ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด





ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อว่า ตายแล้วเกิด จึงมีความรู้สึกละอายชั่วกลัวบาป ไม่กล้าทำบาปง่ายๆโดยไม่จำเป็น เพราะมีความกลัวว่าบาปจะติดตัวตนเองต่อไปในภายภาคหน้าไปถึงภพหน้า ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงการทำบุญชาวพุทธจะขมีขมันในการทำบุญด้วยความจริงใจตั้งใจอย่างจริงจัง เพราะการทำความดีจะส่งผลดีแก่ตนเองทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เมื่อจากโลกนี้ไปเกิดใหม่จะเกิดในภพที่ดี


การทำบุญอุทิศแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วในวาระต่างๆที่ออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมต่าง ก็มาจากรากฐานแห่งความเชื่อว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วจะได้รับผลแห่งกรรมดีที่ผู้อยู่ข้างหลังอุทิศไปให้ ตามหลักแห่ง ปัตติทานมัย แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้ และ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นมอบให้ ตามหลักแห่งการทำบุญ 10 ประการ
   
แม้ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อจนตระหนักแก่ใจแล้วว่า บุญบาปมีจริง ชาตินี้มีจริง ชาติหน้ามีจริง ผลแห่งบุญหรือบาปที่ทำแล้วให้ผลจริงตามเวลาที่เหมาะสม เสมือนพืชแต่ละชนิดที่ให้ผลต่างวาระต่างเวลากันฉะนั้น
   
ชาวพุทธไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการฟังและการศึกษาเรื่องตายแล้วเกิด หรือ ตายแล้วไม่เกิด จึงมักจะตั้งคำถามกันบ่อยๆว่า “ตายแล้วเกิดไหม?” คำตอบจากใครๆก็มักจะมาทางเดียวกันว่า ตายแล้วเกิด หากถามต่อไปอีกว่า “ทำไมจึงเชื่อว่าตายแล้วเกิด?” ก็จะตอบว่า เพราะเราเป็นชาวพุทธ  หากมีคำถามต่อไปอีกว่า “เรื่องความเชื่อว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดเกี่ยวข้องอะไรกับชาวพุทธหรือ มิใช่ชาวพุทธเล่า?”  จะมีคำตอบว่า เพราะชาวพุทธมีความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนจากที่หนึ่ง ที่เรียกว่า จุติ ไปเกิด ณ ที่หนึ่งเรียกว่า อุบัติ  เหมือน การออกจากบ้านหลังหนึ่งที่เก่าคร่ำคร่าพังแล้ว เข้าไปสู่บ้านหลังใหม่ที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอีก
   
คำถามก็จะมีต่อไปว่า อะไรคือ เหตุปัจจัยหลัก หรือ พลังงานผลักเคลื่อนให้ไปเกิดอีก เรื่องนี้หากรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ตามที่ต่างๆถึงเหตุปัจจัยที่นำสัตว์ทั้งหลายไปเกิดในภพใหม่ว่า สิ่งที่นำเกิดนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เหตุปัจจัยเดี่ยวๆอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางครั้งเราฟังจากครูอาจารย์ที่ศึกษามาสอนกันว่า ถ้ายังมีอวิชชาก็จะยังจะไปเกิดอีก บางท่านก็บอกว่า ถ้ามีตัณหาก็จะไปเกิดอีก และที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจกันมาแต่โบราณคือ เข้าใจว่าวิญญาณไปเกิด เช่นเวลากล่าวคำอาลัยมักจะกล่าวว่า ขอให้วิญญาณ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพนั้นเทอญ
   
อาตมามิใช่ผู้ตรัสรู้จึงไม่เข้าไปตัดสินความเชื่อและคำสอนคำไว้อาลัยที่กล่าวสืบๆต่อกันมาว่า อะไรผิด หรือ อะไรถูกแต่อาตมาศึกษาแล้วชอบคำตอบที่พระพุทธเจ้าตอบพระอานนท์ในทุติยภาวสูตรดั่งพอสรุปตามความเข้าใจว่า เหตุปัจจัยที่นำสัตว์ไปเกิดในภพคือ กรรม วิญญาณ เจตนา ตัณหา และอวิชชา โดยพระพุทธเจ้าเปรียบว่า กรรมเปรียบเหมือนผืนนา สิ่งใดที่ทำพูดและคิดด้วยเจตนาก็ล้วนเป็นกรรม ทรงเปรียบวิญญาณที่กุศลและอกุศลเข้าไปปรุงแต่งเหมือนพืช พระพุทธเจ้าเปรียบตัณหา ที่ผูกพันธ์เหมือนยางเหนียวแห่งพืชที่หล่อเลี้ยงเมล็ดพืช อยู่ในรูปของน้ำหล่อเลี้ยง ส่วนอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้มเปรียบเหมือนเปลือกของเมล็ดพืชนั้นเอง ตกลงว่า การรับรู้เรื่องราวต่างๆทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การทำกิจการและกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันก็คือ การปลูกพืชลงไปในผืนนา  เมื่อถึงเวลาพืชที่ปลูกลงไปแล้วก็ทะยอยให้ผลตามกาลเวลาที่พอดีที่เหมาะสม
   
สรุปว่าตราบใดยังมีเงื่อนไขเหล่านี้ คือ กรรม เจตนา วิญญาณ ตัณหา อวิชชา ยังมีอยู่การเกิดในภพต่างๆจะมีเรื่อยๆไป ภาษาบาลีว่า ปุนปฺภโว แปลตรงตัวว่า ยังจะต้องเกิดอีก
   
นี่คือ เหตุปัจจัยแห่งการตายแล้วเกิดอีก
   
ในพระพุทธศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตายแล้วไม่เกิดอีกก็มี  เมื่อหมดเหตุปัจจัยให้เกิด คือ สิ้นกรรม สิ้นเจตนา สิ้นวิญญาณ สิ้นตัณหา สิ้นอวิชชา ภพก็สิ้นไปชาติก็สิ้นไป หากอ่านในพระสูตรสำคัญๆเวลาที่พระสาวกบรรลุอรหันต์จะบอกผลแห่งการบรรลุพระอรหันต์ที่สำคัญสองคำว่า ภพไม่มีอีกแล้ว ภาษาบาลีว่า นตฺถิทานิ ปุนปฺภโว แปลว่าตั้งแต่นี้ต่อไป ภพไม่มีแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ตามพระบาลีว่า ขีณา ชาติ แปลตรงตัวว่า ชาติสิ้นแล้ว
   
พระพุทธเจ้าเล่าถึงญาณที่นำไปสู่การตรัสรู้ของพระองค์เรียกว่า อาสวักขยญาณ แปลว่า ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป อาสวะได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่ออาสวะสิ้นก็บรรลุเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงมีญาณหยั่งรู้ว่า ไม่มีภพอีกแล้ว ชาติสิ้นแล้ว
   
เมื่อพระสาวกบรรลุธรรมมักจะมีคำว่า พระสาวกเหล่านั้นเบื่อหน่าย คลายในขันธ์ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด  เมื่อคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ยึดมั่น การสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งสาม คือ กามาสวะ ภวาสวะและอวิชชาสวะ จะเกิดขึ้นได้สมบูรณ์เมื่อจิตหลุดพ้นเพราะความไม่ยึดมั่น
   
หากประมวลเหตุปัจจัยแห่งการเกิดและการไม่เกิด จากการศึกษาหลายๆพระสูตรจะพบว่า เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เจตนา วิญญาณ อวิชชา อาสวะ สิ้นไป การเกิดสิ้นสุดลงทันที
   
มักจะมีผู้สนใจปัญหานี้ทั้งชาวพุทธและชาวศาสนาอื่นถามบ่อยๆว่า ตกลงชาวพุทธเชื่อว่า ตายแล้วเกิด หรือ ตายแล้วไม่เกิดอีก
   
คำตอบแบบที่พระพุทธเจ้าสอนก็สรุปลงว่า ตายแล้วเกิด ถ้าเหตุปัจจัยแห่งการเกิดยังมี ตายแล้วไม่เกิด ถ้าเหตุปัจจัยแห่งการเกิดไม่มี ส่วนเหตุปัจจัยแห่งการเกิดหรือไม่เกิด ก็ได้นำมากล่าวไว้แล้วข้างบนนี่แล

วันที่ 31 สิงหาคม 2561 เวลา 9.53 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2823) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข