ข่าวคนไทยในอเมริกา
สร้างอนุสาวรีย์-มิวเซียม รำลึกแฝดสยาม’อิน-จัน’


ทายาทของแฝดสยาม อิน-จัน และชาวไทยที่เข้าร่วมงานเลี้ยงวันรวมญาติตระกูลบังเกอร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ที่เมืองเมาท์ แอรี่ นอร์ธ คาโรไลน่า ร่วมรำวงกันอย่างสนุกสนาน




แฟร็งค์ “ชิป” โฮลท์ตัน และรูปปั้นต้นแบบของอนุสาวรีย์ แฝดสยาม




โม ร็อคก้า แห่งรายการ ซีบีเอส ซันเดย์ มอร์นิ่ง กำลังสัมภาษณ์ คาโรไลน์ วาร์ด โคน เหลนสาวของ จัน บังเกอร์ ในงานเลี้ยงรวมญาติ




หนังสือชีวประวัติของแฝดสยาม “Inseparable: The Original Siamese Twins and Their Rendezvous with American History” โดย ยวนเต้ ฮวง




แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : ลูกหลาน “ อิน-จัน” ในเมาท์ แอรี่ นอร์ธ แคโรไลนา เตรียมจัดสร้างอนุเสาวรีย์ และพิพิธภัณฑ์ “แฝดสยาม” เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษจากไทยแลนด์ ท่ามกลางความสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่น เพราะสามารถเรียกนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงชาวไทยได้ดี

หนังสือพิมพ์ เดอะเมาท์ แอรี่ นิวส์ สื่อท้องถิ่นของเมืองเมาท์ แอรี่ รัฐนอร์ธ แคโรไรน่า รายงานข่าวว่า รายการ CBS Sunday Morning ของเครือข่าย ซีบีเอส โดย โม ร็อคก้า ได้นำทีมงานมาถ่ายทำรายการสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวของ “แฝดสยาม” อิน-จัน บังเกอร์ ในเมืองเมาท์ แอรี่ รวมถึงไปร่วมในงานรวมญาติ (the Bunker Reunion) ครั้งที่ 29 เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ณ โบสถ์เฟิร์ส แบพติสท์ เฟลโลว์ชิพ ฮอลล์ ซึ่งมีลูกๆ หลานๆ ของ “แฝดสยาม” มาร่วมงานกว่า 160 คนด้วย

ข่าวของ เดอะเมาท์ แอรี่ นิวส์ บอกว่าเครือข่าย ซีบีเอส ให้ความสนใจเรื่องราวของแฝดสยามเพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่นความสำเร็จของหนังสือแนวชีวประวัติของ “แฝดสยาม” เรื่อง “Inseparable: The Original Siamese Twins and Their Rendezvous with American History” โดย ยวนเต้ ฮวง (Yunte Huang) อาจารย์จาก ยูซี ซานตาบาร์บาร่า ที่ได้เดินทางมาบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึกถึงแฝดสยาม ในวันที่ 27 กรกฎาคม ณ  the Historic Earle Theatre ในเซอร์รี่ เคาน์ตี้ ด้วย

นอกจากจากนี้ ยังมีประเด็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่เรื่องราวของฝาแฝด อิน-จัน ถูกประเทศไทย นำมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้ ลูกหลานของฝาแฝดอิน-จัน ได้รับคำเชิญจากรัฐบาลไทยให้เดินทางไปเยือนบ้านเกิดของต้นตระกูล ซึ่งการเดินทางไปเยือนประเทศไทยครั้งนั้น จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเชิงข่าวเรื่องนี้เช่นกัน

โม ร็อคก้า กล่าวว่า แฝดสยาม อิน-จัน ใช้ชีวิตแบบน่าอัศจรรย์ และขับเน้นถึงคุณค่าของความเป็นอเมริกัน หรือ American values ได้อย่างชัดเจน แต่ความยิ่งใหญ่ของทั้งสองถูกบดบังโดยสภาพร่างกายที่แปลกกว่าปกติของเขา

“ผมชอบเรื่องที่คนคิดว่าเขารู้ดีอยู่แล้ว นี่คือเรื่องที่คุณสนใจเพราะเหตุผลหนึ่ง แต่จบลงด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก เรื่องราวของแฝดสยาม เริ่มต้นแบบโชว์ประกอบ (sideshow) แต่จริงๆ แล้วมันคือเรื่องราวของครอบครัว ความไม่ย่อท้อ ความเอาใจใส่ และเรื่องราวของอเมริกันดรีม ที่แท้จริง” โม ร็อคก้า กล่าว

ข่าวบอกว่า รายการ ซีบีเอส ซันเดย์ มอร์นิ่ง ตอนที่นำเสนอเรื่องราวของ “แฝดสยาม” จะแพร่ภาพในอีกสองสามเดือนข้างหน้า แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุวันออกอากาศที่แน่นอนได้

นอกจากนี้ เดอะเมาท์ แอรี่ นิวส์ ยังบอกด้วยว่าบรรดาทายาทของ อิน-จัน กำลังพยายามจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แฝดสยาม และสร้างรูปปั้นสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่กว่าตัวจริงของ อิน-จัน เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ให้กับแฝดสยามด้วย โดย ทันย่า โจนส์ เหลนของ จัน บังเกอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสภาศิลปกรรมแห่ง เซอร์รี่ เคาน์ตี้ (Surry Arts Council) ได้แถลงถึงโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการในงานเลี้ยง บังเกอร์ รียูเนียน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม รวมถึงมีการนำรูปปั้นต้นแบบ ซึ่งปั้นโดยศิลปินท้องถิ่นชื่อ แฟร็งค์ “ชิป” โฮลท์ตัน มาแสดงในงานด้วย

ทันย่า โจนส์ กล่าวว่า รูปปั้นดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ นั่นคือการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ใน เมาท์ แอรี่ ที่อุทิศให้กับ “แฝดสยาม” โดยเฉพาะ โดยรูปปั้นขนาดใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์

เหลนของ จัน บังเกอร์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จะเป็นคลังเก็บสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแฝดสยาม ที่ปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านของลูกหลานที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ

ข่าวบอกด้วยว่าโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์แฝดสยาม รวมถึงอนุสาวรีย์ของอิน-จัน บังเกอร์ ได้รับความสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลท้องถิ่น (เซอร์รี่ เคาน์ตี้) โดย เอ็ดดี้ แฮร์ริส ประธานคณะกรรมการบริหารเคาน์ตี้ ได้อ่านประกาศเกียรติคุณ จากเคาน์ตี้ในงานเลี้ยงรวมญาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ความว่า ทางผู้บริหารเคาน์ตี้ ซาบซึ้งถึงคุณค่าของ อินและจัน บังเกอร์ ที่ได้เปิดประตูเมืองนี้ ต่อนักท่องเที่ยวทั่วโลก และพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จะช่วยส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยว รวมถึงจากประเทศไทย ให้อยากจะมาเห็นชมเรื่องราวของอินและจันมากขึ้น

โดยปัจจุบันนี้ ทาง เซอร์รี่ เคาน์ตี้ ได้จัดนิทรรศการแฝดสยาม (Siamese Twins Exhibit) เป็นนิทรรศการถาวร อยู่ใน พิพิธภัณฑ์แอนดี้ กริฟฟิธ (Andy Griffith Museum) ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ แอนดี้ กริฟฟิธ นักแสดงชื่อดังที่เป็นชาวเมืองเมาท์ แอรี่ เช่นกัน

ทันย่า โจนส์ กล่าวด้วยว่า การที่เครือข่าย ซีบีเอส ให้ความสนใจเรื่องราวของ แฝดสยาม ถือเป็นผลดีอย่างมาก ทั้งกับเมืองเมาท์ แอรี่ และแฝดสยาม เพราะจะเรียกร้องความสนใจได้จากทั่วประเทศ ซึ่งเธอเชื่อว่าจะทำให้โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ และรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งจะต้องใช้เงินบริจาคจากประชาชนจำนวนมากมายมหาศาล เป็นจริงได้เร็วขึ้น

“ขนาดยังไม่มีข่าวอะไรมากมาย ก็มีหลายคนเสนอความช่วยเหลือเข้ามาแล้ว มีคนหนึ่งบอกว่าจะบริจาคฟลุ๊ต (flute) ที่เคยเป็นของแฝดสยามมาให้กับเรา มันเป็นของที่มีคุณค่ามากจริงๆ” ธันย่า โจนส์ กล่าว

ข่าวบอกด้วยว่า งานเลี้ยงรวมญาติของครอบครัวบังเกอร์นี้ ที่ผ่านๆ มาจะได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน หรือผู้แทน เดินทางมาร่วมด้วยเสมอ แต่ปีนี้เนื่องจากตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทางสถานทูตจึงไม่สามารถส่งตัวแทนมาร่วมงานได้ แต่ก็ยังคงเป็นเจ้าภาพอาหารไทยในงานเลี้ยงเหมือนที่ผ่านๆ มา รวมถึงมีชาวไทยส่วนหนึ่ง เดินทางมาร่วมงาน และมีการรำไทยกันอย่างสนุกสนานในงานด้วย.

ทั้งนี้ แฝดสยาม อิน-จัน เกิดในครอบครัวชาวจีนที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปี 1811 ถูกพามาอเมริกาตอนอายุ 18 ปี เพื่อเดินทางโชว์ตัวทั่วอเมริกา และยุโรป โดยทั้งสองหมั่นเก็บออมจนมีฐานะร่ำรวย

อิน-จัน ได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี 1839 และซื้อที่ดินเพื่อลงหลักปักฐานในนอร์ธ แคโรไลน่า เริ่มต้นใช้นามสกุลบังเกอร์ ในปี 1840 โดยยึดอาชีพทำไร่ฝ้าย มีทาสผิวดำในความดูแลมากกว่า 30 คน

อิน บังเกอร์ แต่งานกับ ซาราห์ แอน ยาเทส มีลูกด้วยกัน 10 คน ส่วนจัน สมรสกับ อเดลเลด ยาเทส มีลูก 11 คน ทั้งสองเสียชีวิตเมื่อปี 1874 โดยปัจจุบัน ทายาทที่สืบเชื้อสายจากอินและจัน มีมากกว่า 1,500 คน

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยถือว่า แฝดสยาม อินและจัน เป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างไทยและอเมริกัน โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้สนับสนุนการจัดงานรวมญาติต่อเนื่องมาหลายปี โดยการจัดอาหารไทย รวมถึงจัดนิทรรศการ หนังสือและสิ่งพิมพ์นำเที่ยวประเทศไทย รวมถึงของที่ระลึกไทยๆ ด้วย

นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ซึ่งเข้าร่วมงานวันรวมญาติของตระกูลบังเกอร์ เมื่อปี 2016 ได้กล่าวในงานว่า เรื่องราวของฝาแฝดอินและจัน เป็นเรื่องราวของความรัก ความอดทน ความฝันของชาวอเมริกันที่อยู่บนรากฐานของการทำงานหนัก และความมีน้ำใจต่อกันและกัน ลูกหลานของอิน-จัน จึงควรภูมิใจที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการยึดโยงความสัมพันธ์ระดับประชาชนของประเทศทั้งสองไว้

นายพิศาล กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่อิน-จัน เดินทางมาถึงสหรัฐฯ เพียงสี่ปี ประธานาธิบดีแอนดรูว์แจ็คสัน ก็ได้ลงนามสนธิสัญญาไมตรีกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำให้ไทยเป็นมิตรเก่าแก่ในเอเซียประเทศแรกๆ ที่มีสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ต่อมาไทยและสหรัฐฯ ได้เป็นพันธมิตรด้านการทหาร มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สาธารณสุข กองกำลังรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยใกล้ไกล การปราบปรามยาเสพติด ค้ามนุษย์ การก่อการร้าย โดยสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ ก็มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาสถานทูตสหรัฐฯ ในต่างประเทศ และขณะนี้ ประธานาธิปดีทรัมป์ ได้แสดงความปรารถนาอย่างชัดเจนที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่เช่นประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข