ตระเวนแอลเอ
ตระเวนแอลเอ 395














.

นักปั่นในแอลเอ เสียชีวิตมากขึ้น

นับจากวันปีใหม่ 2017 จนถึงวันอังคารที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มีนักปั่นจักรยานในเขตเมืองแอลเอ เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้วถึง 6 ราย ถือว่าสูงกว่าช่วงเวลาเดียวของปี 2017 ซึ่งมีเพียง 2 รายถึงสามเท่า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ ทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ แอลเอพีดี บอกว่าภาระเร่งด่วนตลอดปี 2018 นี้คือการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย ทั้งกับนักปั่นจักรยาน และผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปให้มากขึ้น

หนึ่งในนักปั่นจักรยานที่เสียชีวิตในปีนี้ คือ เซบาสเตียน มอนเทอโร่ เด็กหนุ่มวัย 15 ปีจากเมืองทาร์ซาน่า อดีตนักเรียนตำรวจ (LAPD Cadet) ที่ถูกรถอินฟินิตี สีขาว ชนขณะปั่นจักรยานอยู่ริมถนน เดอโซโต้ ใกล้ถนนเบอร์แบงก์ ในเมืองวูดแลนด์ ฮิลล์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน ซึ่งจนถึงบัดนี้ คู่กรณียังคงหลบหนีอยู่

ส่วนอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตนักปั่นรายล่าสุด คือรายที่หกของปีนี้ เป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์หลายคันบนถนนในย่าน เซาท์ แอลเอ รวมถึงรถแวนของบริษัทขนส่ง เฟดเด็กซ์ ที่คนขับหลบหนีหลังทราบว่าได้ชนนักปั่นจักรยานเพศหญิงเสียชีวิต

แม้จะมีจำนวนนักปั่นจักรยานเสียชีวิตมากขึ้น แต่ภาพรวมแล้ว ข้อมูลบอกว่าจำนวนอุบัติเหตุร้ายแรงกลับลดจำนวนลงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์จากปี 2017 รวมถึงจำนวนอุบัติเหตรถยนต์ชนคนเดินถนน ลดลงถึง 12 ครั้ง หรือลดลง 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว.



ชี้ “แอลเอซู” บริหารแบบไม่โปร่งใส

ผลการตรวจสอบบัญชี (audit) โดยนำนักงานตรวจสอบงบประมาณของเทศบาล (City Controller) พบว่า องค์กร the Greater Los Angeles Zoo Assn. อันเป็นองค์กรที่บริหารงานสวนสัตว์ลอส แอนเจลิส (LA Zoo) ยังมีความโปร่งใสไม่เพียงพอ

ผลการตรวจสอบที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 เมษายน ระบุว่า องค์กรไม่หวังผลกำไร ที่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารสวนสัตว์กลางเมืองของเทศบาล จะต้อง มีระบบการควบคุมและการจัดทำรายงานที่เข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่า “รายงานเกี่ยวกับรายได้” ของสวนสัตว์ จะครบถ้วนและแม่นยำจริงๆ

ผลการตรวจสอบ (ที่ยังไม่มีการเปิดเผยทั้งหมด) ระบุว่าเทศบาลเมืองแอลเอ ได้รับรายได้จากผลกำไรต่ำกว่าความจริงถึง 36,328 ดอลลาร์ ระห่างปี 2014-2016

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแอลเอ มอบหมายให้องค์กร The Greater Los Angeles Zoo Assn. เข้าบริหารสวนสัตว์ของเมืองแอลเอ ตั้งแต่ปี 2013 โดยดูแลด้านการตลาด ระบบสมาชิก และการจัดงานหาทุนต่างๆ โดยหวังว่าจะทำให้สวนสัตว์ แอลเอซู มีรายได้ต่อปีมากขึ้น.



ศาลอุทธรณ์พลิกคดี “ลิงเซลฟี่”

คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลาง (the 9th Circuit) มีคำตัดสินเแบบไม่เป็นเอกฉันท์ (สองในสาม) เมื่อบ่ายวันที่ 23 เมษายน ว่า “สัตว์ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องขอความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์” ทำให้เชื่อว่า คดีการฟ้องร้องระหว่างองค์กร PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) กับช่างภาพ เดวิด สเลเตอร์  ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2015 อาจจะจบลง

คดีประหลาดนี้ มีขึ้นหลังจากที่ช่างภาพชาวอังกฤษ เดินทางไปถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2011 โดยเข้าไปอยู่ในฝูงลิงกังดำ (crested macaque) ซึ่งข่าวบอกว่าเป็นสัตว์ที่เริ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และจังหวะหนึ่ง ลิงเพศผู้อายุ 7 ปี ซึ่งภายหลังรู้จักกันในชื่อ “นารูโตะ” ได้คว้ากล้องถ่ายรูปของ เดวิด สเลเตอร์ ไปเล่น และได้กดชัตเตอร์จนได้ภาพ “เซลฟี่” ที่สมบูรณ์หลายภาพ โดยภาพเหล่านั้น เมื่อ เดวิด สเลเตอร์ นำออกเผยแพร่ ก็กลายเป็นภาพที่โด่งดัง และทำรายได้ให้เขาระยะหนึ่ง ก่อนที่กลุ่ม PETA ซึ่งเป็นองค์กร เอ็นจีโอ ด้านพิทักษ์สิทธิ์ของสัตว์ ทำเรื่องยื่นฟ้องศาลของรัฐบาลในซานฟรานซิสโก ในนามของลิง นารูโตะ เพื่อขอความคุ้มครองลิขสิทธิ เพราะรูปเหล่านั้น ลิงนารูโตะเป็นคนถ่าย โดยคดีที่ยืดเยื้อ ทำให้ช่างภาพมีปัญหาทางการเงิน จึงขอยอมความนอกศาลกับ PETA ในปลายปี 2017

อย่างไรก็ดี ก่อนที่คดีจะถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ได้เข้ามาดูแล เพราะเห็นว่าเป็นคดีที่อาจจะส่งผลให้มีการฟ้องร้องกันวุ่นวายในอนาคต และมีคำตัดสินเข้าข้างช่างภาพดังที่ปรากฎ โดยผู้พิพากษา คาร์ลอส บี บอกว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ได้ระบุให้สัตว์มีสิทธิ์ในผลงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ส่วนผู้พิพากษา เอ็น แรนดี้ สมิธ บอกว่าคดีฟ้องร้องของ PETA นั้น เป็นคดีที่ “อ่อนปวกเปียก” นอกจากนั้นยังบอกว่า PETA ก็เอานารูโตะมาใช้ประโยชน์เพื่อชื่อเสียงขององค์กรโดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้ เหมือนเช่นที่ PETA พยายามระบุในคำฟ้องว่า ลิงนารูโตะ และสัตว์โดยทั่วไปไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะเอาเปรียบ โดยการเอามากิน สวมใส่ ทดลอง เครื่องมือบันเทิง หรืออื่นๆ ได้

อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ช่างภาพ เดวิด สเลเตอร์ จะสามารถเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาพ “ลิงเซลฟี่” ที่ถูกนำไปใช้เผยแพร่กว่า 50 ล้านครั้ง โดยที่ตนไม่เคยได้เงินค่าลิขสิทธิเลยหรือไม่.


ขายบ้านริมทะเลมาลิบู 110 ล้าน!

แอลเอไทมส์ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2018 ว่าการซื้อขายบ้านริมทะเล ที่ คาร์บอน บีช หรือที่รู้จักในชื่อ บิลเลี่ยนแนร์ บีช ในเมืองมาลิบู มูลค่า 110 ล้านดอลลาร์ ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้  ถือว่าเป็นการซื้อขายบ้านพักที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแอลเอ เคาน์ตี้ โดยลบสถิติการซื้อขาย เพลย์บอย แมนชั่น ที่มีราคา 100 ล้านดอลลาร์

โดยผู้ซื้อคือ ไมเคิล เอส สมิธ และภริยา ไอริช สมิธ มหาเศรษฐีจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยซื้อจาก ปีเตอร์ มอร์ตัน มหาเศรษฐีจากธุรกิจโรงแรม

ชายหาด คาร์บอน บีช ถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น บิลเลี่ยนแนร์บีช เพราะมีบ้านพักของมหาเศรษฐีจากวงการต่างๆ อยู่มากกว่าที่อื่น โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บ้านริมหาดบริเวณนี้ได้ถูกเปลี่ยนมือด้วยราคา “มหาศาล” มาก่อนแล้วพร้อมๆ กันถึงสองหลัง ในราคาหลังจาก 85 ล้านดอลลาร์.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข