ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
สุญญตา ความว่าง: พื้นที่ว่าง และจิตว่าง





สุญญตา แปลว่า ความว่าง เป็นธรรมะสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ผู้สนใจพุทธธรรมตั้งแต่อดีตได้ศึกษาและเผยแผ่สืบต่อกันมา ในประเทศไทยของเรา ผู้ที่เปิดพระไตรปิฎกและเผยแผ่เรื่องสุญญตานี้ออกไปอย่างจริงจังจนได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างกว้างขวาง คือ หลวงพ่อพุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ ห้าสิบกว่าปีที่แล้วมา ปัจจุบันนี้ หลักพุทธธรรมเรื่องสุญญตานี้ ยังได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนไม่น้อย จึงได้สืบทอดการศึกษาเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนาเรื่องนี้มาตามลำดับ


ปัญหาประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาเรื่อง สุญญตาได้พบก็คือ ภาษา ที่ชวนให้เข้าใจไขว้เขวคลาดเคลื่อนไปจากคำอธิบายของพระพุทธเจ้า คือ คำว่า สุญญตานี้แหละ เมื่อคำนี้ถูกแปลออกไปว่า ความว่าง ก็ชวนให้เข้าใจกันไปเองว่า ทุกอย่างว่างหมดไม่มีอะไรเหลือ

การทำความเข้าใจเรื่อง สุญญตา จึงต้อง นำเอาพระพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้มาพิจารณา และค่อยๆทำความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย และข้อสำคัญคือ ธรรมะเรื่อง สุญญตา นี้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จึงต้องยึดหลักที่พระองค์ทรงประทานไว้แล้วจะเข้าใจได้ว่า สุญญตา ที่แปลว่า ความว่างนั้น ว่างจากอะไร อย่างไร เรียกว่า ความว่าง อย่างไรเรียกว่า ความไม่ว่าง จึงต้องขอนำเอาพระสูตรที่พระองค์ทรงแสดงไว้มาสนทนากันเป็นลำดับไป

ที่มาของเรื่อง สุญญตานี้: พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 6 สุญญตวรรค จูฬสุญญตสูตร ข้อ 176 หน้า 215

สถานที่ที่ทรงแสงดง: ปราสาทของมิคารมาตา (นางวิสาขา) วัดบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี

ผู้ทูลปัญหาเรื่องสุญญตา ต่อพระพุทธเจ้า  คือ พระอานนท์

พระพุทธเจ้าทรงตอบพระอานนท์เรื่อง สุญญตาว่า

“ ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรมโดยมาก”

วิหารธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระพุทธเจ้า คือ สุญญตา

พระองค์ทรงอธิบายเรื่อง สุญญตา ในความหมายว่า ว่าง ด้วยการเปรียบเทียบความว่างของพื้นที่ว่า

“เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมาตาหลังนี้ ว่างจากช้าง โค ม้า และลา ว่างจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุม ของสตรีและบุรุษ ไม่ว่างอย่างเดียว คือ ภิกษุสงฆ์เท่านั้น”

พระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่มีอยู่เรียกว่าว่าง ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ว่าง

ถ้าเปรียบเทียบกับถนน ก็จะเปรียบได้ว่า ถนนว่าง ใครได้ยินก็ทราบได้ทันทีว่า ถนนไม่มีรถยนต์วิ่ง ไม่มีคนเดินหรือ วิ่งผ่าน

ถนนนั้นมีอยู่ แต่ไม่มีรถยนต์ หรือ คน ถนนจึงว่างจากรถยนต์และคนสัญจร

บางครั้ง แม้ถนนจะยังมีรถยนต์วิ่งอยู่ แต่ไม่หนาแน่นเหมือนทุกวันที่เคยเป็นมา คนก็จะพูดกันว่า ถนนว่าง ทั้งๆที่มีรถยนต์วิ่งอยู่ตามปกติแต่ไม่มากเหมือนที่เคยเป็นมา เช่นในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีคนที่กรุงเทพฯจะพูดว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ถนนในกรุงเทพฯว่าง เพราะรถส่วนใหญ่ออกต่างจังหวัด

ความจริง ยังมีรถยนต์ต่างๆสัญจรไปมา เพียงแต่น้อยกว่า เวลาปกติเท่านั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงยกความว่างของพื้นที่มาเปรียบเทียบแล้ว ทรงอธิบายความว่างในทางจิต หรือ จิตว่างว่า

“ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใส่ใจความสำคัญว่า บ้าน ไม่ใส่ใจความสำคัญว่า มนุษย์

ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะความสำคัญว่า ป่า จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในความสำคัญว่า ป่า”

“ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความสำคัญว่า ป่านี้ ไม่มีความกระวนกระวาย เพราะอาศัยความสำคัญว่า บ้าน ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่า มนุษย์ มีอยู่เพียงความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่า ป่า อย่างเดียว”

เมื่อทรงตรัสถึงสิ่งที่พระภิกษุ ใส่ใจให้ความสำคัญ และไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ แล้ว จึงทรงชี้ตรงลงไปว่า

“ รู้ชัดว่า ความสำคัญนี้(ป่า) ว่าง จากความสำคัญว่า บ้าน”

“รู้ชัดว่า ความสำคัญนี้(ป่า) ว่าง จากความสำคัญว่า มนุษย์”

“รู้ชัดว่า ไม่ว่างอย่างเดียว คือ ความสำคัญว่า ป่า เท่านั้น”

เมื่อทรงเปรียบเทียบถึงสิ่งที่พระภิกษุให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญแล้วจึงทรงประทานความหมายของสุญญตา ความว่าง ด้วยบทสรุปว่า

“ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็น ความว่าง ในสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญนั้น และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า สิ่งที่ยังมีอยู่นี้ มีอยู่”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงความเข้าใจเรื่องสุญญตาดังที่ทรงอธิบายมานี้ว่า

 “ อานนท์ การก้าวสู่สุญญตา (ความว่าง) ตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์ของภิกษุนั้นเป็นอย่างนี้”

พระพุทธพจน์ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขไปสู่ความเข้าใจเรื่องจิตว่าง คือ ใส่ใจ ให้ความสำคัญ อันจะนำไปสู่บทสรุปได้ว่า

เมื่อใดจิตไม่ให้ความสนใจ ไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งใด เมื่อนั้นจิตก็ว่างจากสิ่งนั้น เมื่อใดจิตให้ความสนใจให้ความสำคัญกับสิ่งใด เมื่อนั้นจิตก็ไม่ว่างจากสิ่งนั้น

สรุปความหมายของ จิตว่าง และจิตไม่ว่างว่า

จิตว่าง คือ ไม่มีสิ่งที่กำลังคิดถึง

จิตไม่ว่าง คือ มีสิ่งที่กำลังคิดถึง

การทำความเข้าใจเรื่องจิตว่าง ต้องตั้งอยู่บนความจริงที่ปรากฏในจิตแต่ละขณะว่า กำลังคิดอะไรอยู่ และไม่คิดอะไรอยู่ คิดเรื่องกุศล หรือ คิดเรื่องอกุศล ขณะที่จิตคิดเรื่องกุศล ก็ว่างจากอกุศล ขณะที่จิตคิดเรื่อง อกุศล ก็ว่าจาก กุศล เมื่อพิจารณาเห็นตามความจริงว่า เมื่อจิตหมกมุ่นใสใจให้ความสำคัญกับอกุศล ความคิดเช่นนั้นจะนำทุกข์มาให้ตน จิตที่คิดแต่เรื่องกุศล จะนำสุขมาให้ตน พึงฝึกคิดแต่เรื่องกุศล หมั่นคิดเรื่องกุศล คิดบ่อยๆ คิดมากๆ ถึงเรื่องกุศล จิตจะคุ้นเคย มีทักษะในเรื่องกุศล จนกระทั่งจะมีกุศลเป็นวิหารธรรม คือดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่เป็นกุศล จักนำแต่ความสุขมาให้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้นั่นแล”

วันที่ 21 มกราคม 2561 เวลา 8.41 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2829) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/689) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข