ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
สาระแห่งวิปัสสนา





ผู้สนใจฝึกจิตหลายท่านปรารภว่า เรื่องของวิปัสสนา ฟังดูแล้ว เป็นเรื่องยาก เพราะมีศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีมากมาย ถ้าจะอธิบายกันแบบไทยๆ โดยอาศัยภาษาบาลีให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจะอธิบายได้ไหม นับว่า เป็นคำปรารภที่น่าสนใจ จึงลองใคร่ครวญแล้วอธิบายดูตามที่จะอธิบายได้ หากพบว่ายังมีประเด็นใดที่ขาดตกบกพร่อง ขอให้ช่วยกันเติมเต็ม


 เป้าหมายสำคัญของการฝึกจิต คือ สัมผัสความสงบพบความรู้ กล่าวคือ เมื่อจิตสงบแล้วใช้จิตนั้นรับความรู้และข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นจรง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมชาติของจิตนั้น ดิ้นรน กวัดแกว่ง เคลื่อนไหว ท่องเที่ยวไปในที่ไกล รักษายาก ห้ามยาก”

พระองค์ทรงตรัสถึงกฎธรรมชาติของจิตเอาไว้ว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น จิตดวงหนึ่งดับไป ทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบเหมือนลิงเมื่อท่องเที่ยวไปในป่าใหญ่ จับกิ่งไม้กิ่งหนึ่ง ปล่อยกิ่งนั้นแล้ว ยึดเอากิ่งอื่น  ปล่อยกิ่งไม้กิ่งที่ยึดเดิมแล้ว เหนี่ยวกิ่งใหม่ ต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนธรรมชาติของกาย ก็มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งความเคลื่อนไหวทำหน้าที่ต่างๆของอวัยวะภายใน และความเคลื่อนไหวภายนอกเพื่อทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน

กฎธรรมชาติของกายและจิตที่เหมือนกันคือ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การทำวิปัสสนา คือ การใช้สติ เฝ้าติดตามดูความเคลื่อนไหว ของกายและจิตในลักษณะต่างๆ อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง

การเฝ้าดูแบบวิปัสสนา คือ เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของกายและจิต เฉพาะที่ปรากฏตรงหน้าสดๆใหม่ๆในปัจจุบันขณะ ไม่ต้องจินตนาการว่า เป็นอย่างนั้น ณ เวลานั้น เป็นอย่างนี้ ณ เวลานี้ ไม่ต้องท่องบ่นบริกรรมใดๆ

เครื่องมือในการเฝ้าตามดูความเคลื่อนไหว เรียกว่า ความระลึก รู้สึกตัวทั่วพร้อม

ความระลึกได้ไม่เผลอ หรือ เวลาเผลอแล้วระลึกขึ้นมาได้อีก เรียกว่า สติ

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างต่อเนื่องถึงการทำ การพูด และการคิดและสภาวธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นเรียกว่า สัมปชัญญะ

หลักสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำวิปัสสนา คือ การพิจารณาถึงสภาวธรรมที่มีอยู่จริง จุดประสงค์ของการพิจารณาสิ่งที่มีอยู่จริง เพื่อการเข้าถึงความจริง

ความจริงที่ควรเข้าถึงนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและธรรมชาติ

จะมีใครให้ความสนใจ หรือไม่ให้ความสนใจ กายและจิตนี้หรือไม่ แต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งกายและจิตก็ยังคงดำเนินไปตลอดเวลา

ผู้สนใจฝึกจิต จะใช้สติ ดูกายดูจิตอย่างไร ดูในส่วนไหนบ้าง

การใช้สติ ดูจิตในส่วนความรู้สึกที่ปรากฏกับจิตที่ชัดเจนที่สุด คือ รู้สึกชอบ รู้สึกชัง หรือ ยังเฉยๆ ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆในชีวิตประจำวัน

เมื่อดูแล้วจะพบเห็นอะไรบ้าง

สิ่งที่พบคือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกนั้น เช่น ความรู้สึกเป็นสุขสบาย ที่มากับความพอใจ ความรู้สึกเป็นทุกข์ ที่มากับความไม่พอใจ ถ้าไม่ได้สังเกต เวลามีความสุขก็อยากจะสุขเรื่อยไป อยากรักษาความสุขนั้นไว้นานๆ เวลาทุกข์อยากสะบัดหนีให้เร็วที่สุด บางคนไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกทุกข์ พอถูกความทุกข์เข้ามาเยือน ก็ดิ้นรนหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยง อยากให้ทุกข์หลุดไปเร็วๆ เมื่อทนไม่ได้ก็หาทางหนีทุกข์ด้วยการใช้ยาเสพติดสะกดไว้บ้าง หรือ ถ้าทนไม่ไหวจริงๆก็ฆ่าตัวตายหนีความทุกข์

ถ้าสังเกตตามดูดีๆอย่างใกล้ชิด ก็จะพบความจริงว่า ทั้งความสุขและความทุกข์ ล้วนปรากฏขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วดับไป จะขอร้อง อ้อนวอน สั่งการหรือบัญชาอย่างไร ก็ไม่เชื่อฟัง ทุกครั้งที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา จะช้าหรือจะเร็ว ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุปัจจัย

กุญแจสำคัญของวิปัสสนาอีกดอกหนึ่ง คือ ความเกิดดับ

เมื่อเข้าใจความจริง ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต เกิดขึ้นเท่าไรดับไปเท่านั้น ทำหน้าที่เพียงเฝ้าดู แล้วปล่อยผ่านพ้นไป ไม่ต้องทำ พูด หรือ คิด ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตเพียงชั่วคราว เช่น คิดอยากฆ่าตัวตาย ก็ไม่ต้องฆ่าตัวตายตามที่คิด ปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านไป คิดอยากได้ข้าวของราคาแพง แต่เงินมีไม่พอ คิดแล้วก็ปล่อยผ่านไป ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อตามที่ใจปรารถนา

ความรู้สึกอื่นๆ เช่น  สดชื่นแจ่มใส หรือ ห่อเหี่ยวซึมเซา ท้อแท้  อ่อนล้า กระตือรือร้น กระวนกระวาย หรือ สงบผ่อนคลาย คิดมาก หรือ คิดน้อย คิดดี หรือ คิดไม่ดี ล้วนมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วผ่านไป

เมื่อเข้าใจความจริงแล้ว ไม่ต้องจมอยู่กับความรู้สึกนั้น เพียงแต่รอคอยสักระยะแล้วจิตจะกลับมาปกติเหมือนเดิม ขอให้คิดเสียว่า ความคิดและความรู้สึกต่างๆ เป็นเพียงแขกมาเยือนชั่วคราว ไม่นานก็จากไป บ้านก็จะว่างเปล่าเหมือนเดิม ส่งแขกแล้วก็กลับมาอยู่บ้านตามปกติไม่ต้องตามแขกไป เมื่อแขกชุดใหม่มาเยือนก็ต้อนรับขับสู้ด้วยความรู้และความตื่น แล้วส่งแขกกลับไป

สภาวธรรมดังกล่าวนี้มีอยู่จริง ไม่ต้องจินตนาการ เพียงเฝ้าติดตามดู รู้ เห็นในขณะที่ปรากฏจริงๆ

เรื่องของวิปัสสนาต้องเป็นเรื่องจริง การติดตามเฝ้าดูความจริง เพื่อเข้าถึงความจริง พบเห็นความจริง ยอมรับความจริง แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งที่ได้รับรู้แล้วผ่านไปตามกฎแห่งความเป็นจริง

เมื่อเฝ้าดูจริงๆก็จะพบว่า ชีวิต คือ ร่างกายและจิตใจ มีแต่ความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว ไม่เคยหยุดนิ่ง

ประโยชน์ที่ได้รับโดยตรงจากการทำวิปัสสนา คือ จะรู้จักชีวิตตามความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆของชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ได้อย่างมั่นใจ ไม่วิตกกังวล มีสติในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยวางสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เพราะเข้าถึงความจริงว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหล เคลื่อนไหว ไม่มีใครเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของว่า เป็นของใคร แต่สิ่งทั้งปวงก็ดำเนินไปตามกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงไหลเรื่อยไม่หยุดยั้ง จึงไม่มีสิ่งใดที่น่ายึด น่าถือ น่าเอา น่าเป็น

สติทำหน้าที่เพียง ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ปล่อยวาง ความปกติและความว่างจะบังเกิดขึ้นแก่ชีวิตได้อย่างสม่ำเสมอ

วันที่ 11 มีนาคม 2561 เวลา 9.29 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2827) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 1

อนุโมทนา สาธุ

  • ¼ÙéÊè§: เดียร์
  • 182.53.50.172 Mar 15, 2018 @08:39 AM
ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข