อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
รายงานหน้าหนึ่ง : “ทรัมป์” เปิดแนวรบใหม่ ในสงครามการค้ากับอียู





โดย : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์


แม้จะอยู่ระหว่างที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังคงคาราคาซัง และส่งผลสะเทือนออกไปกว้างขวางต่อเศรษฐกิจของทั้งโลกอยู่ในเวลานี้ “โดนัลด์ ทรัมป์”ก็ไม่ลังเลที่จะเปิดแนวรบใหม่ในสงครามการค้าอีกแนวรบ นั่นคือการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้างวดใหม่จากสหภาพยุโรป รวมมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ กำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้

การประกาศกำแพงภาษีต่ออียูรอบใหม่มีขึ้นหลังจาก องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ชี้ขาดว่า อียูให้การสนับสนุน “อย่างไม่เป็นธรรม” ต่อแอร์บัส ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องบินแอร์บัสได้ 10% พร้อมกันนั้นก็ขึ้นภาษีสำหรับนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร อย่างเช่น น้ำมันมะกอก, วิสกี้, ไวน์, ชีส และโยเกิร์ต จากอียู เป็น 25% เพื่อลงโทษและกดดันให้อียูยุติการสนับสนุนดังกล่าว

ตามกฎของดับเบิลยูทีโอ อียูไม่สามารถขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้ในกรณีนี้ได้ แต่อียูยื่นคำร้องทำนองเดียวกันไว้ว่า สหรัฐอเมริกาก็ให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นธรรมกับ “โบอิ้ง” โดยคาดว่าคำชี้ขาดของดับเบิลยูทีโอในเชิงบวกทำนองเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาได้รับจะมีขึ้นในราวปลายเดือนนี้

เมื่อนั้น อียูสามารถลงมือขึ้นกำแพงภาษีตอบโต้สหรัฐอเมริกาได้ “อย่างสมน้ำสมเนื้อ” ตามที่ แดเนียล โรซาริโอ โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปประกาศเอาไว้ สถานการณ์คล้ายคลึงกับเมื่อตอนที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มลุกลามขยายตัวหวนกลับมาอีกครั้ง

การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าใด ๆ ย่อมทำให้สินค้านั้น ๆ ในประเทศที่ขึ้นภาษีแพงขึ้นกว่าเดิมชัดเจนในทันทีที่ผู้นำเข้าตัดสินใจเลือกที่จะผลักภาระภาษีดังกล่าวไปให้ผู้บริโภค

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม สมาคมผู้นำเข้าแอลกอฮอล์อเมริกัน ถึงได้ทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการขึ้นภาษีครั้งนี้ โดยระบุว่าจะส่งผลเสียหายต่อธุรกิจนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์ และสูญเสียตำแหน่งงานอีก 13,000 ตำแหน่งในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่คนขับรถบรรทุกส่งสินค้าเรื่อยไปจนถึงบาร์เทนเดอร์

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงความเสียหายในวงจำกัดเพียงส่วนเดียวของผลกระทบในทางลบ สืบเนื่องจากการเปิดแนวรบในสงครามการค้าครั้งใหม่นี้เท่านั้น

แรกสุดต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นการนำเอามาตรการทางภาษีศุลกากรมาใช้ตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับอียู เป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา ทรัมป์ขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอียู และถูกอียูตอบโต้มาแล้ว ถัดมาการขึ้นภาษีระลอกใหม่นี้มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมเกี่ยวกับเบร็กซิต ที่สร้างความวิตกกังวลมหาศาลให้กับธุรกิจทั้งหลายในยุโรป เพราะยังคงมีโอกาสเป็นไปได้ที่อังกฤษจะพ้นจากสมาชิกภาพของอียูในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยไม่มีความตกลงใด ๆ ซึ่งหมายความว่าจะมีการขึ้นภาษีระลอกใหญ่ในการค้าข้ามแดนระหว่างอียูกับอังกฤษ ที่มีมูลค่ารวมมหาศาลอยู่แล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อขยายภาพให้กว้างขึ้นไปอีก มาตรการทางภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาต่ออียูครั้งนี้ ยิ่งเพิ่ม “ภาวะไม่แน่นอน” ให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปอีก ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังลำบากหนักอยู่ก่อนแล้ว จากสงครามการค้าที่ขยายตัวออกไปครอบคลุมสินค้าและอุตสาหกรรมการผลิตหลากหลายตั้งแต่เกษตรกรรมไปจนถึงทางด้านเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ที่เป็นปัญหามากในทรรศนะของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์การค้าโลกทั้งหลาย คือเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปนั้นหลอมรวมอยู่ด้วยกันมากกว่าที่สหรัฐกับจีนมีต่อกันมากนัก

บริษัทของทั้งสองฝ่ายไปลงทุนในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งมากมายมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการลุกลามขยายตัวของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-อียู จะรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าสหรัฐ-จีนมาก

ตัวอย่าง เช่น บริษัทอเมริกันไปลงทุนอยู่ในอียู รวมมูลค่าแล้วสูงกว่าที่สหรัฐอเมริกามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้งภูมิภาคถึง 3 เท่า มูลค่าการลงทุนของอียูในสหรัฐอเมริกามีมากกว่าที่อียูไปลงทุนในจีนและอินเดียรวมกันถึง 8 เท่า

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากับอียูรวมกัน คือ ครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจรวมทั้งโลก

ถ้าเศรษฐกิจทั้งสองฟากแอตแลนติกมีปัญหา ทั้งโลกก็มีปัญหาด้วยอย่างแน่นอน.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข