ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ภาวนาธรรมสากล





ประชากรโลก หันมาสนใจภาวนามากขึ้นทุกวัน แม้จะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการในระดับโลกได้สำรวจไว้ก็ตาม ถ้าหากติดตามข่าวสารเรื่องของสมาธิภาวนาที่เชื่อมโยงกันได้ ก็จะพบว่ามีแหล่งข้อมูลเรื่องสมาธิภาวนามากมายจริงๆ ข้อมูลด้านสมาธิภาวนาเหล่านี้มาจากผู้จัดข้อมูลทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงานและคนหนุ่มสาว


 จากการติดตามความเคลื่อนไหวด้านสมาธิภาวนาระดับโลก อย่างกว้างๆก็พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรโลกยุคใหม่หันหน้ามาสนใจในสมาธิภาวนา คือ ความเครียดจากสิ่งแวดล้อมในเมือง หน้าที่การงาน ต้องการหาความหมายให้ชีวิต ความวิตกกังวล ความสับสน ความรู้สึกไม่มั่นใจในเรื่องบางเรื่องที่ยังตกลงปลงใจกันไม่ได้

สังเกตได้ว่า อาจารย์สมาธิ หรือ ผู้สอนสมาธิ จะพูดบ่อยๆว่า เพื่อผ่อนคลายทางกาย (Bodily relax) เพื่อคลายเครียดทางอารมณ์ (Release emotional tension) มากกว่าที่จะกล่าวว่า เพื่อขจัดกิเลสตัณหาอันนำไปสู่ความดับทุกข์สิ้นเชิง (Getting  rid of suffering completely) ทั้งนี้อาจจะเข้าใจตามสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมวัตถุนิยม และความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายว่า เขามีปัจจัยสี่ครบถ้วน ไม่มี suffering แต่อย่างใด แต่พวกเขายังมี ความเครียด วิตกกังวล สับสน ความกลัว บุคคลเหล่านี้จึงหันมาหาสมาธิภาวนาเพื่อความสงบและมั่นใจในการดำรงชีวิตมากขึ้น
   
อาจารย์สมาธิภาวนาเหล่านี้ ล้วนมีครอบครัวมีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง มิได้นำเอาลัทธิศาสนาใดมาผูกพันตนเอง ที่ทำให้ผู้ที่มาภาวนาด้วยนั้น ต้องรู้สึกแปลกแยกหรือกลัวว่าอาจจะต้องเข้ารีตตามศาสนาที่อาจารย์สังกัดด้วย  แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ที่นำมาสอนจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ก็พยายามจะไม่ออกชื่อพระพุทธเจ้า หลักธรรมะที่นำมาสอนก็ไม่ได้บ่งบอกชัดว่า หลักคำสอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือค้นคว้ามา มักพูดแต่เพียงว่า เป็นหลักสากลที่มนุษย์ทุกคนมีและเข้าถึงด้วยประสบการณ์ตรงได้
   
หากสำรวจเนื้อหาที่นำมาสอนกันอยู่ ก็จะพบว่า การเจริญอานาปานสติ ได้รับการนำมาดัดแปลงใช้มากที่สุด แต่ละสำนักก็จะดัดแปลงภาษาที่ใช้ให้ผู้มาภาวนาเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้ เรื่องของ สัมปชัญญะความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในหมวดสัมปชัญญะแห่งสติปัฎฐาน ก็ถูกนำมาดัดแปลงใช้กันอย่างกว้างขวาง  ผ่านคำว่า Mindfulness และ Awareness ซึ่งคำทั้งสองนี้สื่อความจริงให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาเข้าใจและปฏิบัติได้
   
วิธีการสอนสมาธิ ทั้งอานาปานสติ และสติปัฏฐานได้รับการนำมาดัดแปลงด้วยภาษาง่ายๆ แทบจะไร้ร่องรอยแหล่งที่มา คือพระไตรปิฎก ให้รู้ว่ามาจากศาสนาไหน เพราะคำว่า Awareness ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม  เป็นคำที่พูดแล้วมนุษย์ที่ไหนก็เข้าใจตามภาษาของตนได้ทันที เพราะเป็นความรู้สึกสากลที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้อย่างไร้ขีดจำกัด
   
การภาวนาทั้งแบบ สมถะ คือ อุบายวิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ และวิปัสสนา คืออุบายวิธีที่จะก่อให้เกิดปัญญา ก็ได้รับการนำมาพัฒนาและผสมผสานกันอย่างกลมกลืนเช่น จะพูดนำภาวนาว่า เบื้องต้นเลือกท่านั่งที่สบายที่สุด เมื่อเลือกที่นั่งได้แล้วต่อมารวมความสนใจมาไว้ที่ลมหายใจ หายใจลึกๆๆยาวๆ ปล่อยออกมาให้เต็มที่  เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนผ่อนคลาย และจิตใจสบาย จากนั้นหายใจตามสบายและผ่อนคลาย สังเกตความเคลื่อนตัว เข้าและออกของลมหายใจ ที่จะค่อยๆผ่อนคลายลงตามลำดับ  ความกังวล ความเครียด ความคิดลบ ความรู้สึกไม่ค่อยสบาย ค่อยๆหายไป พักใจอยู่กับปัจจุบัน ด้วยความสงบ มั่นคง สบาย ตื่นรู้ ผ่อนคลาย

จุดนี้ก็เป็นการนำสมถะภาวนาอันเป็นอุบายให้เกิดความสงบมาใช้จนสงบอย่างพอเพียง ผู้ภาวนารู้สึกสดชื่นเบิกบาน โล่ง โปร่ง เบาสบายอย่างน่าอัศจรรย์
   
ในส่วนของวิปัสสนา ถ้าตามหลักดั้งเดิม ก็ให้ตามดู กาย เวทนา จิตและธรรม ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามความเป็นจริง  แต่การประยุกต์ก็จะผสมสมาธิเข้าไปได้เลยว่า เมื่อจิตสงบผ่อนคลายดีแล้ว สังเกตดูความรู้สึกจริงๆปรากฏอย่างไรบ้าง (Observe what you are really feeling) ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุงแต่ง หากมีก็แค่เพียงตามรู้ ทักทาย แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องบังคับ ขับไล่ ผลักไส เพราะความรู้สึกสบาย ไม่สบาย  ความคิดดีและไม่ดีต่างๆนานา ล้วนมาแล้ว ก็ผ่านไป ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่สังเกตดู ก็สังเกตไป เมื่อทักทายแขกแปลกหน้าพอสมควรแล้ว แขกก็จากไป เบนความสนใจกลับมาหาลมหายใจที่สบายและผ่อนคลายเหมือนเดิม
   
เป็นอันว่า ทั้งสมถะและวิปัสสนาภาวนา ได้รับการผสมผสานด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายทำได้เลย โดยผู้สอนชี้ให้ผู้ปฏิบัติทราบว่า ความเครียดก็เป็นหลักธรรมชาติ สมาธิภาวนาแบบตื่นรู้นี้ ก็เป็นธรรมชาติ ความเครียด ความวิตกกังวล มาเท่าไรก็ไปเท่านั้น ส่วนความตื่นรู้ยังคงอยู่เฝ้าดูต่อไป เปรียบความตื่นรู้เหมือนฟากฟ้า เปรียบปัญหาเหมือนเมฆหมอก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  เมื่อเข้าถึงความตื่นรู้ ใจได้พักผ่อนเพียงพอ ความเครียด ความวิตกกังวล ก็ผ่อนคลายหายไป สามารถนำจิตใจที่ฝึกสมาธิแล้วไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ย้อนแย้งกับชีวิตจริง เพราะความตื่นรู้มีอยู่กับทุกคนทุกวัน เหมือนท้องฟ้ามีทุกวัน มีสักกี่วันที่เราจะแหงนมองท้องฟ้าเพื่อเก็บเกี่ยวความงามแห่งฟ้าใสนั้น
   
ตัวชี้วัดอีกประการหนึ่งที่ชี้ว่า ประชากรโลกให้ความสนใจสมาธิภาวนามากขึ้น คือ คลิปภาวนาแบบสั้นๆแบบเสียงบรรยายหรือมีเสียงดนตรีประกอบ มีผู้เข้าชม เป็น 10 กว่าล้าน Views  เป็นล้าน Views.หรือ ครึ่งล้าน Views ทั้งนั้น
   
พระพุทธเจ้าเคยตรัสแก่พระพุทธสาวกอรหันต์รุ่นที่ 1ว่า จงไปประกาศพรหมจรรย์ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก บัดนี้พระดำรัสดังกล่าว เป็นความจริงทุกประการ ผู้ที่สมัครเข้ามาประกาศพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก มิได้มีเพียงพระพุทธสาวกและอุบาสก อุบาสิกาเท่านั้น แต่มนุษย์ทุกมุมโลกที่เห็นว่า พรหมจรรย์ของพระองค์เติมเต็มส่วนที่ขาดไปแห่งชีวิตของพวกเขาได้ เมื่อพวกเขาได้รับประโยชน์แล้วช่วยกันประกาศพรหมจรรย์นี้ออกไปอย่างกว้างขวาง พรหมจรรย์ของพระองค์แผ่ไปอย่างไร้พรหมแดนจริงๆ เพราะสมาธิภาวนาอันเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์ยังประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณตามพระพุทธประสงค์ทุกประการจริงๆ

วันที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 15.04 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2827) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข