ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
วิปัสสนาไตรลักษณ์





เรื่องวิปัสสนา เป็นหัวข้อสนทนาของผู้สนใจพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีนักเขียนหนังสือประเภทสารคดีกึ่งนวนิยายทางศาสนาได้เขียนคำว่า เตโชวิปัสสนา ไว้ในบทประพันธ์ เมื่อคำนี้ได้รับการกล่าวขานถึงกันมาก ผู้ให้ความสนใจในพระพุทธศาสนา จึงนำมาตั้งวงสนทนากันอย่างกว้างขวาง โดยตั้งคำถามว่า คำว่า เตโชวิปัสสนานี้ เป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่


ถ้าจะแยกคำทั้งสองคำออกมา คือ เตโช คำหนึ่ง และวิปัสสนาคำหนึ่ง ต้องตอบว่า มีคำทั้งสองคำนี้ในพระพุทธศาสนาแน่นอน เช่น ถ้าพูดถึงธาตุ 4 เป็นภาษาบาลีต้องพูดว่า ปฐวี อาโป เตโช วาโย ถ้าแปล เป็นภาษาไทยก็แปลได้ว่า ปฐวี ดิน อาโป น้ำ เตโช ไฟ วาโย ลม

คำว่า วิปัสสนา ก็มีอยู่มากมาย เพราะเป็นเรื่องโดดเด่นของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงสั่งสอนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

แต่คำว่า เตโชวิปัสสนา ตรงๆนั้น ไม่มีปรากฏ ทั้งโดยพยัญชนะและโดยเนื้อหา แต่ เตโช จะอยู่ในกลุ่มของกสิณ เป็นอารมณ์ของการเพ่ง เพื่อให้เกิดความสงบอันเป็นการภาวนาชนิดหนึ่งเรียกว่า สมถภาวนา วิธีการยังความสงบให้เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องของวิปัสสนานั้น มิได้เกี่ยวข้องกับเตโชแต่อย่างใด แต่ไปเกี่ยวข้องกับปัญญา ความเห็นแจ้ง การเกิด และการดับของนามรูป ตามความเป็นจริง

การที่ใช้คำว่า เห็นแจ้ง ในรูปนามจะครอบคลุมความหมายของวิปัสสนาได้มาก แม้รายละเอียดของวิปัสสนาจะมีมากแยกย่อยออกไปเป็น ธาตุ ขันธ์ และอายตนะ ก็ยังคงอยู่ในกรอบของนามและรูปอยู่นั่นเอง ธาตุ ขันธ์ และอายตนะเหล่านี้ ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาไร้ตัวตน ไม่รับคำขอร้อง ไม่รับคำสั่ง ไม่รับคำบัญชา ของใครๆ แต่อย่างใด ต้องเป็นไปตามอำนาจของไตรลักษณ์ที่มีอำนาจสูงสุดที่จะขับเคลื่อน นามรูป ขันธ์ ธาตุ อายตนะให้เป็นไปในรูปแบบต่างๆ ตามเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมชาติล้วนๆ โดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆมาดลบันดาลให้เป็นไปแต่อย่างใด

หากจะมองอย่างแยกคำ เตโช ก็มีอยู่ในเรื่องวิปัสสนาด้วยเหมือนกัน แต่เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งในธาตุ 4 มิได้มีสถานะโดดเด่นไปกว่า ธาตุอื่นๆ ซึ่งต้องตกอยู่ในกระแสแห่งอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะและดับไปตามเหตุปัจจัยเช่นกัน

หลักสำคัญของวิปัสสนาที่ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ามา คือ หลักแห่งสติปัฏฐาน 4 ประการที่กล่าวถึง การตามดู ตามรู้ และตามเห็น กาย เวทนา จิต และธรรม

การใช้สติ ตามดู ตามรู้ และตามเห็น สภาวธรรม ทั้ง 4 ประการนี้ ก็คือ การตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น นามและรูปนั้นเอง

 คำว่า สติปัฏฐาน เป็นหลักการใหญ่ที่บ่งบอกชัดว่า ต้องวางสติไว้อย่างถ้วนทั่ว สติ คือ ความระลึกได้ อันเป็นสภาวธรรมที่เล่นไปรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ติดตามนามรูปอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ดั่งหลักแห่งสติปัฏฐาน 4 ที่บ่งบอกวิธีปฏิบัติชัดๆตรงๆว่า

1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลตรงๆว่า วางสติไว้อย่างถ้วนทั่ว ติดตามดู รู้ เห็น กาย ทั้งในขณะที่เคลื่อนไหวและหยุดอยู่ เกิด และดับตามความเป็นจริง  อะไรเกิด ก็เห็นว่า เกิด อะไรดับก็เห็นว่าดับ เห็นตรงๆ เห็นซื่อๆ เห็นสดๆ ตามที่ปรากฏ ไม่ต้องปรุงแต่งสร้างสรรค์หรือจินตนาการแต่อย่างใด

2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลตรงๆว่า วางสติไว้อย่างถ้วนทั่ว ตามดู รู้ เห็น เวทนาตามความเป็นจริง เวทนานี้ คือ ความรู้สึกชอบ ติดใจ หรือ ชัง รังเกียจ ผลักไส หรือ ยังบอกไม่ได้ว่าจะชอบหรือชังดี ความรู้สึกตรงนี้มีแนวโน้มไปได้ทั้งชอบและชังถ้าเหตุปัจจัยเข้มข้นรุนแรงมีความจูงใจมากพอ

3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การวางสติไว้อย่างถ้วนทั่ว ตามดู รู้ เห็นความเป็นไปแห่งจิต ว่า เข้มแข็ง หรือ ท้อแท้ มั่นคง หรือ อ่อนแอ เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ปรากฏอย่างไร ก็เห็น อย่างนั้น รู้อย่างนั้น

4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วางสติไว้อย่างถ้วนทั่ว ตามดู รู้ เห็น ธรรม ทั้งที่เป็นกุศล และ อกุศล ที่ปรากฏขึ้นในใจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วผ่านไป เกิดอย่างไร เห็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้น

สติปัฏฐาน 4 นี้ คือ เครื่องมือที่คอยติดตามสอดส่อง รูปนาม ที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา การระลึกถึงก็ตาม การ ดู รู้ เห็น ก็ตาม คือ การ ดู รู้ เห็น ตรงๆจริงๆ มิใช่เรื่องแห่งการปรุงแต่ง หรือ จินตนาการแต่อย่างใด ตามดู แล้วก็ รู้ เห็น นามรูปที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ต้องไปตัดสิน วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยความชอบหรือชังแต่อย่างใด เปรียบเหมือนคนยืนริมถนน ดูขบวนรถบุปผชาติที่กำลังแห่ผ่านไป รถมีหลายคัน แต่ละคันล้วนมีความวิจิตรพิสดารสวยงามแตกต่างกัน ผู้ที่ยืนดูนั้นก็ดูรถที่แล่นผ่านไปแต่ละคัน โดยมิต้องเดินลงไปบนถนน ติดตามรถนั้นไป หรือ ไม่ต้องขึ้นไปบนรถบุปผชาติแล้วปรับปรุงตกแต่งรถใหม่ แต่แค่ดูผ่านๆไปเท่านั้น ผ่านแล้วก็ผ่านเลย ไม่ต้องขับรถตามหรือ เดินตามไปด้วย

คนไทยมีความคุ้นเคยภาษาวิปัสสนามานานจึงมีคำที่สื่อถึงวิปัสสนาในชีวิตประจำวันไว้อย่างตรงประเด็นเช่น เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน ได้ลิ้มรสสักว่าได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องสัมผัสก็สักว่าได้ถูกต้องสัมผัส น้อมนึกถึงสิ่งใดก็สักว่าน้อมนึก ผ่านแล้วผ่านเลย ปล่อยไปง่ายๆสบายๆ

หรือแม้แต่คำว่า ช่างเถอะ ไม่เป็นไร หรือ จะเป็นคำที่ชาวบ้านพูดกันมากว่า ช่างหัวมัน เป็นการสื่อที่ตรงถึงคำธรรมะที่สูงสุด คือ ปล่อยวาง

เป้าหมายสูงสุดของวิปัสสนา คือ การเข้าถึงจิตรู้ที่สมบูรณ์เปี่ยมด้วยสติสัปชัญญะสมาธิและปัญญา วิถีแห่งความปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปและนาม ด้วยการเข้าถึงความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลาย ทนอยู่ไม่ได้แปรปรวนเปลี่ยนไป สิ่งทั้งหลายไร้ตัวตนที่จะยึดถือว่า เป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ไม่มีสิ่งที่ควรแก่การยึดอีกต่อไป เพราะทุกสิ่งเคลื่อนไหวไร้ตัวตน

ดั่งพระพุทธพจน์ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น”

เมื่อไม่ยึดก็ปล่อย ปล่อยแล้วก็วาง วางแล้วก็ว่าง ว่างแล้วก็เข้าถึงความสงบ เมื่อถึงความสงบก็เข้าถึงสุขนิรันดร์ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

ส่วนการที่ผู้เจริญภาวนา จะพบประสบการณ์อันน่ามหัศจรรย์ต่างๆที่นำมาเล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ หรือ เป็นเหตุจูงใจให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในตัวผู้เล่าประสบการณ์อย่างหนักแน่น ก็ล้วนเป็นเรื่องของพลังจิตที่ได้รับการฝึกมาอย่างมากนั้นเอง แต่การเห็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น เป็นคนละส่วนกันกับ การเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อย่างที่เห็นในวิปัสสนา

ผลจากการเห็นไตรลักษณ์และการเห็นสิ่งต่างๆทางพลังจิตนั้นต่างกัน ผลจากการเห็นด้วยวิปัสสนา คือ ความปล่อยวาง ห่างจากความทุกข์ต่อไป

ส่วนผลที่มาจากการฝึกพลังจิตจนได้พบสิ่งมหัศจรรย์แล้วนำมาเล่าขานจนผู้ฟังที่ชอบความตื่นเต้นสนุกสนานเกิดความศรัทธาเลื่อมใสจนนำลาภ ยศ สรรเสริญสุขไปมอบให้อย่างล้นเหลือ จิตเริ่มหวั่นไหวและอ่อนลงตามลำดับแล้วก็กลับไปยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญเหล่านั้น ต่อไปอีก

เจ้าสำนักพลังจิตมากมายหลายคนยังมีความทุกข์ใจ เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข ที่ตนเคยมีเคยได้นั้นหายไป ยังแสดงอาการ โวยวาย คร่ำครวญ กระวนกระวาย ตีโพยตีพาย เพราะมัวแต่คิดว่า พลังจิตอันวิเศษนั้นเป็นพลังที่ดลบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนา หรือ จะอวยพรให้ใครสมปรารถนาได้ มิได้เห็นตามหลักไตรลักษณ์แห่งวิปัสสนาว่า สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนไป

หากเราติดตามการฝึกจิตของพระพุทธเจ้า และ พระอริยเจ้าทั้งหลายในยุคพุทธกาล จะพบว่า ความหลุดพ้น จากกิเลสจากทุกข์ทั้งปวง คือ สิ่งสูงสุด ตราบใดที่ท่านไม่บรรลุถึงความหลุดพ้นนั้น ท่านยังคงฝึกต่อไปจนทราบด้วยตัวท่านเองว่าบรรลุถึงแล้ว การฝึกฝนจบลงแล้ว เมื่อท่านได้บรรลุธรรมแล้ว ท่านได้ทรงมหากรุณามาบอกกับเจ้าลัทธิพลังจิตขั้นสูงทั้งหลายว่า จิตที่มีพลังสูงส่งนั้น ยังมีเหตุแห่งทุกข์เจือปนอยู่ แล้วนำเจ้าลัทธิเหล่านั้นเข้าสู่ความหลุดพ้นที่แท้จริงได้ ดั่งที่โปรดชฎิลสามพี่น้องผู้เชี่ยวชาญเจนจบในวิชาเตโชกสิณอย่างหาใครเปรียบมิได้ในยุคเดียวกัน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงการดับไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ด้วย วิปัสสนาตามทางแห่งพระไตรลักษณ์ มิได้ใช้เตโช วิปัสสนามาเผาไฟราคะโทสะ และโมหะแต่อย่างใด ชฎิลสามพี่น้องได้ฟังอาทิตตปริยายสูตรที่ตรัสถึงไฟราคะไฟโทสะ และไฟโมหะว่างเกิดมาจากไหน และดับไปอย่างไรแล้ว ชฎิลสามพี่น้องก็ดับไฟภายในที่เผาใจมาเนิ่นนาน ได้สนิทรื้อกองไฟนอกที่เคยเพ่งกสิณและบูชาทิ้งลงในแม่น้ำคงคาด้วยวิปัสสนาไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

การที่ชาวพุทธยกเรื่องราวที่เป็นเรื่องหลักในทางพระพุทธศาสนามาสนทนากันนี้ เป็นเรื่องที่ดีควรค่าแก่การส่งเสริม และน่ายินดีที่จะได้นำประสบการณ์ทั้งในด้านปฏิบัติและปริยัติธรรมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่กันและกัน เรื่องสำคัญที่จะต้องยอมรับร่วมกันคือ หลักวิปัสสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ส่วนประสบการณ์อื่นใดของใคร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ เข้ากันได้กับหลักที่พระพุทธเจ้าตรัส การสนทนาก็จะมีข้อยุติที่สงบ ไม่พบความขัดแย้ง เป็นไปเพื่อการปลุกให้ตื่นรู้ดูความจริงรอบด้าน อันเป็นรากฐานแห่งวิปัสสนา ที่จะนำซึ่งความสงบภายในแก่ปัจเจกบุคคล แล้วขยายเป็นสันติภาพแก่ ชุมชน สังคม ประเทศชาติและโลกสืบไป

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 6.36 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2822) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข