ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ธรรมะ คือ ชีวิต ชีวิต คือ ธรรมะ


อาจารย์ชา สุภทฺโท







เมื่อมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนปฏิบัติธรรม ผู้ที่ให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรมมักจะไปเชิญชวนเพื่อนฝูงของตนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน บางครั้งเพื่อนๆก็จะเห็นคล้อยตามและรับคำเชื้อเชิญด้วยความยินดี แต่บางครั้งจะปฏิเสธแบบสุภาพว่า ไม่มีเวลา

คราวหนึ่ง ฝรั่งเคยถามท่านอาจารย์ชา สุภทฺโทว่า ตนเองต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาจะปฏิบัติธรรม จะทำอย่างไรดี

ท่านอาจารย์ชา มีทักษะด้านการโต้ตอบปัญหาต่างๆให้ฝรั่งทึ่งมาเสมอๆ ได้ตอบคำถามนี้อย่างทันทีทันใดว่า

“คุณมีเวลาหายใจไหม ถ้ามีเวลาหายใจ ต้องมีเวลาปฏิบัติธรรม”

จำคำคมท่านได้เพียงแค่นี้แล้วนำมาไตร่ตรองดูก็จริงอย่างท่านว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรมากมายยุ่งยากยุ่งเหยิงสักปานใด ต้องมีเวลาหายใจอยู่วันยังค่ำ

เมื่อหลวงพ่อชาท่านตั้งต้นให้อย่างนี้แล้ว ก็ต่อยอดได้ว่า เพียงแต่การให้ความสนใจ ความเคลื่อนไหวแห่งลมหายใจในลักษณะต่างๆ ยาวบ้าง สั้นบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง การปฏิบัติธรรมก็เกิดขึ้นแล้ว

อาจารย์ไพศาล วิสาโล เคยแสดงธรรมไว้ว่า เวลาชวนใครมาปฏิบัติธรรมก็มักจะอ้างว่า ไม่มีเวลา แล้วท่านก็เทศน์ต่อไปว่า อยากถามว่า มีเวลาหัวเราะไหม มีเวลาเศร้าไหม มีเวลาทุกข์ไหม มีเวลาหาความสุขไหม แล้วทำไมจึงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมบ้างละ

คำถามของท่านชวนให้คิดไม่น้อย เวลากินดื่ม เที่ยวเล่น สรวลเสเฮฮา ใครมาชวนเมื่อไรก็ว่างเสมอ แต่ถ้าชวนไปปฏิบัติธรรมเมื่อไรช่างหาเวลาว่างยากเย็นแสนเข็ญเสียจริงๆ

หลายคนเคยตั้งใจไว้ว่า เมื่อเสร็จภารกิจด้านธุรกิจต่างๆที่สร้างมานานแล้วจะมอบให้ลูกหลานจากนั้นก็จะหันหน้าเข้าหาธรรมะ จนแล้วจนรอด ไม่มีเวลาว่างให้ทำอย่างนั้นได้เลย สุดท้ายความตายก็มาเยือนเสียก่อน

ท่านผู้รู้บางท่าน เมื่อได้ยินใครบ่นว่า มีแต่การงานยุ่งอิรุงตุงนัง ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย จึงอธิบายไปว่า การปฏิบัติธรรมไม่ต้องใช้เวลาเพราะ ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่กำหนดเวลา ไม่มีเวลา ชีวิตทั้งชีวิต คือปรากฏการณ์แห่งธรรมะ ธรรมะ คือ ชีวิต ชีวิตคือธรรมะ การดำเนินชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และการดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องเป็นไปด้วยธรรมะ แต่เจ้าของชีวิตไม่รู้สึกตัวว่า ตนเองกำลังปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมไม่ต้องมีเวลา เพราะเวลาทั้งหมด หมดไปกับการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น การหายใจเข้า แล้วหายใจออกก็คือการปฏิบัติธรรมตามกฎธรรมชาติอย่างซื่อๆ ทันทีทันใด ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ปฏิบัติตลอดเวลา การดื่มน้ำแล้วต้องเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะ การรับประทานอาหารเข้าไปจนอิ่มแล้วต้องเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระล้วนเป็นปรากฏการณ์แห่งธรรมทั้งสิ้น เป็นการเดินตามธรรมอย่างว่าง่ายไม่ฮึดฮัดขัดขืนแต่ประการใด

ด้วยการที่สภาวธรรมมีอยู่ในชีวิตอย่างแนบแน่นนี้ หลวงพ่อพุทธทาสจึงสรุปความหมายของธรรมะออกมาเป็น 4 ประการคือ

ธรรมชาติ

กฎของธรรมชาติ

การทำหน้าที่อย่างถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ 

และสุดท้ายผลจากการปฏิบัติถูกต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติเป็นความอยู่รอด ราบรื่น สงบเย็น

เมื่อฟังท่านผู้รู้ทั้งหลายอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง ไม่มีเวลาว่างพอที่จะปฏิบัติธรรม ด้วยการพยายามชี้ให้เห็นช่องทางว่า ถ้าต้องการจะปฏิบัติธรรมจริงๆจะหาช่องว่างแห่งเวลาปฏิบัติธรรมกันได้ทุกคน

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือ สาเหตุหลักของการไม่มีเวลาพอที่จะมอบให้การปฏิบัติธรรมบ้าง

การตีความและการให้คำนิยามที่แคบ ทำให้จำนวนของผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติธรรมมีน้อยลงตามลำดับ เพราะการตีความแบบแคบอยู่ในกรอบเพียงว่า การปฏิบัติธรรมหมายความถึง การนั่งสมาธิ การละบ้านเรือนไปสมาทานศีลและเจริญภาวนาที่วัดในระยะยาวหรือในระยะสั้นตามแต่โอกาสจะอำนวย

การตีความและคำนิยามแห่งการปฏิบัติธรรมที่เคยใช้กันมาและรับรู้กันโดยทั่วไปมีเช่นนี้ การตีความและการให้คำนิยามแบบนี้จะต้องไปปฏิบัติธรรมยังสำนักปฏิบัติธรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง ต้องมีครูอาจารย์เจ้าสำนักที่มีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติธรรมคอยให้คำแนะนำ ต้องมีสถานที่ที่สงบสงัด ไม่มีอะไรรบกวน ต้องใช้เวลา ใช้เงินทองบริจาคแก่สำนักนั้นๆ ดังปัจจุบันนี้กำหนดราคาค่าใช้จ่ายเป็นวันเป็นคืน หรือเป็นเดือน ตามแต่จะกำหนดตกลงกัน

การปฏิบัติธรรมตามความหมายนี้ จะรองรับคนที่มีความพร้อมในเรื่องเวลาน้อยมาก คนทั่วไปจะฝังใจอยู่กับนิยามและการตีความการปฏิบัติธรรมอย่างนี้มานาน หลายคนปรารถนาจะปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ก็ได้แต่คิดและรอคอยเวลาว่าง เช่น รอเวลาตอนที่เกษียณแล้ว รอลูกหลานเติบโตแล้ว รอให้ภารกิจที่หนักหนาสาหัสเสร็จก่อน บางคนเคยมาเจอกันแล้ว บอกถึงความหวังความฝันว่า เมื่องานธุรกิจเบาบางจะวางมือมาปฏิบัติธรรม แต่ไม่นานจากนั้นพบกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นศพไปแล้ว หรือ มีผู้นำมาวัดเป็นเถ้าถ่านให้พระบังสุกุล ยังไม่ได้เคยพบประสบการณ์การปฏิบัติธรรมเลย

การให้คำจำกัดความและคำนิยามของคำว่าธรรมะให้กว้างขวางออกไปน่าจะรองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้นโดยไม่ต้องขยายพื้นที่สำหรับปฏิบัติธรรมและบุคลากรผู้นำปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด

นิยามสั้นๆเพียงว่า การปฏิบัติธรรม คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยกุศลธรรม น่าจะขยายจำนวนสมาชิกผู้สามารถปฏิบัติธรรมได้กว้างขวางออกไปอย่างแทบจะไม่มีข้อจำกัด

ใครก็ตามที่ ทำ พูด หรือ คิด ด้วยธรรม คือ ทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม บุคคลนั้น ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ศาสนาใด วัยใด เพศใด วัฒนธรรมใด ต่างกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ทั้งสิ้น

ถ้าจะนำคติธรรมง่ายๆใช้ได้เลยของหลวงพ่อปัญญานันทะที่กล่าวไว้ว่า ทำดี พูดดี คบคนดี ไปสู่สถาน

ที่ดีๆ มาเป็นตัวอย่างแห่งการปฏิบัติธรรมลงไปที่กาย วาจาและใจ จำนวนผู้มีเวลาพร้อมจะปฏิบัติธรรมจะเพิ่มขึ้น

เมื่อเข้าใจคำจำกัดความและการตีความที่ขยายกรอบกว้างขึ้นเช่นนี้ ต่อไปก็ลองเลือกธรรมะที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตที่ใช้ได้อย่างกว้างขวางมาวางลงพิจารณาดู เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนอิทธิบาท 4 ประการคือ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความพากเพียร จิตตะ เอาใจใส่ วิมังสา ไตร่ตรอง

ธรรมะ ทั้ง 4 ประการนี้เรียกว่า ทางสู่ความสำเร็จ คำว่าทางสู่ความสำเร็จนี้ มิได้จำกัดว่า จะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิต แต่หมายถึงการใช้หลักธรรมนี้ไปปฏิบัติในทุกกิจกรรมที่มีเข้ามาในชีวิต เช่น การหุงข้าวให้สุกต้องใช้อิทธิบาท 4 เริ่มด้วย พอใจที่จะหุงข้าว ลงมือหุงข้าวด้วยความขยัน เอาใจใส่ในการหุงข้าว ไตร่ตรองปรับปรุงวิธีหุงข้าวให้เหมาะสม ข้าวที่สุกแต่ละหม้อ คือ ความสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมทั้ง 4 ประการนี้

การทำกับข้าวชนิดต่างๆแม้แต่เรื่องต้มไข่ เมื่อเริ่มคิดจะต้มไข่รับประทานหรือประกอบในอาหารอย่างอื่น การปฏิบัติธรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ เวลานั้น สถานที่นั้น คนที่จะต้มไข่ ต้องพอใจในการต้มไข่ ขยันต้มไข่ เอาใจใส่ในการต้มไข่ ไตร่ตรองว่า จะต้มไข่ชนิดใด เพราะไข่ต้มก็มีหลายชนิด ไข่ที่ต้มสุกแล้ว คือ ผลแห่งการปฏิบัติธรรม ที่ได้ปฏิบัติเสร็จแล้ว

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วพิจารณาว่า จะต้องล้างจานเสียก่อนไปทำงาน ครัวจะได้สะอาดสะอ้าน การคิดแค่นี้เอง การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นแล้ว ในข้อที่พระพุทธเจ้าสอนว่าใคร่ครวญแล้วจึงทำประเสริฐกว่า เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วปฏิบัติธรรมทางใจทันที คือ ใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่ หากใคร่ครวญแล้วเอ่ยปากชวนสมาชิกในครอบครัว ด้วยการชี้โทษของการไม่ล้างจาน และชี้ประโยชน์ของการล้างจาน จนสมาชิกเห็นชอบด้วย พากันช่วยล้างจาน การชี้ชวนนี้ คือ การปฏิบัติธรรมทางวาจาด้วยการพูดดีชี้ประโยชน์ผู้ฟัง ฟังแล้วสบายใจปลุกฉันทะ คือ ความพอใจให้เกิดขึ้นในการล้างจาน จากนั้น การช่วยกันล้างจานก็เกิดขึ้น ณ ครัวแห่งนั้น

ครัวแห่งนั้นกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมไปทันที ผู้ล้างจานทุกคนคือ นักปฏิบัติธรรม ที่กำลังลงมือปฏิบัติอิทธิบาท 4 คือ พอใจล้างจาน ขยันล้างจาน เอาใจใส่ในการล้างจาน ไตร่ตรองปรับปรุงในการล้างจานนั้น ให้สะอาดสะอ้านรวดเร็วขึ้น ที่เห็นชัดๆคือ การปฏิบัติอิทธิบาท 4 ได้เกิดขึ้นแล้วแน่นอน

ขณะที่มือกำลังเคลื่อนไหวล้างจานนี้ ใจมิได้ส่งออกไปข้างนอก ยังคงรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของมือที่เคลื่อนไปอย่างดี ขณะนั้น การเจริญสติในการล้างจานได้เกิดขึ้นแล้ว ใจให้ความสนใจเพียงมือที่เคลื่อนไหว อยู่กับการล้างจานนั้น อย่างมั่นคง ไม่มีความคิดวิตกกังวลใดๆแทรกเข้ามาขณะที่ล้างจานนั้น แม้แทรกเข้ามาก็รู้แล้วปล่อยผ่านไปเพราะตั้งใจล้างจาน การล้างจานขณะนั้น คือ การภาวนา ได้แก่การทำสติให้เจริญ ทำความเพียรให้เจริญ  ทำทักษะในการภาวนาขณะล้างจานให้สูงขึ้นเมื่อทำมากขึ้น การล้างจานให้สะอาดจึงเป็นการล้างใจให้สดใสไปพร้อมๆกัน

การตั้งใจล้างจาน คือ สมาธิ เมื่อล้างจานเสร็จแล้ว ภูมิใจว่าได้ล้างจานแล้ว เป็นปีติ ยิ่งล้างจานมากยิ่งปีติมาก เพราะล้างจานสำเร็จหนึ่งใบก็ปีติครั้งหนึ่ง ล้างจาน100 ใบก็เพิ่มปีติให้กับชีวิต 100 ครั้ง เมื่อล้างจานเสร็จทั้งหมด จะรู้สึกเบาใจ โล่งใจ สบายใจ เป็นสุขใจที่งานไม่คั่งค้าง

การไม่ปล่อยให้งานคั่งค้างรีบสะสางทำให้เสร็จ นับเป็นการปฏิบัติธรรมในมงคลชีวิต ข้อที่ว่า การไม่ปล่อยให้การงานคั่งค้างเป็นมงคลอันสูงสุด ความรู้สึกสุขใจจากการทำงานน้อยใหญ่สำเร็จลงไป นั้น คือ มงคล เพราะมงคลแปลว่า ทางแห่งความก้าวหน้า การทำงานสำเร็จทุกชนิด คือ ความก้าวหน้าของชีวิต ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

ความสุขอันเกิดจากการล้างจาน คือ ความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ธรรมะที่ปฏิบัติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้”

พระพุทธพจน์นี้ก็ชี้ชัดและเป็นความจริงที่ทุกคนเคยประสบมาแล้ว

ตัวอย่างที่ยกมานี้ ชี้ชัดลงไปว่า การปฏิบัติธรรม คือ การทำ การพูด และการคิด ที่ดีงาม ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลง ความเคลื่อนไหวแห่งชีวิตที่สำเร็จที่ปลอดภัยที่เป็นสุขล้วนมาจากผลแห่งการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งที่ปฏิบัติไปนั้น ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่รู้ว่า ชื่ออะไร ในภาษาศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างไร แต่เป็นธรรมะที่มีอยู่ทุกกิจกรรมทุกย่างก้าว

หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมะกับชีวิตอย่างถ่องแท้ ก็ไม่สามารถแยกธรรมะออกจากชีวิตได้ ธรรมะ คือ กัลยาณมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่คอยคุ้มครองชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ธรรมะกับชีวิตจึงแทบจะแยกออกจากกันมิได้ หากเข้าใจถึงความหมายแห่งชีวิตและความหมายแห่งธรรมะอย่างถ่องแท้ ชีวิตแต่ละชีวิต มิใช่อื่นไกล คือ ปรากฏการณ์แห่งธรรมที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยนั้นเอง

คงจะสรุปกันตรงนี้ว่า ธรรมะ คือ ชีวิต ชีวิตคือ ธรรมะ ขอเชิญท่านทั้งหลายได้นำเอาประเด็นธรรมที่เปิดไว้นำไปพิจารณา ศึกษาค้นคว้า จากชีวิต จากกิจกรรมต่างๆในชีวิต แล้วจึงจะกลับมากระซิบบอกกับตนเองด้วยเสียงอันแผ่วเบาว่า เราก็คือ นักปฏิบัติธรรม ที่มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างเหลือเฟือคนหนึ่งเหมือนกัน แต่อาจจะเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ไร้สำนัก ไร้หลักแหล่ง ไร้ตำแหน่ง ไร้ร่องรอย แต่ปฏิบัติธรรมได้ทุกหนทุกแห่งทุกเวลา เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เมื่อปฏิบัติแล้วได้ผลออกมาอย่าไร รู้ได้เข้าใจได้ถึงผลจากการปฏิบัตินั้นด้วยตนเอง

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 5.13 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

   

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2826) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข