ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
มาฆบูชา





เมื่อสิ้นเทศกาลวาเลนไทน์และตรุษจีน ก็เข้าสู่เทศกาลมาฆบูชาซึ่งปีนี้จะมีขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เพราะปีนี้เป็นปี “อธิกมาส” ตามปฏิทินจันทรคติ คือ มีเดือน 8 สองหน พวกเราชาวพุทธก็จะได้ร่วมกันศึกษาปฏิบัติหลักธรรมสำคัญที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” อันประกอบไปด้วย การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการชำระจิตให้บริสุทธิ์

เหตุการณ์ย่อๆในวันมาฆบูชา หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือ การประชุมใหญ่ หรือ มหาสังฆสันนิบาต อันประกอบด้วยองค์ 4 คือ

1.พระภิกษุ 1,250 รูปมาประชุมกัน ณ เวฬุวนารามโดยมิได้นัดหมาย

2.พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทโดยตรงมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3.พระภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์

4.วันนั้นเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3

การที่ชาวพุทธรำลึกถึงการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต นี้ แล้วพากันบูชาพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เรียกว่า วันมาฆบูชา ซึ่งจะมีขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี หากปีไหน เป็นปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนวันมาฆบูชาไปในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เช่นปีนี้

หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ประชุมกันในวันนั้นเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ประกอบไปด้วย

การไม่ทำบาปทั้งปวง

การยังกุศลให้ถึงพร้อม

การชำระจิตให้บริสุทธิ์

เมื่อพิจารณาธรรมทั้ง 3 ประการนี้เป็นธรรมสมังคี คือ มีความสามัคคีกัน กล่าว คือ เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมข้อใดข้อหนึ่งจะมีผลเชื่อมโยงถึงกัน เช่น เมื่อปฏิบัติธรรมข้อ  การยังกุศลให้ถึงพร้อม  ก็จะโยงสู่ การไม่ทำบาปทั้งปวงและการชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ เพราะคำว่า กุศล แปลว่า สภาวธรรมที่ทำให้บาปกระเทือน หวั่นไหว หรือ ทำลายบาปทั้งปวงได้ เมื่อบาป คือ ความเศร้าหมองแห่งจิตหมดไป จึงเหลือจิตที่บริสุทธิ์ดุจเดิมก่อนที่ความเศร้าหมองจะเข้ามา เปรียบเหมือนภาชนะใส่อาหารที่เคยสะอาดอยู่แต่เดิม เมื่อนำอาหารและขนมหวานต่างๆมาใส่ ภาชนะนั้นก็เปื้อนด้วยอาหารและขนมหวาน เมื่อภาชนะได้ผ่านการใช้งานแล้ว เจ้าของภาชนะก็ช่วยกันล้างเช็ดจนสะอาด ภาชนะนั้นก็กลับสะอาดดั่งที่เคยเป็นมา

การทำกุศลให้ถึงพร้อม จึงเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมโยง การไม่ทำบาปทั้งปวง และการชำระจิตให้บริสุทธิ์เอาไว้ได้อย่างกลมกลืนมีพลังในการนำจิตสู่อิสรภาพจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งปวงได้

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำกุศลให้ถึงพร้อมมีหลายอย่างเช่น

1.จิตที่เป็นกุศล จะปลอดโรคกิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะมาบีบคั้นเสียดแทง เมื่อกุศลเกิดขึ้นในจิตขณะใด ขณะนั้นจิตก็จะว่างจากโรค คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น มารบกวน ผู้มีกุศลจึงมีสุขภาพจิตดี อันจะส่งผลต่อสุขภาพกายดี นำชีวีให้เป็นสุข

2.จิตที่เป็นกุศล ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่ง การคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี การทำ พูด หรือ คิดสิ่งใดๆ ก็ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย การดำเนินชีวิตของผู้มีจิตเปี่ยมด้วยกุศล ย่อมเป็นไปอย่างมีสันติสุขในตนเอง และแบ่งปันแก่ผู้อื่นได้อย่างกว้างขวางไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

3.จิตที่เป็นกุศลเป็นที่มาแห่งปัญญา เครื่องพิจารณาแยกแยะออกอย่างชัดเจนว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ กุศลจิตคอยปกป้องชีวิตให้ห่างไกลจากสิ่งที่เป็นโทษทั้งกายและใจ พร้อมจะชักจูงไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกายและใจ

4.กุศล เป็นสิ่งที่มีคุณฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเป็นผลข้างเคียง  ยิ่งเจริญกุศลมากเท่าไร ชีวิตดีมากขึ้นเท่านั้น การครอบครองทรัพย์สินเงินทองมากมายเท่าไร ความหนักใจจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนการครอบครองกุศล เป็นทรัพย์สินประจำใจยิ่งมากเท่าไร ใจยิ่งเบามากขึ้นเท่านั้น เมื่อต้องจากลาโลกนี้ไปทรัพย์สินเงินทองมีอยู่เท่าไรต้องทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนผู้มีกุศลเป็นทรัพย์ เมื่อจากลาโลกนี้ไปย่อมนำไปได้ทั้งหมด

5.จิตที่เป็นกุศล เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ขณะที่กุศลเกิด ผ่านการทำ พูด หรือ คิด ย่อมรู้สึกเป็นสุขไปทุกขณะ ความเคลื่อนไหวของกายและจิตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งกุศล ย่อมเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นไปด้วยความสุข

พ่อขุนรามคำแหงปฐมกษัตริย์ไทย สร้างชาติด้วยนโยบายสั้นๆง่ายๆว่า ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย จากนั้นพระองค์ก็เปิดประตูพระราชวังต้อนรับพสกนิกรผู้ประสบความเดือดร้อนด้วยน้ำใจไมตรี พระองค์ทรงสงเคราะห์ประชาชนของพระองค์ประดุจบิดาดูแลบุตรธิดา ทรงชักชวนให้พสกนิกรของพระองค์ท่านสมาทานศีล ฟังธรรมในวันอุโบสถเป็นประจำ กรุงสุโขทัยจึงรุ่งเรืองอำไพทั้งเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ เพราะทั้งพระเจ้าแผ่นดินและพสกนิกรต่างตระหนักในการปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย สังคมยุคสุโขทัยจึงอบอุ่นอบอวลไปด้วยมิตรภาพ และจิตใจเบิกบานด้วยการกุศล สมชื่อว่า เมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข หรือสุโขทัย

ทุกคนสร้างกุศลได้เท่าๆกันเพราะทุกคนมีสติมีสัมปชัญญะเหมือนกัน เวลาทำ พูด คิด หรือ ทำกิจการต่างๆในชีวิตใส่ความระลึก และรู้สึกตัวเข้าไปในทุกขณะ การเคลื่อนไหวในชีวิตก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การกุศลได้ทั้งนั้น เช่น กินการกุศล เดินการกุศล ขับรถการกุศล ทำอาหารการกุศล อาบน้ำการกุศล แม้แต่ล้มตัวลงนอนของแต่ละวันหากทำไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ก็นับเป็นนอนการกุศล

ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านจงดำรงชีวิตอยู่ด้วยการสร้างกุศลตามสติกำลัง เพื่อให้สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ชีวิตมีแต่ความสุขยิ่งๆขึ้นไปเทอญ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.14 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2829) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/689) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข