ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ภาวนาคลายเครียด

กิจกรรม เป็นสื่อสำคัญ ที่จะรวบรวมประชาชนในชุมชนต่างๆให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความรักความผูกพัน กลมเกลียวเหนียวแน่น ร่วมมือร่วมใจกัน กิจกรรมที่ดีจะต้องเป็นกิจกรรมที่ทำง่าย ทำร่วมกันได้แทบจะทุกคนโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด เมื่อทำแล้วได้รับความสุขใจร่วมกันจากงานที่ทำนั้น ยิ่งทำร่วมกันมากเท่าไร ล้วนมีความสุขมากเท่านั้น ชุมชนเหนียวแน่นกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเท่านั้น


วัดพุทธปัญญา เป็นวัดเล็กๆบนเนื้อที่ไม่ถึงเอเคอร์ ชุมชนไทยรอบวัดมีน้อยมาก สมาชิกที่มาร่วมกิจกรรมส่วนมากก็มาจากที่อื่น จะต้องเดินทางระยะทางไกลๆ บางท่านเดินทางไปกลับเป็นร้อยไมล์ จึงนับเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาจากชุมชนที่มีความเข้าใจต่อกันอย่างแท้จริง

เคยมีความตั้งใจมานานว่า จุดหมายปลายทางของการสร้างวัดอยู่ที่การได้ฝึกจิตให้ความสงบมากขึ้น จึงได้เริ่มจับกลุ่มภาวนาขึ้นมาโดยเฉพาะ สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องภาวนาเป็นพิเศษได้มาภาวนาร่วมกัน จุดมุ่งหมายของการภาวนาเพื่อพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ที่รวดเร็วทัน ต่อการรับรู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ หวังไว้ว่า ความรู้สึกเท่าทันต่ออารมณ์ดังกล่าวนี้จะค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนแก่กล้าสามารถ รับ รู้ ดู เห็น ปล่อย วาง อารมณ์ต่างๆได้ทันท่วงที

การภาวนาที่วางใจได้ถูกที่จะนำกายใจไปสู่ความผ่อนคลายได้เริ่มต้นตั้งแต่ ตั้งความหวังว่า การทำสมาธิแต่ละครั้งขอให้ได้ความสงบ จะมากหรือน้อยก็ตามที เพราะความสงบเป็นบ่อเกิดแห่งคุณค่าของสิ่งทั้งปวง หากเรามองสิ่งต่างๆผ่านมุมสงบก็จะพบโลกที่สวยงาม รับประทานอาหารด้วยความสงบ อาหารจะอร่อยมาก สนทนากับเพื่อนฝูงมิตรสหายด้วยใจที่สงบ ก็จะเป็นการสนทนาที่เพลิดเพลินมาก ขับรถด้วยความสงบก็จะตั้งใจขับอย่างดีมีสติพร้อม เข้านอนในวันที่ใจสงบจะหลับลงได้ง่าย ไม่กระวนกระวาย นอนหลับไปไม่ฝันร้าย

มีผู้สนใจและร่วมภาวนาตั้งปัญหาถามข้อข้องใจว่า จะจับลมหายใจตรงไหนดี หลายครู หลายอาจารย์ หลายสำนัก ต่างมีวิธีจับลมหายใจที่แตกต่างกันออกไป วิธีการเหล่านี้ไม่มีถูก ไม่มีผิดตายตัว เป็นความถูกต้องที่แต่ละคนมีประสบการณ์มา นักภาวนาจึงไม่ควรไปดูหมิ่นใคร หรือ ตัดสินใครว่า ใช้องค์ภาวนาถูกหรือผิดอย่างไร เพียงแต่ยอมรับและทดลองดูความจริงก็อยู่ตรงนั้นปรากฏออกมาอย่างไรก็อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า “ผู้รู้พึงรู้ได้ด้วยตนเอง”

ถ้าจะพยายามจับลมให้อยู่หรือกำหนดลมให้ได้ด้วยความผ่อนคลาย ไร้ความเครียดหรือความกดดัน เป็นเรื่องดี เพราะลมหายใจเข้าออกต้องกำหนดรู้ ในการกำหนดรู้ ต้องค่อยๆศึกษาเรียนรู้ไปจะทำให้ได้ดั่งใจในชั่วลัดนิ้วมือหาได้ไม่ เพราะใจละเอียดและรวดเร็วเกินไป เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดด้วย เมื่อจับไม่อยู่แต่รู้ได้ก็คงจะดีมากในระดับหนึ่ง เปรียบเหมือนเครื่องบิน เวลาบินบนฟ้าทั้งเร็วทั้งไกลแต่ก็ยังตามดู ตามรู้ได้ไม่ยากนัก

การรู้จักลมหายใจก็เช่นเดียวกัน ทุกคนรู้จักลมหายใจดี เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะรู้ลมหายใจ ณ จุดใดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะรู้ชัด ณ จุดใด การอนุญาตให้ทุกคนหาจุดแห่งการรู้ลมหายใจได้อย่างอิสระ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความผ่อนคลาย ไม่เครียดไม่เกร็ง สติเฝ้าตามดูดีๆ อย่างน้อยๆทุกคนรู้เหมือนกันว่า กำลังหายใจ แม้รู้อย่างนี้ทุกลมหายใจเข้าออกก็ชื่อว่า กำลังรู้ลมหายใจเข้าออก

เมื่อใจรู้ว่า ลมหายใจเข้าออกมีอาการเป็นอย่างนั้นๆ และวางใจอยู่บริเวณกายนี้ ชื่อว่า กายคตาสติได้เพราะความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นไปในกายอยู่ นอกจากสติจะอยู่กับลมหายใจแล้ว สติยังรู้กายได้ในจุดใดจุดหนึ่งที่ปรากฏชัด เพียงแต่ไม่ปล่อยให้ลอยละล่องไปไกลจนลืมลมหายใจหรือลืมกายไปนานๆ

คำไทยที่พูดว่า อย่าลืมตัว สะท้อนถึงความคุ้นเคยของคนไทยที่มีต่อการภาวนาได้เป็นอย่างดี คือ ไม่ปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปจนลืมตัว ลืมกาย ไม่ปล่อยกายให้ต้องอยู่อย่างเดียวดาย

โอ้ใจเอ๋ยใจ เจ้าท่องเที่ยวไปที่ไหนมา

เจ้าไปที่ไกล เจ้าไปใกล้ เจ้าจงรีบกลับมาหา

สู่ห้องเคหา คือ กายที่คอยเจ้าอยู่ตลอดเวลา

การเฝ้าตามดูรู้เห็นด้วยความผ่อนคลาย หรือ รู้สึกอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นด้วยการดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน และรู้เป็นปัจจุบัน เป็นไปด้วยความสุภาพอ่อนโยน ไม่แน่นเกินไป ไม่เบาเกินไป เหมือนจับลูกไก่ตัวน้อยๆถ้าจับแน่นเกินไป ลูกไก่ก็จะแหลกคามือ ถ้าจับเบาเกินไป ลูกไก่ก็จะกระโดดหลุดออกไปจากมือหนีไปต่อหน้า การกำหนดรู้จึงต้องเป็นไปอย่างอ่อนโยนและพอดี

พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่า “มัตตัญญุตา สทา สาธุ การรู้จักประมาณเป็นความดี ทุกเมื่อ”  แม้แต่การภาวนาอันเป็นสาระสำคัญที่มีแต่เรื่องดีๆก็ยังต้องการความพอดี

พระอานนท์มหาเถระ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้รอบรู้ ในกิจการพระพุทธศาสนารอบด้าน แต่พอท่านภาวนาด้วยความหวังว่าจะให้บรรลุพระอรหันต์ทันการเข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัย จึงเร่งความเพียรอย่างหนักจนเกินไป ก็ยังไม่บรรลุ พอมาถึงจุดหนึ่งที่ท่านผ่อนความเพียรลง เพื่อพักผ่อน เข้าสู่จุดพอดีและผ่อนคลายยิ่ง ระหว่างที่ท่านเอนกายลงพักผ่อนศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน เท้ายกขึ้นจากพื้น ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ในจุดที่พอดีที่สุด โดยไม่มีท่าที่ชัดเจน บรรดาครูอาจารย์ที่สอนอนุพุทธประวัติเลยผูกปัญหาถามกันว่า พระอรหันต์รูปใดที่บรรลุธรรมระหว่างอิริยาบถทั้งสี่ คือ ไม่ใช่ขณะยืน ไม่ใช่ขณะเดิน ไม่ใช่ขณะนั่ง ไม่ใช่ขณะนอนอยู่ แล้วผู้ตั้งคำถามก็เฉลยว่า พระอานนท์ พิจารณาดูก็เห็นจริงตามนั้น ท่านบรรลุธรรมเมื่อถึงจุดที่พอดีนั่นเอง

บางครั้งการภาวนาก็ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก นั่งกันแบบสบายๆ และผ่อนคลาย ไม่ปล่อยใจให้ลืม ให้เผลอ อยู่ใกล้ๆตัวเข้าไว้ก็เป็นอันใช้ได้เหมือนกัน

ทุกวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ ชาววัดพุทธปัญญากลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันภาวนากันเป็นประจำเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายและเป็นสุข ไม่มีผลข้างเคียงที่จะนำมาซึ่งความเครียดแต่อย่างใด นับเป็นการคลายเครียดด้วยวิธีง่ายๆไม่ต้องจ่ายเงินซื้อยาสลายความเครียด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสลายความเครียด ว่างจากการงานเมื่อไรเดินเข้าห้องนอนของตนหรือสถานที่ที่คิดว่าเงียบพอแล้วใช้ตัวรู้อยู่กับตนเอง ในที่สุดก็จะประจักษ์ชัดว่า ความสุขที่มาจากการพึ่งตนเองเป็นความสุขแท้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุขอื่นยิ่งกว่า ความสงบไม่มี ความสงบนี้ออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยสติที่ตนเจริญขึ้นมาสอดคล้องกับพระพุทธภาษิตว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน”

อานิสงส์แห่งภาวนามีมากเท่าไรขอแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ถึงซึ่งความสุขสงบแท้ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.00 น.



















 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2808) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/649) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/614) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/683) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/671) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข