ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
บทธรรมวันมาฆบูชา





ชาวพุทธทั้งหลายทราบกันอย่างดีว่า บทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์อรหันต์ขีณาสพ 1,250 รูป ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ณ เวฬุวนารามชานกรุงราชคฤห์ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ขาวรอบ หรือ บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นหัวข้อใหญ่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะคุ้มครองป้องกันผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปสู่ความชั่ว ดั่งพระพุทธภาษิตว่า ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว

นอกจากพระองค์ทรงแสดงหลักสำคัญทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ยังทรงแสดงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายสูงสูดนั้นไว้อย่างชัดเจน ต่อจากการแสดงหลักธรรมสำคัญทั้ง 3 ประการนั้น รายละเอียดที่เน้นลงไปสู่การปฏิบัติทุกข้อสอดคล้องกับหลักการสำคัญเป็นอันดี
   
หลักธรรมที่เป็นเป้าหมาย ปรากฏในข้อความที่ว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่า เป็นธรรมขั้นสูงสุด กล่าวคือ จุดมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เพื่อเข้าถึงพระนิพพาน คือความสงบเย็น ปราศจากเพลิงกิเลสใดๆแผดเผา คือ สภาวะที่ปลอดภัย ปราศจากกิเลสใดๆรบกวน คือ สภาวะแห่งอิสรภาพ ปราศจากกิเลสใดๆมาผูกมัดรัดรึง คือ ภาวะที่สะอาด สว่าง และสงบ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อันทำให้มืดมัวและเร่าร้อนแต่อย่างใด
   
หลักธรรมสำคัญที่เป็นพลังงานขับเคลื่อนข้อปฏิบัติทั้งหลายไปสู่เป้าหมายได้ คือ ข้อความที่ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งหลายทราบกันอยู่เสมอว่า หากเผลอเมื่อไรไฟกิเลสจะเผาใจทันที พระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งแทงตลอดถึงพิษภัยและโทษนานัปประการแห่งกิเลส จึงทรงแสดงธรรมให้เห็นชัดว่า แม้กิเลสจะเป็นไฟเผาใจ แต่ความอดทนจะเป็นไฟที่เหนือกว่ากิเลส จนสามารถเผาไฟกิเลสได้ราบคาบ

 พระธรรมบทนี้ชี้ว่า ไฟกิเลสมีโทษ แต่ไฟอดทนมีประโยชน์ เวลาที่คนพูดกันว่า ยังมีไฟ ควรจะหมายถึงไฟอดทนมากกว่าไฟกิเลส จะได้เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างกระตือรือร้นสดชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ชีวิตที่หมดไฟ จึงหมายถึง หมดความอดทน แต่ถูกไฟกิเลสแห่งความเกียจคร้าน อ่อนแอ เฉื่อยชา เข้าไปเผาแทน ชาวพุทธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงต้องลงมือ เผากิเลส ก่อนที่กิเลสจะมาเผา เพื่อเข้าสู่ชีวิตที่สงบเย็นเป็นอิสระ
   
หลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติอันสอดคล้องกับการไม่ทำบาปทั้งปวง มีอยู่ใน ข้อความที่ว่า ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิตเลย ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะเลย ข้อความทั้งสองนี้ชี้ลงไปว่า การเป็นนักบวชต้องไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนใครให้ลำบาก คำว่า สัตว์ในความหมายของพระอริยเจ้า คือ ผู้ที่ติดข้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ซึ่งหมายถึง มนุษย์ และเดรัจฉานทั้งปวง การไม่ทำบาป คือ ไม่ทำลายและไม่ทำร้าย สิ่งมีชีวิตที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บตาย โดยไม่อ้างเงื่อนไขใดๆ
   
ข้อความต่อมาที่ว่า  การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย เป็นการชี้ชัดว่า นอกจากไม่เบียดเบียนชีวิตใครแล้ว ต้องไม่กล่าวร้ายใครด้วย เพราะว่า การกล่าวร้ายใครมักทำให้ผู้นั้นได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจมากไม่น้อยกว่าการทำร้ายร่างกายเลยทีเดียว บางคราว การทำร้ายร่างกาย ด้วยมือ ด้วยเท้าหรือด้วยอาวุธใดๆ กาย ยังเจ็บปวดเร็วและหายเร็ว แต่คนที่ถูกทำร้ายจิตใจด้วยการกล่าวร้ายอาจจะเจ็บลึก เจ็บนานกว่าการทำร้ายร่างกายด้วย มือ เท้าและอาวุธใดๆก็มีมามากมาย

 การไม่ทำร้าย และการไม่กล่าวร้าย จึงจัดเข้าในหัวข้อธรรม แห่งการไม่ทำบาปทั้งปวง เมื่อไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ก็คือ การไม่ทำบาปทั้งปวงนั่นเอง เพราะบาปทั้งปวงล้วนมีสาเหตุมาจากการพูดร้ายและการทำร้ายนี้เอง
   
ข้อปฏิบัติในเรื่อง การยังกุศลให้ถึงพร้อม มีอยู่ในข้อความที่ว่า การสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค  ข้อปฏิบัติเหล่านี้ชี้ชัดว่า ถ้านักบวชมีความสำรวมระวังในธรรมอันนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ย่อมเป็นรากฐานแห่งการทำกุศลอื่นๆที่จะตามมา การรู้จักประมาณในการบริโภค หมายรวมถึงการใช้สอยปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้พอดีหรือพอประมาณสำเร็จประโยชน์ตามความจำเป็น ไม่ขาดแคลน ไม่ฟุ่มเฟือย
   
ส่วนข้อปฏิบัติในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ จะพบได้ในข้อความที่ว่า การนอน การนั่งในที่อันสงัด และการประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง พระโอวาทข้อนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น การอยู่ในที่อันสงัดประกอบด้วย ความสงัดทางกาย ความสงัดทางจิต และความสงัดกิเลส ในการทำจิตให้ยิ่ง ซึ่งหมายถึงการยกระดับจิตให้สูงส่งจนกิเลสไม่สามารถจะท่วมทับได้ ต้องอาศัยสถานที่อันสงัด เพื่อการภาวนาอันเป็นที่มาของการรู้จัก รู้ทัน ความเคลื่อนไหวและความหยุดนิ่งของกายและจิตที่ดำเนินไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด เมื่อกายและจิตอยู่ใกล้ชิดไม่ห่างกัน จิตได้หยุดจากการแล่นท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จิตได้พัก จิตก็สงบ เมื่อจิตสงบ สติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้า กิเลสไม่รบกวน จิตก็บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ความจริงมีอยู่ว่า จิตปลอดจากกิเลสเมื่อใด ความผ่องใสแห่งจิตก็ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทำจิตให้ขาวรอบ คือ รักษาจิตที่บริสุทธิ์นั้นไว้มิให้แปดเปื้อนด้วยกิเลสแม้น้อย เหมือนผ้าขาวที่ปราศจากจุดด่างดำไม่แปดเปื้อนแม้แต่น้อยเป็นผ้าขาวที่บริสุทธิ์ทั้งผืน”
   
ตอนจบข้อปฏิบัติในรายละเอียด พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งไขความได้ว่า พระพุทธเจ้า มิได้มีเพียงพระองค์เดียว แต่มีมากมายในอดีตเคยมีมาแล้ว ในอนาคตก็ยังจะมีต่อไป พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะทรงสอนเรื่องดังกล่าวนี้เหมือนกัน
   
ในวาระที่วันมาฆบูชาเวียนมาอีกครั้ง จึงนำพระโอวาทปาติโมกข์มาแสดงไว้ เพื่อให้ท่านพุทธบริษัทที่อ่านข้อความนี้ ได้นำไปพิจารณาเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติบูชา อันเป็นวิถีแห่งความสุขความเจริญในการดำเนินชีวิตภายใต้ร่มพระธรรมในพระพุทธศาสนาสืบไป

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 5.29 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2828) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/689) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข