อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
บุคคลหน้าสาม : ร้อยโทหญิง กรรภิรมย์ วิชาธร กับการย้อนรอยเล่าเรื่องงาน


กงสุลกันภิรมย์ วิชาธร กับบุตรชายสองคน  วริทธิ์ และ นราวิชญ์ วิชาธร




ภาพจากงานเลี้ยงส่งที่โรงแรมฮิลตัน ยูนิเวอร์แซล ซึ่งมีบุญส่ง อนันตสุคนธ์ เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา




กงสุล ร.ท.หญิง กรรณภิรมย์ วิชาธร กับ สามี บำรุง และลูกๆ คือวริทธิ์ และนราวิชญ์ วิชาธร ในการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมสามัคคีของชุมชนไทย ที่สนามกีฬาเมืองเกลนเดล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2016




โดย : กฤติยา รักแต่งาม


ในงานเลี้ยงอำลา ร้อยโทหญิงกันภิรมย์ วิชาธร ที่ห้องอาหาร “เซียร่า คาเฟ่”  โรงแรมฮิลตัน โดยการจัดของ “เสี่ยใหญ่ใจดี” บุญส่ง อนันตสุคนธ์ เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 21 มิถุนาฯที่ผ่านมา จึงทำให้ได้ “ฉาก” สนทนาถึงชีวิตการทำงานของ “ร้อยโทหญิงกันภิรมย์” ที่เรียกตัวเองว่า “ปัท” เกิดขึ้นอย่าง “ออกรส”

บทบาทของเธอน่าสนใจในระดับ“ตำรา” แน่นหนาไปด้วยความรู้...เรื่องเล่าที่ “นำมาสู่” จึงต้องขอขอบคุณ “เฮียบุญ” ที่เปิดโอกาสให้ได้งานที่ “ส่งออก” อย่างสมบูรณ์
   
ร้อยโทหญิง กันภิรมย์ วิชาธร จบปริญญาตรี นิติศาสตร์ ธรรมศาตร์ และปริญญาโทที่เดียวกัน เธอเลือกเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ จบแล้วก็รับราชการเป็นนายทหารพระธรรมนูญที่กรมพระธรรมนูญ แล้วก็ไปฝึกทหาร เนื่องจากเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน จึงต้องไปฝึกตามหลักสูตรและระเบียบวินัยต่างๆ รวมถึงการใช้อาวุธทุกอย่าง

“...ในหลักสูตรก็มีการสอนให้ต่อสู้ป้องกันตนเอง ที่แน่ๆ ต้องฝึกร่างกายให้แข็งแรง ท่าทางของทหาร ระเบียบวินัย ปัทก็ตื่นมาวิ่งตีสี่, มีการเข้าเวร มีการเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งชีวิตของข้าราชการทหารจะต่างกับชีวิตข้าราชการพลเรือน คือจะต้องอยู่ในระเบียบวินัยมาก ต้องอยู่ในสายการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น...

...ตอนปัทเข้าไปยังไม่มียศ ต้องไปฝึกก่อนแล้วก็จะได้ติดยศทางทหาร เสร็จแล้วก็ไปรับราชการอยู่ที่กองกฤษฎีการทหารและการต่างประเทศ ตอนนั้นเข้าไปใหม่ๆ ปัทเป็นว่าที่ร้อยตรี หลังจากนั้นก็ได้เลื่อนลำดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้เป็นร้อยโทหญิงกันภิรมย์นี่แหละค่ะ...”
   
หลังจากติดยศเป็น “ร้อยโทหญิงกันภิรมย์” เธอก็สอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ เริ่มรับราชการครั้งแรกที่กองกฎหมาย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แล้วก็สอบชิงทุนของก.พ.ตามความต้องการของกระทรวงการต่างประเทศ และได้ถูกส่งไปเรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับเมืองไทยเธอก็ได้เป็นเจ้าหน้าที่การทูต 3, เจ้าหน้าที่การทูต 4 ทำเรื่องกฎหมายทะเล มีการแปลเรื่องสัญญากฎหมายทะเล แล้วก็ดูแลเรื่องเขตแดน และการยกร่างกฎหมายที่เรียกว่าการจัดตั้งสัญญาระหว่างประเทศ การเจรจาแบ่งเขตทางทะเล
   
แล้วก็ถึงเวลาเดินทางไปประจำการยังประเทศต่างๆ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างมีประสิทธิผลต่อเนื่อง
   
“...ก็เป็นวงรอบของข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศที่ได้ออกประจำการนะคะ โพสท์แรกก็ออกประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด, ที่ทำการชั่วคราว ณ กรุงอัมมาห์น ประเทศจอร์แดน หลังจากนั้นก็ย้ายต่อเนื่องไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วก็กลับไปรับราชการที่กองสังคมและวัฒนธรรมกรมอาเซี่ยน อันนี้ก็จะได้ทำงานเกี่ยวกับ “เสาที่สามของอาเซี่ยน” คือเสาสังคมและวัฒนธรรม คืออาเซี่ยนเนี่ยประกอบด้วยเสาหลักสามเสา คือ เสาการเมือง-ความมั่นคง, เสาทางด้านเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม ก็ได้ทำงานกับเพื่อนๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซี่ยน...

...ตอนนั้นก็ดูแลอยู่หลายเรื่อง ดูเรื่องความร่วมมือทางการศึกษาของอาเซี่ยน, ความร่วมมือทางวัฒนธรรมของอาเซี่ยน ก็มีการจัดแสดงวัฒนธรรมของอาเซี่ยนทั้งสิบประเทศ แล้วก็มีการบรรยายพิเศษเป็นเรื่องกฎหมายอาเซียนด้วย ที่ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ของคณะนิติศาสตร์ทั้งสองแห่ง เพราะอยากจะเผยแพร่ความรู้ที่เรากำลังจะเข้าเป็นประชาคมอาเซี่ยน เราก็ทำสื่อเรื่องบันทึกการเดินทางอาเซี่ยน เพราะเป็นพัฒนาการของอาเซี่ยน ก่อนจะมาที่นี่ก็ได้จัดงานครบรอบหนึงร้อยปีของ ดร.ถนัด คอร์มัน ซึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซี่ยน...”

จบเรื่องอาเซี่ยน เธอก็เดินทางมาประจำการที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ตอนมาถึงก็เป็นช่วงก่อนหมดวาระปรจำการของท่านกงสุลใหญ่เจษฎา กตเวทิน และเป็นช่วงต้นรอบของท่านกงสุลใหญ่ธานี แสงรัตน์ เธอจึงได้ทำงานกับกงสุลใหญ่ทั้งสองท่าน

“...ตอนมารับหน้าที่ครั้งแรกก็เป็นหัวหน้าฝ่ายกงสุล ดูเรื่องหนังสือเดินทาง การออกวีซ่า ทำงานฝ่ายคุ้มครอง ออกบัตรประชาชน ทำหน้าที่นิติกรทั้งหมด และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนิติกร รวมถึงทำหน้าที่คุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังเดินทางไปทำ “กงสุลสัญจร” คือ ไปให้บริการตามวัดต่างๆ ไปเกือบทุกเดือน ปีนึงก็ไป 17 ครั้ง บางเดือนไปสองครั้ง นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมคนไทยที่อยู่มลรัฐอื่นๆ เราก็ได้ไปรู้จักด้วย เพราะได้ไปตอบคำถามด้วยตัวเอง เขาก็รู้สึกอุ่นใจ มีคำถามอะไรเขาก็กล้ามาสอบถามเรา บางทีเขาก็มีปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เข้าใจ เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหาร, การขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร, การถือสัญชาติ, การขอออกใบเกิด, เวลาเราไปสัญจรก็จะให้คำตอบเขาเต็มที่เลยเวลาเราไปสัญจร...

...บางทีเขาก็ถามนะว่าปีนี้กงสุลคนนั้นคนนี้ที่ตอบคำถามได้จะมาอีกมั้ย อย่างปัทเนี่ยด้วยว่าพื้นฐานเป็นนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นคำตอบของปัทก็จะมีความชัดเจนนะคะ แล้วเราก็เชิญวิทยากรที่มีความรู้จริงๆ มาจากเมืองไทย เราจัดอบรมพิเศษให้ที่แอล.เอ.อยู่หลายครั้ง เราเชิญวิทยากรจากกรมการกงสุล, กรมการปกครอง, กระทรวงมหาดไทย, อัยการ, คุณหมอต่างๆ มา เพื่อให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ แก่ชุมชน

เนื่องจากมีข้าราชการกลับจากประจำการนะคะ ก็มีการหมุนเวียนหน้าที่กัน ปีถัดมาปัทก็ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีการทูต และหัวหน้าฝ่ายสารนิเทศ ฝ่ายพิธีการทูตก็จะดูแลพิธีสำคัญๆ เช่น งานวันชาติ งานถวายพระพรชัยมงคลต่างๆ ก็ต้องมีการเชิญชวนประชาชนชาวไทยในต่างแดนร่วมมาลงนามถวายพระพร และล่าสุดจัดงานเนื่องในพิธีพระบรมรมราชาภิเษก ให้คนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสร่วมถวายพระพรชัยมงคลด้วย ก็เป็นงานล่าสุดที่ได้จัดนะคะ ก็เป็นส่วนของพิธีทางการทูต...”

ร้อยโทหญิงกันภิรมย์ วิชาธร นอกจากจะมี “จารีตการทำงาน” เป็นของตัวเองแล้ว การทำงานร่วมกับ “สื่อ” เธอก็สามารถปรับยุทธวิธีรับมือได้คล่องแคล่ว ไม่ว่าจะถูกถามหรือถูกตาม วีคเอนด์ หรือกลางค่ำกลางคืนดื่นดึก เธออยู่ “เคียงข้าง” ให้ “ข้อมูล” ค้นคว้ารายละเอียดได้อย่าง “สบายใจ”

“...ส่วนที่มาทำหน้าที่ดูแลสื่อเนี่ย เนื่องจากได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสารนิเทศด้วย เลยได้รู้จักและได้ทำงานสื่อสารมวลชน ทั้งในแง่ของประชาสัมพันธ์, ข้อมูลต่างๆ, งานแถลงข่าว อันนี้ก็จะใกล้ชิดกับสื่อ ซึ่งจริงๆ อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ใหม่นะคะ คือประเทศที่เคยอยู่อาจจะมีสื่อไม่มากเท่าแอล.เอ. เพราะที่นี่มีทั้งหนังสือพิมพ์, โทรทัศน์, วิทยุ ก็เป็นประสบการณ์ที่ได้รับสูงสุดอีกด้านหนึ่ง อีกสาขาหนึ่งที่ได้รับประสบการณ์จากที่นี่จริงๆ  เพราะการทำงานกับสื่อต้องมีความรวดเร็ว ต้องมีความถูกต้องแม่นยำ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เข้าถึงในวงกว้าง ที่สำคัญต้องมีการร่วมมืออย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นของสถานกงสุลใหญ่เอง พี่ๆ สื่อมวลชนเอง ของชุมชนไทย แล้วเราก็พยายามทำงานด้านนี้ให้ได้ดีที่สุด...”

และเนื่องจาก “ร้อยโทหญิงกันภิรมย์” ได้ร่วมงานกับกงสุลใหญ่ทั้งสามท่าน คือท่านเจษฎา กตเวทิน, ท่านธานี แสงรัตน์ จนมาถึงปัจจุบัน ก่อนหดมวาระ ก็ยังได้อยู่ในช่วงทำงานของท่านกงสุลใหญ่ มังกร ประทุมแก้ว หลายท่านคงสงสัยว่า มีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ทั้งวิธีการและนโยบาย...เธอตอบว่า...

“...วิธีทางการทำงานของท่านกงสุลใหญ่แต่ละท่าน นโยบายที่เน้นในแต่ละเรื่องอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยเนื้องานแล้วอย่างงานพิธีการทูตหรืองานสารนิเทศ จริงๆ โดยเนื้องานก็ไม่เชิงนโยบายมาก คือรับนโยบายท่านมาดำเนินการ สมมติบางเรื่องเป็นเรื่องที่สำคัญต้องเร่งผลักดัน และทำงานร่วมกับทีมงานทางประเทศไทย เช่น เรื่องการส่งเสริมข้าวไทย หรือผลิตภัณฑ์ของไทย อันนี้ในแง่ของสารนิเทศก็เร่งที่จะรับนโยบายมาแล้วก็เร่งในการที่จะทำข้อมูลประสานงานกับทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อที่นโยบายที่ท่านผลักดันว่าอันนี้คือการโปรโมทสินค้าของไทย มันก็ต้องทำงานกันเป็นทีม...

...สมัยแรกทีปัทมา ท่านเจษฎาก็จะเน้นเรื่องกงสุลสัญจรมาก สมัยท่านธานี แสงรัตน์ อาจจะเป็นช่วงที่เรามีโครงการต่างๆ เข้ามาเยอะ เราก็จะต้องทำงานร่วมกับพี่ๆ สื่อเยอะ เพราะเราต้องการโปรโมท อย่างงาน แอล.เอ. แฟชั่นวีค, หรือการโปรโมทผ้าไทย...ส่วนท่านมังกร ประทุมรัตน์ ก็สานต่อในทุกมิติ ในช่วงนี้อาจจะมีในเรื่องของโครงการต่างๆ ที่สถานกงสุลใหญ่ได้ทำงานอยู่ ได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งท่านก็ได้เริ่มๆ สานต่องานเดิมที่มีอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว...”

ในเรื่องของครอบครัว ร้อยโทหญิงกันภิรมย์ วิชาธร มีหนุ่มน้อยสองคนเป็นโซ่คล้องใจ หลังจาก “บุพเพจัดสรรค์” กับ พันเอกพิเศษบำรุง วิชาธร “รั้วของชาติ” เหมือนกันแล้วนั้น ก็ให้มีอันจะต้องเดินทางไปรับตำแหน่งตามที่ต่างๆ เสมอ เธอและบุตรชายทั้งสองต้องเดินทางบ่อยมาก และไม่เกิดการประท้วงจากลูกชายที่ต้อง “สร้างเพื่อนใหม่” บ่อยครั้ง ในการโยกย้ายแต่ละทีเธอทำอย่างไร?

“...ปัทฝึกให้เขามีความรับผิดชอบเรื่องเรียนค่ะ คือต้องมีความตั้งใจเรียน ต้องอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง แล้วด้วยความที่เขาเป็นนักกีฬาของโรงเรียน เลยมีเพื่อนฝูงเยอะ แล้วก็เดินทางไปแข่งในที่ต่างๆ เขาก็จะปรับตัวง่าย เขาจะมีการมองโลกแล้วเข้าใจวิถีของมัน เขาเคยอยู่จอร์แดน แล้วก็รู้จักขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ของแต่ละถิ่นที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนหนึ่งก็คือกีฬานี่แหละที่ทำให้เขาได้มีเพื่อนได้เร็วมาก อย่างมาถึงอเมริกาใหม่ๆ เนี่ยก็มีเพื่อนถึง 72 คน เพราะเขาเป็นทีมวาร์ซิตี้ ซ็อคเกอร์ แล้วก็มีจูเนียร์ วาร์ซิตี้ แล้วก็มีทีมเล็กอีก แล้วแต่ละทีมก็ยังมีตัวสำรองด้วย เพราะฉะนั้นเวลาซ้อมกันก็เจอรุ่นพี่รุ่นน้อง ตัวสำรอง แล้วเขาก็ยังเล่นกอล์ฟด้วย กีฬาเนี่ยทำให้มีเพื่อนเยอะ แล้วก็รู้แพะ รู้ชนะ รู้อภัย เพราะในเกมส์เนี่ยมันก็มีชนกันมั่งกระทบกันมั่ง ก็ต้องรู้ให้อภัย...

...ตอนนี้ คนโต วริทธิ์ วิชาธร เรียน แมคคานิเคิล เอนจิเนียร์ ยูซีแอลเอ ปีสามขึ้นปีสี่ คนที่สอง นราวิชญ์ วิชาธร เรียนอยู่คณะเดียวกัน ยูซีแอลเอเหมือนกัน กำลังขึ้นปีที่สาม หลังจากปัทบินกลับเมืองไทยแล้ว ฝากชาวแอล.เอ. ช่วยดูแลสองคนนี้ด้วยนะคะ...ส่วนคุณพ่อ พันเอกพิเศษบำรุง วิชาธร เป็น “นักรบชายแดน” มาตลอด เป็น “รั้วของชาติ”ชาวกาญจนบุรี ประจำการอยู่ค่ายสุรสีห์ เพิ่งย้ายเข้ากรุงเทพฯ ไม่นานมานี้เองค่ะ...”

การทำงานยังนครลอส แอนเจลิส ของ ร้อยโทหญิงกันภิรมย์ วิชาธร จบสิ้นแล้ว วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายนนี้ เธอจะบินกลับเมืองไทยเพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ คือตำแหน่ง “นักการทูตชำนาญการพิเศษ” แต่ ณ บัดนี้ยังไม่มีคำสั่งออกมา แต่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าจะอยู่ที่สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือเรียกว่า “ส.พ.ร” หรือ “กรมนิเทศน์สหการเก่า”

การทำงานของร้อยโทหญิงกันภิรมย์...ใส่ใจจุดหมาย ไม่ละเลยสองข้างทาง เห็นความงามทุกย่างก้าว...เด็ดดอกไม้ได้ดวงดาวไปชมดูแล้ว.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข