ข่าวคนไทยในอเมริกา
ก.วัฒนธรรมทุ่มงบหนุน ‘ดาวคะนอง’ชิงออสก้าร์


อโนชา สุวิชากรพงศ์




โปสเตอร์ ดาวคะนอง หรือ By the Time It Gets Dark ตัวแทนภาพยนตร์ไทยที่ได้รับคัดเลือกมาชิงรางวัลออสก้าร์ ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม




 อโนชา สุวิชากรพงศ์ พูดคุยกับนักวิจารณ์ภาพยนตร์และผู้สนใจหลังจากจบการฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง




แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : จัดฉาย “ดาวคะนอง” อโนชา สุวิชากรพงศ์ ให้สมาชิก “ออสก้าร์” ดู หวังลุ้นเข้า “ช็อตลิสต์” เก้าเรื่องในหน้า ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศ สนับสนุนหนังไทยบนเวทียักษ์แห่งนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้พิจารณาเลือกภาพยนตร์เรื่อง ‘ดาวคะนอง’ หรือ By the Time It Gets Dark ของผู้กำกับหญิง อโนชา สุวิชากรพงศ์ เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film Award) ประจำปี 2017 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ศกหน้านั้น

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2017 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง ดาวคะนอง ให้แก่บรรดาสมาชิกของสถาบันภาพยนตร์ (the Academy of Motion Picture Arts and Sciences) สื่อมวลชนและผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่ง ณ Wilshire Screening Room ถนนวิลเชอร์ของเมืองลอส แอนเจลิส โดยผู้กำกับ คือ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ได้เดินทางมาร่วม และตอบคำถาม (Q and A) หลังจากภาพยนตร์จบลงด้วย

ทั้งน้ี ก่อนการฉายภาพยนตร์ นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจิส ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเล็กๆ ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหญิงของไทย ได้พบปะสนทนากับบรรดาสมาชิกของสถาบันภาพยนตร์ และสื่อมวลชนด้วย โดยกิจกรรมนี้ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับการสนับสนุนจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

และก่อนที่จะมีการฉายภาพยนตร์ กงสุลใหญ่ฯ ธานี แสงรัตน์ ได้กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทย ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสสนับสนุนกิจกรรมในวันนี้ เนื่องจากเป็นโอกาสให้นานาชาติได้รู้จัก เข้าใจประเทศไทยมากยิ่งขึ้นผ่านภาพยนตร์เรื่องดาวคะนอง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยในทศวรรษต่อจากนั้น

โดย อโนชา สุวิชากรพงศ์ ให้สัมภาษณ์สยามทาวน์ยูเอส ว่าทันทีที่ทราบว่า ดาวคะนอง ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยบนเวทีออสก้าร์ ตนก็คิดว่าจำเป็นต้องมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ (publicise) ที่อเมริกา เพื่อโปรโมท ดาวคะนอง ให้เข้าตาคณะกรรมการ ซึ่งได้มีการจัดหาและว่าจ้าง และฝ่ายประชาสัมพันธ์ ก็เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมในวันนี้ ทั้งจองสถานที่และเชิญแขก

“ในหลายๆ ประเทศ รัฐเขาจะมีงบประมาณในส่วนนี้ แต่ในเมืองไทยเนื่องจากยังไม่ค่อยมีคนรู้ ทางฝ่ายรัฐก็ไม่ทราบว่าต้องทำกิจกรรมนี้ ก็มีการยื่นขอทุนไปทางกระทรวงวัฒนธรรม และก็ได้มาส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนก็ต้องรับผิดชอบเอง และค่าตั๋วเครื่องบินกับที่พักนี่ ทางกระทรวงการต่างประเทศก็เป็นสปอนเซอร์”

ส่วนการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันมหาวิปโยคนั้น ผู้กำกับหญิงกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ยาก แม้ว่าจะผ่านมานานแล้วก็ตาม

“ดาวคะนอง เป็นเหตุการณ์ที่เราอยากเล่า เพราะเกิดในปี 2519 ซึ่งเป็นปีเกิดของเรา เราก็รู้สึกฝังใจมาตั้งแต่เด็ก แล้วพอถึงจุดหนึ่งเราได้มาเป็นคนทำหนัง ก็อยากจะทำหนังที่ personal กับตัวเอง แม้ว่าเราไม่ได้เป็นคนยุคนั้น หรือผ่านเหตุการณ์นั้นมา แต่คิดว่าเหตุการณ์ 6 ตุลามีผลกระทบกับสังคมไทยอย่างมาก ทุกวันนี้ก็ยังมีผลกระทบอยู่”

ถามว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาครั้งใหญ่ หรือทายาทในปัจจุบัน มีอิทธิพลใดๆ กับภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ตอบว่าไม่มี

“เพราะเราก็มีวิธีการเล่าที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะว่าเหตุการณ์มันซับซ้อน เราต้องการสะท้อนว่าเหตุการณ์มันซับซ้อนอย่างไรบ้าง ก็ใช้เวลานาน ทำอยู่หกปี”

ส่วนกระแสตอบรับภาพยนตร์เรื่องดาวคะนอง ในประเทศไทยนั้น อโนชา สุวิชากรพงศ์ บอกว่าดีกว่าที่เธอคิด

“เราเป็นคนทำหนังอิสระ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอง เรื่องแรกนี่ออกมาปี 2010 เว้นมาเจ็ดปี แล้วตอนทำหนังเรื่องนี่มันค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัวนิดถึงคือการดำเนินเรื่องซับซ้อน ไม่ได้ดูง่าย ก็คิดว่าคงจะฉายตามเทศกาลหรือเข้าโรงนิดๆ หน่อยๆ แต่ปรากฎว่าได้รับรางวัล (สุพรรณหงส์ สามสาขา) แล้วก็ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยมาประกวดออสก้าร์นี่ก็เรียกได้ว่า...​ผิดคาด เกินความคาดหวังค่ะ ”

ทั้งนี้ ในปีนี้ คณะกรรมการฯ จากสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ ได้พิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ไทยสี่เรื่อง เพื่อส่งเข้าชิงรางวัลออสก้าร์ ในนามประเทศไทย โดยนอกจากดาวคะนอง ที่ได้รับเลือกแล้ว ยังมี ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius), มหาลัยวัวชน (Song from Phatthalung) และ ป๊อปอาย มายเฟรนด์ (Pop Aye)

ดาวคะนอง เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ต่อจาก ‘เจ้านกกระจอก’ เนื้อหาเกี่ยวโยงกับตัวละครหลากหลายกลุ่ม ทั้งในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองยุค 6 ตุลาคม 2519 ที่เหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ว่า ดาวคะนอง จะไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้มากนักก็ตาม แต่เป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 ได้ถึง 3 สาขาคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม

เฉพาะคู่แข่งจากเอเชียของ ‘ดาวคะนอง’ นั้น มีหลายเรื่องที่ถือว่าน่าจับตา โดยเฉพาะเรื่อง First They Killed My Father จากกัมพูชา ซึ่งนอกจากจะนำเสนอเรื่องราวความโหดร้ายทารุณ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ในยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันคุ้นเคย และให้ความสนใจมากแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานกำกับของ แอนเจลินา โจลี นักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษย์ชนคนสำคัญ อีกทั้งเคยได้เข้าฉายในอเมริกา (แบบจำกัดโรง) มาแล้ว และทุกวันนี้ ก็สามารถชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทาง Netflix ได้ด้วย

ขณะที่เกาหลีใต้ ส่งภาพยนตร์ทำงานเงินสูงสุดของปี เรื่อง A Taxi Driver (Hun Jang) มาชิงรางวัลออสก้าร์ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และเช่นเดียวกับ First They Kill My Father ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเข้าฉายแบบจำกัดโรงในอเมริกาเช่นกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 โดยทำเงินได้มากกว่าแปดแสนดอลลาร์

ส่วนสิงคโปร์ ได้ส่ง Pop Aye หรือป๊อปอาย มายเฟรนด์ เข้ามาชิงรางวัลนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ Pop Aye เคยได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ของสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ ให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะ Pop Aye เป็นเรื่องราวของคนไทย ถ่ายทำในเมืองไทยและใช้นักแสดงไทยทั้งหมด แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนโดยสิงคโปร์ และกำกับโดย คริสเต็น แทน ซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ก็ตาม

และในปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่ประเทศลาวได้ส่งภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสก้าร์ ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยลาวได้พิจารณาส่งภาพยนตร์แนวทริลเลอร์ เรื่อง Dearest Sister ของผู้กำกับหญิงคนแรกของลาว แมตตี้ โด

รางวัลออสก้าร์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปีนี้ มีภาพยนตร์ส่งเข้าประกวดมากถึง 92 เรื่อง โดยภาพยนตร์เหล่านี้จะถูกคัดเหลือเพียง 9 เรื่อง เรียกว่า Long list ในวันที่ 17 มกราคม 2018 และจากนั้นจะถูกคัดอีกครั้งจนเหลือ 5 เรื่อง เรียกว่า Short list ในอีกสัปดาห์ต่อมา โดยห้าเรื่องสุดท้ายสุดท้ายจะได้รับการประกาศชื่อในฐานะ “ผู้เข้าชิง” บนเวทีออสก้าร์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2018 ณ ดอลบี้ เธียร์เตอร์ ถนนฮอลลีวูด โดยมี จิมมี่ คิมเมล เป็นพิธีกร.

และกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยผ่านเข้ารอบ 9 เรื่องสุดท้าย หรือ long list มาก่อน โดยปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่ง อาปัติ มาชิงรางวัลออสก้าร์ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสก้าร์ คือ The Salesman ของประเทศอิหร่าน.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/111)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/63) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/159) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/245) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/263) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข