ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : ว่าด้วย “กรีนคาร์ด” จาก “วีซ่านักลงทุน”








ภายใต้การปกครองของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะมองประเด็น “อิมมิเกรชั่น” เป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนของชาติแบบนี้ ดูเหมือนว่าเส้นทางสู่การเป็นพลเมืองอเมริกันของบรรดา “อิมมิแกรนท์” ทั้งหลายจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม และความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะจิต

ไม่มีใครรู้ว่าวิธีเดิมที่เคยปฏิบัติมาหลายสิบปี จะถูกประธานาธิบดีทรัมป์ ทำเรื่องยกเลิกเมื่อไหร่ เพราะแสดงออกชัดเจนเหลือเกินว่าเขาไม่ต้อนรับ อิมมิแกรนท์ ที่พยายามจะเข้ามา หรือเข้ามาแล้ว แถมยังมองกระบวนการขออยู่ในอเมริกาแบบถาวรของชาวต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นกลไกในการส่งคนที่รัฐบาลของประเทศตัวเองไม่อยากได้ เข้ามาบั่นทอนเสถียรภาพของอเมริกาลง...

กระบวนการคิดที่ทำงานอยู่ภายใต้ทรงผมประหลาดๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ช่างเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเสียจริงๆ

ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาชูแนวคิดเรื่องการยกเลิกล็อตโต้ใบเขียว (Green Card Lottery) ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติ (ผู้โชคดี) ปีละประมาณ 55,000 คน เข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกา หลังจากที่ได้สั่งยกเลิกวีซ่าแรงงานฝีมือ (highly skilled workers) แบบที่เรียกว่า H-1B ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

อ้างว่าแย่งงานแรงงานอเมริกัน โดยไม่สนเสียงค้านของอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ดังกระหึ่มทั่วประเทศ เพราะแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะด้านไฮเทค ถือว่าขาดแคลนอย่างหนัก ขาดแคลนพอๆ กับแรงงานไร้ฝีมือ สำหรับเก็บสตอร์เบอรี่ เก็บแอปเปิล ตามไร่ตามฟาร์มทั่วไปนั่นแหละ

ตอนนี้ นักวิเคราะห์ปัญหาอิมมิเกรชั่นของ แอลเอไทมส์ ก็เลยมีบทวิคราะห์ออกมาเผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกว่าวิธีที่แน่นอนที่สุด ที่คนต่างชาติสามารถขออยู่ในอเมริกาอย่างถูกต้อง ณ เวลานี้ก็คือ “วีซ่านักลงทุน” หรือ investor visa

ในกรณีที่คุณมีเงินเหลือเก็บสัก 500,000 ดอลลาร์นะ...

ไทมส์ ยกตัวอย่างของนักศึกษาหญิงจากอินเดียคนหนึ่ง ที่เพิ่งจบจาก โลโยล่า แมรีเมาท์ ยูนิเวอร์ซิตี้ พร้อมดีกรีทางด้านการบริหารข้อมูล และ ticketmaster.com ได้ตอบรับเธอเขาฝึกงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

แต่เธอหมดสิทธิทำงานตามที่ตั้งใจ เพราะเมื่อวีซ่าแรงงานฝีมือ H-1B ถูกยกเลิก สาวอินเดียคนนี้ก็จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศตัวเอง

ด้วยความที่อยากทำงาน และเร่ิม “สตาร์ท-อัพ” ของตัวเองในซิลิคอล วัลเล่ย์ สาวอินเดียคนนี้ก็เลยขอยืมเงินพ่อ 500,000 ดอลลาร์มาลงทุนในโครงการสร้างรีสอร์ท โฟร์ซีซั่น ในปัวโตริโก้ อันเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลว่า ผู้ลงทุนตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์ขึ้นไป สามารถยื่นขอวีซ่านักลงทุน ที่เรียกว่า EB-5 ได้

เพราะฉะนั้น... เรามารู้จักวีซ่า EB-5 กันหน่อยดีไหม...

โปรแกรมวีซ่า EB-5 ถูกสร้างขึ้นในปี 1990 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนและการสร้างงาน

รายละเอียดมีอยู่ว่า ชาวต่างชาติสามารถมีคุณสมบัติครบถ้วนในการอยู่อย่างในอเมริกาอย่างถูกต้อง (กรีนการ์ด) หากพวกเขาลงทุนอย่างน้อยหนึ่งล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจใหม่ ที่สร้างตำแหน่งงานไม่ต่ำกว่า 10 ตำแหน่ง หรือลงทุน 500,000 ดอลลาร์ในบริเวณที่มีอัตราการว่างงานสูง หรือย่านชนบท (rural area)

สำหรับการขอวีซ่า EB-5 นั้น นักลงทุนจะต้องยื่นแบบฟอร์มที่เรียกว่า I-526 กับสำนักงาน U.S. Citizenship and Immigration Services หากผ่านการพิจารณา ผู้ลงทุนก็สามารถยืนเรื่องขอวีซ่า EB-5 กับกระทรวงต่างประเทศได้เลย โดยวีซ่าตัวนี้จะทำให้ผู้ลงทุนอยู่ในอเมริกาได้อย่างถูกต้องภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และเมื่อโครงการของผู้ลงทุนเป็นรูปเป็นร่าง และผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว ผู้ลงทุนก็จะได้รับใบเขียวสมความปรารถนา... ซึ่งโดยปกติ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณสองปีขึ้นไป

โดยรัฐบาลได้กำหนดจำนวนกรีนคาร์ด ที่จะให้กับนักลงทุนต่างชาติเอาไว้ที่ปีละ 10,000 ใบ โดยไม่ให้นักลงทุนแต่ละชาติ ได้ใบเขียวเกิน 7 เปอร์เซ็นต์ของยอดใบเขียวทั้งหมด

ภรรยาของนักลงทุน รวมถึงลูกๆ ที่อายุไม่ถึง 21 ปี และยังไม่แต่งงาน จะได้สิทธิอยู่ในอเมริกาอย่างถาวรจากโปรแกรมนี้ดวย

ข้อมูลของแอลเอไทมส์ บอกต่อไปว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2017 ที่ผ่านมานี้ หน่วยงานอิมมิเกรชั่น ได้รับแบบฟอร์ม I-526 จำนวน 12,165 ใบ ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้านั้น โดยเกือบทั้งหมด คือ 11,321 ใบผ่านการพิจารณา

ณ เวลานี้ หน่วยงานอิมมิเกรชันรับแบบฟอร์มจากนักลงทุนทุกประเทศ ยกเว้นหกประเทศมุสลิมที่ประธานาธิบดีห้ามเข้าประเทศ คือ ชาด (Chad), อิหร่าน, ลิเบีย, โซมาเลีย, ซีเรีย และเยเมน

ดูจากสถิติของปี 2016 แล้ว จะเห็นว่ามีนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้ความสนใจโปรแกรมนี้มากที่สุด โดยยื่นแบบฟอร์ม I-526 มากถึง 82 เปอร์เซ็นต์ของแบบฟอร์มทั้งหมด... ดังนั้น เมื่อเจอกับข้อกำหนดเรื่อง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อหนึ่งชาติ (7% cap on any one nationality) ทำให้เวลานี้มีแบบฟอร์มขอลงทุนจากประเทศจีน รอคิวพิจารณายาวเหยียด เรียกว่ากำลัง backlog ขั้นวิกฤติทีเดียว

ถัดจากจีนก็คือนักลงทุนจากเวียดนาม มีสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยอินเดีย 2.7 เปอร์เซ็นต์

วิเคราะห์กันว่า แม้ว่าวีซ่านักลงทุน จะเป็นช่องทางการเข้ามาทำมาหากินในอเมริกาของ “คนรวย” ซึ่งเป็นเพียง “ยอดปิรามิด” ของประชากรจากทุกชาติก็ตาม แต่จากท่าทีของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ที่พยายามปิดช่องทางอื่นๆ อย่างที่เห็นกัน จะทำให้มีความพยายามยื่นขอวีซ่าประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นในทุกประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย

ที่ผ่านมา ยอดการขอวีซ่านักลงทุนจากอินเดีย ยังตามหลังจีนอยู่มาก ไม่ใช่เพราะมีคนรวยน้อยกว่า แต่เป็นเพราะมีคนอินเดียจำนวนมาก อยู่ในอเมริกาด้วยวีซ่าแรงงานฝีมือ (H-1B Visa) อยู่แล้ว แต่การระงับวีซ่าแรงงานไฮเทคของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้บรรดาคนมีเงินทั้งหลายจำเป็นมองหาช่องทางใหม่ ซึ่งก็คือ วีซ่านักลงทุนนั่นเอง

แถมหากทุกอย่างเป็นไปตามที่หวัง การขอใบเขียวจากวีซ่านักลงทุน จะใช้เวลาเพียงสองถึงสามปี ถือว่าสั้นมาก หากเทียบกับการขอใบเขียวจากวีซ่าแรงงานฝีมือ ซึ่งจะต้องใช้เวลารอคอยนานกว่าสิบปีขึ้นไป

บทวิเคราะห์ของไทมส์ อ้างข้อมูลจากสำนักงานทนายความชื่อ Step America ในดูไบ ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ว่า บรรดาคนมีเงินจากกลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศ ให้ความสนใจลงทุนในอเมริกาเพิ่มมากขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่ผ่านมา

เพราะความไม่มั่นคงในภูมิภาค ทำให้คนที่มีฐานะ หรือมีช่องทางในการรวบรวมเงินให้ครบ 500,000 ดอลลาร์ เร่งรีบดำเนินการยื่นขอวีซ่านักลงทุนเข้าประเทศอเมริกา

“เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ประตูสำหรับการเข้าอเมริกาถูกปิดลงไปแล้ว” ผู้บริหารของสำนักงานทนายความ Step America กล่าว และว่าสำหรับชาวอาหรับส่วนใหญ่ ช่องทางเดียวที่เหลืออยู่คือการขอวีซ่า EB-5 ซึ่งมีสัดส่วนการอนุมัติ (approval rate) สูงมาก

“คนที่นี่คงไม่เสี่ยงกับรออีกอีกปี หรือรอจนถึงเทอมที่สอง (ของประธานาธิบดีทรัมป์) เพราะอาจจะมีการประกาศข้อจำกัดอะไรอื่นๆ ออกมาอีกก็ได้”

ขอเลี้ยวมาพูดถึงความพยายามใช้ประโยชน์จากวีซ่านักลงทุนของชุมชนไทย ในเมืองลอส แอนเจลิส นิดนึง...

เพราะที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่พวกเรามีท่านเอกอัครราชทูต ดำรง ใคร่ครวญ เป็นกงสุลใหญ่ฯ อยู่ที่นี่ ได้มีความพยายามอย่างมากในการเรียกร้อง ชักชวนให้นักลงทุนจากเมืองไทยมาซื้อที่ดินในแอลเอ โดยเฉพาะในไทยทาวน์ ถนนฮอลีวูด หรืออย่างน้อยก็ย่านใกล้เคียง เพื่อให้ความเป็นไทยทาวน์ของเรามีความมั่นคงถึงแก่นราก เป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่อยู่ในฐานะ “ผู้เช่า” อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านั้นจะไม่ส่งผลใดๆ เพราะวีซ่าประเภทนี้มีข้อจำกัดที่ชัดเจนว่าจะต้องลงทุนในบริเวณที่กำหนดว่าเป็น “ชนบท” หรือบริเวณที่มีอัตราการว่างงานสูงมากเท่านั้น... ดังนั้นการได้ใบเขียวและวีซ่าจากการลงทุน จึงยังไม่ใช่ “จุดขาย” ที่นักลงทุนจากเมืองไทยให้ความสนใจนัก...

กระนั้นก็ตาม นักวิจัยของ มหาวิทยาลัย เวสเทิร์น วอชิงตัน พบว่าโปรแกรมวีซ่าชนิดนี้ สามารถระดมเงินลงทุนได้มากกว่า 11.2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี 2014-2015 จากโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างงานต่อเนื่องได้มากกว่า 207,000 ตำแหน่ง หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งงานในไพรเวทเซ็กเตอร์ ระหว่างปี 2014-2015 เพิ่มตัวเลข จีดีพี ได้มากกว่า 33 พันล้านดอลลาร์ และทำให้ภาครัฐมีรายได้จากภาษีได้อีกกว่า 4 พันล้านดอลลาร์

แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่ว่าโปรแกรมวีซ่านักลงทุน จะมีแต่ด้านบวกเสมอไป เพราะบทความของไทมส์บอกชัดเจนว่ามีการฉ้อโกง และหลอกลวงกันอุตลุดเช่นกัน เช่นเมื่อเดือนธันวาคม 2016 มีข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (the Securities and Exchange Commission) ยื่นฟ้องทนายความคนหนึ่ง ในนิวพอร์ทบีช ที่เอาโปรแกรมวีซ่าชนิดนี้ไปหลอกลวงนักลงทุนต่างประเทศ 131 คน ได้เงินรวมมูลค่ากว่า 9.5 ล้านดอลลาร์

หรือเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้ฟ้องสองสามีภรรยาในออเรนจ์ เคาน์ตี้ ที่หลอกเงินจากนักลงทุนต่างชาตินับล้าน โดยเอาโปรเจ็กซ์ลงทุนสร้างศูนย์รักษาโรคมะเร็งไปเร่ขาย และในปี 2015 ก็มีการฟ้องร้องนายแพทย์คนหนึ่งในเมืองเรดแลนด์ จากความผิดในลักษณะเดียวกัน แต่ได้เงินลงทุนจากชาวจีน ที่หวังจะได้วีซ่าเข้าอเมริกามากถึง 20 ล้านดอลลาร์...

บทวิเคราะห์ของไทมส์ สรุปว่าความนิยมของโปรแกรมวีซ่านักลงทุน ที่กำลัง “พุ่งปรี๊ด” รวมถึงปัญหาการฉ้อโกงของนักฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะส่งผลให้การพิจารณาแบบฟอร์มขอวีซ่านักลงทุน มีความเข้มงวดมากขึ้น มีการวางกำหนดกฎเกณฑ์ปลีกย่อย หรืออาจจะเพิ่มยอดเงินลงทุนให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะภายใต้การบริหารของรัฐบาลประธาธิบดีทรัมป์ ที่ไม่ค่อยเวลคัมชาวต่างชาติมากนักแบบนี้ ทำให้มีการพูดคุยกันในบรรดา “คนร่างกฎหมาย” แล้วว่า อาจจะมีการขยับยอดเงินลงทุนเพื่อขอวีซ่า EB-5 ขึ้นไปเป็น 1.25 ล้านดอลลาร์ สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีการจ้างงานมากกว่า 10 ตำแหน่ง (จากเดิมหนึ่งล้านดอลลาร์) และ 925,000 ดอลลาร์สำหรับการลทุนในย่านที่มีอัตราการว่างงานสูง หรือในชนบท (จากเดิม 500,000 ดอลลาร์)

ดังนั้น ใครที่มีเงินเหลือใช้สักห้าแสน และอยากได้กรีนคาร์ด ก็ลองพิจารณาเรื่องนี้ดูนะครับ...



 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/30)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/60) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/155) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/242) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/261) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข