ข่าวคนไทยในอเมริกา
บทความหน้าสาม : เบื้องหลังการลุยตลาดน้ำของ “มิกกี้เมาส์”


ดีดี้ แบงค์




 ควินซี่ สุรสมิธ













เดือนที่แล้ว คนไทยเราเพิ่งจะได้เฮกับ “Amphibia” ซีรีย์อนิเมชั่นชุดใหม่ของดีสนีย์ ที่เดินเรื่องโดยใช้ “แอนน์ บุญช่วย” เด็กหญิงเชื้อสายไทยที่หลุดเข้าไปอยู่ในโลกของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เพราะ แมทท์ บราลี่ หนุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้สร้าง (creator and executive producer) ของซีรีย์ชุดนี้ได้นำเอา “ความเป็นไทย” ใส่เข้าไปในผลงานของเขาเต็มที่

ผ่านมาไม่กี่วัน พวกเราก็ได้เฮเสียงดังกันอีกรอบ เมื่อดีสนีย์ปล่อย “มิกกี้เมาส์” อนิเมชั่นขนาดสั้นตอนล่าสุด Our Floating Dreams ออกมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เป็นเรื่องราวของ “มิกกี้เมาส์” ในบทพ่อค้าสับปะรด ที่แย่งที่จอดเรือขายของหน้าวัดกับ “มินนี่เมาส์” ที่มาในมาดแม่ค้าข้าวผัด

มี ชิพกับเดล ชิพมั้งส์ สองพี่น้องโผล่มาเป็น cameo ในบทพ่อค้าขายถั่ว ที่ได้ที่จอดเรือสะดวกสบาย เพราะมิกกี้ กับมินนี่ มัวแต่แย่งกัน...

บทของชิพกับเดล ถือว่าโผล่มาเพื่อ "แย่งซีน" มิกกี้กับมินนี่โดยเฉพาะ เพราะเพลงที่สองพี่น้องร้อง (ชิพกะเดลนี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง...) กลายเป็นเพลงติดหูที่โลกโซเชียลพูดถึงกันกระหึ่มตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ เพราะเรื่องราวของ Our Floating Dreams เกิดขึ้นในบรรยากาศแบบตลาดน้ำของไทย ตัวละครทุกตัวพูดภาษาไทย เสื้อผ้า ฉากหลัง ดนตรีประกอบ และบรรยากาศทุกอย่างเป็นไทยแบบไม่ต้องสงสัย

เป็นไทยแม้กระทั่ง title card (ชื่อเรื่อง) ที่มีทั้งลายไทย ช้าง และธงชาติไทย

เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเราคนไทย ที่ได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีไทยถูกถ่ายทอดเอาไว้ในการ์ตูนที่คนทั่วโลกรู้จักแบบนี้

เราก็เลยต้องไปเสาะหาข้อมูลเบื้องหลังเพื่อมาบอกเล่าถึง “ที่มา” ของอนิเมชั่นที่กำลังฮือฮาเรื่องนี้

Our Floating Dreams เป็นอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่องที่ 16 ในซีซั่นที่ 5 ของซีรีย์ Mickey Mouse (2013) ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ เวอร์ชั่นล่าสุด ที่ดีสนีย์มอบหมายให้ พอล รูดีส นำเอามิกกี้เมาส์ สัญลักษณ์ของดีสนีย์ ซึ่งวอลท์ ดีสนีย์ สร้างขึ้นมาเมื่อ 90 ปีที่แล้ว มาปัดฝุ่นสร้างอีกรอบ โดยตั้งเป้าที่จะจับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ ทดแทนคนรุ่นปู่ย่าที่ร่วงโรยไป

พอล รูดีส (Paul Rudish) เป็นอนิเมเตอร์ที่ไม่ธรรมดา เพราะเคยสร้างคาเร็คเตอร์ดังๆ ขึ้นมามากมาย ตั้งแต่ก่อนเข้ามาอยู่กับดีสนีย์ เช่น Dexter’s Laboratory, The Powerpuff Girls, Samurai Jack รวมถึง Star Wars: Clone Wars ด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานข่าวการ “คัมแบ๊ก” ของ Mickey Mouse (2013) ว่าวิธีที่ทีมผู้สร้างนำมาใช้เพื่อขยายฐานคนดูของมิกกี้เมาส์ออกไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็คือการ “สร้างความแปลกใหม่ในความคุ้นเคย” คือเอาเสน่ห์ดั้งเดิมของมิกกี้ และผองเพื่อน เช่นมินนี่, โดนัลด์ ดั๊ก, เดซี่ ดั๊ก, กู๊ฟฟี่, พลูโต ฯลฯ ที่วอลท์ ดีสนีย์ สร้างสรรค์เอาไว้อย่างพิถีถัน ออกไปวางในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เป็น “บ้าน” ของฐานคนดูยุคใหม่ แทนที่จะอยู่ในแต่ในโลกจินตนาการเหมือนตะก่อน...

ห้าซีซั่นที่ผ่านมา มิกกี้และผองเพื่อนไปผจญภัยกันมาแทบจะรอบโลกแล้ว ทั้งที่ซานตามอนิก้า, นิวยอร์ค, ปารีส, ปักกิ่ง, โตเกียว, เวนิช, เทือกเขาเอลป์ส และล่าสุดคือไทยแลนด์ ของพวกเรา...

โดยตอน Our Floating Dreams ที่มิกกี้กับมินนี่ ไปสร้างสรรค์เมนู “ข้าวผัดสับปะรด” กันที่ตลาดน้ำในเมืองไทยนี้ ถือเป็นตอนที่ 94 ในซีรีย์นี้

การที่ซีรีย์ Mickey Mouse (2013) มีอายุยืนยาวมาถึงซีซั่นที่ 5 ในปีนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าแผนการยืดอายุมิกกี้เมาส์ประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะ Mickey Mouse (2013) เป็นอนิเมชั่นซีรีย์ชุดที่สองในประวัติศาสตร์ของดีสนีย์ ที่มีการสร้างต่อเนื่องกันถึงห้าซีซั่น ต่อจาก Doc McStuffins

คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญ... มี “คนไทย” อยู่เบื้องหลัง Our Floating Dreams ซึ่งตัวละครพูดไทยกันทั้งเรื่อง หรือไม่ อย่างไร

จากเครดิตท้ายเรื่อง ในหมวดของ Voice talents หรือทีมให้เสียง ซึ่งมีอยู่สี่คนนั้น เราเห็นชื่อคนไทยสองคน คือ ดีดี้ แบงค์ กับ ควินซี่ สุรสมิธ

คนแรกเป็นนักร้องหญิงที่เคยร่วมคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งคุณ วราภรณ์ เตียประสิทธิ์ กับคุณณัฐวุฒิ จันทร์ประสิทธิ์ เป็นแกนนำจัดขึ้นที่โรงละครบนบาร์นสเดล อาร์ต ปาร์ค ถนนฮอลลีวูด เมื่อหลายปีก่อน ส่วนคนที่สอง เราเคยเสนอข่าวของเขาว่าทำงานอยู่กับองค์กรกฎหมายของคนเอเชีย (Asian American Advancing Justice LA) เมื่อหลายปีก่อน

คิดเข้าข้างตัวเองว่าฝ่ายหญิงน่าจะให้เสียงมินนี่ เมาส์ ส่วนฝ่ายชายก็ให้เสียงมิกกี้ เมาส์ แน่นอน

เปล่าเลย...

ทราบจากคุณ ดีดี้ แบงค์ ว่าคุณป้า รัสซี่ เทย์เลอร์ (Russi Taylor) วัย 75 ปี ผูกขาดการให้เสียงเป็นมินนี่ เมาส์ มาตั้งแต่ปี 1986 ส่วนเสียงของ มิกกี้ เมาส์ ที่ได้ยินกันนั้น เป็นของนักแสดงหนุ่มชื่อ คริส เดียแมนโทโปลัส (Chris Diamantopoulos) ซึ่งรับหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2013

หน้าที่ของคุณ ดีดี้ แบงค์ และคุณควินซี่ สุรสมิธ คือการเป็นโค้ชให้กับ วอยซ์แอคเตอร์ ชาวอเมริกันทั้งสองคนให้ออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง และแม่นยำที่สุด

“เขาจะมีเอ็กเซ่นต์ เราก็จะบอกว่า ‘โน ไม่ใช่นะ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้’ เป็น accent reduction ให้เขา”

นอกจากนี้ หน้าที่ของคนไทยทั้งสองคนก็คือการให้เสียงแบ๊กกราวน์ ที่ศัพท์เทคนิคเรียกว่า looping ประเภท “ตรงนี้ ตรงนี้ มีผลไม้สด” หรือเสียงจอแจของกลุ่มลูกค้าที่ร้องสั่งข้าวผัดสับปะรดในตอนจบ เป็นต้น

ส่วนเพลงฮิตติดหู ของชิพแอนด์เดล “ชิพกับเดลมีสองพี่น้อง ขายของในคลอง...” นั้น คุณดีดี้ แบงค์ บอกว่าไม่ใช่เสียงของเธอและเพื่อน และก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเสียงของใคร

คุณดีดี้ ซึ่งเป็นนักแสดงภายใต้สหภาพแรงงานนักแสดง มีผลงานเป็นนักแสดงสมทบ และทำงาน วอยซ์ โอเวอร์ ให้กับหนังและหนังทีวีหลายเรื่อง โดยเธอถูกเรียกตัวไปทำงานกับอนิเมชั่นของดีสนีย์เรื่องนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว และใช้เวลาทำงานไม่นานนัก ที่ดีสนีย์สตูดิโอ เมืองเบอร์แบงค์

“ก็มีหลายเรื่องที่มีทีมคนไทยเข้าไปทำงาน อย่างปีที่แล้ว มีเรื่อง All I See Is You ที่ครึ่งหนึ่งถ่ายที่เมืองไทย ฉากที่เขาไปอยู่เมืองไทย ทีมคนไทยก็มาใส่เสียงเข้าไป เป็น Looping เหมือนกัน หรืออย่าง Madam Secretary ที่เป็นซีรีย์ทีวี มีอยู่ตอนนึงก็เป็นเรื่องที่เมืองไทยเหมือนกัน ไปถูกจับที่เมืองไทย ทีมเราก็เข้าไปพากษ์เสียงคนไทย เป็นเสียงแบ๊กกราวน์ให้”

คุณดีดี้ แบงค์ จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เคยเรียนแจ๊สแดนซ์กับ “ครูเล็ก” ภัทราวดี และเคยเป็นนักร้องอยู่ที่โรงเบียรตะวันแดง กับ อ.บรู๊ซ แก๊สตัน อยู่สองสามปี ก่อนจะเดินทางมาอเมริกา

เธอบอกว่าปัจจุบันนี้ มีคนไทยทำงานอยู่ในฮอลลีวูดหลายคน ทั้งทีมงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

“ในมิกกี้เมาส์ ก็เห็นว่ามีแค่เราสองคนที่เป็นคนไทย แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทีมงานเบื้องหลังจริงๆ ยังมีอีกไหม เพราะมีคนไทยทำอนิเมชั่นเยอะเหมือนกัน” คุณดีดี้ แบงค์ บอก

ถามว่ามีโอกาสไหมที่เรื่องราวการผจญภัยของ มิกกี้ เมาส์ และผองเพื่อน จะเกิดขึ้นที่เมืองไทยอีก คุณดีดี้ แบงค์ บอกว่าไม่ทราบเลย แต่หวังเต็มหัวใจเลยว่าจะมีอีก

“เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก ในฐานะคนไทยนะคะ ถือว่าเป็นที่สุดแล้ว” สาวไทยในฮอลลีวูดคนนี้บอกปิดท้าย...
.
.












 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
631
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข