ข่าวคนไทยในอเมริกา
บทความหน้าสาม : สัมภาษณ์ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด


ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร




 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (ขวา), ศักดิ์ชัย อัศวินอานันท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และ กอร์ปกุล วินิจฉัยภาค อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ขณะบรรยายให้ความรู้กับชาวไทยในลอส แอนเจลิส ณ สถานกงสุลใหญ่ฯ เมื่อสายวันอังคารที่  18 กรกฎาคม 2017




เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2017 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม นำโดย ร.ต.ต..พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด จัดบรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายสำหรับคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงให้คำปรึกษาแบบส่วนตัวกับผู้มีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายไทย ณ ห้องประชุมชั้นสองของสถานกงสุลใหญ่ฯ มีประชาชนและผู้แทนจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพอสมควร


ในโอกาสนี้ สยามทาวน์ยูเอส มีโอกาสได้สัมภาษณ์ อัยการสูงสุด ถึงการนำคณะอัยการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เดินทางมาบรรยายให้ความรู้ รวมถึงให้คำปรึกษากับชาวไทยในแคลิฟอร์เนียครั้งนี้ โดยอัยการสูงสุดกล่าวว่า

“สำนักงานของเรามีภารกิจหลักอยู่สามอย่างนะครับ อย่างแรกที่คนส่วนใหญ่จะรู้กันดีอยู่แล้วก็คือเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา และบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม คือการดำเนินคดีกับผู้ร้าย เอาคนผิดส่งฟ้องศาลอะไรพวกนี้ อย่างที่สองคือรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง ฟ้องร้องในกรณีรัฐเสียผลประโยชน์ เรื่องสัญญาหรือเรื่องอะไรก็ตาม และภารกิจที่สามคือด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ”

อัยการสูงสุดกล่าวด้วยว่า สำนักงานที่รับผิดชอบภารกิจหลักประการที่สาม คือสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ซึ่งเราจะมีสำนักงานสาขาอยู่ทั่วทุกจังหวัดเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและทั่วถึง

“แต่ตอนหลังก็มีการพัฒนาขึ้นนะครับ เพราะเราเห็นว่าปัจจุบันมีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ยุโรปและอเมริกา มีคนไทยเป็นจำนวนมากที่มาปักหลักทำงานอยู่นะครับ จึงเกิดมีสำนักงานเพิ่มขึ้นมาเป็นสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (สฝคป.) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกมายังประเทศต่างๆ ที่มีคนไทยอยู่ จะจัดทีมมาเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายด้วยในเรื่องที่คนไทยในต่างประเทศควรจะรู้ และนอกจากมาบรรยายให้ความรู้แล้วนี่  เรายังจะเปิดคลินิค มีการถามตอบสำหรับคนไทยที่มีปัญหา หรือมีข้อสงสัยของตัวเอง โดยจะถามระหว่างการบรรยายก็ได้ เพื่อให้คนอื่นได้รับความรู้ไปด้วย หรือถ้าหากว่าอยากจะถามเป็นการส่วนตัว เป็นความลับหน่อยก็จะมีการจัดโต๊ะ แยกออกไปให้มีโอกาสได้คุยกับอัยการโดยตรง นี่คือบริการของเราตามโครงการนี้ โดยเราออกมาทุกปี แต่ละปีก็จะมีทั้งที่ยุโรป และที่อเมริกา สองแห่งนี้จะมากที่สุด เพราะมีคนไทยเยอะกว่าที่อื่นๆ”

โดย “โครงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนไทยในต่างประเทศ ณ สหรัฐอเมริกา” ครั้งนี้ ทีมงานของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ได้เปิดให้บริการกับประชาชนไทยในสี่จุด เริ่มจากที่ซานฟรานซิสโก ณ วัดซานฟรานธัมมาราม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ต่อด้วยที่วัดมงคลรัตนาราม เมืองเบิร์คเลย์ ในวันที่ 15 กรกฎาคม, วัดพุทธจักรมงคลรัตนาราม เอสคอนดิโด้ (ซานดิเอโก้) ในวันที่ 16 กรกฎาคม และ ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2017

“ตั้งแต่ครั้งแรกเลย ที่ซานฟรานฯ ก็มีคนไทยมาเยอะ มาเยอะจนเราดีใจว่าโครงการของเราได้รับความสนใจพอสมควร ถือว่างานบรรลุวัตถุประสงค์ในระดับหนึ่ง การบรรยายก็เน้นไปที่กฎหมายสำคัญๆ ที่เราคิดว่าคนไทยในต่างแดนน่าจะสนใจ เช่นกฎหมายมรดก กฎหมายสัญชาติ การรับราชการทหาร ต่างๆ เหล่านี้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือการเปิดคลินิคตอบข้อสงสัยแบบตัวต่อตัว ในกรณีที่เขาอยากจะปรึกษานะครับ โดยคำถามที่เจอเยอะที่สุดก็คือเรื่องมรดกที่เขามีอยู่เมืองไทย เรื่องบุตรบุญธรรมก็มี หรือถามว่ามาอยู่ที่นี่แล้วเขาจะเสียสิทธิ์อะไรที่เมืองไทยบ้าง อะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่คำถามก็คล้ายๆ กันทุกที่ ที่ยุโรปก็เหมือนกัน ปัญหาแบบเดียวกัน”

ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ จะมาเปิดสำนักงานเล็กๆ ในเมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่หนาแน่น เช่นลอส แอนเจลิส ได้รับคำตอบว่าเคยมีการพูดคุยกันในสำนักงานเหมือนกัน แต่ยังติดขัดกับปัญหาอีกหลายเรื่อง

“เคยมีสมัยหนึ่ง คิดกันว่าจะส่งอัยการมาประจำเลย ที่ไหนที่มีความต้องการมากๆ นะครับ แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่อัตรากำลังส่วนหนึ่ง และเรื่องของงบประมาณด้วย ก็เลยยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ผมคิดว่าต่อไปข้างหน้านะครับ ถ้าตรงนี้มันกลายเป็นที่ต้องการขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะมีสาขา มาอยู่ที่สถานทูต สถานกงสุล อะไรแบบนี้ แต่เวลานี้เราก็จะจัดคณะมาทุกปีอยู่แล้ว โดยเราจะพยายามจัดกิจกรรมให้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้คนสะดวกที่สุด มีผู้มาใช้บริการมากที่สุด ยกเว้นว่ามันไม่ลงตัวจริงๆ”

นอกจากนี้ ร.ต.ต..พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ยังกล่าวด้วยว่าคนไทยนอกราชอาณาจักร สามารถขอคำปรึกษากับสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ์ประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานได้ ที www.humanrights.ago.go.th หรืออีเมล์ humanright@ago.go.th โดยทางสำนักงานฯ จะตอบคำถาม หรือให้คำปรึกษาอย่างละเอียดและรวดเร็ว...

.......

ล้อมกรอบ : อัยการสูงสุดพูดถึง “เณรคำ”

ร.ต.ต..พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ซึ่งนำคณะมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายให้กับคนไทยในลอส แอนเจลิส ตามโครงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนไทยในสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์สยามทาวน์ยูเอส เมื่อสายวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2017 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส โดยกล่าวว่าระหว่างการให้สัมภาษณ์นั้น คณะของ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงษ์ ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทสและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กำลังนำตัว “เณรคำ” หรือนายวิรพล สุขผล เดินทางไปยังสนามบินนานาชาติลอส แอนเจลิส (แอลเอเอ็กซ์) เพื่อเดินทางกลับไปพิจารณาคดีที่ประเทศไทย โดยเครื่องบินจะออกในเวลาประมาณ 13.10 น.

เกี่ยวกับกรณีของ “เณรคำ” นั้น อัยการสูงสุดกล่าวออกตัวว่า ตนไม่รู้เรื่องในเชิงลึก เพราะการประสานงานกับรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง

“ก็รู้สึกยินดีที่เรื่องมาถึงจุดนี้ได้ เพราะมันผ่านมานานหลายปี คนก็บ่นว่าเรามัวแต่ทำอะไรกันอยู่ ชักช้า คือมันมีขั้นตอนของมัน เริ่มจากมีการดำเนินคดีกันที่เมืองไทย คือเมื่อส่งฟ้องไปแล้วไม่ได้ตัวมา ก็มีการออกหมายจับ ภายหลังสืบทราบว่ามาอยู่สหรัฐอเมริกา ก็เลยมีการดำเนินการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการขอให้ส่งตัวกลับ และทำเรื่องส่งมาทางนี้ ที่มันช้าเป็นเพราะทางนี้เขาก็ต้องพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าทำเรื่องมาปุ๊บแล้วจะได้เลย ไม่ใช่  มันมีขั้นตอนที่จะต้องรวบรวม ข้อมูลหลักฐานที่ทางนี้เขาต้องการเอามาให้เขาพิจารณาด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้นี่แหละที่ทำให้ช้า เพราะต้องรวบรวม ทะยอยส่งมาให้เรื่อยๆ”

ถามว่าที่ผ่านมา อัยการสูงสุดมั่นใจหรือไม่ว่าจะได้ตัวนายวิรพล สุขผล กลับไปดำเนินคดีที่เมืองไทย ได้รับคำตอบว่าค่อนข้างมั่นใจ เพราะคดีที่มีคำสั่งฟ้องเป็นคดีอาญาร้ายแรง เช่นฟอกเงิน ฉ้อโกงและกระทำชำเราผู้เยาว์ ซึ่งเป็นคดีที่ทางการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกว่าคดีอื่นๆ ผิดกับกรณีอื่นๆ เช่นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญ

ถามว่าจากความผิดของอดีตพระเณรคำ น่าจะต้องรับโทษจำคุกนานขนาดไหน อัยการสูงสุดตอบว่าแต่ละข้อหาล้วนมีโทษร้ายแรง

“แต่ก็ต้องดูฐานความผิดด้วย ที่จะฟ้องนี่มันมีอะไรบ้าง นั่นแหละถึงจะทราบว่าโทษอะไร มาตราอะไร   แต่ดูเฉพาะคดีกระทำชำเราผู้เยาว์ต่ำกว่า 15 ปีนะ แต่ถ้าจาก มาตรา 277 นี่โทษจำคุกสูงสุดก็จะอยู่ระหว่าง 4-20 ปี ปรับระหว่าง 80,000 ถึง 400,000 บาท แล้วก็มีข้อหาอื่นๆ อีก”

อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดกล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่าข้อหากระทำชำเราผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 นั้น ยังไม่ปรากฎชัดเจน แม้ว่าในข่าวจะบอกว่ามีการส่งฟ้องแล้วก็ตาม แต่จริงๆ แล้วยังไม่ได้ฟ้องศาล อัยการมีแค่คำสั่งฟ้องไว้เฉยๆ เท่านั้น แต่เชื่อว่าเมื่ออดีตพระเณรคำถึงเมืองไทยก็จะทำการส่งฟ้องต่อไป

ถามในประเด็นทรัพย์สินที่อดีตพระเณรคำเคยให้สัมภาษณ์ (กับนายจอม เพชรประดับ) เมื่อเดือนกันยายน 2015 ว่าได้ลักลอบนำออกมามากมาย รวมถึงบอกว่าได้ใช้จ่ายไประหว่างอยู่ในอเมริกามากกว่า 30 ล้านดอลลาร์แล้วนั้น อัยการสูงสุดกล่าวว่าก็น่าจะอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีฟอกเงิน

“ก็น่าจะต้องมีการติดตามยึดทรัพย์คืนต่อไป ถ้าทรัพย์สินพวกนี้ได้มาจากการทำผิดในส่วนนั้น ก็น่าจะต้องมีการประสานงานกับทางนี้ต่อไปอีกที” อัยการสูงสุดกล่าว.

ถามว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยินยอมให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับเมืองไทย ทำให้ภาพพจน์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้นหรือไม่ อัยการสูงสุดกล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นเรื่องของกฎหมายมากกว่า ถ้าทุกอย่างตรงกับสิ่งที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ สหรัฐฯ ก็คงไม่ปฏิเสธ แต่กระนั่นก็ตาม หากจะมองว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ ก็น่าจะมองได้ เพราะมันคือการทำงานร่วมกันของรัฐบาลสองประเทศ.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข