ข่าวคนไทยในอเมริกา
บุคคลหน้าสาม : อาจารย์วนาลี (มะลิ) ชาฌรังศรี กับวิธีสนุกสนานของงานสอน


อาจารย์วนาลี ชาฌรังศรี (แถวหน้า สี่จากซ้าย) และเพื่อนครูอาสาสมัครที่ประจำการอยู่ที่โรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทย ลอส แอนเจลิส




โดย : กฤติยา รักแต่งาม

อาจารย์วนาลี ชาฌรังศรี แสดงความเป็นกันเองกับเด็กๆ โดยให้พวกเขาเรียกเธอว่า  “ครูมะลิ” เช่นเดียวกับอาจารย์อีก 9 ท่านที่จบจาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่เดียวกัน และได้เดินทางมาสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนพุทธศาสนา วัดไทยฯ  ได้หลายเดือนแล้ว ทุกท่านต่างก็มีชื่อเล่นให้เด็กๆ ในโรงเรียนเรียกขาน  เป็นการกระชับสัมพันธ์ และลดความห่างไกลระหว่างศิษย์กับครูให้เหลือ “แค่คืบ”

“ครูมะลิ” เป็นหัวหน้าคณาจารย์ชุดนี้  ทุกท่านเป็นบัณฑิตทรงคุณวุฒิและมากประสบกาณณ์จาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีเทคนิคและวิธีจูงใจเด็กๆ ให้สนใจในแต่ละวิชาที่พวกท่านสอนกันอย่างสนุกสนาน และเป็นกันเองกับลูกศิษย์ชาวแอล.เอ.

    “...ดิฉันเลือกเรียนทางด้านศิลปะ เพราะชอบมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเข้าไปเรียนก็ได้เบสิคของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานเพ้นท์, ลายเส้น, งานปั้น ทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะเราจะต้องรู้ เพื่อที่จะนำมาสอนเด็กๆ ได้ ถ้าเลือกเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมุ่งเน้นอย่างเดียวไปเลย ซึ่งไม่สามารถไปรู้เบสิคงานศิลป์อย่างอื่นได้ ก็จะนำความหลากหลายมาสอนเด็กๆ ไม่ได้...”

    เด็กๆ ที่ไปเรียนที่โรงเรียนพุทธศาสนา วัดไทยฯ สนใจในวิธีการต่างๆ ที่บรรดาอาจารย์นำมาเสนอสอน วิทยาการต่างๆ ถูกนำมา “แปรรูป” ให้เข้ากับสมัยของ “โลกออนไลน์”  ทุกท่านทำให้เด็กๆ สนุกขึ้น น่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น  ซึ่ง “ครูมะลิ” อธิบายให้ฟังว่า...

“...หลักการเรียนการสอน ของเรา เน้นจัดการเรียนรู้ด้วยเนื้อหาและกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัยของนักเรียน ค่ะ ซึ่งการเรียนการสอนที่จัดขึ้นนี้มีการจัดเนื้อหาให้สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม และสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของนักเรียน ...

เด็กๆ จะได้เล่นเกมส์ที่ครูสร้างขึ้น , เกมส์ ออน ไลน์, การสาธิต, การบรรยาย, การอภิปราย, การแสดงบทบาทสมมติ รวมไปถึงสถานการณ์จำลอง ผ่านการใช้สื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อมือ  สื่ออิเลคทรอนิคส์ และสื่อสิ่งพิมพ์จากห้องสมุดของวัดไทยฯ...

...เรานำเรื่องราวที่เป็นสิ่งที่นักเรียน สนใจมาสร้างเป็นสื่อการเรียนรู้ นะคะ เช่น การนำการ์ตูนที่นักเรียนชอบมาใช้สอน  การนำเกมส์ที่นักเรียนชอบมาดัดแปลง เช่น เกมส์เกี่ยวกับหลักภาษาไทย หรือการวิเคราะห์เนื้อเพลงไทยที่กำลังดัง  ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ ในบทเรียนมากขึ้น และสนุกมากขึ้นในการเรียนด้วยค่ะ...”

    บรรดาอาจารย์ที่มาสอนเด็กแอล.เอ. พก “สติ๊คเกอร์” มาโรงเรียนด้วย เทคนิคนี้ ทำให้ “หัวใจดวงน้อย” ของเด็กๆ กระชุ่มกระชวย และดวงตาจุดประกายความสุขเพิ่มขึ้น เป็นการ “เชื่อม” สัมพันธภาพที่มี “พลัง” มหาศาลระหว่างครูกับลูกศิษย์


    “...วิธีให้กำลังใจแก่นักเรียนจากคุณครูนี่นะคะ คือเราเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม แล้วก็กล่าวชื่นชม หรือกล่าวขอบคุณพวกเขาในทันที เพื่อเป็นการเสริมแรงบวกโดยตรงให้แก่นักเรียน  แล้วก็มีการเสริมแรงโดให้รางวัล เช่น มอบสติ๊คเกอร์ให้กับนักเรียนที่มีความตั้งใจ หรือมีความประพฤติดี...

...การให้คะแนนพฤติกรรมรายบุคคลเพื่อให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น  รวมไปถึง เราจะเห็น feedback จากผลงานของนักเรียน ที่ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึก ภูมิใจในตนเอง และเรามีการพูดคุยถึงพัฒนาการของนักเรียนกับผู้ปกครองด้วยนะคะ คือเรากล่าวชื่นชมนักเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียน มีกำลังใจที่ดี ในการมาเรียนที่นี่...”

    นอกจากการเรียนการสอนที่มี “มิตรสัมพันธ์” อันดีงามและเป็นกันเองระหว่างครูกับลูกศิษย์แล้ว กิจกรรมต่างระดับอายุที่คุณครูจัดให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุกระคนร่วมไปกับการรับความรู้ ก็จัดให้มีอย่างสม่ำเสมอ

    “...กิจกรรมในรายวิชาภาษาไทยในแต่ละระดับชั้นจะแตกต่างกันออกไปนะคะ  เช่น ชั้นเรียนอนุบาล จะมีการสอนเรื่องพื้นฐาน พยัญชนะภาษาไทย โดยผ่านการเล่านิทาน การเล่นเกมส์ และการบริหาร”กล้ามเนื้อมัดเล็ก” โดยใช้เพลง ประกอบการแสดงท่าทาง

...ชั้นปอหนึ่ง-ปอสอง จะเน้นการฟัง การพูด การอ่านคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน และการเขียนตามคำบอกอย่างง่ายๆ โดยใช้การ “บูรณาการ” เนื้อหาอื่น ๆ และการเล่นเกมส์ ประสมกับการเรียนเนื้อหาที่นักเรียนต้องรู้

 ...ชั้นปอสาม-ปอสี่ จะเพิ่มการอ่านที่ยากขึ้น  รวมไปถึงการแต่งประโยคและเขียนประโยคที่ยาวขึ้น ชั้นปอห้า-ปอหก จะเน้นการอ่านภาษาไทยในระดับที่ลึกขึ้น และฝึกทักษะการเขียนโดยให้นักเรียนเขียนบันทึกประจำวัน (diary)

...ส่วนชั้นมัธยมนั้น จะมีการอภิปราย แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น การเรียนเรื่องสำนวนสุภาษิตไทย และฝึกเขียนคำศัพท์ที่นอกเหนือไปจากชีวิตประจำวัน เช่น คำราชาศัพท์ และเขียนความเรียง  ซึ่งทุกระดับชั้นจะมีเกมส์,  มีใบงาน,  แบบฝึกหัด, สื่อทำมือ, สิ่งพิมพ์ และสื่อวีดิทัศน์ เพื่อความหลากหลาย ในการจัดการ เรียนรู้และตรงกับความสนใจของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ...

ในส่วนของกิจกรรมชมรมดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย ศิลปะ แม่ไม้มวยไทย และกระบี่กระบอง จะเน้นกิจกรรมที่ฝึกฝนทักษะ มีการปฏิบัติเป็นหลัก ชมรมดนตรี และนาฏศิลป์คุณครูจ ะแบ่งนักเรียนตามระดับความสามารถของนักเรียน เพื่อให้ง่ายแก่การ ต่อเพลงและการต่อท่ารำ...”

ผู้ปกครองท่านใดสนใจจะนำพาบุตรหลานของท่านไปสมัครเรียนที่โรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทยฯ (ไม่ว่าจะเป็นเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงซัมเมอร์)โรงเรียนเปิดทำการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย ในช่วงเช้ามีการเรียนการสอนของชมรมดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย แม่ไม้มวยไทย กระบี่กระบอง และศิลปะ

โรงเรียนเริ่มตั้งแต่เวลา 9:00 – 11:30 น. เข้าแถวเคารพธงชาติเวลาเที่ยงตรง โดยเริ่มจากการร้องเพลงชาติสหรัฐอเมริกา เพลงชาติไทย กล่าวคำปฏิญาณตน   ร้องเพลงและทำท่าประกอบเพลง “ฉันเป็นคนไทย” จากนั้นจะมีการนมัสการหลวงเตี่ย (พระธรรมราชานุวัตร) ผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนฯ

กิจกรรมถัดไปคือ สวดมนต์, นั่งสมาธิ บนอุโบสถศาลา เพื่อเป็นการทำสมาธิ ให้จิตใจนักเรียนสงบเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชั้นเรียน  นอกจากนั้น มีการเรียนรู้ถึงพิธีการทางศาสนา, การปฏิบัติเมื่ออยู่ในศาสนสถาน, การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ 

“...หลังจากการนั่งสมาธิแล้ว เราจะมีครูมาให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย มารยาทไทย นิทานพื้นบ้าน เกมส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาไทยนะคะ  เนื้อหาของกิจกรรมจะสลับเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ ค่ะ  คือนักเรียนจะได้ร่วมทำกิจกรรมกับกับนักเรียนชั้นอื่น ๆ ในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น จะเป็นการเรียนวิชาภาษาไทย และมีกิจกรรมบูรณาการของแต่ละระดับชั้น  ตอนเย็นจะมีการซ้อมการแสดงของชมรมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย เพื่อใช้แสดงในงานต่าง ๆ จนถึง 6 โมงเย็นค่ะ...” ครูมะลิ เพิ่มเติมรายละเอียดให้เห็นบรรยากาศในโรงเรียนมากขึ้น

สำหรับภาคเรียนฤดูร้อน (ซัมเมอร์) ทางโรงเรียนเปิดสอนวิชาภาษาไทย ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ และแม่ไม้มวยไทย เริ่ม เดือนมิถุนายน - เดือนสิงหาคม ตั้งแต่เวลา 9:00 – 16:00 น. มีความแตกต่างจากการมาเรียนในช่วงเสาร์และอาทิตย์ คือ การเรียนการสอนในช่วงฤดูร้อนนั้น จะจัดการเรียนการสอนทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์

“...ภาคฤดูร้อนนี้ ตารางเรียนจะแตกต่างกันเล็กน้อยนะคะ ในช่วงเช้านักเรียนจะได้เรียนวิชาภาษาไทย ภาคบ่ายจะเป็นกิจกรรมบูรณาการของ แต่ละระดับชั้น มีการสอนชมรมดนตรีไทย ชมรมนาฏยศิลป์ไทย ชมรมศิลปะ และกีฬาพื้นบ้านไทย ด้วย...

...ครูผู้สอน จะเป็นครูกลุ่มใหม่ที่มาจากเมืองไทย ซึ่งเป็นครูที่มีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถจัดการเรียนการสอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจำนวนครูมีมากเพียงพอกับการสอน รวมถึงการดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง  สำหรับการมาเรียนในช่วงภาคฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง 5 วัน กับคุณครูที่มีประสบการณ์สอนมานาน จะส่งผลให้นักเรียนที่มาเรียนในช่วง ปิดเทอมสั้น ๆ ได้รับความรู้และเพิ่มพูนทักษะแก่นักเรียนได้ไม่น้อยไปกว่าการมาเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ยาวนานตลอดทั้งปีแน่นอนค่ะ...”

ผู้ปกครองท่านใดเตรียมจะนำเด็กๆ (ต้องอายุ 4 ขวบขึ้นไป) ไปลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทยฯ ติดต่อสอบถามรายะเอียดได้ทุกวันที่ห้องธุรการ โทร. (818)780-4200 เลขที่ 8225 Coldwater Canyon Ave., North Hollywood, CA91605-1131 และสามารถนำพา “นักเรียนใหม่” ไปนัดเจอพูดคุยกับ อาจารย์วนาลี  ชาฌรังศรี ก่อนล่วงหน้า เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาในห้องเรียน

ทีมคณาจารย์ทั้งหมดที่ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดพุทธศาสนาวัดไทยฯ เวลานี้มีทั้งหมด 10 ท่าน คือ ครูมนัสนันท์  รังสีธนะศักดิ์ (ครูโบ) สอนชั้นอนุบาล, ครูเกษมศรี  บุญศรี (ครูนาย) สอนชั้นปอ 1, ครูวนาลี ชาฌรังศรี (ครูมะลิ) สอนชั้นปอ 2

ครูทิพย์ชยา  เอี่ยมวัฒนดุสิต (ครูปอย) สอนชั้นปอ3, ครูอนุสรณ์ ฐานะวิวัฒน์เจริญกุล (ครูเต้ย) สอนชั้นปอและชมรมกระบี่กระบอง, ครูณัฐชนนท์  ม่านทอง (ครูออย) สอนระดับชั้นปอ 5-6, ครูศุภรดา  ภาสตโรจน์ (ครูยู่ยี่) สอนชั้นมัธยมศึกษา, ครูอนุเทพ  มีเลิศสม (ครูเจ๋ง) สอนดนตรีไทย (เครื่องสาย), ครูอนุรักษ์  รักสถิตกุล (ครูนุ) สอนดนตรีไทย (ปี่พาทย์), ครูกัญญากร  ตั้งกุลธร (ครูอิงอิง) สอนนาฏศิลป์ไทย

    “...การเรียนการสอนของโรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทย ลอส แอนเจลิส มุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ ได้จริง เช่น การเรียนดนตรี และนาฏศิลป์ไทย ทางโรงเรียนมีเวทีและโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถอย่างสม่ำเสมอ เช่น การแสดงในงานประเพณีลอยกระทง ประเพณีวันสงกรานต์ การแสดงดนตรี หรือแสดงกลองยาวในวันสำคัญต่างๆ 

และในปลายภาคเรียนจะมี “งานมหกรรมดนตรี และนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้นักเรียนทุกคน ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ ในแต่ละปีก็จะมีแนวคิดในการจัดงานแตกต่างกันออกไป ซึ่งในปีนี้มีแนวคิดคือ “ศาสตร์แห่งศิลป์ แผ่นดินสยาม” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561 นี้...” ครูมะลิทิ้งท้าย

วัฒนธรรมไทย ดนตรีไทย และภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นไทย...

“มรดก”อันมีค่า เหล่านี้มีไว้ “มอบให้” ลูกหลานของเราอยู่แล้วที่โรงเรียนแห่งนี้

คุณเพียงแค่พาพวกเขาไปรับ และฝากให้เขา “เก็บรักษา” ต่อกันไปชั่วกาลนานเท่านั้น.

   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :
 
Detail :
 



ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข