ข่าวคนไทยในอเมริกา
บุคคลหน้าสาม : “...มาจะกล่าวบทไป...ใน กระบี่” โดย “ดอคเตอร์โนรี เห้งสวัสดิ์”








กับดร.กมล ทัศนาญชลี และภริยา




โดย : กฤติยา รักแต่งาม


อาจารย์โนรี เห้งสวัสดิ์ เป็น ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน แห่งจังหวัดกระบี่ มาแอล.เอ.เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำไปปรับ ประยุกต์ ตกแต่ง และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่เธอบริหารอยู่ โดยมี อาจารย์กมล ทัศนาญชลี และภริยา นวลศรี ทัศนาญชลี เป็นผู้ให้การต้อนรับ ดูแล และพาเที่ยว

“...หน้าที่ของดิฉันก็เหมือนหัวหน้าบริหารฝ่ายงานทั่วไปน่ะค่ะ จะว่าเป็น “แม่บ้านเทศบาล อำเภอเมืองกระบี่” ก็ได้ กองนี้ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดอำเภอ ก่อนจะมาอยู่กระบี่ดิฉันเป็นชาวจังหวัดยะลา ได้ทุนเรียนฟรีมาตลอด ดิฉันจบพยาบาลปริญญาตรีด้วยเหรียญทองเกียรตินิยม หลังจากนั้นก็เลือกเรียนรัฐศาสตร์จนจบปริญญาโท หลังจากนั้นก็พักไปปีนึงก่อนไปเรียนต่อปริญญาเอก

 ...เพื่อที่จะเปลี่ยนสายงานให้เป็นผู้บริหารนะคะ ก็เลยต้องเรียนรัฐศาสตร์ ความจริงดิฉันชอบงานการโรงแรม ชอบการบริการ แต่ครอบครัวเราไม่มีโรงแรมเอง ครอบครัวเราสายข้าราชการ ตอนเรียนปริญญาโทก็อายุ 23 พออายุ 25 ก็ต่อปริญญาเอกจนจบรามคำแหง แล้วก็บรรจุเป็นข้าราชการมาตลอด ตั้งแต่ซี 3 ซี 4 ซี 5 ซี 6 เปลี่ยนสายงาน ซี 7...

ก่อนหน้านั้นดิฉันอยู่เทศบาลนครยะลา ก็ขอนายกเทศมนตรีจังหวัดยะลา เพื่อจะขึ้นไปเรียนต่อปริญญาเอกที่กรุงเทพฯ เพราะว่าถ้าเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย โดยไม่ต้องลาศึกษาต่อ มันจะไม่เสียเวลา และไม่ต้องใช้ทุนคืน...

มาทำงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร ก็คือคุณพ่อเนี่ย เมื่อก่อนท่านเป็นปลัดเทศบาลนครภูเก็ต แล้วก็มาเป็นปลัดเทศบาลจังหวัดกระบี่ หลังจากนั้นก็มาทำงานกับนายกเทศมนตรีของจังหวัดกระบี่ (นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน) ก็เริ่มสร้างเมือง, สร้างพิพิธภัณฑ์ พอเกษียณเขาก็ให้มาเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรี...”

สาม-สี่ปีที่แล้ว จังหวัดกระบี่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เลยเหมือนเธอมาพร้อมๆ กับการกำลังตั้งรกราก เพราะช่วงนั้นเรียนจบปริญญาเอกแล้วก็ย้ายตามคุณพ่อ-คุณแม่ไปอยู่กระบี่ รับตำแหน่ง “ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน” พอดี จึงได้พบเจอกับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และ อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ของเรา

“...อาจารย์ทั้งสองไปกันตอนที่เขากำลังก่อร่างสร้างหอศิลป์อันดามัน มันเป็นรูปร่างแล้วพอดิฉันไปถึงปุ๊บ ก็เห็นว่ามันสวย แต่สวยแบบสาวภูธร คือสวยแบบสู้สาวกรุงเทพฯไม่ได้ เราก็ไปเที่ยวต่างประเทศมา เห็นมาเยอะ ก็ทำโปรเจ็คท์เสนอโครงการของบฯกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศูนย์กลางอยู่ภูเก็ต ขอสามสิบห้าล้าน, แล้วก็สามสิบแปดล้าน แล้วก็ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ประชาสัมพันธ์ ค่อยๆ เพิ่มเติม ค่อยๆ ทำมาร์เก็ตติ้ง...

 ...ทำจนคิดว่าพิพิธภัณฑ์กับคนไทยมันจับต้องยากจัง ใช่มั้ยคะ...คืออย่างเด็กๆ ที่โรงเรียนพามาปีที่แล้ว ปีนี้ก็...จะมีอะไรให้เขาดูอีก มันก็เดิมๆ ทีนี้ตำแหน่งดิฉันก็เหมือนตำแหน่งตราตั้งนะคะ คืออย่างน้อยเราก็จบดอคเตอร์ มันก็เป็นเครดิต หน้าที่ดิฉันก็คือ ทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์มันสวย ให้มีคุณภาพ เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการจัดการ แล้วเราไม่ได้จบภัณฑารักษ์ ไม่ได้จบโบราณคดี อะไรมาเลย...

...แต่ดิฉันตกแต่งได้ ดีไซน์ได้ แล้วก็แมนเนจคน...อีกอย่างที่ดีคือ ท่านนายกเทศมนตรีจะเปิดกว้างให้เลย จุดมุ่งหมายคืออะไร ทำยังไงก็ได้ ขอให้ไปถึงจุดมุ่งหมาย เขาไม่ได้ขีดเส้นให้เราเดิน อย่างหอศิลป์ที่นี่เขาก็จะจัดใหมีรูปเยอะๆ มากๆ ทำเวิร์คช้อปกันเจ็ดร้อยชิ้น เขาก็ใส่เข้าไปสี่ห้าร้อยชิ้น พออาจารย์กมลไปเห็น ก็บอกว่า มันควรที่จะโปร่ง มันควรที่จะโล่ง มีไฟเล็กๆ ส่องเข้าชิ้นงาน เหมือนแกลอรี่ในอเมริกา...

...ก็เลยมีการเปลี่ยนจัด ได้อาจารย์กมลเข้ามาช่วยตรงนี้ แต่เรื่องพิพิธภัณฑ์สำหรับการตกแต่ง การสร้าง การเพิ่มเติมก็คือหน้าที่ดิฉัน หอศิลป์อันดามันคือ “ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน” คือเขาต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมของเมือง แต่นี่ไม่ใช่เป็นจุดเริ่มแรก จุดเริ่มแรกคือเขตประติมากรรมที่อยู่ในเขตเมือง ประติมากรรมที่อยู่ในเขตเมืองคืออะไร

...คืองี้ค่ะ กระบี่เมื่อปี 2549 เนี่ยเงียบมาก คือคนไม่เข้าเมือง กระบี่สวย ทะเลสวย นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ พอมาถึงกระบี่ก็จะไปทะเล อาจมีการไปถ่ายรูปที่เขาขนาบน้ำที่มีชื่อเสียง พอถ่ายรูปเสร็จเขาก็ออกนอกเมืองแล้วไม่กลับเข้ามาในเมืองอีกเลย ทีนี้ในเขตเทศบาลที่เขาเรียก “ประชาคมเมือง” ก็จะมีนายกเทศมนตรีแถลงนโยบายในแต่ละปี ก็มีคนถามว่าทำยังไงให้คนเข้าเมืองบ้าง ให้เศรษฐกิจในเมืองดี ไม่ให้เมืองเงียบเหงา มันก็เป็นเรื่องยาก...

คือพอคนมาเที่ยวก็อยากให้ไปดูพิพิธภัณฑ์ ทีนี้ในส่วนของ “อำเภอคลองท่อม” เนี่ยเขามีลูกปัด เราก็เอาพวกนี้มาเข้าพิพิธภัณฑ์ อีกอย่างมันมีสตอรี่อยู่แล้วเรา ก็แค่สร้าง “sculpture”ในเมือง ซึ่งท่านนายกเทศมนตรีนี้ วิสัยทัศน์ท่านไม่เหมือนคนอื่น ท่านเลยทำสัญญาณไฟเขียว-แดงเป็นประติมากรรมต่างๆ โดยที่อันแรกเลยก็คือสัญญาณไฟจราจรเป็นรูปมนุษย์โบราณ อยู่ที่ “สี่แยกมนุษย์โบราณ” เนื่องจากเราขุดเจอฟอสซิลของกรามลิง หรือมนุษย์โบราณนี่แหละ ก็เลยมีไอเดียมาสร้างเป็นคือแกจะฉีกแนว หลังจากนั้นก็มีสัญญาณไฟต่างๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ...มีสัญญาณไฟจราจรเสือเขี้ยวดาบ อันนี้ก็ค้นพบซากฟอสซิลเขี้ยวของเสือเหมือนกัน นอกจากนี้ปรากฎว่าในถ้ำ เพิงผาต่างๆ เราเจอภาพวาด อายุหลายหมื่นปี แสดงว่าในอดีตเราก็มีศิลปินที่สนใจทางอาร์ทอยู่แล้ว

...ก็เลยสร้างเป็นหอศิลป์ร่วมสมัย ขอี่วัดแก้วเป็นที่เล็กๆ จ้างคนดูแล พอหอศิลป์เริ่มใหญ่ขึ้นเขาก็มีโปรเจ็คท์ คือเทศบาลเมืองมีงบประมาณให้สองร้อยกว่าล้าน แล้วก็มีงบฯสำหรับบริหารบุคคลอีก แต่มันไม่พอ เพราะเราไม่มีเงิน รัฐบาลเขาให้เงินกลุ่มจังหวัดมาเยอะมาก แต่เราต้องเขียนโปรเจ็คท์ว่าจะต้องทำอะไรยังไงบ้าง  แต่ว่าต้องเกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม 5 จังหวัดในอันดามัน

...ก็เลยเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์ลูกปัดขึ้นมา เขาก็ให้งบฯมาสามสิบล้าน ครั้งแรกสร้าง  แล้วก็ขอไปอีกสำหรับค่าตกแต่ง ก็ได้มาอีกสามสิบห้าล้าน พอหอศิลป์ร่วมสมัย ทางวัดแก้วเขาก็ขอที่คืนแล้ว เราก็เขียนโปรเจ็คท์ ขอไปอีกสามสิบแปดล้าน เพื่อที่จะสร้างเป็นหอศิลป์อันดามัน ซึ่งก็จะอยู่ในอาณาเขตของศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน เลยเป็นที่มาของศูนย์การเรียนรู้...

นี้เหลือภาพ การจะซื้อภาพศิลป์เนี่ย หน่วยงานราชการซื้อไม่ได้ สตง. เรียกเงินคืนแน่นอน ทีนี้จะทำยังไง มันเกี่ยวกับหลายอย่าง ระเบียบมันยุ่งยากมาก เลยกลายเป็นทำเวิร์คช้อป พอดีมาเจออาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เจออาจารย์กมล ทัศนาญชลี ตอนนั้นพิพิธภัณฑ์ลูกปัดยังไม่ได้ขอ เลยกลายเป็นเขาก็มาดูด้วยกัน ตอกเสาเข็มก็มาดู ทีนี้เขาก็เลยช่วยงานเวิร์คช้อป

...การทำงานอาร์ทเวิร์คช้อปของเราในที่นี้หมายความว่า มีคาเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าวัสดุอุปกรณ์ พอวาดภาพเสร็จก็เอาภาพนั้นใส่ไว้ในหอศิลป์ ก็ทำมาเรื่อยๆ หอศิลป์ก็มีสามชั้น ก็ทำนานาชาติเวิร์คช้อป สามครั้ง แล้วก็ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านา รวมทั้งหมดก็เจ็ดถึงแปดครั้งในการทำเวิร์คช้อป ก็มีศิลปะของศิลปินเมืองอันดามัน เวิร์คช้อปของศิลปินท้องถิ่นในกระบี่เอง ในแต่ละปีก็อยู่ในงบประมานของเทศบาลอยู่แล้ว แต่มันมีปัญหาที่ว่า ค่าอาหาร ค่าจัดงาน ถ้าจัดงาน เขาให้หนึ่งร้อยบาทต่อคนต่อวัน หมายความว่ามื้อละห้าสิบบาท มื้อละห้าสิบบาทมันไม่พออยู่แล้ว คือเป็นระเบียบของราชการ

พอแบบนี้ นายกเทศมนตรีก็ต้องจ่าย เหมือนประติมากรรมอะไรต่างๆ รูปภาพของ “อาจารย์เขียน” ที่เราซื้อไม่ได้ แล้วก็มี “ท่านชวน หลีกภัย”, “ภู เก้าล้วน” ซึ่งเป็นพี่ชายท่านนายกเทศมนตรีสมัยแรกเลย เลยกลายเป็นว่า ทั้งหมดที่ก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขตประติมากรรม ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ  ที่ทุกคนเข้ามา ศิลปินแห่งชาติ  ศิลปินท้องถิ่น ผู้ที่มีคุณูปการกับจังหวัดกระบี่ และทำให้เกิดเป็นเมืองแห่งศิลปะขึ้นได้ก็คือคนนี้เลย อาจารย์กมล ทัศนาญชลี...

เราเปิดพิพิธภัณฑ์นี้ตอนปลายปี 57  ตอนนี้มีนักศึกษามาดูงาน นักเรียน รวมถึงคนท้องถิ่นต่างๆ เขาก็อยากจะมาดูเพื่อเอาไปเป็นต้นแบบ ก็ประมาณแสนห้าหมื่นคน ก็สองพันกว่ากรุ๊ป ทุกอย่างฟรีหมดเลย ไม่ได้เก็บค่าเข้า หลังจากนั้นเราก็เริ่ทำลูกปัดขึ้นมา คือลูกปัดของจริงเนี่ยมันซื้อขายกันไม่ได้ ผิดกฎหมาย ทีนี้ท่านนายกทศมนตรีก็ค่อยๆ เอามา เอาของส่วนตัวมาด้วย มาใส่ในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็ทำลูกปัดย้อนยุคขึ้นมา ก็มีการสาธิตการทำ และเพื่อที่จะไม่ให้มันหายไป ก็จึงมีการจำหน่ายเป็นของที่ระลึกด้วย...

“ลูกปัด” ในที่นี้คือ หินมีค่า อาเกท คาร์เนเลี่ยน โอปอ หรือแม้กระทั่งแก้ว สว่นใหญ่จะไม่ใช่ดินเผา ลูกปัดก็มีตั้งแต่เปลือกหอย โครงกระดูกสัตว์ ดินเผา แก้ว หินมีค่า และรวมถึงลูกปัดที่ได้มาจากการเป่าแก้ว สมัยก่อนก็ใช้วิธการโมเสท คือสมัยก่อนเนี่ย แถว “คลองท่อม” เวลาฝนตกปรากฎว่าลูกปัดมันจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินเยอะแยะมากมาย แต่เราจะเจอลูกปัดที่ไม่สวยนะ เพราะลูกปัดสวยๆ เนี่ยเขาส่งออกต่างประเทศ เราเจอเบ้าหลอม เราเจอเศษวัสดุ แก้วหลอมต่างๆ แล้วก็พอกรมศิลปากรเขามาดูก็กลายเป็นที่นี่คือแหล่งลูกปัดที่ใหญที่สุดในประเทศไทย

...เรื่องของลูกปัดนี้ เมื่อประมาณเกือบสองพันปีที่แล้ว ตั้งแต่ทิศตะวันตกที่จะไปทางตะวันออก ขึ้นมาตั้งแต่พังงา ระนอง กระบี่ ออกไปไชยา ออกไปทางแหลม ทางนครศรีธรรมราช ออกไปทางเวียดนาม กลายเป็นจังหวัดในกลุ่มอันดามัน กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และในแต่ละที่ค้นพบลูกปัดแต่ละชนิดแตกต่างกัน

ของเราเรียก ลูกปัดสุริยะเทพ ลูกปัดหน้าคน หรือลูกปัดอินเดียนแดง ท่านนายกเทศมนตรีมีอยู่สององค์ ของคุณหมอบัญชามีสิบกว่าองค์ได้ ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครมีเยอะ ตกองค์นึงล้านกว่าบาท ขนาดไม่สวยนะ ก็เลยเป็นโลโก้ “กระบี่ บีดส์” (Krabi Beads) ของเรา เรื่องพวกนี้ก็โชว์อยู่ใน “มิวเซี่ยม ไทยแลนด์” ในเฟซบุ๊คก็จะเอาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เนี่ยเข้ามา ที่กระบี่จะมากที่สุด เราเจออุปกรณ์การทำลูกปัดต่างๆ เลยเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แล้วก็เป็นการสร้างอาชีพขึ้นมาด้วยสำหรับการร้อยลูกปัดแบบต่างๆ 

ในพิพิธภัณฑ์ก็มีการจำหน่ายของที่ระลึกที่ทำด้วยลุกปัด เสื้อที่เราทำขึ้นมา สินค้าโอท้อปต่างๆ ที่เป็นของจังหวัดมาฝากขาย ส่วนในเมืองกระบี่มีภาพงานศิลป์ทั้งหมดเจ็ดร้อยกว่าภาพ, ส่วนประติมากรรมที่ใหญ่ๆ ในเมืองทั้งหมดมีประมาณ 29 ชิ้น  นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้บนถนน “สายประติมากรรม”

 มีประติมากรรมองค์จตุรคามรามเทพที่ห้อยพระศอด้วยลูกปัดอันเป็นพระเอกของกระบี่ด้วย หน้าเทศบาลตอนนี้ทุกคนเพลิดเพลินกับประติมากรรมสัญญาณไฟจราจร โดยเฉพาะ “ประติมากรรมสัญญาณไฟจราจรมนุษย์โบราณ” ในแต่ละปีก็จะมีการจับแต่งตัวชุดต่างๆ ล่าสุดแต่งตัวเป็น “ออเจ้า” นุ่งโจงกระเบน ปีที่แล้วแต่งเป็นนักมวย จะเปลี่ยนทุกปี เป็นจุดขาย เลยกลายเป็นสร้างพวกนี้ขึ้นมาแล้วฮือฮามาก เรียกแขกบ้านแขกเมือง นักท่องเที่ยวเข้าเมืองมาดู เยอะมาก...

สมัยก่อนตอนที่กระบี่ยังเงียบอยู่ มีโรงแรมอยู่ห้าแห่ง จากนั้นก็สามสิบกว่าแห่ง ตอนนี้เป็นร้อยหกสิบกว่าแห่งแล้ว ประติมากรรมของอาจารย์กมลก็อยู่ที่นั่น 3 ชิ้น และที่หอศิลป์ก็ยังมีชิ้นงานของท่านแสดงโชว์ด้วย อีกที่ที่เป็นแบรนด์ของกระบี่คือ ประติมากรรม“ปูดำ” ซึ่งอยู่ตรงข้ามร้านอาหารทะเล ทุกคนไปถ่ายรูปกับ “ปูดำ” เป็นสัญลักษณ์ที่ใครๆ ก็พูดว่าใครไม่ได้ไปถ่ายรูปกับปูดำก็ไม่ไม่ถึงกระบี่

...นี่คือประติมากรรมทั้งหมดที่บอกเล่าเรื่องราวและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา คุณพ่อและดิฉัน เป็น “มือวาง” ที่ออกมาต้อนรับและเล่าเรื่องเมืองกระบี่ ที่ศูนย์การเรียนรู้นะคะ รายการทีวีจะมาถ่ายทำเยอะมาก งานของเราก็คือทำให้กระบี่มีคนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ต้องบอกว่ากระบี่เจริญขึ้นมาก ตึกมิวเซี่ยมก็ขึ้นมาอีกเยอะ ตอนนี้ที่พัก โรงแรมมีลักษณะเป็นแบบ “บูทีค”, “โฮเต็ล”, “โฮสเต็ล” ...

คือมีตั้งแต่ลักษณะหิ้วเข้าไปแค่แบ๊คแพ็ค ซึ่งก็มีหลักตั้งแต่หลักร้อยหลักพัน แล้วก็เดี๋ยวนี้คนจะมาพักในเมืองมากขึ้น ไม่ต้องไปพักอ่าวนางแล้ว ในเมืองจะมีถนนคนเดินทุกวันลย จันทร์ อังคาร พุธ ถนนคนเดิน”ปูดำ” คนเยอะมาก วันพฤหัสฯ คนเดินกันที่ “ลานวัฒนธรรม” ที่หน้ากำแพงประวัติศาสตร์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ “ไนท์ วอล์คกิ้ง สตรีท” ที่นี่ มีอาหาร มีสินค้ามากมาย คนเดินทุกวัน ทั้งสัปดาห์ 

...คงจะแนะนำว่าถ้าไปกระบี่ อยู่สามวันสองคืนก็ได้ เครื่องบินไปกลับราคาถูกมากค่ะ แค่หกร้อยบาท แต่ต้องจองล่วงหน้าปีนึง โรงแรมนอนตอนนี้นอนคืนละเจ็ดร้อยบาท จะซื้อ “วันเดย์ ทัวร์” ก็ได้ ไปลงเรือหัวโทง ไปเกาะบาดะ เกาะไก่ หรือดำน้ำที่เกาะพีพี ก็เลือกเอา แต่ละที่ก็ขึ้นเรือคนละสาย...แต่ขอบอกก่อน...ไปกระบี่...ครั้งเดียวไม่เคยพอนะคะ”



   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข