ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : แด่เหยื่อกระสุนในสามรัฐ และ “ทรัมป์ต้องไป”


ซานติโน่ วิลเลี่ยม ลีแกน ฆาตกรสามศพที่เทศกาลกระเทียม เมืองกิลรอย รัฐแคลิฟอร์เนีย




คอนเนอร์ เบรตต์ ฆาตกร 9 ศพ จากเหตุการณ์กราดยิงที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ




แพทริก ครูเชียส ฆาตกร 22 ศพจากเหตุการณ์กราดยิงในเมืองเอลพาโซ รัฐเท็กซัส




สามเหยื่อกระสุนของ ซานติโน่ วิลเลี่ยม ลีแกน




โดย: ภาณุพล รักแต่งาม

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2019 เกิดเหตุการณ์ “กราดยิง” ในเทศกาลกระเทียมของเมืองกิลรอย เมืองกสิกรรมทางเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสามคน โดยสองในสามเป็นเด็กเชื้อสายฮิสแปนิกอายุแค่ 6 และ 13 ปี คนที่สามป็นหนุ่มผิวดำจากนิวยอร์ค มีผู้บาดเจ็บอีก 15 คน ก่อนที่มือปืนจะจบชีวิตตัวเองหลังจากยิงต่อสู้กับตำรวจครู่หนึ่ง

มือปืนคือ ซานติโน่ วิลเลี่ยม ลีแกน หนุ่มผิวขาวชาวเมืองกิลรอยวัย 19 ปี ใช้ปืนสงครามที่ข่าวบอกว่า “คล้ายๆ” กับ เอเค-47 ซึ่งผิดกฎหมายในแคลิฟอร์เนีย แต่เขา “ข้ามรัฐ” ไปซื้อได้ง่ายดายจากรัฐเนวาด้า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม

ก่อนลงมือ ลีแกนได้โพสต์ข้อความบนบัญชีอินสตาแกรมของเขา เชิญชวนให้อ่านหนังสือ Might is Right ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 มีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านชาวยิว ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหมือน “คัมภีร์” ของกลุ่มขวาจัด (white supremacist) และพวกนาซีใหม่ (neo-Nazi) ทั้งหลาย

ยังไม่ทันหายเศร้า ไม่ถึงสัปดาห์ต่อมาก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกสองครั้งต่อเนื่องกัน

ครั้งแรกเป็นเหตุกราดยิงที่ห้างวอลมาร์ท ในเมืองเอลพาโซ รัฐเท็กซัส วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2019 เวลาประมาณ 11.00 น. โดยมือปืนเป็นชายผิวขาว แพทริก ครูเชียส อายุ 21 ปี จากเมืองเอลเลน รัฐเท็กซัส

มือปืนลงมือในช่วงที่ในห้างมีผู้คนพลุกพล่าน เพราะใกล้เปิดเทอม ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 22 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในห้างวอลมาร์ท ให้การว่ามือปืน คือแพทริก ครูเชียส เล็งเป้าหมายไปที่ "ลาติโน่และฮิสแปนิก" โดยปล่อยให้ชาวผิวขาวและผิวดำหนีออกจากที่เกิดเหตุโดยไม่ยิงใส่

นอกจากนี้ ก่อนลงมือก่อเหตุ นายครูเชียสได้เขียนแถลงการณ์ (manifesto) ชื่อ "The Inconvenient Truth" บนเว็บบอร์ด 8chan โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เตือนชาวอเมริกันถึงการถูก "รุกรานจากกลุ่มเชื้อสายฮิสแปนิก" (Hispanic invasion) เต็มไปด้วยถ้อยคำเชิดชูคนผิวขาว เหยียดเชื้อชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพและชาวลาติน รวมถึงต่อต้านการแต่งงานกันข้ามเชื้อชาติ ตลอดจนขับไล่กลุ่มผู้อพยพให้ย้ายกลับไปยังประเทศตัวเอง

ถัดมาอีกไม่กี่ชั่วโมง คือในเวลาประมาณตีหนึ่งของวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม คอนเนอร์ เบรตต์ หนุ่มผิวขาวอายุ 24 ปี ใช้ปืนไรเฟิล .223 คาลิเบอร์ กราดยิงใส่บาร์และร้านอาหารในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ โดยเหตุสยองเกิดขึ้นเพียง 30 วินาที ก่อนที่เจ้าหน้าที่สายตรวจ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุจะยิงเขาเสียชีวิต

แต่เพียงแค่ 30 วินาที คอนเนอร์ เบรตต์ ใช้ปืนไรเฟิลแบบ high-capacity (บรรจุกระสุนได้มาก) ซึ่งถูกแบนในหลายรัฐ แต่ถูกกฎหมายในโอไฮโอ สามารถลั่นกระสุนสังหารได้ถึง 41 นัด จบชีวิตผู้บริสุทธิ์ 9 ราย รวมถึงน้องสาวของเขาด้วย โดยมีผู้บาดเจ็บอีก 27 ราย


ข่าวบอกว่า คอนเนอร์ เบรตต์ ซึ่งก่อเหตุกราดยิงในเดย์ตัน เป็นผู้หลงใหลความรุนแรงและการสังหารหมู่ รวมถึงเคยแสดงความต้องการที่จะก่อเหตุกราดยิงมาแล้ว นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ของเขาได้มีการรีทวีตโพสต์ของฝ่ายซ้าย กลุ่มต่อต้านตำรวจ สนับสนุนกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรง และผู้ประท้วง มากมาย

อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของนายเบรตต์กล่าวว่า เบรตต์มี "รายชื่อของคนที่อยากฆ่าหรือข่มขืน" ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องถูกพักการเรียนไปทั้งปีก่อนจะกลับมาเข้าเรียนอีกครั้ง

แม้เจ้าหน้าที่จะยังไม่สรุปเหตุจูงใจในการก่อเหตุของนายเบรตต์ แต่พวกเราก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก

ข้อมูลบนวิกิพีเดียบอกว่า ในช่วงเจ็ดเดือนของปี 2019 (ถึง 7 สิงหาคม) มีเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกามากถึง 257 ครั้ง หรือมากกว่าวันละครั้ง มีผู้เสียชีวิต 285 ราย บาดเจ็บอีก 1,059 ราย

โดยสิบอันดับเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย

1. เหตุกราดยิงในงานคอนเสิร์ต Route 91 Harvest ใกล้กับโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ ที่เมืองลาสเวกัส วันที่ 2 ตุลาคม 2017 มีผู้เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 527 ราย

2. เหตุกราดยิงใน "พัลส์ คลับ" ซึ่งเป็นไนท์คลับของกลุ่มรักร่วมเพศในออร์แลนโด ฟลอริด้า วันที่ 12  มิถุนายน 2016 มีผู้เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 53 ราย

3. เหตุกราดในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ในเมืองแบล็คส์เบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย วันที่ 16 เมษายน 2007 มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

4. เหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ ฮุค เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเน็คติคัต วันที่ 14 ธันวาคม 2012 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 2 ราย

5. เหตุกราดยิงโบสถ์ First Baptist Church ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวิลสัน เมืองซัตเธอร์แลนด์ สปริงส์ รัฐเท็กซัส วันที่ 5 พฤศจิกายน 2017 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 20 ราย

6. เหตุกราดยิงในร้านอาหารลูบี ในเมืองคิลลีน รัฐเท็กซัส วันที่ 16 ตุลาคม 1991 มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 27 ราย

7. เหตุกราดยิงในห้างวอลมาร์ทในเมืองเอลพาโซ รัฐเท็กซัส วันที่ 3 สิงหาคม 2019 มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 24 ราย

8. เหตุกราดยิงในร้านแมคโดนัลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 18 กรกฎาคม 1984 มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

9. เหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาจอริตี้ สโตนแมน ดั๊กลาส ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปาร์คแลนด์ ทางตอนเหนือของเมืองไมอามี รัฐฟลอริดาของสหรัฐ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

10. เหตุกราดยิงในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน รัฐเท็กซัส วันที่ 1 สิงหาคม 1966 มีผู้เสียชีวิต 16 ราย

หากดูใน “สิบอันดับเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ” แล้วจะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสถึง 4 ครั้งด้วยกัน

มองว่าเท็กซัสเป็นรัฐที่มีประชากรเชื้อสายฮิสแปนิกอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะเคยเป็นเมืองของประเทศเม็กซิโกมาก่อน (ไม่ใช่เป็นเพราะเกิดการ “รุกรานจากกลุ่มเชื้อสายฮิสแปนิก" ตามที่ครูเชียส มือปืนขวาจัด ได้กล่าวอ้างไว้) ดังนั้นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มีต้นเหตุจากความเหยียดผิวชังพันธ์ุ จึงเกิดขึ้นที่รัฐนี้ถี่กว่าที่อื่น

ด้วยเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งในห้างสรรพสินค้า ในโบสถ์ ในงานแฟร์กลางแจ้ง ในโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะเด็กๆ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายฝ่ายหันกลับมามองกฎหมายว่าด้วยการครอบครองอาวุธปืนอีกครั้ง

โดยเฉพาะรัฐเท็กซัสและโอไฮโอนั้น กฎหมายควบคุมอาวุธปืนไม่เข้มงวด ทั้งสองรัฐอนุญ ตให้พกพาอาวุธได้โดยต้องปกปิด นอกจากนี้ ทั้งสองรัฐยังมีกฎ "ต้องอนุมัติ" (shall-issue) ซึ่งหมายถึงว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ไม่สามารถปฏิเสธการออกใบอนุญาตมีอาวุธปืนในครอบครองได้ หากผู้ขอผ่านคุณสมบัติที่ทางรัฐระบุไว้ รวมทั้งในเท็กซัสและโอไฮโอนั้นไม่มีการตรวจสอบประวัติหรือต้องลงทะเบียนอาวุธปืนเมื่อซื้อปืนพกจากบุคคลอื่น

นอกจากนี้ ทั้งเท็กซัสและโอไฮโอ ไม่จำกัดจำนวนกระสุนปืนที่บุคคลสามารถครอบครองได้ และไม่มีกำหนดระยะเวลารอ ก่อนที่จะซื้อปืน และจากเหตุการณ์สยองครั้งล่าสุด ผู้ก่อเหตุในรัฐเท็กซัสใช้ปืนไรเฟิลที่คล้ายคลึงกับปืน AK-47 ในการก่อเหตุ ซึ่งรัฐเท็กซัสอนุญาตให้บุคคลทั่วไปครอบครองอาวุธร้ายแรงแบบนี้ได้

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้อีกต่อเนื่องไม่รู้จบ ตราบใดที่ประธานาธิบ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังอยู่ในตำแหน่ง เพราะตลอดเวลาที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมือง เขาได้ปลุกปั่นชาวอเมริกันตลอดเวลาว่าชาวเม็กซิกัน และฮิสแปนิก รวมถึงคนผิวสีทั้งหลาย คือศัตรูที่กำลัง “รุกราน” อเมริกา เป็นอาชญากร นักค้ายา และนักข่มขืน ฯลฯ

ถ้อยคำที่เข้าข่ายเหยียดผิว ชังชาติ-ศาสนา ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ย้ำแบบแผ่นเสียงตกร่องตลอดเวลา ทั้งระหว่างการหาเสียง การปราศรัย ให้สัมภาษณ์ หรือข้อความผ่านทวิตเตอร์  ทำให้หลายๆ ฝ่ายเข้าใจกันว่า เขากำลัง “ปลุกใจ” กลุ่มเหยียดผิว ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ให้รู้สึกว่ามีความ “ชอบธรรม” ในการแสดงอาการ หรือวาจาเหยียดหยามผู้อพยพและชนกลุ่มน้อยในอเมริกา รวมถึงเป็นแรงหนุนให้กลุ่มหัวรุนแรง ลุกขึ้นมาก่อเหตุสังหารหมู่ดังที่ปรากฎในเมืองกิลรอยรัฐแคลิฟอร์เนีย, เอลพาโซ่ เท็กซัส และเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ รวมถึงหลายต่อหลายเมืองก่อนหน้านี้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะให้ความใส่ใจกับเหตุการณ์กราดยิงครั้งล่าสุดน้อยมาก แถมออกมาชี้นิวโทษ “ความผิดปกติทางจิต” และ “เกมรุนแรงต่างๆ” ว่าเป็นสาเหตุของการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ผู้มีประวัติอาชญากรรม ผู้มีปัญหาทางจิต สามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย

ส่วนข้อหาที่พาดพิงมาถึงตัวเขาเองนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธแบบไมแคร์ฟ้าดินว่าเขาไม่ใช่คนเหยียดผิว และไม่เคยใช้วาจายุยงแบ่งแยกสีผิว

ปฏิเสธหน้าด้านๆ ประหนึ่งว่ากล้องโทรทัศน์ และเทปบันทึกเสียง หรือข้อความบนทวิตเตอร์ ที่คอยกระจาย "สารแห่งความเกลียดชัง" ของเขาไปยังพวกขวาจัดทั้งหลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีอยู่บนโลกนี้

 "สิ่งที่เหนี่ยวไกคือความผิดปกติทางจิตและความเกลียดชังที่เหนี่ยวไก ไม่ใช่ปืน” เขาประกาศผ่านทวิต เพื่อปัดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายครอบครองอาวุธปืน ที่ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งหลังเหตุการณ์กราดยิงครั้งล่าสุด

แนวคิดของผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับท่าทีของสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐ (NRA) กลุ่มล็อบบี้อิสต์ ที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อการเมืองสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำการแก้กฎหมายครอบครองอาวุธปืน และกระสุนปืนของสหรัฐฯ ให้มีความรัดกุมมากว่าที่เป็นอยู่ เป็นไปแทบไม่ได้เลย

ข่าวบอกว่า กระแสเหยียดผิวที่ถูกจุดประกายโดยผู้นำสหรัฐฯ ในเวลานี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวอเมริกันผิวสี หรือกลุ่มผู้อพยพจากชาติต่างๆ รู้สึกอึดอัดหรือหวาดกลัวเท่านั้น แต่หลายๆ ประเทศก็รับรู้ได้เช่นกัน โดยยูอสเอ ทูเดย์ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมว่ารัฐบาลของเวเนซูเอล่า, อุรุกวัย และญี่ปุ่น ได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่คิดจะเดินทางมาอเมริกาในช่วงนี้... โดยเชื่อว่าจะมีอีกหลายประเทศออกประกาศในลักษณะเดียวกันนี้ตามมา

นักวิเคราะห์การเมืองของหลายสื่อ พูดคล้ายๆ กันในทำนองว่า ตราบใดที่อเมริกายังมีผู้นำที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ คอยผลักดันกระแส “พลังขาว” อยู่เช่นนี้ ก็ยากที่ความสุขสงบที่เคยมีจะกลับมาสู่อเมริกา ประเทศที่ก่อตั้งโดย “ผู้อพยพ” จากทั่วโลกได้ในเร็วๆ วันนี้”

หวังว่าโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงนี้ คงทำคนไทยหลายๆ คนที่ออกโรงมาเชียร์ “โดนัลด์ ทรัมป์” แบบออกหน้าออกตาเมื่อคราวเลือกตั้งปี 2016 คงจะได้สติ และมีพัฒนาการทางสมองจนสามารถมองภาพใหญ่ได้ว่า การเลือกผู้นำประเทศ มีความสำคัญมากกว่ากว่าปัญหาส่วนตัว เช่น “ไม่ชอบพวกไอ้เหม็ก” หลายร้อยเท่าตัวเลยทีดียว...
.
.



 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/23)   
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/128)   
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/210) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/259) 
16-04-2024 ภูมิใจ! แอลเอครองแชมป์ “ยุงชุม” สุดในประเทศ (0/127) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 1

เศร้ากับเหตุการที่เกิดขึ้นและน่าเห็นใจ สงสารผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แสดงความเสียใจกับญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ดีใจกับประเทศไทยของเราที่ได้รับสิ่งดีๆกลับมาสู่ประเทศถึงจะเป็นเรื่องที่น้อยนิดแต่ก็ยังมองเห็นทางสว่างขึ้นมาบ้าง

  • ¼ÙéÊè§: นิตยา ประกอบศุข
  • 171.4.250.24 Aug 08, 2019 @05:18 AM
ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข