ข่าวคนไทยในอเมริกา
บุคคลหน้าสาม : ’ทนายจูน’ กับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญ” จากรัฐบาลสหรัฐ


น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน รับมอบรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญนานาชาติ” ประจำปี 2018 จากนางเมลาเนีย ทรัมป์ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา




กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ทำพิธีมอบรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญนานาชาติ” ประจำปี 2018 ให้กับบรรดาผู้หญิงจากทั่วโลกที่มีผลงานโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2018 ซึ่งหนึ่งในผู้หญิงที่ได้รับรางวัลในปีนี้คือ น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ "ทนายจูน" จากประเทศไทย


ถือว่า “ทนายจูน” เป็นผู้หญิงไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ต่อจากน.ส.รจเรข วัฒนพานิชย์ เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และผู้ก่อตั้งร่วมองค์กรการสร้างความตื่นรู้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2016

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในประวัติว่า น.ส.ศิริกาญจน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร และคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ทำให้เจ้าหน้าที่และทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกละเมิด ข่มขู่และถูกดำเนินคดีทางอาญา

ปัจจุบันน.ส.ศิริกาญจน์ถูกดำเนินคดี 3 คดี ซึ่งรวมถึงคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการทำหน้าที่ทนายความ นับเป็นทนายความคนแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

ทั้งนี้ ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลนั้น เริ่มจากการเสนอชื่อของหน่วยงานทางการทูตสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ และคัดเลือกรอบสุดท้ายโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ โดยในปีนี้ จอห์น ซัลลิแวน (John J. Sullivan) รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมอบรางวัลดังกล่าวที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และมีนางเมลาเนีย ทรัมป์ (Melania Trump) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นผู้มอบรางวัล และกล่าวถ้อยแถลงในงานเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้หญิงกล้าหาญที่เข้ารับรางวัลทั้งสิบคนด้วย

โดยนางเมลาเนียกล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้น ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า “ผู้หญิงกล้าหาญที่เรายกย่องในวันนี้คือฮีโร่ที่แท้จริง พวกเธอเป็นฮีโร่ในประเทศที่พวกเธอเรียกว่าบ้าน และยังเป็นฮีโร่สำหรับโลกของเราด้วย”

ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เริ่มมอบรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญนานาชาติ” ให้กับผู้หญิงทั่วโลกที่แสดงความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ มีความสามารถในการแก้ปัญหา และยินดีที่จะสละตัวเองเพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะเพื่อการส่งเสริมสิทธิสตรี มาตั้งแต่ปี 2007 โดยมีผู้ได้รับรางวัลไปแล้ว 120 คนจาก 65 ประเทศทั่วโลก

ผู้ได้รับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญนานาชาติ” ในปีนี้มีสิบคน จากอัฟกานิสถาน กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อิรัก อิตาลี คาซัคสถาน โคโซโว มอริเตเนีย รวันดา และประเทศไทย นอกจาก น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ แล้วที่เด่นๆ ก็มีเช่น โรยา ซาดัต จากอัฟกานิสถาน ที่เป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยใช้สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงและเด็กชาวอัฟกานิสถาน, ไอมาน โอมาโรวา ทนายความหญิงชาวคาซักสถานที่มีความเชี่ยวชาญด้านคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงและเด็ก และเฟราย รูชิติ จากโคโซโว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารศูนย์โคโซโวเพื่อการฟื้นฟูเหยื่อที่ถูกทารุณกรรม

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.ศิริกาญจน์ เคยรับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วหลายรางวัล เช่น Lawyers for Lawyers Award จาก องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ Lawyers for Lawyers (L4L) เมื่อ 19 พฤษภาคม 2017





ล้อมกรอบ ;

เปิดใจ 'ทนายจูน - ศิริกาญจน์ เจริญศิริ' เจ้าของรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญ"

โดย : พินิจการณ์ ตุลาชม (VOA Thai)

'งานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและคงไม่สำเร็จลงได้โดยง่าย' คือสิ่งที่ น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ Thai Lawyers for Human Rights ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของเธอ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย หลังขึ้นรับรางวัล International Women of Courage หรือ รางวัลสตรีผู้หาญกล้า ประจำปีคริสต์ศักราช 2018 จากนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในปีนี้มีสตรีสิบคนจากทั่วโลก ที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นรับรางวัลที่ให้การยกย่องสตรีผู้มีผลงานโดดเด่น และแสดงความกล้าหาญ มีบทบาทในด้านการเป็นผู้นำปกป้องสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศ และความก้าวหน้าทางสังคม แม้หลายคนจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามและข้อจำกัดหลายด้านในแต่ละประเทศก็ตาม

ศิริกาญจน์ บอกว่า เธอทำงานเป็นทนายความ และเป็นหนึ่งในทนายความที่ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือละเมิดโดยมิชอบจากรัฐบาลทหาร

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทำงานเพื่อปกป้องการใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก และการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ที่ผ่านมาเธอกลับถูกเดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ถึง 3 คดี ในฐานะทนายความที่ทำงานช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรมแก่ลูกความของเธอ โดยเฉพาะการเป็นทนายคนแรกที่ถูกแจ้งข้อหา

ศิริกาญจน์ บอกว่า การรับรางวัลสตรีผู้หาญกล้าครั้งนี้หมายถึงการยอมรับจากเวทีนานาชาติ และมีความหมายอย่างมากต่องานที่เธอทำในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานของเธอ และผู้คนที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้านในการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การชุมนุมโดยสงบ และในการแสดงออกความคิดเห็น ที่ยังเป็นข้อห้ามภายในการปกครองคณะรัฐบาลทหาร

ทนายความเจ้าของรางวัลสตรีผู้หาญกล้า กล่าวถึงสิ่งต้องทำต่อไปว่า เธอจะยังคงยืนหยัดทำงานของเธอ เพราะงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและจะไม่สำเร็จลงได้ง่ายๆ

'ทนายจูน" กล่าวในท้ายที่สุดว่า การเดินทางมารับรางวัลครั้งนี้ เธอมาในฐานะตัวแทนของหญิงไทยอีกจำนวนมาก ที่ไม่เคยยอมแพ้ และพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้อื่น

ขณะเดียวกันก็หวังว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นแบบอย่างให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้และกล่าวถึง เพื่อที่จะส่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไปยังคนไทยทั้งประเทศด้วยเช่นกัน

ทนายจูน หรือ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถือเป็นผู้หญิงไทยคนที่ 2 ต่อจาก 'รจเรข วัฒนพาณิชย์' เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public ที่เชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย หรือ Cafe’ Democracy ในประเทศไทย ที่เดินทางมารับรางวัลเดียวกันนี้เมื่อปี 2016

รางวัลสตรีผู้หาญกล้า หรือ International Women of Courage โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พิจารณามอบรางวัลให้กับสตรีจากทั่วโลกเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2550 โดยตลอด 12 ปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับรางวัลเป็นสตรีผู้กล้าในบทบาทต่างๆ มาแล้วกว่า 120 คน จาก 65 ประเทศ.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/50)   
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/153) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/223) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/260) 
16-04-2024 ภูมิใจ! แอลเอครองแชมป์ “ยุงชุม” สุดในประเทศ (0/129) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข