ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ความเป็นมาของผ้าอาบน้ำฝน





เมื่อฤดูกาลเข้าพรรษาใกล้เข้ามา พุทธศาสนิกชนจะพากันเตรียมเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนถวายพระภิกษุสงฆ์ที่ประสงค์จะจำพรรษาเป็นเวลาสามเดือน สมัยพุทธกาล ผ้าเป็นของหายาก พระภิกษุจึงมีผ้าใช้อย่างจำกัดอยู่เพียงไตรจีวร คือ จีวร ผ้าห่ม สบง ผ้านุ่ง และสังฆาฏิ ผ้าห่มกันหนาว ปัจจุบันนี้ผ้าสังฆาฏิใช้พาดเวลาทำสังฆกรรมหรือพิธีกรรมต่างๆให้ครบไตรจีวร หรือ บางคราวจะใช้ห่มตามแบบโบราณก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อันเหมาะสม

ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตผ้าอาบน้ำฝนอีกผืนหนึ่ง ตามพรที่นางวิสาขาได้ทูลขอ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงมีพระบรมพุทธานุญาตผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุอีกผืนหนึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในวรรณกรรมบาลีว่า

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี วันหนึ่ง นางวิสาขา ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ครั้นฟังธรรมแล้วเกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุทั้งหลายในพระเชตวันไปฉันภัตตาหารที่บ้านของนางวิสาขาในวันรุ่งขึ้น

เวลาเช้าตรู่เมฆฝนตั้งเค้าได้ไม่นาน ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมาอย่างหนัก พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ ภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวันฉันใด ตกในทวีปทั้ง 4 ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายด้วยน้ำฝนเถิด นี้เป็นเมฆฝนใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ตั้งเค้าขึ้นแล้วตกพร้อมกันในทวีปทั้ง 4”  

มีเชิงอรรถอธิบายทวีปทั้ง 4 เอาไว้ว่า ได้แก่ 1. ชมพูทวีป 2. อมรโคยานทวีป 3. อุตรกุรุทวีป 4. ปุพพวิเทหทวีป ทุกทวีปล้วนมีอยู่ในวรรณกรรมโบราณ

พระภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พากันเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกายด้วยน้ำฝน

ฝ่ายนางวิสาขา เมื่อเตรียมการถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ให้คนงานผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมานิมนต์พระสงฆ์ที่วัดไปฉันภัตตาหาร แต่เมื่อมาถึงพระเชตวัน เธอกลับพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน เมื่อวานตอนที่นางตามนางวิสาขามาเฝ้าพระพุทธเจ้าได้พบพระสงฆ์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เต็มวัด แต่วันนี้วัดถูกอาชีวกเปลือยกายมายึดไปเสียแล้ว จึงวิ่งกลับไปรายงานสถานการณ์แก่นางวิสาขาตามที่เธอเห็นมา

นางวิสาขาเป็นผู้ฉลาดรอบรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพระเชตวันได้เป็นอย่างดี จึงบอกคนงานหญิงนั้นว่า

“จงไปวัดแล้วประกาศว่า ได้เวลาฉันภัตตาหารแล้วเจ้าข้า”

เมื่อเธอไปถึงพระเชตวันได้พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอีกว่า พระเชตวันทั้งกว้างใหญ่ มีแต่ความเงียบเหงา ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ หรือ อาชีวกเปลือยกายอาศัยอยู่อีกต่อไป เธอรู้สึกวังเวงหวาดหวั่นจึงหันหลังวิ่งกลับยังบ้านนางวิสาขาอีกครั้งหนึ่ง แล้วรายงานสถานการณ์อันสงบจนวังเวงที่พระเชตวันให้นางวิสาขาทราบ

เมื่อนางวิสาขาได้รับรายงานแล้วทราบทันทีว่า บัดนี้พระคุณเจ้าทั้งหลายที่อาบน้ำฝนเสร็จแล้ว คงจะหนาวเหน็บพากันนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ในกุฎิที่ป้องกันความหนาวได้เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จึงบอกเธออีกครั้งหนึ่งว่า

“เธอกลับไปพระเชตวันเถิด เมื่อไปถึงแล้ว จงประกาศดังๆว่า บัดนี้ถึงเวลาฉันภัตตาหารแล้วเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“พวกเธอจงเตรียมบาตรและจีวร ได้เวลาไปฉันภัตตาหารแล้ว”

เมื่อภิกษุทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเสด็จถึงบ้านนางวิสาขา นั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้แล้ว นางวิสาขาจึงนำอาหารอันประณีตถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุทั้งหลายอย่างทั่วถึง เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว นางวิสาขาจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

“ หม่อมฉันทูลขอพร 8 ประการ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงพูดมาเถิด วิสาขา”

นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันประสงค์จะถวาย ผ้าอาบน้ำฝน อาหารสำหรับภิกษุที่มาเยี่ยมเยือน อาหารสำหรับภิกษุที่เตรียมตัวจะเดินทางไป อาหารสำหรับภิกษุไข้ อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ยารักษาโรค ข้าวต้มที่ถวายเป็นประจำ แก่พระสงฆ์ และถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “เธอเห็นประโยชน์อะไรจึงขอพร 8 ประการกับตถาคต”

นางวิสาขากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  วันนี้หม่อมฉันให้คนงานหญิงไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาฉันที่เรือนตอนฝนกำลังตก เจอพระภิกษุสงฆ์กำลังเปลือยกายอาบน้ำฝน จึงได้ความคิดว่า

การเปลือยกาย ไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าวัสสิกสาฎก(ผ้าอาบน้ำฝน)แก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระภิกษุอาคันตุกะที่เดินทางมาเยือนชั่วคราว ไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักสถานที่บิณฑบาตจะลำบาก พระภิกษุอาคันตุกะนั้น ฉันอาคันตุกภัต(อาหารสำหรับผู้มาเยือน)ของหม่อมฉันแล้ว พอชำนาญทาง รู้จักที่บิณฑบาต จะเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงปรารถนาถวายอาคันตุกภัตแก่พระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระภิกษุเตรียมตัวเดินทาง มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตนอยู่ จะพลาดจากหมู่เกวียน หรือถึงที่ที่ตนจะไปเมื่อพลบค่ำ จะเดินทางลำบาก พระภิกษุที่เตรียมตัวจะเดินทางนั้น ฉันคมิกภัต(อาหารสำหรับพระภิกษุที่จะเดินทาง)ของหม่อมฉันแล้ว จะไม่พลาดจากหมู่เกวียนหรือไปถึงที่ที่ตนอยู่ทันเวลา จะได้เดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้จึงปรารถนาถวายคมิกภัตแก่พระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต

เมื่อพระภิกษุไข้ไม่ได้อาหารที่เหมาะสม อาการไข้จะกำเริบหรือถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานภัต(อาหารสำหรับพระภิกษุไข้)ของหม่อมฉันแล้ว อาการจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตนเอง จะนำภัตตาหารไปถวายแก่พระภิกษุไข้ในเวลาสาย ตนเองจะอดอาหาร พระภิกษุผู้พยาบาลพระภิกษุไข้นั้น ได้ฉันคิลานุปัฎฐาก(อาหารสำหรับพระภิกษุผู้พยาบาลพระภิกษุไข้) จะนำภัตตาหารไปถวายแก่พระภิกษุไข้ได้ทันเวลา ตนเองก็ไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงปรารถนาถวายคิลานุปัฎฐากภัตแก่พระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระภิกษุไข้ ไม่ได้ยาที่เหมาะสมกับโรค อาการจะกำเริบหรือถึงมรณภาพได้ พระภิกษุไข้นั้น ฉันคิลานเภสัช(ยารักษาไข้)ของหม่อมฉันแล้ว อาการไข้จะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้จึงปรารถนาถวายคิลานเภสัช แก่พระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอานิสงส์ 10 ประการของการฉันข้าวต้ม จึงได้ทรงอนุญาตกันฉันข้าวต้มไว้ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์เหล่านั้น จึงปรารถนาถวายธุวยาคู(ข้าวต้มเป็นประจำ)แก่พระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต

พระภิกษุณีทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เปลือยกายอาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดี ท่าน้ำเดียวกับกับหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาทั้งหลายเย้ยหยันภิกษุณีเหล่านั้นว่า

“แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านยังเป็นสาวจะประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไมกัน ธรรมดามนุษย์ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ต่อเมื่อชรา พวกท่านจึงค่อยประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อไว้ได้หยิบฉวยเอาประโยชน์ทั้งสองแล้ว(ประโยชน์ทางโลกและประโยชน์ทางธรรม) พระภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันต่างเก้อเขิน พระพุทธเจ้าข้า พระภิกษุณีเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงปรารถนาถวายผ้าอาบน้ำแก่พระภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

พระพุทธเจ้าตรัสถามนางวิสาขาอีกว่า

“วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไรจึงขอพร 8 ประการกับตถาคต”

นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศต่างๆแล้วจะเดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า พระภิกษุชื่อนี้ มรณภาพแล้ว เธอมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร  พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงพยากรณ์พระภิกษุนั้นว่า ได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล เมื่อหม่อมฉันได้ทราบจะเข้าไปถามพระคุณเจ้าเหล่านั้นว่า พระภิกษุรูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าภิกษุเหล่านั้นตอบหม่อมฉันว่า พระภิกษุรูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถี ในเรื่องนี้หม่อมฉันจะสันนิษฐานว่า พระภิกษุรูปนั้นคงเคยใช้ผ้าวัสสิกสาฎก คงฉันอาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือ ธุวยาคูของหม่อมฉันเป็นแน่ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้น ก็จะเกิดความปลื้มใจ  อิ่มใจ กายจะสงบ เมื่อกายสงบแล้วจะมีความสุข จิตของผู้มีความสุขจะตั้งมั่น หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์เหล่านี้จึงขอพร 8 ประการกับพระตถาคต”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สาธุ สาธุ วิสาขาเป็นการดีแล้วที่เธอเห็นอานิสงส์นี้จึงขอพร 8 ประการกับตถาคต วิสาขาเราอนุญาตพร 8 ประการแก่เธอ”

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสาธุการแก่นางวิสาขาแล้วจึงตรัสอนุโมทนาแก่นางวิสาขาว่า

สตรีใดเมื่อให้ข้าวและน้ำก็เบิกบานใจ

มีศีลเป็นสาวิกาของพระสุคต       

ครอบงำความตระหนี่ ให้ทานซึ่งเป็นหนทางสวรรค์

เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำสุขมาให้

สตรีนั้นอาศัยหนทางที่ไม่มีธุลี ไม่มีกิเลสยวนใจ

ย่อมได้กำลังและอายุทิพย์ เธอผู้ประสงค์บุญมีความสุข

มีพลานามัยย่อมปลื้มใจในชาวสวรรค์ตลอดกาลนาน

เมื่อพระองค์เสด็จถึงพระเชตวันได้ทรงประชุมสงฆ์แล้วตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานเภสัช ธุวยาคู และผ้าอาบน้ำสำหรับภิกษุณีสงฆ์”

นางวิสาขาเป็นสตรีเก่ง ฉลาด ใจดี เมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้นเพียงประการเดียว ย่อมคิดเชื่อมโยงถึงเรื่องราวอื่นๆอย่างสอดคล้องต้องกันเป็นอันดี สิ่งที่นางวิสาขาเสนอนั้นจะเป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่นเป็นความสะดวกและมีอานิสงส์ คือ ความก้าวหน้าทางใจที่จะส่งเสริมความสงบและการตรัสรู้ยิ่งๆขึ้นไป

ข้อคิดในเรื่องนี้ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตหรือบัญญัติเรื่องใดๆ ในพระวินัยสงฆ์น้อยใหญ่จะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ประโยชน์อานิสงส์ ไม่มีโทษ ไม่มีผลกระทบใดๆแก่ใครๆ พระองค์ทรงฟังเสียงของพุทธบริษัทผู้หวังดีที่มองมายังคณะนักบวชทั้งชายและหญิง เมื่อเห็นว่าคำแนะนำนั้นๆ มีประโยชน์เพื่อความเจริญในธรรมด้วยกันจึงทรงรับแล้วบัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยต่อไป

เรื่องที่มาของผ้าอาบน้ำฝน คงสรุปสั้นๆว่า มาจากการทูลขอของนางวิสาขาพร้อมด้วยพรอื่นอีก 7 ประการ แม้เวลาผ่านไป 2,000 กว่าปี แต่การถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นทานในฤดูกาลเข้าพรรษายังคงปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องและคงจะมีต่อไปในอนาคต

ในวาระเข้าพรรษาอันเป็นเวลาแห่งการอบรมตนด้วยศีล สมาธิ และปัญญานี้ ขออวยพรให้ท่านสาธุชนทั้งหลายจงประสบกับความสงบกาย สงบใจ เจริญก้าวหน้าในร่มธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2561 เวลา 3.06 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
   
   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2808) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/650) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/615) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/683) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/671) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข