ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : 12 ร้านไทยในมิชลินไกด์แคลิฟอร์เนีย 2019





บรรยากาศในวันเปิดตัว มิชลินไกด์แคลิฟอร์เนีย 2019 ที่ฮันติงตันบีช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2019




ร้านอาหารไทยในแคลิฟอร์เนีย ที่มีชื่ออยู่ใน มิชลินไกด์แคลิฟอร์เนีย 2019




เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา มิชลิน ได้เปิดตัว “มิชลินไกด์ แคลิฟอร์เนีย ประจำปี 2019” ขึ้นที่ฮันติงตันบีช ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนและบุคคลในแวดวงอาหารเป็นจำนวนมาก

ความสนใจดังกล่าวมาจากสองสาเหตุ หนึ่งคือ “มิชลินไกด์” ถือว่าเป็นคู่มือแนะนำร้านอาหารระดับโลก มีอิทธิพลต่อร้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุดในบรรดา “คู่มือ” หรือการจัดอันดับขององค์กรใดๆ ทั้งหมด และสองคือเป็นการกลับมาให้ความสนใจร้านอาหารในแคลิฟอร์เนียเป็นครั้งแรก หลังจากที่ว่างเว้นไปนานถึงสิบปี

หลักๆ แล้ว การจัดอันดับของมิชลินจะแบ่งออกเป็นสามระดับ สูงสุดคือการให้ดาว (หนึ่ง สอง และสามดวง) สำหรับร้านที่เป็นเลิศในทุกด้าน รองลงมาคือสัญลักษณ์ บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand) สำหรับร้านอาหารขนาดกลางและเล็กที่เน้นอาหารคุณภาพในราคาไม่แพงนัก (Good Cuisine at a Reasonable Price) และปิดท้ายด้วยการสัญลักษณ์รูปจาน หรือ The Plate ที่มิชลินออกให้เพื่อรับรองว่าอาหารอร่อย ใช้เครื่องปรุงสดใหม่และปรุงอย่างปราณีต (Fresh ingredients, Carefully prepared: a good meal)

:-มิชลิน สตาร์

ดาวสามดวง คือร้านอาหารที่มิชลินยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในทุกด้าน (Exceptional cuisine, worth a special journey) ซึ่งในอเมริกามีร้านระดับนี้เพียงหยิบมือ มากสุดอยู่ในนิวยอร์คและซานฟรานซิสโก ส่วนในแอลเอของเรานั้นไม่มีเลย

มิชลินไกด์ของแคลิฟอร์เนียฉบับล่าสุดนี้ ไม่มีการประดับดาวสามดวงให้ร้านไหน แต่สองดาว  (Excellent cooking, worth a detour) ให้ร้านอาหารที่ไม่เคยได้รับดาวมาก่อนถึงเจ็ดร้านด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอลเอ คือ n/naka (West L.A.), Providence (Hollywood), Somni (Beverly Hills), Sushi Ginza Onodera (West Hollywood), Urasawa (Beverly Hills) และ Vespertine (Culver City)

ส่วนร้านที่ได้ดาวของมิชลินหนึ่งดวง (A very good restaurant in its category) นั้น ปีนี้มีถึง 27 ร้าน เป็นร้านในแอลเอ 18 ร้าน ในออเรนจ์ เคาน์ตี้ 2 ร้าน และเป็นอาหารสไตล์ปุ่นมากถึงเก้าร้าน คือ Bistro Na's  (Temple City), Cut (Beverly Hills), Dialogue (Santa Monica), Hana Re (Costa Mesa), Hayato  (DTLA), Kali  (Hollywood), Kato (West L.A.), Le Comptoir (Koreatown), Maude (Beverly Hills), Mori Sushi (West L.A.), Nozawa Bar (Beverly Hills), Orsa & Winston (DTLA),  Osteria Mozza (Hollywood), Q Sushi  (DTLA), Rustic Canyon (Santa Monica), Shibumi (DTLA), Shin Sushi (Encino), Shunji (West L.A.), Taco María (Costa Mesa) และ Trois Mec (Hollywood)

ปีนี้ ไม่มีร้านอาหารไทยในแคลิฟอร์เนียได้รับดาวจากมิชลิน แต่ร้าน กินข้าว (Kin Khao) ในซานฟรานซิสโก ของเชฟ พิม เตชะมวลไววิทย์ ยังคงรักษาดาวมิชลินสตาร์ หนึ่งดวง ที่ได้รับมาตั้งแต่ปี 2014 เอาไว้ได้ ดังนั้นจึงมีชื่ออยู่ในมิชลินไกด์ แคลิฟอร์เนีย 2019 เช่นกัน

:-บิบ กูร์มองด์

ถัดจากการมอบดาว ก็คือการมอบสัญลักษณ์ บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand) สำหรับร้านอาหารระดับกลางและเล็ก เน้นอาหารอร่อยในราคาสมเหตุผล (Good Cuisine at a Reasonable Price) ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปมิชลินแมนกำลังเลียริมฝีปาก

คำว่าราคาสมเหตุผลนี้ มิชลินพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพของแต่ละรัฐ หรือแต่ละเมือง โดยในแคลิฟอร์เนียนี้ มิชลินกำหนดเอาไว้ที่ไม่เกิน 40 ดอลลาร์ต่อหนึ่งมื้อ

ร้านอาหาร บิบ กูร์มองด์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ปีนี้ มีทั้งหมด 151 ร้าน อยู่ในลอส แอนเจลิส เคาน์ตี้  มากถึง 62 ร้าน (บางร้านก็ปิดกิจการไปแล้ว) และเป็นที่น่ายินดีว่า มีร้านอาหารไทยได้รับรางวันนี้ถึงห้าร้านด้วยกัน คือ

1 ร้าน ไอยราไทยคูซีน (Ayara Thai Cuisine 6245 W 87th St, Los Angeles, CA 90045) ร้านอาหารเก่าแก่ของเมืองแอลเอ ของ อยุทธ อัศพาหุ ซึ่งปัจจุบันมีเชฟ แวนด้า อัศพาหุ บุตรสาวเป็นผู้ดูแล

2 ร้าน จิตลดา ถนนซันเซ็ต ร้านอาหารปักษ์ใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ เป็นที่ยอมรับของนักวิจารณ์อาหาร, เชฟ และผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงจำนวนมาก โดยฝีมือของเชฟตุ๋ย สุทธิพร สังขมี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2017 และปัจจุบันมีน้องสาวและภรรยา คือเชฟแจ๊ส ศรินทิพย์ สิงห์สนอง และเชฟอ้วน รัชนี สังขมี เป็นผู้ดูแล

3 ร้าน เดอะไทยติง (The Thai Thing 6015 W 3rd St, Los Angeles, CA 90036) ร้านอาหารของคนรุ่นใหม่ ที่ตั้งอยู่บนถนนสามของนครลอส แอนเจลิส

4 ร้าน ไทยเฮาส์ ในย่านอีสท์เบย์

5 ร้าน Farmhouse Kitchen Thai ในซานฟรานซิสโก

 :-The Plate

และอันดับสุดท้ายคืออันดับที่เรียกว่า The Plate หรือการติดสัญลักษณ์รูปจานและช้อนส้อมให้กับร้านอาหารที่มิชลินอยากจะแนะนำด้วยเหตุผลเพราะใช้วัตถุดิบสดใหม่ ปรุงอย่างปราณีต (Fresh ingredients, carefully prepared: a good meal) ซึ่งการจัดอันดับ the Plate ปีนี้ มีร้านอาหารไทยในแอลเอ ติดอยู่หลายร้านด้วยกัน เช่น

ร้านศาลาแดง เมืองพาซาดีน่า, Night + Market ถนนซันเซ็ต ฮอลลีวูด, ร้านรสแซ่บ ถนนฮอลลีวูด, ร้านเลิฟทูอีท ของเชฟปลาและเชฟเฟิร์น บนถนนซันเซ็ต

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารไทยในซานฟรานซิสโก ติดอันดับ The Plate อีกสองร้าน คือ ร้าน Funky Elephant และ ร้าน Sweet Basil

มิชลินไกด์ ก่อเกิดเมื่อปี 1990 เมื่อบริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น (และซื้อยางรถมากขึ้นด้วย) จึงจัดทำคู่มือนักเดินทางเพื่อแนะนำโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ปั้มน้ำมัน และสถานที่น่าสนใจต่างๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะเริ่มจัดอันดับ (rating system) ด้วยการมอบดาวให้กับร้านอาหารและโรงแรมที่พักในปี 1926

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มิชลินไกด์ ได้ขยายไปยังหลายๆ ประเทศในยุโรป ก่อนจะข้ามมาอเมริกา  ในปี 2005 โดยเน้นที่นิวยอร์คเป็นหลัก จากนั้นก็ขยายต่อไปยังเอเชีย เริ่มจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก้า... จนปัจจุบันนี้ มิชลินไกด์ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีการจัดทำมิชลินไกด์ ใน 23 ประเทศ 14 ภาษา วางจำหน่ายใน 90 ประเทศ

การ “คัมแบ๊ก” มายังแคลิฟอร์เนียหลังจากเว้นว่างไปนานถึงสิบปีของมิชลินไกด์ปีนี้ แม้จะเป็นเรื่องฮือฮา แต่มิชลินไกด์แคลิฟอร์เนีย 2019 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรงจากสื่อมวลชนในลอส แอนเจลิส โดยเฉพาะสื่อที่คลุกวงในเรื่อง “ฟู้ดซีน” ของที่นี่ เช่น laist.com บอกว่าการกลับมาครั้งนี้ มิชลินไกด์แคลิฟอร์เนีย ถือว่ามีพัฒนาการที่ดี แต่ “บางอย่าง” ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เช่นบอกว่านักวิจารณ์อาหารของมิชลิน “อคติ” กับแคลิฟอร์เนียเหนือ แถมยังลำเอียงไปทางอาหารญี่ปุ่นกับอาหารฝรั่งเศส จนละเลยอาหารยอดนิยมของแคลิฟอร์เนียใต้อย่างอาหารเม็กซิกัน เกาหลี อินเดีย ไทย รวมไปถึงอาหารฟิลิปปินส์ และอเมริกากลาง ด้วย

ส่วนแอลเอไทมส์ ซึ่งถือเป็น “เจ้าถิ่น” และมีการจัดอันดับ หรือคู่มือร้านอาหารของตัวเองเยอะแยะมากมาย แถมบางอันดับ อย่างของ โจนาธาน โกลด์ ผู้ล่วงลับนั้น เป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดานักชิม ถึงขนาดเชิดชูเป็น “คัมภีร์” กันเลยทีเดียวนั้น แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “ไม่ยอมรับ” มิชลินไกด์ มาตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มิชลินจัดทำคู่มือร้านอาหารในลอส แอนเจลิส 

แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือคู่มือร้านอาหารในแอลเอ ของมิชลิน ปี 2008 ที่ถูกนักวิจารณ์อาหารของไทมส์ สับเละ

“คู่มือร้านอาหารในลอส แอนเจลิส ของมิชลิน ฉบับแรกเมื่อปีที่แล้วนั้น ถือว่าไม่มีความรู้ (ignorant) เกี่ยวกับวิถีการกินอาหารของชาวลอส แอนเจลิส จนน่าตกใจ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าเขาทำขึ้นโดยการตระเวนกินตามร้านที่อยู่ห่างจากโรงแรมที่พวกเขาพักในเบฟเวอร์ลี่ฮิลส์ เพียงไม่กี่นาที คู่มือปีนี้ก็เหมือนเดิม... น่าเบื่อมาก" ไทมส์ วิจารณ์ และว่าประเด็นสำคัญคือ “ไม่มีการให้ดาวกับร้านอาหารเกาหลี ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง เม็กซิกัน และที่สำคัญคือ ร้านอาหารไทย”

บทวิจารณ์แบบแรงๆ ของไทมส์ ทำให้ Jean-Luc Naret ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับของมิชลิน เก็บความแค้นเอาไว้ในใจ ก่อนจะสบโอกาสให้สัมภาษณ์นิตยสาร Esquire ในปี 2010 แบบตัดสัมพันธ์กับเมืองแอลเอเลยว่า คนแอลเอ ไม่ใช่ฟู้ดดี้ที่แท้จริง (not real foodies)

“พวกเขาไม่ได้สนใจการกิน แต่สนใจว่าใครไปนั่งที่ร้านนั้นบ้าง แล้วพวกเขาก็จะตามไปนั่ง” แร๊งส์

จะเป็นด้วยแรงต้าน หรือด้วยสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นก็ตาม ปีนั้นมิชลินไม่ได้จัดทำคู่มือร้านอาหารในแอลเอ หรือเมืองอื่นใดในแคลิฟอร์เนีย... นับเนื่องมาจนถึงการกลับมาในปีนี้เป็นเวลาสิบปีพอดิบพอดี

การ “คัมแบ๊ก” มายังแคลิฟอร์เนีย ครั้งนี้ของมิชลิน แตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะเป็นการจัดอันดับร้านอาหารทั่วทั้งรัฐ แทนที่จะเจาะเป็นเมือง เช่นแอลเอ ซานฟรานฯ อย่างที่ผ่านมา ซึ่งแอลเอไทมส์ บอกว่าน่าจะเป็นผลมาจากเงินสนับสนุนถึง 600,000 ดอลลาร์ ที่มิชลินได้รับจากการท่องเที่ยวของรัฐแคลิฟอร์เนีย (the Visit CA tourism bureau)

เป็นการพิสูจน์ถึงอิทธิพลของ มิชลินไกด์ ที่มีต่อชาวโลกในการพิจารณาที่พัก ที่กิน ที่ดื่ม อย่างชัดเจน

เว็บ last.com ซึ่งไม่ค่อยโอเคกับการจัดอันดับร้านอาหารในแอลเอ ของมิชลินครั้งนี้ ก็ยอมรับถึงอิทธิพลของ มิชลินไกด์ โดยบอกว่าแม้จะไม่ใช่คู่มือสำหรับคนท้องถิ่น เพราะมิชลิน ยังไม่เข้าใจถึงความหลากหลายของรสชาติและวัฒนธรรม อันเป็นต้นกำหนดของ “แคลิฟอร์เนียคูซีน” ก็ตาม แต่มิชลินไกด์ คือเครื่องมือสำคัญในการ “กระจาย” ลูกค้ากระเป๋าหนักจากโรงแรมห้าดาวย่านเบฟเวอร์ลีฮิลล์ ให้ไปนั่งดริงค์ในดาวน์ทาวน์แอลเอ หรือไปดินเนอร์อาหารไทยแถวอีสท์ แอลเอ ได้มากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่อง “วินวิน” ของทุกฝ่าย...

คู่มือ “มิชลินไกด์ แคลิฟอร์เนีย 2019” ฉบับสมบูรณ์มีให้อ่านกันแล้วบนเว็บไซต์ของมิชลิน แถมเป็นครั้งแรกที่มิชลินจัดทำคู่มือทั้งภาษาสแปนิช จีน และอังกฤษด้วย ส่วนเวอร์ชันพ็อกเก็ตบุ๊ก จะวางแผงในวันที่ 6 มิถุนายน ในราคาเล่มละ 19.95 ดอลลาร์

สยามทาวน์ยูเอส ขอแสดงความยินดีกับร้านอาหารไทยทั้ง 13 ร้านในแคลิฟอร์เนีย ที่ได้รับการยกย่องจากมิชลินไกด์ปีนี้ และขอเป็นกำลังใจกับร้านอาหารไทยดีๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ถูก “ไฮไลต์” โดยมิชลิน หรือจากสื่อมวลชนและนักวิจารณ์อาหารท้องถิ่นมากนัก

พยายามต่อไปครับ... สยามทาวน์ยูเอส ขอเป็นกำลังใจ.
.
.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/30)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/60) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/155) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/241) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/261) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข