริกของเขา ส่วนความเผ็ดร้อนนั้น บทความของวีโอเอ บอกว่ายังตามหลัง ทาบาสโก้ (Tabasco) ซึ่งเป็นซอสพริกแบบสไตล์อเมริกันตอนใต้ (Cajun-style pepper sauce) ที่ตีตลาดอเมริกามายาวนานเกือบๆ 150 ปี

แต่ถึงจะตีตลาดมานานกว่าศรีราชาของฮุยฟองกว่าร้อยปี แต่ทุกวันนี้ ทาบาสโก้ ซึ่งมีฐานการผลิตยู่ที่หลุยส์เซียน่า ก็มีซอสพริกทาบาสโก้รส “ศรีราชา” ออกวางขายด้วย โดยเขียนข้างขวดว่าเป็น “พรีเมี่ยม ศรีราชา ซอส” แถมมีอักษรภาษาไทยกำกับไว้ด้วยว่า “ซอสศรีราชา” เพื่อสร้างความรู้สึก (ให้กับคนที่รู้จักซอสพริกศรีราชาของไทย) ว่านี่คือของแท้ หรืออย่างน้อยก็อิงกับรสชาติ ออริจินัล มากกว่าซอสพริกศรีราชาของฮุยฟอง

หรือจะว่าไป หากไปดูตามหิ้งเครื่องปรุงรสในซูเปอร์มาร์เก็ตของคนไทยหรือของเอเชียวันนี้ จะเห็นว่ามีซอสพริกศรีราชาวางขายแย่งส่วนแบ่งของซอสไก่โต้งของฮุยฟองอยู่หลากหลายยี่ห้อ ส่วนหนึ่งมาจากเมืองไทย ทั้งตราศรีราชาพาณิชย์ ตราภูเขาทอง ตราสามภูเขา ตราปลาฉลาม ฯลฯ อีกส่วนจากจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศในลาตินอเมริกาก็มี และที่เหลือก็เป็นศรีราชาเมดอินยูเอสเอ (ที่ไม่ใช่ของฮุยฟอง)

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ เดวิด ตรัน เจ้าของฮุยฟอง ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ หรือ copyright ชื่อ “ศรีราชา” เป็นของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นเพราะไม่สามารถทำได้... ด้วยข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ไทยแลนด์ของเราไม่สามารถขอจดลิขสิทธิ์ “ข้าวหอมมะลิ” เอาไว้ใช้กับข้าวหอมของเราได้ หรือเวียดนามไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ชื่อ “ภูก็อต” (Phu Quac) เอาไว้ใช้กับน้ำปลาของเขาแต่เพียงเจ้าเดียวนั่นแหละ...

ถ้าทำได้ง่ายๆ คงไม่มีน้ำปลาไทยยี่ห้อ “ภูก็อก” ส่งออกมาขายเกลื่อนอเมริกาให้คนเวียดนามโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงอยู่ในเวลานี้หรอก...

พูดถึงความโด่งดังของซอสพริกศรีราชา เมดอินยูเอสเอ เสร็จแล้ว บทความของ วีโอเอ ก็พาเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ว่า ชาวศรีราชา จ.ชลบรี จะรู้สึกอย่างไรกับซอสพริกสัญชาติอเมริกันยี่ห้อนี้... โดยมีการหอบเอาซอสพริกของฮุยฟองไปให้คนศรีราชาลิ้มรสกันถึงที่เลยทีเดียว

“หมายความว่ายังไง ผลิตในอเมริกา ก็ชื่อมันโทนโท่อยู่แล้วว่า ซอสศรีราชา” คนศรีราชารายหนึ่งถามอย่างงุนงง เมื่อทราบว่าซอสศรีราชาที่ “ฝรั่ง” เอามาให้ดูนั้น ผลิตในโรงงานที่เมืองเออร์วินเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย คนละฝั่งมหาสมุทรกับบ้านของเขาเลยทีเดียว

และเมื่อได้ทดลองลิ้มรสชาติของซอสพริกตราไก่โต้งของฮุยฟองแล้ว แม้ค้าเครื่องแกงรายหนึ่งบอกว่า ซอสพริกอเมริกันนั้น เค็มกว่าและเผ็ดกว่าซอสพริกศรีราชาของไทย ที่เจือรสหวานและเปรี้ยว เอาไว้มากกว่า... แสดงความเห็นเสร็จแล้วก็ตบท้ายว่า ซอสศรีราชาที่แท้จริงก็ต้องผลิตในศรีราชาสิ...

ลูกสาวของแม่ค้าคนแรก เปรียบเทียบรสชาติของซอสสัญชาติอเมริกันว่าเหมือนกับ แคชชัพ ซึ่งผลิตจากมะเขือเทศ น้ำส้มและเครื่องเทศอื่นๆ และว่าศรีราชาอเมริกันน่าจะเหมาะกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ปรุงโดยชาวอเมริกัน อย่างสเต็กมากกว่า เพราะคนไทยนิยมซอสที่ไม่เข้มข้น หรือรสจัดจ้านมากนักสำหรับกินกับก๋วยเตี๋ยวแห้ง และอื่นๆ

“ก็อร่อยทั้งสองอย่างแหละ” เธอสรุป “แต่ของอเมริกันมันเผ็ดไป”

การที่คนศรีราชาออกมาวิเคราะห์รสชาติซอสพริกศรีราชาของฮุยฟองว่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับซอสพริกต้นตำรับของไทยแบบนี้ ก็แปลได้ว่า เดวิด ตรัน ไม่ได้ขโมยสูตร หรือลอกเลียนรสชาติของซอสพริกอันโด่งที่บ้านเรามาใช้ แต่เป็นสูตรประจำครอบครัว ตามที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยหมักและปั่นจักรยานออกขายในหมู่บ้านก่อนที่จะอพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์ออกมาจากเวียดนามเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว

หรือหากจะโกรธว่า เดวิด ตรัน ขโมย “ชื่อ” ของซอสพริกยอดนิยมในเมืองไทย ซึ่งไม่ได้สงวนลิขสิทธ์ิมาใช้ ก็คงจะโกรธได้ไม่เต็มที่ ด้วยว่าก่อนจะเกิดกระแส “ศรีราชาฟีเวอร์” ในอเมริกาเช่นในวันนี้ คงจะมีชาวอเมริกันเพียงไม่กี่คนที่รู้จักหรือเคยชิมซอสพริกของบ้านเรา... แถมคนเพียงไม่กี่คนที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะชอบหรือโปรดปรานซอสพริกศรีราชาของไทย ไปซะทุกคน...

ดังนั้น บทสรุปของบทความเรื่องนี้ ที่บอกว่า “มีเรื่องหนึ่งที่บรรดาชาวเมืองศรีราชาเห็นตรงกัน นั่นคือซอสพริกของต่างชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของชาวอเมริกันในชื่อรูสเตอร์ซอสนั้น สร้างชื่อเสียงโด่งดังในโลกแห่งอาหารด้วยตัวของมันเอง” จึงถือเป็นบทสรุปที่ “แฟร์” มากทีเดียว...

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/266) 
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/70) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/169) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/261) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/272) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข