อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
‘ทรัมป์’อ้างสำเร็จยิ่งใหญ่ แม้เสียสภาล่างให้เดโมแครต


แนนซี้ พิโลซี่ ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่







แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : พรรคเดโมแครตพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ในการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำงานลำบากขึ้น แม้พรรครีพับลิกันจะยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไปก็ตาม


การครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่างของพรรคเดโมแครต จากการเลือกตั้งกลางเทอม เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2018 ถือเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดย ส.ส.เดโมแครต มีจำนวนเพิ่มขึ้น 29 ที่นั่ง เป็น 222 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกึ่งหนึ่งของสภา 435 ที่นั่ง

แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง หรือวุฒิภา ยังคงเป็นของพรรครีพับลิกัน ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รอดพ้นจากกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ตาม แต่ก็จะส่งผลให้ความสามารถในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ผ่านรัฐสภาของเขา เป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

ชัยชนะในสภาล่างของพรรคเดโมแครต ส่งผลให้นางแนนซี เพโลซี ได้กลับมาเป็นประธานรัฐสภาอีกครั้ง โดยตำแหน่งนี้ ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอันดับ 3 ของสหรัฐฯ รองจากประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ทั้งนี้ ส.ส. วัย 78 ปีรายนี้เคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ประธานรัฐสภาเมื่อปี 2007 และอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี

แนนซี เพโลซี ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ประกาศชัยชนะในช่วงค่ำของวันที่ 6 พฤศจิกายน ว่า “วันพรุ่งนี้จะเป็นวันใหม่ของอเมริกา ส่วนวันนี้เป็นมากกว่าเรื่องราวของเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่เป็นเรื่องของการฟื้นฟูระบบการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบรัฐบาลทรัมป์ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ”
 
นักวิเคราะห์การเมืองบอกว่า เมื่อได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาล่างแล้ว ส.ส. เดโมแครตจะเดินหน้าตรวจสอบนโยบายด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมไปถึงกฎหมายภาษีที่เป็นข้อถกเถียง ตลอดจนให้การปกป้องกฎหมายประกันสุขภาพ หรือ เฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ต่อไป รวมถึงมองว่า สองพรรคจะเปิดประตูความร่วมมือในด้านสาธารณสุข เช่น การปรับลดราคายา และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
 
ว่าที่ประธานสภาผู้แทน ยังพูดถึงประเด็นการผลักดันให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่งว่า ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนของโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษ หรือรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบของเดโมแครต ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ มีส่วนรู้เห็นกับการแทรกแซงกิจการภายในของรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อนหรือไม่

การเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการ "ลงประชามติ" ต่อผลงานการบริหารประเทศของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการชิงเก้าอี้ ส.ส. 435 ที่นั่ง, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) 35 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง และผู้ว่าการรัฐ 36 จากทั้งหมด 50 ตำแหน่ง ซึ่งเดิมพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส โดยมี ส.ส. 235 ที่นั่ง และ ส.ว. 51 ที่นั่ง ทว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ออกมาในช่วงเช้าของวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน เป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตว่าความนิยมต่อพรรครัฐบาลมักลดลงหลังจากบริหารประเทศมาได้สองปี

อย่างไรตาม ในช่วงสายของวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แถลงถึงผลการเลือกตั้งว่า "นี่เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่" และแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันชื่นชอบการทำหน้าที่ของเขาในฐานะประธานาธิบดี สะท้อนผ่านจำนวน ส.ว. ที่พรรครีพับลิกันได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น

ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังทวีตข้อความด้วยว่า เขาได้รับการโทรศัพท์แสดงความยินดีจากผู้คนมากมายต่อชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ รวมถึงโทรศัพท์จากมิตรนอกประเทศที่เฝ้าคอย และคาดหวังให้เขาไปทำความตกลงการค้าด้วย

ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. อย่างไม่เป็นทางการระบุว่า พรรครีพับลิกันได้ ส.ว. ไปแล้ว 51 ที่นั่ง หรือคิดเป็นกึ่งหนึ่งของสภาสูง ส่วนพรรคเดโมแครตมี 46 ที่นั่ง

การเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ยังเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “คลื่นสีชมพู” หรือกระแสความตื่นตัวของนักการเมืองหญิง เพราะมีผู้หญิงลงสมัคร ส.ส. มากถึง 235 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเดโมแครต นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐถึง 11 คน เทียบกับจำนวน 10 คนที่ได้รับการเสนอชื่อเมื่อ 26 ปีก่อน

โดยปรากฎการณ์คลื่นสีชมพูดังกล่าวนี้ นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของปี 2016 รวมทั้งความกังวลในนโยบายบางอย่างที่เอื้อต่อสตรีที่มีขึ้นในยุคของนายบารัค โอบามา กำลังถูกเปลี่ยนแปลงในสมัยของนายทรัมป์ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งกันมากขึ้น

ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีว่าที่นักการเมืองหญิงหน้าใหม่ ที่น่าสนใจ ได้เข้าไปในสภาคองเกรสหลายคน เช่น

ราชิดา ทลาอิบ วัย 42 ปี ว่าที่ ส.ส. รัฐมิชิแกน เป็นสตรีมุสลิมคนแรก

อิลฮาน โอมาร์ วัย 36 ปี ว่าที่ ส.ส. รัฐมินเนโซตา เป็นส.ส.เชื้อสายโซมาเลีย คนแรก

แชริซ เดวิดส์ วัย 38 ปี ว่าที่ ส.ส. แคนซัส เขต 3 เป็นส.ส.หญิงชาวอเมริกันพื้นเมืองคนแรก

ลอเรน อันเดอร์วูด วัย 31 ปี จากพรรคเดโมแครต ว่าที่ ส.ส. อิลลินอยส์ เขต 14 เป็นผู้หญิงผิวดำคแรกของรัฐอิลลินอยส์

อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ วัย 29 ปี ว่าที่ ส.ส. ในย่านควีนส์และบร็องซ์ของนครนิวยอร์ก     และ แอ็บบี ฟินเคเนาเออร์ ว่าที่ ส.ส. รัฐไอโอวา วัย 29 ปี ทั้งสองเป็น ส.ส.หญิงอายุน้อยที่สุด โดยทำลายสถิติที่ เอลิซ สเตฟานิก ส.ส. พรรครีพับลิกัน เคยทำไว้เมื่อปี 2014 จากการได้รับเลือกตั้งขณะมีอายุ 30 ปี.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข