ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์





แม้เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการบริหารงานคณะสงฆ์จะมีมาหลายปีแล้ว แต่กระแสเสียงเรียกร้องเหล่านั้นไม่ดังก้องไกลอย่างในปัจจุบันนี้ สาเหตุหลักที่กระตุ้นให้พุทธบริษัทผู้มีความหวังดีต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการบริหารงานคณะสงฆ์ คือ อำนาจหน้าที่ ที่ผูกขาด ซ้ำซ้อน อ่อนแอและเชื่องช้าขององค์กรบริหารคณะสงฆ์ต่อการรับรู้ปัญหาและแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมาอย่างมากมายได้อย่างฉับพลันทันด่วน จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองต้องเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆโดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยหรือมติใดๆจากองค์กรบริหารคณะสงฆ์


กรณีที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุมพระภิกษุหลายรูปที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ เช่น การกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ ข้อกล่าวหาอั้งยี่ซ่องโจรแล้วบังคับให้สละสมณเพศเป็นการด่วน โดยมิต้องรอการสืบสวนสอบสวนตามพระธรรมวินัย และคำวินิจฉัยโทษดังกล่าวจากคณะสงฆ์ก่อน เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า องค์การบริหารคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นไม่มีความสามารถที่จะระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยโทษของผู้กระทำผิด แล้วส่งผู้กระทำความผิดให้ทางบ้านเมืองได้

ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทและเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยรูปหนึ่ง มีความเห็นว่าถึงเวลาที่องค์กรบริหารคณะสงฆ์จะต้องกระจายอำนาจ ยุติการผูกขาด เพื่อการแก้ปัญหาต่างๆอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และจัดความสัมพันธ์อันเหมาะสมระหว่างคณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะได้ทำงานร่วมกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของชาติและพระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอโครงสร้างการบริหารงานคณะสงฆ์แก่ผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องการปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์ที่กำลังแสดงความคิดเห็นตามสื่อต่างๆอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาอย่างรอบด้าน ก่อนที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติจะจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวการปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์ออกมาบังคับใช้ ซึ่งคาดการณ์ว่า น่าจะมีการดำเนินการในเวลาไม่ช้านี้

ในการเสนอนี้จะเสนอเพียงโครงสร้างกว้างๆเพิ่มเติมจากประเด็นที่นักกฎหมาย นักการเมืองและนักวิชาการหลายๆท่านได้เสนอมาบ้างแล้ว โครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ที่จะเสนอนี้ จะอิงกับพระธรรมวินัยในเรื่องที่ว่า คณะสงฆ์จะปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ลักษณะการบริหารคณะสงฆ์ต้องยึดหลัก มอบความเป็นใหญ่ให้สงฆ์เพื่อทำกิจสงฆ์ทั้งปวง ความเป็นใหญ่ของสงฆ์ คือพระภิกษุรวมกันเป็นสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปช่วยกันทำสังฆกรรมและสังฆกิจ กล่าวคือ สังฆกรรมและสังฆกิจทุกชนิดต้องได้รับความเห็นชอบจากสงฆ์  พระภิกษุที่จะทำสังฆกิจและสังฆกรรมทุกชนิดต้องผ่านการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากสงฆ์

 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระมหาเถระผู้ทรงธรรมทรงวินัยและเป็นรัตตัญญู บวชนานมีประสบการณ์ในกิจการคณะสงฆ์รูปหนึ่ง เป็นสมเด็จพระสังฆราช ดำรงพระองค์เป็นประมุขสงฆ์ การสรรหาพระภิกษุมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อธำรงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพุทธจักรและอาณาจักร ดั่งที่เคยเป็นมาแต่โบราณกาล

สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระภิกษุสงฆ์โดยความเห็นชอบแห่งสังฆสภาเป็นสังฆนายกรูปหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นผู้นำสังฆมนตรีอันเป็นฝ่ายบริหารคณะสงฆ์

พระสังฆนายก โดยความเห็นชอบแห่งสังฆสภา  แต่งตั้งสังฆมนตรี คณะหนึ่งเพื่อบริหารจัดการกิจการคณะสงฆ์ด้านต่างๆตามความเหมาะสมกับปริมาณและเนื้อหาของงาน เช่น สังฆมนตรีว่าการปกครอง สังฆมนตรีว่าการศึกษา สังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ สังฆมนตรีว่าการเผยแผ่ สังฆมนตรีว่าการภาวนา สังฆมนตรีว่าการต่างประเทศ

ให้มีสังฆสภา ประกอบด้วยสมาชิกสังฆสภาจังหวัดละ 2 รูป หรือ ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด สมาชิกสังฆสภามาจากมติของสงฆ์แต่ละจังหวัด การลงมติสรรหาสมาชิกสังฆสภาให้เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนด โดยยึดหลักการแห่งพระธรรมวินัยว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอธิการต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์มาใช้อย่างเหมาะสม

พระสังฆนายกโดยความเห็นชอบแห่งสังฆมนตรีแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัด เพื่อบริหารงานในเขตรับผิดชอบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ

 เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล โดยความเห็นชอบแห่งคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด เพื่อบริหารงานในเขตรับผิดชอบให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ให้มีคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดชุดหนึ่งจำนวน 5 รูปขึ้นไปหรือเป็นไปตามที่คณะสงฆ์กำหนด คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดมาจากสังฆมติของพระสังฆาธิการในจังหวัดหรือตามที่กฎหมายกำหนดอันสอดคล้องกับพระธรรมวินัยว่าด้วยเรื่องการสมมติเจ้าหน้าที่สงฆ์เพื่อทำกิจสงฆ์

ให้มีคณะกรรมการสงฆ์อำเภอชุดหนึ่งจำนวน 5 รูปขึ้นไป หรือ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการสงฆ์อำเภอมาจากสังฆมติของพระสังฆาธิการในอำเภอนั้นๆ  เจ้าคณะตำบลทุกรูปเป็นคณะกรรมการสงฆ์อำเภอโดยตำแหน่ง

สมเด็จพระสังฆราช โดยความเห็นชอบของสังฆสภา ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยธรระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง(ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา) พระวินัยธรแต่ละคณะประกอบด้วยพระภิกษุสงฆ์คณะละ 5 รูป พระภิกษุวินัยธรต้องเป็นรัตตัญญู บวชนาน ทรงธรรม  ทรงวินัย เป็นที่ประจักษ์ คณะพระวินัยธรมีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุสงฆ์  หรือ ชี้ขาดข้อสงสัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัย คณะพระวินัยธรแต่ละคณะจะแต่งตั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านกฎหมายและพระธรรมวินัยเป็นที่ประจักษ์เป็นคณะที่ปรึกษาตามความจำเป็น แบบประจำ หรือ แบบชั่วคราวแต่ละกรณีๆไป

เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งเจ้าอาวาส โดยความเห็นชอบของกรรมการสงฆ์อำเภอ และได้รับการสนับสนุนจากพุทธบริษัทที่อุปถัมภ์บำรุงวัดนั้นๆโดยการร่วมกันลงชื่อสนับสนุนพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา ที่เจ้าคณะอำเภอเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตามลำดับ

วัดแต่ละวัดต้องมีคณะกรรมการบริหารวัดอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการบริหาร เลขานุการ เหรัญญิก หรือ ตำแหน่งอื่นๆตามความเหมาะสมกับงานของแต่ละวัด คณะกรรมการบริหารวัดมาจากอุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญในวัดเป็นประจำ การสรรหาคณะกรรมการบริหารวัดจะใช้วิธีการเลือกตั้งหรือวิธีอื่นใดที่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยสมัครสมานสามัคคีของอุบาสกอุบาสิกา หรือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นเจ้าอาวาสจึงลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารวัดที่อุบาสกอุบาสิกาคัดสรรมานั้น เพื่อความเป็นคณะกรรมการบริหารวัดที่สมบูรณ์ต่อไป

พระภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกา ที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อทำกิจสงฆ์จะต้องดำรงตนอยู่โดยปราศจาก อคติ หรือความลำเอียง 4 ประการ คือ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะเกลียดชัง ลำเอียงเพราะไม่รู้ความจริง ลำเอียงเพราะกลัว ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตรงตามกฎหมายและพระธรรมวินัยอย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาความยุติธรรมในทุกกรณี

โครงสร้างที่เสนอมานี้เพื่อแสดงภาพกว้างๆให้ผู้สนใจเรื่องปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์ ได้มีแนวทางว่า รูปแบบการบริหารงานคณะสงฆ์ที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่นั้นเป็นอย่างไร บทสรุปสำคัญแห่งการปฏิรูปการสงฆ์ คือ ต้องกระจายอำนาจตาม

(1)หลักการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามพระธรรมวินัยที่ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำกิจสงฆ์

(2) หลักการสงฆ์เป็นใหญ่ แม้จะแบ่งหน้าที่กันทำแล้ว แต่สงฆ์ส่วนใหญ่ต้องเฝ้าติดตามดูแลเจ้าอธิการที่ทำหน้าที่นั้นอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การงานไม่ผิดพลาดและมีประสิทธิภาพ

(3) หลักความสัมพันธ์ระหว่างพุทธจักรและอาณาจักร

(4)หลักความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อความร่มเย็นของปวงประชาใต้ร่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป

วันที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลา 6.11 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2808) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/650) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/615) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/683) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/671) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข