ข่าวคนไทยในอเมริกา
บทวามหน้าสาม : “ไบร์ท” งานแปลจากวรรณกรรมของนักเขียนหญิงไทยคนแรก











เดือนวาด พิมพ์วนา




เว็บไซต์ของ International Examiner ซึ่งเป็นสื่อที่เน้นข่าวคราวเกี่ยวกับชุมชนชาวเอเชียโดยเฉพาะ บอกกล่าวถึงหนังสือเรื่อง Bright หรือวรรณกรรมเรื่อง “ช่างสำราญ” ของ เดือดวาด พิมวนา ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย “มุ่ย ภูพกสกุล” ที่จะวางแผงในอเมริกาและแคนาดา ในวันที่ 9 เมษายนที่จะถึงนี้เอาไว้สั้นๆ ว่า

Bright (สำนักพิมพ์ทูไลน์) โดย เดือนวาด พิมพ์วนา แปลโดย มุ่ย ภูพกสกุล ได้รับเกียรติกล่าวถึง หรือ honorable mention ในการประกาศรางวัล the Global Humanities Translation Prize และว่าวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องราวแบบไทยแท้ๆ ของชนชั้นแรงงานในเมืองไทยเล่มนี้ คือผลงานของนักเขียนหญิงไทยคนแรกที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

เลยทำให้เราต้องไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า “ช่างสำราญ” ของเดือนวาด พิมวนา คือวรรณกรรมซีไรต์ ปี 2003 เป็นผลงานเรื่องที่สองของ เดือนวาด พิมวนา นักเขียนไทยที่ได้รับการประดับช่อการะเกดสามปีซ้อน เป็นเรื่องราวของเด็กชายกำพล ช่างสำราญ เด็กน้อยที่ถูกพ่อนำไปปล่อยทิ้งไว้ในชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ ซึ่งที่ถูกมองว่า “เป็นชุมชนที่ชาวบ้านชอบยุ่งเรื่องของเพื่อนบ้าน” แต่ภายใต้ความช่างสอดรู้สอดเห็นนั้นก็แฝงไว้ด้วยความเอื้ออาทรที่มีให้กับเด็กชายที่น่าสงสารคนนี้

คําประกาศรางวัลซีไรต์ประจําปี พุทธศักราช 2546 (คณะกรรมการรางวัลสร้างสรรค์ ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ที่กล่าวชื่นชมงานวรรณกรรมเรื่อง “ช่างสําราญ” ว่า “นี่คือนวนิยายที่เรียบง่ายและงดงาม เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความฝัน และความ เชื่อมั่นศรัทธาในด้านดีของจิตใจมนุษย์ ... เล่าด้วยเสียงเอื้ออาทรอ่อนโยนแบบผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมานาน มีอารมณ์ขันที่แม้จะเจือความขื่นและเสียดเย้ยอยู่บ้างในที แต่ก็มิได้ทําตัวเป็น นักมนุษยธรรมหน้าแป้นพิมพ์ดีด ... ผู้เขียนมองโลกมนุษย์อย่างที่มันเป็น – เป็นกลางๆ และมี ความหวังเต็มเปี่ยมในชีวิตว่าคนดีและสิ่งดีๆ ยังมีอยู่ ...”

ส่วนการถูกกล่าวถึงโดยรางวัล the Global Humanities Translation Prize ตามที่ต้นเรื่องบอกเอาไว้นั้น ค้นอยู่นานจึงพบว่าเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2017 ซึ่งเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ในอิลินอยส์ ทำการคัดเลือกวรรณกรรมแปลจากภาษาต่างๆ เพื่อนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในอเมริกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “ไฮไลต์” วรรณกรรมดีๆ ที่ยังไม่ได้รับการสนใจจากผู้อ่านชาวอเมริกันมากนัก

ครั้งนั้น นักแปลที่คว้ารางวัลมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ และได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย มีสองคน คือผู้แปลเรื่อง The Tale of the Missing Man (แปลจากภาษาฮินดู) และผู้แปลบทกวีโบราณจากภาษาอราบิก (Mansur al-Hallaj)

ส่วนการกล่าวถึงในเชิงยกย่อง หรือ honorable mention นั้น มุ่ย ภูพกสกุล เป็นหนึ่งในนักแปลสามคนที่ได้รับเกียรตินี้

แต่ครั้งนั้น “ช่างสำราญ” ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ถูกพูดถึงในชื่อ Sunny Boy

กลายเป็นว่าวรรณกรรมซีไรต์ของไทยเล่มนี้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษมาพักใหญ่แล้ว โดย มุ่ย หรือเลิศหล้า ภู่พกสกุล เคยให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Culture Trip ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการพักผ่อนท่องเที่ยว (และหนังสือ) เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2017 ว่า

“ดิฉันกำลังสู้เพื่อ “ช่างสำราญ” (Sunny Boy) ของเดือนวาด พิมวนา นิยายเป็นตอนๆ เกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง เดินเรื่องในทำนอง Bildungsroman (การเรียนรู้ชีวิต) โดยเรื่องเกิดขึ้นในเมืองริมทะเลภาคตะวันออกของไทย นิยายเรื่องนี้ทำให้ฉันหลง แม้จะไม่ค่อยชอบเรื่องนี้ก็ตาม แต่วรรณกรรมไทยไม่ค่อยได้รับการแปลมากนัก ฉันเลยดีใจมากเมื่อ Words without Borders (นิตยสารและสำนักพิมพ์ที่เน้นเผยแพร่ผลงานของนักเขียนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ) ติดต่อให้ดิฉันเป็นบรรณาธิการรับเชิญ (guest-edit) สำหรับฉบับประเทศไทย (Thailand issue) เพราะจะทำให้ดิฉันสามารถแนะนำนักเขียนไทยได้มากมาย”

ดังนั้นจึงถือว่า ช่างสำราญ ฉบับภาษาอังกฤษ ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกโดย Words without Borders และมีนักอ่านต่างชาติได้ลิ้มรสไปไม่น้อยแล้ว

แต่กับ Bright ที่ตีพิมพ์ในรูปเล่มพ็อกเก็ตบุ๊ก และวางจำหน่ายทั่วอเมริกาและแคนาดาอย่างเป็นทางการครั้งแรกนี้ น่าจะทำให้ชาวอเมริกัน และผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักทั่วโลก ได้ลิ้มรสความละเมียดของวรรณกรรมไทย ฝีมือนักเขียนหญิงคนนี้มากขึ้นอีกมหาศาล

แถม “ช่างสำราญ” หรือ Bright ยังไม่ได้มาเดี่ยว เพราะสำนักพิมพ์ Te Feminist Press at CUNY ได้นำเอาผลงานรวมเรื่องสั้น “ฝันแห้งและเรื่องอื่นๆ” ของ เดือนวาด พิมวนา จากฝีมือการแปลของ มุ่ย ภู่พกสกุล ในชื่อ Arid Dreams: Stories ออกวางจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือแทบจะพร้อมกัน คือกำหนดวันวางแผงเอาไว้ที่ 16 เมษายน 2019 ในราคา (ปกอ่อน) 11.56 ดอลลาร์ และสำหรับ แคนเดิล ในราคา 10.98 ดอลลาร์

ใครที่อ่านภาษาอังกฤษคล่องๆ ก็สั่งซื้อมาอ่านกันหน่อย หรือจะซื้อให้ลูกหลาน เพื่อนฝูงชาวอเมริกันอ่านก็ได้... เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนผลงานของนักเขียน-นักแปลไทยที่กำลังมีผลงานในระดับสากลแล้ว ยังเป็นการ “อวดของดี” อีกอย่างของไทยแลนด์ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างอีกด้วย...


 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/138)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/63) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/160) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/247) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/271) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข