บทความหน้าสาม
เรื่องเล่าจากหลุมฝังศพ : ตะวันลับฟ้าที่วัดขอนดู่
























โดย พระชลินทร์ ธัมมะวัฑฒะโน  วัดบ้านป่านาบุญ

พระธุดงค์ 19 รูป ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน แบกกลดออกจาริกโปรดญาติโยมตามรอยช้าง “หลวงพ่อเดิม และ หลวงพ่อคล้าย” ด้วยกัน ในเขตอำเภอตาคลี อำเภอตากฟ้า อำเภอเมือง อำเภอพยุหะคีรี และ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีรายนามดังนี้ พระอาจารย์ ดร.ทรงกฤต อธิมุตฺโต วัดห้วยลำใย ตากฟ้า 

พระอาจารย์เถลิงศักดิ์ สุชาโต วัดเขาแก้ว พยุหะคีรี พระอาจารย์อำนวย เดชธมฺโม วัดหนองโพธิ์ ท่าตะโก พระอาจารย์สายัณห์ ปิยสีโล วัดหนองโพธิ์ ท่าตะโก พระอาจารย์สวาท คุณวโร เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ ท่าตะโก พระอาจารย์อานนท์ สิริปญฺโญ   พระอาจารย์นพพล สิริสาโร สำนักบ้านสวนแสงธรรม ท่าตะโก 

พระอาจารย์ธเนศ สิริสาโร วัดพุนกยูง ตากฟ้า พระณัฐกร กิตติปญฺโญ วัดพุนกยูง พระอาจารย์ธนาธิป จิตฺตปสนฺโน วัดเขาแก้ว พยุหะคีรี พระไพรัช ฉนฺทธมฺโม วัดท่าดินแดง อำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ พระอาจารย์จตุพล กนฺตธมฺโม วัดสระนางสรง พยุหะคีรี พระอาจารย์วิรัช ธมฺมวโร วัดสระนางสรง พระเรืองศักดิ์ ธมฺมวโร วัดห้วยลำใย ตากฟ้า 

พระอาจารย์สมบัติ อาสโภ วัดสายลำโพงเหนือ ท่าตะโก พระอาจารย์พิเชษฐ์ ชุติปญฺโญ วัดสายลำโพงเหนือ พระอาจารย์พีระวิช เตชวโร วัดสายลำโพงเหนือ พระอาจารย์แสงชัย ยติโก วัดสายลำโพงเหนือ และ พระชลินทร์ ธมฺมวฑฺฒโน วัดบ้านป่านาบุญ ผู้ถ่ายทอดบริบทต่างๆของคณะพระธุดงค์ผ่านคอลัมน์นี้ 

ในจำนวนพระธุดงค์ทั้งหมดนี้ พระอาจารย์ ดร. ทรงกฤต อธิมุตฺโต เป็นภิกษุผู้มีอาวุโสสูงสุด พรรษามากที่สุด ที่หมู่สงฆ์ยกให้ท่านเป็นหัวหน้าคณะ แต่พระที่อายุมากที่สุดในคณะธุดงควัตรดังกล่าวนี้ กลายเป็นอาตมาเอง เพราะมีอายุขัยใกล้จะถึง 70 ปีแล้ว  ดังนั้นหน้าที่ในการเล่าขานตำนานก่อนนอน ในแต่ละค่ำคืนจึงเป็นหน้าที่ของอาตมาที่แสวงหาสาระเรื่องราวต่างๆ มาบรรยายถวายความรู้ให้พระธุดงค์ได้สดับก่อนนิทรา

ประการหนึ่งเพราะสถานที่ปักกลดในแต่ละคืนของพระธุดงค์มักอยู่ในบริเวณป่าช้าเก่า คณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันเรียกเรื่องราวต่างๆที่ได้รับฟังจากการถ่ายทอดของอาตมาว่า “เรื่องเล่าจากหลุมฝังศพ” และ วันหนึ่งคณะพระธุดงค์ไปทรงกลดอยู่ในบริเวณชายป่าของวัดขอนดู่ ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก  มีสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิตั้งอยู่เรียงราย ใกล้ๆกับกุฏิเก่าอีก 4-5 หลัง ซึ่งมีสภาพเป็นกุฏิร้าง ในบรรยากาศที่วังเวงเป็นอย่างยิ่ง เรื่องเล่าจากหลุมศพ ณ ค่ำคืนนั้นจึงเริ่มขึ้น ท่ามกลางหมู่สงฆ์ที่ล้อมวงเข้ามาฟังอย่างเนืองแน่น

วัดโคกกร่างอยู่ติดกับภูเขา มีทางเกวียนกั้นอยู่ตรงกลางระหว่างวัดกับภูเขา มีเมรุเผาศพอยู่บนเนินเล็กๆ ด้านหลังของเมรุเป็นป่าช้าเก่าซึ่งมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นยืนเรียงราย

ทั้งต้นสัก ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นตะเคียน ต้นประดู่ ต้นมะขาม และ ต้นโพธิ์ ต้นไม้แต่ละต้นบ่งบอกอายุได้เป็นอย่างดี ด้วยขนาดของลำต้น ซึ่งคาดกันว่า แต่ละต้นน่าจะผ่านพ้นกาลเวลามานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่หมู่บ้านโคกกร่างยังมีสภาพเป็นเพียงป่าเลี้ยงช้าง 

ตะวันลับฟ้าไปนานแล้ว ความมืดค่อยๆโรยตัวเข้ามาปกคลุมสรรพสิ่งทั้งหลาย ดุจม่านกำมะหยี่สีดำที่ถูกคลี่ลงมาคลุมหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ 

ภิกษุชรารูปหนึ่งเดินหายเข้าไปในป่าช้าตั้งแต่หัวค่ำ ในมือของภิกษุรูปนั้นมีตะเกียงโคมดวงเล็กๆคอยส่องทาง ระหว่างเดินแวะไปที่หลุมศพแต่ละหลุม หลุมโน้น หลุมนี้ หลุมใหม่ หลุมเก่า ซึ่งแต่ละหลุมสร้างเป็นสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิครอบปากหลุมเอาไว้ แต่บางหลุมที่ศพไม่ได้รับการฌาปนกิจก็ฝากร่างทั้งร่างเอาไว้ใต้พระแม่ธรณี

ท่าทีของภิกษุเฒ่าสงบนิ่ง แน่วแน่ ดวงตาคู่นั้นเต็มไปด้วยความอ่อนโยน และ เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา ป้ายชื่อบนปากหลุมบางหลุมบอกเล่าถึงยุคสมัยที่ผ่านพ้น บ้างจารึกชื่อเอาไว้บนแผ่นปูนซึ่งขณะนี้อยู่ในสภาพชำรุดแตกหัก

บ้างก็สลักชื่อและภาพของผู้วายชนม์ จารึกไว้บนแผ่นหินอ่อนอย่างดี บางรายเขียนชื่อผู้ตายไว้บนแผ่นกระดานด้วยสีน้ำมัน แต่เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป สีที่เขียนจางหายไป หรือไม่ ไม้กระดานก็ผุพังลง ที่ญาติพี่น้องสนใจ เพราะยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ก็หมั่นแวะเวียนมาดูแล ทั้งเขียนป้ายใหม่ให้ 

พระคุณเจ้าหยุดยืนอยู่ที่หลุมศพแห่งหนึ่ง ด้วยท่าทีที่สงบนิ่ง หลุมศพเบื้องหน้าของสมณะเจ้าเป็นหลุมศพสองหลุมเรียงคู่กันแต่สลักชื่อร่วมกันเอาไว้บนหลักหินแผ่นเดียวกัน 

“กำนันเชี่ยวแม่เหลื่อม 3 ต.ค. พ.ศ. 2465” 

มีเสียงพึมพำจากสมณะผู้ชรา ที่ยังจำเรื่องราวเก่าๆของกำนันเชี่ยวและแม่เหลื่อมได้เป็นอย่างดี 

กำนันเชี่ยวเป็นกำนันตัวอย่างที่ชาวบ้านรัก เพราะความซื่อสัตย์สุจริต ร่วมทุกข์ร่วมสุข สอนให้ชาวบ้านเคารพกฎหมายบ้านเมือง พาเข้าวัดทำบุญตักบาตรเป็นประจำ ทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างศาลาการเปรียญ จุดเด่นอีกอย่างของกำนันเชี่ยวก็คือเป็นผู้นำที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ยิงปืนแม่น จนนักเลงในหมู่บ้านยอมก้มหัวให้

แต่โศกนาฏกรรมชีวิต ของกำนันเชี่ยวกับแม่เหลื่อมมาเกิดขึ้น เหมือนกรรมเก่าที่ทั้งสองได้สร้างสมเอาไว้แต่ชาติปางก่อน เหตุเกิด ณ เย็นวันหนึ่งขณะกำลังเข้าไต้เข้าไฟ เมื่อกองโจรเสือแจ่มบุกปล้นวัวในหมู่บ้านอย่างอุกอาจ เป็นการปล้นแบบยกฝูง ซ้ำยิงเจ้าทรัพย์ตายคาคอก 

กำนันเชี่ยวสั่งตีเกราะเคาะไม้ พาชาวบ้านติดตามกองโจรไปอย่างกระชั้นชิด ไปทันกันที่ริมหนองโสนใหญ่ เกิดการดวลปืนกันอย่างดุเดือดระหว่างกำนันเชี่ยวกับเสือแจ่ม ลูกสมุนเสือแจ่มถูกกำนันเชี่ยวยิงตายคาหนองโสนใหญ่ถึง 3 ศพ สามารถแย่งฝูงวัว กลับคืนมาได้ทั้งหมด เสือแจ่มและลูกน้องที่เหลือ อาศัยความมืดหนีรอดไปได้พร้อมรอยเลือดที่หยดไปเป็นทาง มันทำให้เสือแจ่มแค้นจนแทบกระอักเลือด ประกาศข้ามทุ่งที่จะขอเอาเลือดกำนันเชี่ยวมาล้างเท้าให้ได้

อีกสามเดือนต่อมา เมื่อได้ฤกษ์ดาวโจร เสือแจ่มพยายามจะทำให้ได้อย่างที่พูด จึงพาพวกบุกปล้นบ้านกำนันเชี่ยว เป้าหมายของจอมโจรใจฉกาจคือการตัดหัวท่านกำนัน เพื่อเอาเลือดมาล้างเท้า

แม่เหลื่อมผลักผัวจนตกลงไปในสระหลังบ้าน  ทันทีที่ได้ยินเสียงปืนนัดแรก กำนันเชี่ยวอาศัยความมืดอำพรางตัวเองอยู่ใต้กอบัวในสระ ทนทรมานฟังเสียงเสือแจ่มกระทำทารุณกรรมต่างๆนานาต่อแม่เหลื่อมจนหล่อนขาดใจตายโดยไม่ยอมบอกที่ซ่อนของผัวรัก

หลังจากฝากร่างของแม่เหลื่อมเอาไว้ในป่าช้าได้เกือบขวบปี กำนันเชี่ยวก็ตามไปเชือดคอเสือแจ่มให้กลายเป็นผีเฝ้าทุ่งดงตาลจนได้ มันเป็นการฆ่าเพื่อหน้าที่และลบรอยแค้นของลูกผู้ชายที่ชื่อกำนันเชี่ยว

แม้จะถอนรอยแค้นออกจากอกไปแล้ว แต่ชีวิตของกำนันเชี่ยวกลับแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขากลายเป็นคนซึมเศร้า ไม่ยอมพูดยอมจากับใคร คร่ำครวญหาแต่แม่เหลื่อมเมียรักที่จากไป ซ้ำกล่าวโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้แม่เหลื่อมถูกฆ่าตายอย่างทรมาน กำนันเชี่ยวลงโทษตัวเองด้วยการไม่ยอมกินข้าวปลาอาหาร วันแล้ววันเล่า จนร่างกายซูบผอมลงทุกขณะ จวบวาระสุดท้ายของท่านกำนันมาเยือน ศพของกำนันเชี่ยวถูกพบบนเนินฝังศพของแม่เหลื่อมนั่นเอง

ตำนานรักของกำนันเชี่ยวและแม่เหลื่อมได้รับการกล่าวขานกันมาตราบนานเท่านาน ถูกยกให้เป็นแบบอย่างของชายหญิง ที่เชิดชูบูชารัก ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อคนที่ตัวรัก

ภิกษุชรารูปนั้นเดินผูกสายสิญจน์ไปจนรอบหลุมศพทั้งสอง แล้วหยุดนิ่ง พนมมือตั้งสมาธิแผ่ส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ พร้อมเสียงสาธยายบทธัมมะนิยามสูตรก็ดังขึ้น ท่ามกลางความวิเวกแห่งรัตติกาล

อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทาวา ตะถาคะตานัง

ฐิตา วะ สา ธาตุ

ธัมมัฏฐิตะตา

ธัมมะนิยามะตา

สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ

ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ อะภิสะเมติ

อะภิสัมพุชฌิตวา อะภิสะเมตวา

อาจิกขะติ เทเสติ

ปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติdtFi9b

วิวะระติ วิภะชะติ

อุตตานีกะโรติ

ปัสสะถาติ จาหะ หัณหาปัจจะยา ภิกขะเว อุปาทานัง

อิติโขภิกขะเว

ยาตัตระ ตะถะตา

อะวิตะถะตา

อะนัญญะถะตา

อะยัง วุจจะติ ภิกขะเว ปะฏิจจะสะมุปปาโท

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 

เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา คือความเป็นกฏตายตัวแห่งธรรมดา 

ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้ ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว

  ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้

พระธุดงค์ทุกรูปที่นั่งล้อมวงฟังเรื่องเล่าจากหลุมศพ บันทึกจากโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของกำนันเชี่ยวและแม่เหลื่อมจนยุติลงแล้ว ต่างปลงอนิจจังสังเวช กล่าวคำ สาธุ พร้อมๆกัน

สาธุ

พระชลินทร์ ธัมมะวัฑฒะโน

วัดบ้านป่านาบุญ

Buddhist Meditation of Whitewater

60850 Hilltop Rd Whitewater CA 92282

Tel : 323-742-3915 watbaanpa@hotmail.com

Line ID : charliedokrak

 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
22-05-2023 แผนกสูตินรีเวชของ APHCV จัดเสนอบริการรับฝากครรภ์ที่ศูนย์สุขภาพลอสเฟลิซให้แก่ชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว (0/1522) 
05-05-2023 รายงาน : เปิดหมายกำหนดการและขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (0/408) 
30-01-2023 รายงาน : สรุปเทรนด์ตลาดและธุรกิจปี 2565 ในสหรัฐฯ และแนวโน้มปี 2566 (0/860) 
29-09-2022 เพื่อช่วยบุตรหลานของท่านในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแสดงออกที่โรงเรียน ให้ดียิ่งขึ้น (0/995) 
29-03-2022 รู้จัก “ส้มซูโม่” ที่กำลังดังเปรี้ยงทาง TikTok (0/2392) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข