ข่าวคนไทยในอเมริกา
บทความหน้าสาม : “นายก จุฑาภรณ์” มอบคอมฯสามจังหวัดภาคใต้ ได้สามสิบเครื่องจากเมืองแอลเอ


จุฑาภรณ์ ไชยรัตน์ติเวช













โดย : กฤติยา รักแต่งาม


อันเนื่องมาจากโครงการ “E-Library” นำโดยนายกสมาคมไทยปักษ์ใต้แห่งแคลิฟอร์เนีย จุฑาภรณ์ ไชยรัตติเวช หลังการจัดงาน “ราตรีชาวใต้” เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วสิ้นสุดลง “ทัวร์มอบคอมพิวเตอร์” สู่ 3 จังหวัดภาคใต้ก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินรายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคทุกเหรียญ “นายกจุฑาภรณ์” ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ถึง 30 เครื่อง พร้อมพริ้นเตอร์อีกเป็นจำนวน  7 เครื่อง

“ทัวร์มอบคอมพิวเตอร์” นี้ มีสมาชิกร่วมเดินทางจากแอลเอไปปฏิบัติการทั้งหมด 30 คน ที่สามจังหวัดภาคใต้  วันที่  9 พฤษภาฯ ภูเก็ต รับมอบสองโรงเรียน คือ โรงเรียนวัดเก็ตโฮ่ คอมฯ 5 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง และโรงเรียนบ้านป่าครองชีพ คอมฯ 5  เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง

วันที่ 13 พฤษภาฯ จังหวัดพังงา รับมอบ  3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านบางครั่ง คอมฯ 5 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง, โรงเรียนบ้านห้วยทรัพย์  คอมฯ 3 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง และโรงเรียนบ้านทุ่งละออง คอมฯ 2 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง

วันที่ 14 พฤษภาฯ จังหวัดระนอง รับมอบ 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนทับไชยาพัฒนา คอมฯ 4 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง, และโรงเรียนทุ่งตาพลวิทยา คอมฯ 6  เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง
   
“...แต่ละโรงเรียนที่เรานำคอมพิวเตอร์ไปมอบให้ เป็นโรงเรียนที่ด้อยโอกาสจริงๆ พวกเราเห็นสภาพแล้วตื้นตัน ว่าถูกที่ถูกทางแล้วที่นำมามอบให้เขา ทุกคนสมควรอย่างยิ่งกับการได้รับ ความเป็นอยู่เขาค่อนข้างด้อยโอกาส บางโรงเรียนก็กันดาร แต่ถ้าดูภายนอกแล้วความเป็นอยู่พวกเขาเหมือนปกติ แต่จริงๆ แล้วไม่พร้อมเลย บางโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์  ห้า-เจ็ดเครื่องต่อนักเรียนสองร้อยคน...มันไม่พอ

...อย่างโรงเรียนที่ภูเก็ตเนี่ย ตอนติดต่อไปครั้งแรกๆ เขาก็ไม่คิดว่ามีคนอย่างเราเหรอก เขาไม่เชื่อ ไม่สนเลย เราติดต่อก็ไม่ตอบมาทันที เราถามนักเรียนเท่าไหร่ กี่คน ชั้นไหนถึงชั้นไหน เขาเฉยไปเลย เราก็ตาม ตามจนเขาบอกไม่คิดว่าจะมีคนมาแจกคอมฯ

ส่วนที่ระนอง ความเป็นอยู่ ลึกๆ เข้าไปก็ยังกันดารอยู่ งบประมาณที่ทางโรงเรียนขอรัฐบาลไปก็เดินทางมาถึงช้า อย่างเปิดเทอมแล้ว เด็กๆ จะมารับเครื่องแบบนักเรียน งบฯยังมาไม่ถึง แค่คนละสองชุดก็ยังไม่มี ความเป็นอยู่ไม่คล่องตัว ครูแต่ละโรงเรียนเขาก็เก่งนะ คอมฯน่ะมี แต่นักเรียนเยอะ เวลาเข้าห้องคอมฯมันก็ไม่พอ อย่างน้อยต้องสิบห้าเครื่อง แต่นี่เด็ก สี่ห้าคนต่อเครื่อง จะใช้ทีก็ยืนคอยกันเป็นชั่วโมงๆ นับว่าเป็นโรงเรียนที่ยังด้อยโอกาสมาก...

...ครูเขาก็พาไปดูห้องคอมฯ นะ แต่มันดูป๋องแป๋งมาก คอมฯเครื่องที่ใช้ไม่ได้ก็เอาพิงประตู อันไหนพอใช้ได้ก็วางเรียงไว้ ที่พังงาก็เหมือนกัน คล้ายคลึงกันมาก เด็กบางคนต้องอาศัยเพิงกะชัง (บ่อเลี้ยงปลา) เป็นที่อยู่อาศัย เพราะครอบครัวเป็นพวกมาจากต่างถิ่น สมมติพ่อแม่ไปจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็หอบลูกไป เด็กต้องเรียนหนังสือ ก็ต้องไปโรงเรียนที่เขาทำมาหากินอยู่ ทีนี้ความเป็นอยู่ก็คือ กลับบ้านก็คือกลับ “เพิงกะชัง”  เพราะพ่อแม่เขาทำงานอยู่ตรงนั้น

...เหมือนคนพื้นที่นอกที่ไปจากจังหวัดอื่นๆ ไป “โลว์เกรด” ในจังหวัดนั้นๆ ก็ไม่มีบ้านอยู่ เพราะบ้านจริงๆ อยู่นครศรีธรรมราช ทำมาหากินลำบาก ทีนี้เราก็ต้องนับเหมาเขาว่าเป็นเด็กด้อยโอกาส เพราะฉะนั้นครูก็หนักใจ เพราะปีนี้คนอาจจะมีเด็กน้อยเพราะแรงงานเข้ามาน้อย ปีหน้าอาจจะมากเพราะคนเข้ามาเยอะ ปีนี้อาจสองร้อย ปีหน้าอาจสามร้อย เพราะพอเข้ามาก็เอาลูกมาด้วย สังคมไทยต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสเป็นอย่างนี้...”

“...คราวนี้ก็เหลืออีกสองจังหวัด ก็จะครบโครงการ 14 จังหวัด นั่นคือชุมพรกับสุราษฎร์  ปีที่แล้วเราได้หลายตังค์ก็มอบได้หลายโรงเรียน ปีไหนเรามีทุนน้อยเราก็คอย เว้นไปอีกปีค่อยเดินทางไปมอบ พอได้เงินมาเราก็ไปทีเดียวสองสามจังหวัด...

...หลังจากเราบริจาคครบหมดแล้วทุกโรงเรียนในโครงการ 14 จังหวัด เราก็จะมีประชุมใหญ่ต่อไปว่าจะทำอะไรกันอีก จะมีโครงการอะไรมั้ย หรือจะหยุดสักพักก่อน ต้องเชิญสมาชิกมาพร้อมหน้ากันก่อนถึงจะพูดได้ว่าจะทำอะไรหลังจาก “E-Library “...”

สำหรับงาน “ราตรีชาวใต้” ปีนี้ กำหนดวันเสาร์ที่ 8 กันยายน เป็นที่แน่นอนแล้ว ณ โรงแรมลินคอล์น พลาซ่า บัตรเข้างาน มี 3 ราคา คือ 40, 45, และ 50 ดอลลาร์ อาหารเป็นแบบ “บัฟเฟ่ต์” เครื่องเสียงคาราโอเกะโดย  “อัปสรศรีลีลาศ” รางวัล “รัฟเฟิ่ล” 4 รางวัล คือ รางวัลที่ 1 เงินสด 500 ดอลลาร์, รางวัลที่ 2 เงินสด 300 ดอลลาร์, รางวัลที่สาม เงินสด 200 ดอลลาร์ และรางวัลที่สี่ เงินสด 100 ดอลลาร์ รัฟเฟิ่ลในงาน จำหน่ายใบละ 2.50 ดอลลาร์ จัดเป็นชุด 4 ใบ 10 ดอลลาร์

ปีนี้นอกจากจะมีการประกวด “ขวัญใจชาวใต้” แล้ว ยังมีการประกวด “นางงามชุดประจำภาคใต้” ที่ไม่ว่าสาวแก่แม่ม่ายท่านใดจะแต่งชุดประจำภาคใต้จังหวัดไหน หากแต่งกายได้ “อย่างถูกต้อง” ก็จะได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศ  ส่วน  “นางงามมิตรภาพ” ตำแหน่งที่มีไว้สำหรับสาวทุกประเภทที่สามารถจำหน่ายตั๋ว “รัฟเฟิ่ล” ได้มากที่สุด ก็ชนะไปเลย

“นางงาม” ดังกล่าว เมื่อชนะใจกรรมการแล้ว ทางสมาคมปักษ์ใต้ฯ  มีมงกุฎงดงามเตรียมรอสวมใส่ให้ทั้ง 3 งาม สาวๆ ที่สนใจเตรียมตัวกันได้แล้ว

“...พี่อยากจะฝากบอกว่า ทุกโรงเรียนี่เราไปมอบ เราชี้แจงให้โรงเรียนนั้นๆ ทราบว่า ชาวแอล.เอ.ร่วมกันทั้งนั้น เงินทุกเหรียญได้มาจากเขา จากใจของพี่ขอขอบคุณกับทุกๆ คนที่ได้ร่วมกันสร้างกุศลให้กับเด็กด้อยโอกาสที่เราได้มอบคอมฯไป เราคงทำไม่ได้ถ้าคนทั้งหมดไม่ร่วมใจกัน  เราเป็นแค่ตัวกลาง แต่เงินทั้งหมดได้มาจากคนที่เขาช่วย...”

...ถ้าไม่ร่วมกันจะได้เป็นกอบเป็นกำเหรอ เป็นหมื่นๆ เหรียญ เด็กๆ ทุกคนซาบซึ้ง น้ำตาไหล ทุกครั้ง โดยเฉพาะบรรดาครู เขาสะอื้นกันจริงๆ  เลย  เราได้จับมือเด็กๆ ก็บอกพวกเขาว่า...หนู เรียนเก่งๆ นะ มีโอกาสต้องกอบโกย พวกป้าๆ อยากเห็นช้างเผือกสักเชือก คืออยากเห็นเด็กสักคนอาจได้รับความรู้จากคอมฯ แล้วต่อยอดความเก่งไปพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

...ขอบคุณพี่น้องทุกคน ทุกชมรม สมาคม ทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันต่อไป ไม่เสียหลายเลย ทุกครั้งที่พี่ทำบุญก็จะแผ่เมตตา แล้วอธิษฐาน ขอให้ทุกท่านได้รับกุศลผลบุญที่ได้ร่วมกันทำด้วยเทอญ...”

สิ่งดีๆ และมีค่าที่สุดในโลก มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้...แต่รู้สึกได้ด้วยหัวใจ.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :
 
Detail :
 



ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข