ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : ปลอม “เฟซบุ๊ก” หลอกตังค์เพื่อน (เรา)


การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือ privacy setting ของเฟซบุ๊ก




ตัวอย่างบทสนทนาของมิจฉาชีพที่กำลังพยายามหลอกลวงเหยื่อ







ช่วงประมาณเดือนที่ผ่านมา ได้ยินว่าเฟซบุ๊กของคนรู้จักหลายคนบอกว่าถูกมือดี “แฮก” แล้วจัดการส่งข้อความขอความช่วยเหลือเรื่องเงินจากเพื่อนเฟซบุ๊ก อ้างว่าเดือดร้อนโน่นนั่นนี่ รวมถึงบอกว่ากำลังกลับเมืองไทย ไม่มีเวลาแลกเงินเตรียมเอาไว้ ฯลฯ


ถือเป็นวิวัฒนาการที่คนโกงเชื้อชาติไทยก้าวตามต่างชาติมาห่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ เคยเห็นแต่มีการหลอกด้วยกันภาษาอังกฤษ เช่นอยู่ๆ พี่ชวพจน์ ถุงสุวรรณ ที่ปรึกษาของสยามทาวน์ฯ ก็ส่งข้อความเป็นภาษาอังกฤษมาทางเฟซบุ๊ก บอกว่าถูกขโมยกระเป๋าระหว่างเท่ียวยุโรป ขอให้ช่วยโอนเงินด่วนให้หน่อย...

ถือว่าเป็น “สแกม” ที่ไม่ได้ผล เพราะบรรดามิจฉาชีพเหล่านี้ไม่รู้จักภาษาไทย พอถามไปว่า “พี่ไปยุโรปตอนไหน ก็เพิ่งเจอกันในงานอีสานบอลล์เมื่อหัวค่ำนี่เอง” ชวพจน์ ถุงสุวรรณ ตัวปลอม ก็อ่านออก ตอบไม่ได้...

แต่พอเปลี่ยนมาเป็นคนไทยด้วยกันเอง กลโกงเก่าๆ แบบนี้ก็ดูแนบเนียนขึ้น... ข่าวว่ามีคนที่หลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพพวกนี้จริงๆ ด้วย

ส่วนใหญ่แล้ว กลโกงแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีการ “แฮก” เฟซบุ๊กใครให้เสียเวลา ด้วยว่าสามารถเปิดเฟซบุ๊กในชื่อของคนๆ นั้นได้อยู่แล้ว จากนั้นก็เข้าไปเซฟรูปของตัวจริงมาทำโปรไฟน์ หรือโพสต์สเตตัสสักสองสามรูป พอให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นก็ไล่ดูรายชื่อเพื่อนๆ ของเหยื่อเพื่อขอ “แอดเฟรนส์” ใครกดรับก็ทักไปเลย หากถามว่าทำไมเปิดเฟซใหม่ คำตอบแบบอัดเทปคือ “มือถือเก่าหาย จำพาสเวิร์ดเฟซบุ๊กไม่ได้ เลยเปิดใหม่เลย”

คุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบแบบกว้างๆ สักสองสามคำแล้วก็เข้าเรื่อง “เออ... ผมมีเรื่องให้ช่วยนิดหนึ่ง ไม่รู้ว่าคุณพอจะช่วยได้ไหม”

ส่วนหนึ่งก็ “โป๊ะแตก” ตั้งแต่ตอนนี้ “กูกับมึงมาตลอด อยู่ๆ มาผมกับคุณ... “

แต่จะว่าไป หากมิจฉาชีพพวกนี้สามารถหลอกให้ใครสักคน ยอมขับรถไปเซเว่นอีเลเว่น (เดี๋ยวนั้น) เพื่อโอนเงินให้ให้จริงๆ ก็ต้องบอกว่า “มันเก่งมาก” เพราะสามารถทำให้เหยื่อเชื่อได้ว่าเป็นเพื่อนที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ ทั้งๆ มันที่ไม่รู้จัก ไม่ข้อมูลอะไรเลย ทั้งข้อมูลของคนที่ตัวเองกำลังสวมรอย หรือข้อมูลของเหยื่อที่ตัวเองกำลังหลอกลวง

หรือจะมองในทางกลับกันว่าเหยื่อไม่ฉลาดก็ได้... (แต่ไม่อยากมอง... สงสาร)

เจ้าของเฟซบุ๊กทั่วไปก็สามารถป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยการเข้าไปตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy เสียใหม่ คือให้เฉพาะ “เพื่อน” เห็นข้อมูลบนเฟซบุ๊กเรา ตั้งแต่ที่เกิด ที่เรียน ที่ทำงาน รวมไปถึงข้อความและรูปที่เราโพสต์

แล้วก็อย่าลืมตั้งค่ารายชื่อเพื่อนเฟซบุ๊กของเราด้วย อย่าให้เป็น public

ถ้าตั้งค่าแบบนี้ รูปเดียวที่มิจฉาชีพเซฟไปใช้ได้ก็คือรูปโปรไฟน์ของเรา

แต่เอาไปก็ไม่มีความหมาย เพราะมันไม่เห็นรายชื่อเพื่อนของเรา...

หากใครเจอปัญหาเฟซบุ๊กปลอมในลักษณะที่บอกมาก็ให้แก้ไขปัญหาสองขั้นตอน หนึ่งคือแจ้งเฟซบุ๊กให้ปิดเฟซปลอมซะ โดยการเปิดเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา แล้วกด “รีพอร์ต” ได้เลย จากนั้นก็เข้าไปตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาขโมยรูปไปเปิดเฟซปลอมได้อีก

ถ้าเจอแค่นี้ จะว่าไปแล้วน่าจะถือเป็นเรื่องสนุกซะอีก... เพราะเท่ากับมีเรื่องตื่นเต้นที่เรียกยอดไลค์ หรือคอมเมนท์เยอะแยะมาโพสต์บนเฟซบุ๊กของเรา หลังจากที่โพสต์แต่รูปอาหาร ดอกไม้ หรืออะไรที่ซ้ำๆ มานานนน

แต่ที่ “น่ากลัว” มากคือการที่เฟซบุ๊กของเราถูกแฮกจริงๆ หมายถึงมีการส่งข้อความออกไปจากเพจของเราจริงๆ ไม่ใช่เปิดเพจปลอมอย่างที่ว่ามา... เพราะนั่นหมายถึงว่ามิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างบนเฟซบุ๊ก ทั้งข้อมูลที่เป็นพับลิก และไพรเวท....

เห็นข่าวท่านรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกมาเตือนประชาชนในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เห็นว่ากำลัง “อินเทรนส์” ก็เลยขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ... ข่าวบอกว่า...

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะ "เฟซบุ๊ก" กลายเป็นเป้าหมายในการแฮกข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งมีคดีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยการแฮกเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นได้จากหลายกรณี อาทิ การถูกแฮกโดยแฮกเกอร์ ถูกคนรู้จักแฮก หรือโทรศัพท์มือถือหาย เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นได้รับความเสียหายทั้งสิ้น

สำหรับวิธีการป้องกันการถูกแฮกข้อมูลบนเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นั้น มีดังนี้

1.พยายามอย่าทำโทรศัพท์มือถือหาย

2.อย่าบันทึกรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ไว้ในบราวเซอร์ของคอมพิวเตอร์

3. ควรเลือกใช้ Wi-Fi ของผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะถูกดักรหัสผ่านได้ ดังนั้น วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้อินเทอร์เน็ต 3G/4G ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ

4.ควรใช้งานเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะดีที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือ PC (ยกเว้นเป็นเครื่อง PC ส่วนตัวที่บ้าน)

5.เพิ่มเบอร์โทรศัพท์บุคคลที่เราไว้ใจได้ เช่น พ่อแม่ ลงในบัญชีเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้งาน เพื่อเอาไว้ยืนยันกรณีลืมรหัสผ่าน หรือกรณีที่เฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นมีปัญหาไม่สามารถเข้าใช้งานได้

6.อย่าใส่เบอร์โทรศัพท์ของสมาร์ทโฟน ที่มีบัญชีเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ เพราะหากผู้ไม่หวังดีครอบครองโทรศัพท์ของท่าน ก็จะสามารถเปลี่ยนรหัสผ่าน พร้อมให้ส่งรหัสใหม่เข้ามาในโทรศัพท์เครื่องนั้นได้ ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพได้เฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ของท่านไปใช้

7.พยายามเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ

และ 8.ตั้งรหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ยาก

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการถูกแฮกข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ที่ดีที่สุด คือ อย่าไว้ใจใครและ ไม่ควรให้รหัสผ่าน หรือฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับผู้อื่น รวมทั้งไม่ควรให้ข้อมูลที่สำคัญไว้ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันขาด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา...

ขอให้มีความสุข สนุกสนาน และปลอดภัยกับการ “เล่น” เฟซบุ๊กทุกคนนะครับ...

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/55)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/61) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/157) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/245) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/262) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข