อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
‘ยูนิเซฟ’ชื่นชมไทย ‘แบน’โฆษณานมผง





แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : รอยเตอร์ตีข่าวกฎหมาย “มิลค์โค้ด” ของไทยที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า มีผลให้การโฆษณานมผงและอาหารเสริมเด็กอ่อน รวมถึงการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยบอกว่าได้รับเสียงชื่นชมจากยูนิเซฟว่าเป็นประเทศบุกเบิกของเอเชียในการแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลกยุคปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2017 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวเรื่อง “พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560” ของประเทศไทย ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน นี้ว่าเป็น “ก้าวที่สำคัญ” ของประเทศไทยในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ “นมแม่” ในการเลี้ยงทารกมากขึ้น และว่าปัจจุบันนี้ การให้ทารกดื่มนมผงหรืออาหารเสริมแทนนมแม่ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

รอยเตอร์ บอกว่าหลักสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก  (infant formula) ทั้งการโฆษณาทางตรงและทางอ้อม (ลด แลก แจก แถม รวมถึงการแจกสินค้าตัวอย่างตามโรงพยาบาล) โดยเด็ดขาด และว่าเป็นเรื่องที่ยูนิเซฟ หรือองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ แสดงความชื่นชม

“สำหรับประเทศไทย นี่คือก้าวที่ใหญ่มากในการป้องกัน และส่งเสริมการให้นมแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นชีวิต” รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย ซึ่งพยายามรณรงค์ให้ทารกได้รับนมแม่ (เพียงอย่างเดียว) ในช่วงหกเดือนแรก จากนั้นจึงให้นมแม่และอาหารเสริมอื่นๆ ต่อไปอีกจนทารกมีอายุครบสองปี

ยูนิเซฟระบุด้วยว่าประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ต่ำที่สุดในโลก โดยฐานข้อมูลปี 2016 บอกว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของทารกที่ได้รับนมแม่เพียง 12.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะ “คุณแม่ชาวไทย” ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงการทำตลาดแบบดุเดือดของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารก และจำนวนวันลาคลอด (maternity leave) ที่บังคับให้คุณแม่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอดทารกได้เพียงสามเดือน ดังนั้น การ “แบน” โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารก จึงถือเป็นเพียง “ก้าวแรก” ของประเทศไทยเท่านั้น

“เราจะต้องทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นทั้งทางเลือกที่ถูกต้อง และเป็นทางเลือกที่ง่ายควบคู่กันไป” ยูนิเซฟระบุ

รอยเตอร์ อ้างผลการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ออกเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม มาประกอบเรื่องนี้ด้วย โดยบอกว่าผลการศึกษาของยูเอ็น พบว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่ “ลงมือทำอย่างเพียงพอ” ในการช่วยเหลือให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจากอกเพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก โดยบอกว่า ยูเอ็น ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศทำการควบคุมการทำตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารก และผ่านกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มวันหยุดลาคลอดให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้วยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตของทารก ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งร่างกายและ “ไอคิว” และว่านอกจากจะเป็นการช่วยชีวิตทารกปีละนับแสนคนแล้ว ยังมีผลบวกในด้านเศรษฐกิจมหาศาลอีกด้วย

ข่าวบอกด้วยว่า ผู้หญิงไทย รวมถึงผู้หญิงในเอเชียทุกชาติ จะถูกตำหนิหากให้นมลูกในที่สาธารณะ แม้ว่าผลการสำรวจความเห็นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า ชาวเอเชียส่วนใหญ่ (9,000 คน) เห็นชอบกับกฎหมายคุ้มครองการให้นมทารกในที่สาธารณะก็ตาม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ มีสาระสำคัญว่า

-มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสม และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ตามมติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 63 ที่ให้แต่ละประเทศปรับปรุงให้เป็นกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะแม่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ผ่านวิธีการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ

-ทั้งนี้เนื่องจากช่วงวัยทารกและเด็กเล็กเป็นช่วงอายุที่บอบบาง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือนควรได้กินนมแม่อย่างเดียว และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัย

-อาหารสำหรับทารก และอาหารเสริมสำหรับทารก ควรจะใช้ในกรณีจำเป็น และใช้อย่างเหมาะสม  ดังนั้นการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ควรมีการควบคุมให้เป็นไปในลักษณะที่เหมาะสม ไม่โอ้อวดเกินจริง ไม่ชักจูงให้เกิดการใช้โดยไม่จำเป็น

-โดยมาตรา 14 กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับทารก ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กโดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณาที่มีลักษณะเชื่อมโยงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารกหรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก

-และมาตรา 25 กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารก ซึ่งคำว่า "โฆษณา" ตามกฎหมายฉบับนี้หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น หรือทราบข้อความ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ดังนั้น หากผู้ใดกระทำการโพสต์รูปหรือสื่อใดๆ อันเป็นการโฆษณาอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารกผ่านสื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัว หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข