บทความหน้าสาม
สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์ (ตอนที่1)


สารพัดสารพันกับวัลลภา โดย...วัลลภา ดิเรกวัฒนะ

“สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์” เป็นเรื่องราวของ “ไอรีน กัท” ผู้หญิงที่ยอมเสี่ยงชีวิตกับข้อห้ามของพวกนาซี “ใครก็ตามที่ช่วยเหลือพวกยิว จะได้รับโทษถึงชีวิต" ประโยคนี้เขียนติดไว้ทุกหนทุกแห่งและจากเครื่องกระจายเสียงที่ป่าวประกาศตามท้องถนนทุกมุมเมือง แต่จากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ไม่ได้ทำให้ไอรีนประหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย…

…ฉันเป็นชาวโปลิช นับถือแคธอลิค เกิดและเติบโตที่เมืองคอสโลวา โกรา ประเทศโปแลนด์ เคยมีความคิดที่ทะเยอทะยาน ชอบเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยไว้ในสมุดไดอารี่ สร้างจินตนาการไกลเกินฝัน อยากเป็นวีรสตรีช่วยชีวิตคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น 

แม่ฉันชื่อ มามูเซีย คงสังเกตเห็นนิสัยใจคอฉัน ก็สนองให้ทำในสิ่งที่ปรารถนา ให้ช่วยกันกับน้องสาวอีก 4 คน ตระเตรียมอาหารใส่ตะกร้าไปแจกจ่ายแก่คนยากจนและคนป่วยทุกครั้งที่มีโอกาส ส่วนพ่อ ทาทัส  เป็นคนดี มีเมตตาต่อทุกคน แม้กระทั่งสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ 

การที่มีพ่อแม่คอยกระตุ้นให้ทำแต่ในสิ่งที่ดีงาม ฉันจึงเป็นอาสาสมัครช่วยองค์การกาชาด และเมื่อปี 1938 เข้าเรียนพยาบาลในเมืองเรดอม ห่างจากบ้าน 200 กิโลเมตร  

น้องของแม่ชื่อ เฮเลน อยู่ที่เมืองเรดอม บางครั้งหลังเลิกเรียนฉันไปเยี่ยมน้าแล้วกินอาหารเย็นด้วยกัน  ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ท่องหนังสืออยู่ในหอพัก มองจากหน้าต่างห้องพัก เห็นกลุ่มนักศึกษาเดินควงแขนกันตามถนน ร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติ หลังจากมีข่าวว่าฮิตเลอร์เตรียมบุกโปแลนด์ 

ปิดภาคฤดูร้อนปีหนึ่ง ฉันกลับบ้านก็พบว่าหมู่บ้านของเราเปลี่ยนไป เพราะอยู่ใกล้กับเขตแดนเยอรมัน มีหลายเมืองที่ถูกเยอรมันยึดครองไปเรียบร้อยแล้ว  

คนทั่วไปมักจะเหมาว่าพวกเราเป็นเยอรมัน เพราะนามสกุลว่า กัท แต่ฉันยังสงสัยอยู่ว่ามีชาวคอสโลวา โกรา กี่คนที่ทิ้งเชื้อชาติโปลิชสลายตัวเองกลายเป็นเยอรมัน และที่ทำให้งุนงงมากไปกว่านั้นก็คือ มีเครื่องหมายติดตามร้านขายของบางแห่งว่า “อย่าซื้อของจากพวกยิว ถ้าโปแลนด์ไม่มียิว โปแลนด์จะมีอิสรภาพ” ฉันไม่เคยคิดว่าคนจะแตกต่างกันตรงศาสนา เป็นเพราะฮิตเลอร์ต่างหากที่แบ่งแยกความเป็นคน 

ฤดูร้อนปี 1939 เป็นปีสุดท้ายที่ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าสักคนเดียว ฉันกลับบ้านอีกครั้งในเดือนสิงหาคม และในวันที่ 23 ของเดือนนั้น เยอรมันกับโซเวียตก็เซ็นสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศว่าจะไม่รุกรานกัน ทำให้ประชาชนครุ่นคิดกันว่าข่าวนี้จะมีผลกระทบอย่างไรกับโปแลนด์ พวกเราอยู่อย่างสิ้นหวัง หมดหนทางต่อสู้กับทั้งสองประเทศ รอคอยวันเวลาที่ถูกชำแหละ เหยียบย่ำ และถูกกลืนชาติในที่สุด

วันที่ 1 กันยายน 1939 ถึงเวลาพายุกระหน่ำ ฉันกำลังเดินทางกลับจากโรงพยาบาล เดินผ่านตึกรามบ้านช่องที่รกร้างว่างเปล่า สักพักได้ยินเสียงระเบิด แล้วท้องฟ้าก็ปกคลุมไปด้วยควันสีดำพวยพลุ่งจากแรงระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่า

บรรยากาศขณะนั้นระงมไปด้วยเสียงกรีดร้องและเสียงก้องคำรามของระเบิด อพาตเมนท์ฝั่งตรงข้ามพังทลายต่อหน้าต่อตา โซฟากระเด็นออกมาข้างนอก ฉันก้าวขาไม่ออกหยุดนิ่งตัวเย็นเป็นน้ำแข็ง จนกระทั่งเพื่อนนักศึกษาเข้ามาดึงแขน แล้วพูดว่า “เร็วๆ เข้า ที่โรงพยาบาลต้องการความช่วยเหลือ”

ที่โรงพยาบาล มีคนเจ็บเต็มไปหมด บนเตียง บนเก้าอี้ บนพื้น บ้างก็นั่งพิงที่กำแพง ตามขั้นบันได มีทหารโปแลนด์เดินเข้ามา ถึงได้รู้ว่าบัดนี้เยอรมันกลืนโปแลนด์ตะวันตกทั้งหมด มือฉันสั่นอย่างระงับไม่ได้ขณะที่กำลังพยายามทำแผลให้คนเจ็บ ครอบครัวของฉันอยู่ในเขตเยอรมัน ยังสงสัยอยู่ว่าเราจะได้พบหน้าค่าตากันอีกไหมในชาตินี้

เขตที่ตกเป็นของเยอรมันคือแถบเมืองเรดอม ทหารโปแลนด์เริ่มยอมแพ้ และที่โรงพยาบาลพวกทหารขอแรงพยาบาลและหมอไปช่วย ฉันไม่ลังเลที่จะสมัครไปในทันที ฉันปีนขึ้นรถขององค์การกาชาดที่เต็มไปด้วยทหารบาดเจ็บ รถขับออกไปจนไกลจากจุดสู้รบถึงกองบัญชาการทหารของโปแลนด์ ใกล้กับเขตแดนติดกับโซเวียต เราต้องเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ตรงหน้าตึกประมาณ 200 คน   

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาประกาศด้วยน้ำเสียงและแววตาที่เหนื่อยอ่อนว่า “เยอรมันและโซเวียตได้จัดการแบ่งโปแลนด์คนละครึ่ง ขณะนี้พวกเรากำลังยืนอยู่บนเขตแดนของโซเวียต ไม่มีประเทศของเราอีกต่อไปแล้ว”

พอเสียงประกาศจบ ทุกคนก็ชุลมุนโกลาหล เตรียมตัวเข้าไปหลบซ่อนในป่าพร้อมด้วยสิ่งของที่หอบหิ้วไปได้ และฉันก็เช่นกัน ไปพร้อมกับกลุ่มทหารที่อยู่ในสภาพไร้แผ่นดิน บางครั้งตั้งแคมป์อยู่ที่เดิมหลายวัน พยายามฟังข่าวคืบหน้าก่อนที่จะเคลื่อนย้ายต่อไป ต้องเสาะหาที่หลบภัยต่อไปเรื่อยๆ จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งไม่มีแม้แต่แห่งเดียว ในที่สุดก็ถึงเมืองยูเครน 

หลังจากรอนแรมหาที่พักพิงชั่วคราวจนล่วงเข้าสู่เดือนมกราคม 1940 อย่างไม่มีความหวังใดๆ หลงเหลืออยู่เลย ฉันตกลงใจอาสาสมัครเข้าช่วยงานราชการทหารพร้อมกับทหาร 4 คน และพยาบาลอีก 2 คน พวกเราเดินทางไปถึงหมู่บ้านใกล้กับเมืองล็อฟ ฉันยืนมองถนนในขณะที่เพื่อนร่วมทางเข้าไปในบ้านที่มืดสนิทหลังหนึ่ง ฉันแนบแผ่นหลังติดอาคารด้วยความหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่คาดล่วงหน้าไม่ได้เลย มีพวกทหารโซเวียตเต็มไปหมด และคาดไม่ถูกว่าพวกเราจะเผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้างถ้าพวกนั้นพบตัว 

และแล้วฉันได้ยินเสียงรถทรัค เห็นแสงไฟหน้ารถสาดส่องมาตามถนน เป็นพวกทหารโซเวียต ฉันรีบวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต พวกทหารไล่ตามมาติดๆ …  

เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย ปกติฉันไม่ใช่ผู้หญิงที่กล้าผู้ชาย ไม่เคยมีแฟน ไม่เคยถูกผู้ชายจูบ ฉันเป็นหญิงสาวแคธอลิคที่เรียบร้อย รักนวลสงวนตัว ทหารโซเวียตไม่ได้ไล่ยิง แต่พอจับตัวได้ก็ซ้อมจนสลบ รุมข่มขืนฉัน แล้วปล่อยให้ตายในกองหิมะที่หนาวเหน็บ ภายใต้แสงริบหรี่ของดวงดาว 

แต่ดวงฉันยังไม่ถึงฆาต ฟื้นที่โรงพยาบาลเทอร์นาโพล ห่างจากทางตะวันออกของเมืองล็อฟ ปรากฏว่าคนที่นำตัวฉันมาก็คือพวกทหารโซเวียตอีกกลุ่มหนึ่ง  และบัดนี้ฉันก็ตกเป็นเชลยของพวกเคราแดง หลังจากที่รักษาตัวหายดีแล้ว ก็ได้รับมอบหน้าที่ให้ช่วยในโรงพยาบาล พวกพยาบาลทุกคนและหมอส่วนใหญ่ก็ให้ความเมตตา แต่ฉันกระวนกระวายใจอยากกลับไปพบครอบครัว วิตกกังวลจนยอมเสี่ยงชีวิต หลังจากช่วยงานอยู่พักหนึ่งก็หนี จากความช่วยเหลือของหมอที่สงสารและเวทนา ฉันต้องกลายเป็นนักโทษหนีคดีอีกครั้ง ถ้าพวกโซเวียตพบก็ถูกจับทันที

ฉันซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านใกล้เมืองเคียพเกือบปี ทำงานในสถานพยาบาลคนเจ็บป่วย จนสามารถออกเดินทางต่อไปได้ ปลายเดือนมีนาคม 1941 ตรงไปที่บ้านน้าเฮเลน เมืองเรดอม หวังว่าน้าคงได้ข่าวพ่อแม่และน้องสาวของฉัน ขณะที่เดินหาบ้านน้าซึ่งอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังด้วยร่างกายที่สั่นเทา ถ้าหากไม่พบน้าเฮเลนฉันจะทำอย่างไรต่อไป…

ที่ประตูหน้าบ้าน เห็นเด็กหญิงผมสีดำหยิกเป็นลอน เธอจ้องมองฉันสักพักก่อนที่จะวิ่งเข้าไปบอกคนในบ้าน “ไอรีน่า ไอรีน่า” ฉันจำเสียงน้องสาว บรอเนีย ได้ น้ำตาคลอด้วยความตื่นเต้นดีใจ แล้วฉันก็ได้ยินเสียงเรียกชื่อด้วยความดีอกดีใจ ร่างพ่อกับแม่ปรากฏที่ประตูบ้าน 

ความรู้สึกตอนนั้นราวกับนกที่ถูกปล่อยออกจากกรง หัวใจพองโตเหมือนลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ฉันไม่ได้พบหน้าทุกคนในครอบครัวเป็นเวลาเกือบสองปี เมื่อเรานั่งล้อมเป็นวง ต่างก็แลกกันเล่าเรื่องต่างๆ สงครามเปลี่ยนแปลงพวกเราทุกคน ผมดกดำของแม่กลายเป็นสีขาวเกือบหมด พ่อตกงาน ถูกส่งไปเย็บรองเท้าแตะ ถึงอย่างไรพ่อก็ยังโชคดีกว่าคนอื่น ๆ บางคนหายสาปสูญ ไม่ได้ยินข่าวอีกเลย

มีอีกคนหนึ่งที่ฉันยังไม่พบ น้องสาวคนสนิท จารีน่า เมื่อเธอเดินเข้ามาในห้อง มองเห็นฉันก็ยืนนิ่งไม่ไหวติงอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะวิ่งเข้าหากันด้วยความคิดถึง น้องสาวอีก 3 คนเข้ามาร่วมวง พวกเราทั้งหัวเราะ ร้องไห้สลับกันเป็นระยะ

คืนนั้นพ่อนำพวกเราสวดมนต์เป็นพิเศษ เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ที่บ้านของเรา ทรัพย์สมบัติที่หวงแหนทั้งหลายสูญหายหมด อาหารขาดแคลน แต่เมื่อได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง นับว่าโชคดีมากกว่ามีทรัพย์สูงค่านานาชนิด

วันรุ่งขึ้นจารีน่าพาฉันเดินเที่ยวรอบเมืองเรดอม ทุกหนทุกแห่งที่เราผ่านไป เต็มไปด้วยทหารเยอรมัน นายทหารแห่งเวอร์มาช และเจ้าหน้าที่ในชุดสีเทา มีโปสเตอร์เขียนข้อความต่อต้านยิวเต็มไปหมด 

จารีน่าพาไปทางตอนใต้จนถึง กลินิซ เขตกักกันชาวยิวกลุ่มใหญ่ในเรดอม เมื่อไปถึงก็เห็นรั้วที่ติดลวดหนามไว้ข้างบน ที่ประตูใหญ่มีทหารเยอรมันและสุนัขจำนวนมาก จารีน่ารำพึงขณะมองไปรอบๆ ว่า “กลินิซ เกตโต พวกยิวทั้งหมดจากเรดอมและเมืองใกล้ๆ ถูกบังคับให้มาอยู่ในนั้น และอีกที่หนึ่งคือ วาโลวา เกตโต” 

ในเดือนกรกฎาคม พ่อถูกเกณฑ์ไปทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผา จากวันนั้นไม่ได้ข่าวของพ่อเป็นเวลาหลายอาทิตย์ จนกระทั่งได้รับจดหมาย แม่อ่านแล้วเข่าอ่อน เพื่อนเก่าพากันหันหลังให้พ่อ เพราะพ่อทำงานให้กับพวกเยอรมัน ตอนนี้ที่บ้านเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า แม่ตัดสินใจพาลูกสาวสามคนเล็กไปอยู่กับพ่อ จากข่าวลือว่าหญิงสาวชาวโปลิช ถูกส่งเข้าซ่องในประเทศเยอรมัน แม่ไม่กล้าเสี่ยงเอาฉันกับจารีน่าไปด้วย เราสองคนอ้อนวอนจนอ่อนใจตลอดทางไปส่งแม่ที่สถานีรถไฟ แต่แม่ก็ไม่ใจอ่อน  

จารีน่ากับฉันรู้สึกเหมือนตื่นจากฝันร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่คาดคิดว่าจะต้องพลัดพรากจากกันอย่างรวดเร็วหลังจากพบหน้าไม่นาน ฉันกับจารีน่ายิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้นอีก อยู่ไม่ห่างกันแม้แต่วินาทีเดียว ตอนนี้บ้านเงียบเหงาและว่างเปล่า เรานอนเตียงเดียวกัน จับมือกันไว้แน่นก่อนที่จะหลับสนิท

ต่อมาไม่นานเราก็รู้ว่า พวกเยอรมันหาวิธีใช้งานพวกหญิงสาว ขณะที่เรานั่งคุกเข่าอยู่ในโบสถ์ในวันอาทิตย์ ทหารเยอรมันเปิดประตูเข้าไปแล้วตะโกนเรียกทุกคนให้ออกไปข้างนอกโดยใช้ปืนขู่ แล้วสั่งให้แยกเป็นกลุ่ม เด็ก ผู้สูงอายุ วัยรุ่น วัยกลางคน แล้วพวกเราก็ถูกนำตัวไปเป็นคนงานบรรจุลูกกระสุนใส่กล่องในโรงงานที่เรดอม 

ภายในโรงงานเต็มไปด้วยเสียงอึกกระทึกครึกโครม มีกลิ่นสารเคมีอบอวลไปหมด หลายครั้งฉันเป็นลมเวลาที่เผลอสูดกลิ่นที่พวยพุ่งออกมา ทั้งขาดอาหารและอากาศเป็นพิษ พวกเราถูกบังคับให้ยืนทำงานวันละหลายชั่วโมงโดยไม่ได้ค่าจ้าง ก็คือพวกทาสดีๆ นี่เอง 

เช้าวันหนึ่ง พวกทหารเสนาธิการเข้ามาตรวจตรา พอพวกนั้นเดินมาถึง ฉันก็เกิดหน้ามืดลมใส่ขึ้นมากระทันหัน ถูกนำตัวไปนอนที่เก้าอี้รับแขกในสำนักงาน นายพันเยอรมันนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน อายุหกสิบเศษ สวมแว่นหนาเตอะ เขาถามชื่อฉันแล้วพูดต่อไปว่า “เธอเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่ต้องทำงานในโรงงาน หากเธอป่วยทำงานไม่ไหว…” 

ฉันรีบพูดสวนทันที “ไม่ค่ะ ดิฉันไม่ได้ป่วย อย่าเนรเทศเลยนะคะ ดิฉันจะพยายามทำงานให้หนักกว่าเก่าค่ะ” 

นายพันจ้องหน้าฉันชั่วครู่แล้วพูดว่า “ภาษาเยอรมันของเธอดีมาก บางทีเธอน่าจะไปช่วยงานในกองทหารดีกว่า มีประสบการณ์หรือเปล่า”

ฉันแทบกระโดดตัวลอยจากเก้าอี้ “มีค่ะ ท่าน”  

นายพันเขียนใบผ่านและสถานที่ บอกให้ฉันกลับบ้านไปก่อน แล้วให้ไปรายงานตัวเวลาเจ็ดโมงเช้าวันรุ่งขึ้น ฉันเหลือบมองชื่อในใบเซ็นผ่าน นายพันเอ็ดดวจ เรอจิเมอร์.

ย้อนอ่านตอนที่แรก (บทนำ)

สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์ (บทนำ)

http://siamtownus.com/2016/New-2101000067-1.aspx




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
22-05-2023 แผนกสูตินรีเวชของ APHCV จัดเสนอบริการรับฝากครรภ์ที่ศูนย์สุขภาพลอสเฟลิซให้แก่ชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว (0/1555) 
05-05-2023 รายงาน : เปิดหมายกำหนดการและขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (0/421) 
30-01-2023 รายงาน : สรุปเทรนด์ตลาดและธุรกิจปี 2565 ในสหรัฐฯ และแนวโน้มปี 2566 (0/873) 
29-09-2022 เพื่อช่วยบุตรหลานของท่านในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแสดงออกที่โรงเรียน ให้ดียิ่งขึ้น (0/1008) 
29-03-2022 รู้จัก “ส้มซูโม่” ที่กำลังดังเปรี้ยงทาง TikTok (0/2464) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข