ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ประโยชน์ของงานกฐิน

วันออกพรรษา คือ วันเริ่มต้นฤดูกาลกฐิน หลายวัดถือโอกาสจัดงานทำบุญตักบาตรวันออกพรรษา และถวายผ้าจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน เพื่อกรานกฐินในวันเดียวกัน หลายวัดก็จัดแบบแยกกัน คือ จัดงานวันออกพรรษาวันหนึ่ง และ จัดวันทอดกฐินอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่จะร่วมกันคิด ร่วมกันทำ กำหนดการตามความเหมาะสม เพื่อให้งานทุกด้านที่จะจัดดำเนินไปด้วยความราบรื่น


งานกฐิน เป็นทั้งสังฆกรรม วัฒนธรรม และประเพณี อยู่ในตัวตามลักษณะที่แสดงออกในแต่ละขั้นตอน ที่เรียกว่า เป็นสังฆกรรม เพราะการกรานกฐินจะสำเร็จอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ต้องผ่านสังฆกรรม คือ พระภิกษุสงฆ์ต้องช่วยกันทำจนสำเร็จตามที่พระวินัยกำหนดไว้ กล่าว คือ เป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยพระภิกษุสงฆ์มาช่วยกัน ที่เรียกว่า เป็นประเพณี เพราะสังฆกรรมแบบนี้ กระทำสืบต่อกันมาเป็นเวลา 2,000 กว่าปีมาแล้ว และ ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรม  เพราะในงานกฐินมีเรื่องของวัฒนธรรมร่วมกันหลายมิติ เช่น การเก็บผ้า การกะประมาณผ้าที่จะทำสบงหรือจีวร การตัดผ้า การเย็บผ้า การซักผ้า การย้อมผ้า การประชุมสงฆ์ การเสนอชื่อผู้ที่สมควรที่รับผ้ากฐิน การสวดญัตติทุติยกรรม มอบผ้ากฐิน การรับผ้ามากรานกฐิน การครองผ้ากฐิน วันเริ่มครองผ้ากฐินและวันสิ้นสุดการครองผ้ากฐิน ผู้ที่ร่วมอนุโมทนาจะได้รับอานิสงส์ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ คือ วัฒนธรรมที่มีอยู่ในงานกฐิน

ลองมาพิจารณาดู การจัดงานกฐินแต่ละครั้งจะให้ประโยชน์อะไรบ้าง

1 สนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติพระวินัยที่ว่าด้วยเรื่องของกฐินอย่างสะดวก เป็นการสืบทอดอายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปอีก ตามคำที่กล่าวกันว่า เมื่อพระสงฆ์ยังคงปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่ตราบนั้น

2 อานิสงส์กฐิน คือ การผ่อนปรนข้อปฏิบัติทางพระธรรมวินัย ที่เกี่ยวกับเรื่อง การแสวงหาผ้า การรับผ้าที่มีผู้มีจิตศรัทธามาถวาย การเก็บรักษาผ้า การรักษาผ้าครอง เช่นเวลาเดินทางต้องนำผ้าไปครบ 3 ผืน แต่เมื่อรับกฐินแล้ว สามารถนำไปไม่ครบทั้ง 3 ผืนก็ได้ เป็นการลดภาระการเดินทางได้มาก การบริหารจัดการผ้าตามอานิสงส์กฐินนี้ มีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดชัดเจน คือ ตั้งแต่วันที่รับอานิสงส์จากการกรานหรืออนุโมทนากฐินไปสิ้นสุดลง ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 พอวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 ข้อผ่อนปรนต่างๆที่มากับอานิสงส์กฐินก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป พระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติพระวินัยในข้อที่เคยให้การผ่อนปรนจากอานิสงส์กฐินนั้นตามปกติ

3 เป็นกระบวนการส่งเสริมความสามัคคีในหมู่พระภิกษุ คือ พระภิกษุในอาวาสนั้นต่างต้องมีส่วนร่วมกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะกล่าวได้ว่า ความสามัคคี คือ หัวใจสำคัญของงานกฐิน ก็คงจะไม่ผิดเลย

4 เป็นบุญพิเศษของพุทธศาสนิกชน เพราะบุญกฐินทำได้ปีละครั้ง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ด้วยข้อจำกัดของกาลเวลาทานที่ให้ในฤดูกาลนี้ จึงเป็นทานพิเศษที่เรียกว่า กาลทาน

5 เป็นเทศกาลถวายงบประมาณ แก่วัดวาอารามต่างๆไว้เป็นค่าก่อสร้างเสนาสนะที่ขาดแคลน ไว้เป็นค่าซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากวัดอารามในทางพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้รับการสนับสนุนปัจจัย 4 จากพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาเท่านั้น งานกฐินจึงเป็นวาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะจัดสรรงบประมาณ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตามสติกำลัง

6 เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง การที่พุทธศาสนิกชนจากท้องถิ่นหนึ่ง นำเงินบริวารกฐินไปถวายแก่วัดในท้องถิ่นอื่นๆ เป็นการขับเคลื่อนการหมุนเวียนของเงินเป็นอย่างดี กระบวนทอดกฐินแต่ละแห่งต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง เมื่องานกฐินผ่านไปแล้วการจ้างงานเพื่อการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะก็เป็นไปหลายๆเรื่อง เป็นการสร้างงานให้คนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี เป็นฝีมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาชนโดยตรง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชาธิปไตยบริสุทธิ์ ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง

7 เป็นการร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของประชาชนทั้งชาติ พุทธศาสนิกชนชาวไทยตั้งแต่องค์พระประมุข ผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูงจนถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประชาชนล้วนขวนขวายสร้างบุญใหญ่ด้วยใจเปี่ยมศรัทธา

การทำบุญกฐิน จึงเป็นงานบุญใหญ่ เป็นวัฒนธรรม ประเพณี ของพุทธศาสนิกชนคนดีที่กระทำสืบทอดกันมาและจะทำกันต่อไป กิจกรรมในงานกฐินครอบคลุมหลายมิติ นอกจากมิติทางพระพุทธศาสนาแล้วยังครอบคลุมถึงเรื่องจิตใจ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมอย่างครบถ้วน พุทธศาสนิกชนจึงชักชวนทำบุญกฐินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ งานกฐินเป็นงานบุญที่นำความสุขมาสู่ผู้ทำบุญทุกคนสมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย แปลว่า การสั่งสมบุญนำความสุขมาให้”

ขอความสงบสุขร่มเย็นจงบังเกิดขึ้นแก่ท่านสาธุชนทั้งหลายภายใต้ร่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป

วันที่ 19 มีนาคม 2562 เวลา 17.23 น.

บนเที่ยวบินอลาสก้าแอร์ไลน์ ลอสแอนเจลิส ซีแอตเติ้ล
Alaska Airline :Flight 433x LAX to Seattle
ดร.พระมหาจรรายา สุทฺธิญาโณ





ภาพโดย :



 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2824) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข