ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ฝันที่เป็นจริง


ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ กำลังสนทนาธรรมกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ บริเวณไทยทาวน์ ฮอลลีวูด มหานครลอสแองเจลิส ก่อนออกบิณฑบาตประจำวันเสาร์




คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียนไตรมิตรสามัคคี




ดร.พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร กำลังบรรยายธรรมแก่นักเรียนชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า




นักเรียนตั้งใจฟังธรรม




นักเรียนตั้งใจฟังธรรม




ดร.นภาพรและคุณพรพรรณ คณะเดินทางจาริกแสวงบุญครั้งนี้




ดร.พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร กำลังบรรยายธรรมแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่วาก




คณะครู นักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนบ้านแม่วาก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่




รอยยิ้มอันประกอบด้วยกรุณาของพระภิกษุผู้สื่อความรักจากฟากฟ้าอเมริกาสู่ฟากฟ้าไทย




โดย : ดร.พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร

ในความเข้าใจของผู้เขียนคิดว่าความฝันมีอยู่สองประเภท คือฝันแท้และฝันเทียม ดุจฝนแท้และฝนเทียม ยังไงยังงั้นเลย

ในขณะที่ฝันแท้เกิดขึ้นในช่วงที่เรานอนหลับ ฝันเทียมกลับเกิดในขณะยามที่เราตื่น ฝันแท้ไร้อำนาจการควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปได้ดั่งใจของผู้ฝัน เช่น ในฝันว่าถูกผีหลอก เจ้าของฝันก็จะพยายามวิ่งหนีผี แต่ปรากฏว่า การเร่งสปีดฝีเท้าเพื่อไม่ให้ผีไล่ทัน กลับทำได้ยากยิ่งนักและถึงขั้นทำไม่ได้เอาเสียเลย ฝันแท้จึงมีความเป็นนามธรรมที่สูงยิ่งเมื่อเทียบกับฝันเทียม เฉกเช่นฝนแท้มักจะถูกกำหนดด้วยความชื้นของอากาศ หากความชื้นสัมพัทธ์ไม่เพียงพอก็ยากที่จะเกิดฝน แต่ฝนเทียมหรือจะเรียกให้ถูกตามความเป็น original เดิมก็คือ ฝนหลวง จะถูกกำหนดด้วยระบบคิดของมนุษย์ที่ถูกถ่ายโอนสู่การปฏิบัติการ เมื่อองค์ประกอบครบถ้วน น้ำฝนก็เทลงมาในนามของฝนเทียม เมื่อน้ำปรากฏบนภาคพื้นกสิกรรมใดๆ ก็เกิดขึ้นได้ เหตุดังนี้ ฝนเทียมจึงมีความเป็นไปได้สูงบนฐานคิดและการกระทำของมนุษย์ ฝันแท้ที่ปรากฏในขณะยามหลับยากแท้ที่จะเป็นจริง แต่ฝันที่เรามโนขึ้นในยามตื่นมักจะเป็นจริงได้ ถ้าเหตุปัจจัยที่เราสร้างนั้นพร้อม

ผู้เขียนเป็นศิษย์รุ่นน้องของอาจารย์ ดร.พระมหา จรรยา สุทฺธิญาโณ ซึ่งอยู่ร่วมใต้ชายคาพุทธธรรมเดียวกันมามากกว่า 3 ทศวรรษแล้ว ต่างมีความฝันร่วมกันในขณะตื่นเมื่อหลายสิบปีที่แล้วว่า “สักวันหนึ่งเราสองรูปจะจาริกท่องเที่ยวไปเพื่อขอบรรยายธรรมในสถานศึกษาและโรงเรียนที่ห่างไกลบนผืนแผ่นดินไทย เมื่อบรรยายเสร็จแล้วเราจะขอมอบเงินให้กับสถานที่นั้นๆ แห่งละอย่างน้อยหนึ่งหมื่นบาท”

เราทั้งสองต่างก็เฝ้าฟูมฟักรักษาถนอมฝันร่วมกันเรื่อยมา และแล้วช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ฝันเทียมที่เรากำหนดกันขึ้นก็เป็นจริงจนได้ และนี่คือที่มาของชื่อเรื่องบทความว่า “ฝันที่เป็นจริง”

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2560 ผู้เขียนและคณะของ ดร.นภาพร วิจารณ์ปรีชา ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน อาจารย์ ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ ให้เดินทางไปมอบเงินจำนวน 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท) แก่โรงเรียนไตรมิตรสามัคคี ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนตัวน้อยๆ

ณ ที่นั้น คณะของเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งจากคณะครู นักเรียน และนักการเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ตลอดถึงคณะกรรมการโรงเรียนและชาวบ้านที่ทราบข่าวการมาของเรา เมื่อถึงพิธีมอบเงินทุนจำนวนดังกล่าว สิ่งที่จะลืมไม่ได้ที่ปรากฏในฝันเทียมคือ การบรรยายให้เด็กๆ ได้ฟังพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน ณ ตรงนั้น เมื่อบรรยายเสร็จแล้วจึงได้มอบเงินให้กับโรงเรียนเป็นเสร็จพิธี   นี่คือเหตุการณ์หนึ่งที่ยืนยันว่า ฝันเทียมที่เราฝันร่วมกันมาเป็นจริงได้ สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม

อีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมาคือวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560 คณะเดิมคนเดิมก็ได้เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการเดียวกันกับโรงเรียนแรกที่อำเภอสบปราบ นั่นคือ การจัดมอบเงินแห่งละ 40,000 บาท ให้กับ (1) ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า (2) โรงเรียนแม่วาก และ (3) โรงเรียนพุทธเกษตรขุนยวม เราปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นทั้งสามแห่งภายในวันเดียวกัน คณะของเราจึงเดินทางกลับถิ่นฐานในห้วงเวลาที่มืดค่ำแล้ว ด้วยระยะทางไปกลับเกือบ 250 กิโลเมตร

หากจะถามว่า เหนื่อยมั้ย ตอบว่า เหนื่อย แต่ก็มีความสุขมากถึงมากที่สุด คุ้มมั้ย ตอบว่า คุ้มมากๆ คุ้มมากจริงๆ เพราะ (หนึ่ง) ฝันที่เป็นเหมือนปณิธานที่เราตั้งวางไว้ร่วมกันนั้นเป็นจริงจนได้ (สอง) สิ่งที่เราได้ไปมอบให้กับโรงเรียนแต่ละแห่งนั้นมิใช่แค่เพียงเงินที่เป็นวัตถุเท่านั้น หากแต่มันคือ กำลังใจ กำลังความคิด ความหวัง ความอบอุ่นและแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ ที่เป็นรูปธรรมจับต้องสัมผัสได้ และแน่นอนสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมิได้หากปราศจากแรงศรัทธาของคณะชนที่ไหลบ่าสู่โครงการ “รักษ์โลก รักน้อง” ที่ก่อตั้งโดย อาจารย์ ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสแห่งวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า แคลิฟอร์เนีย

และถ้าจะถามต่อไปอีกนิดว่า สวรรค์มีจริงหรือไม่บนโลกใบนี้   ตอบได้ตามหลักพุทธศาสตร์และวิชาศาสตร์ได้เลยว่า มีจริง เพราะการเดินทางไปมอบทุนการศึกษารวมสองแสนกว่าบาทแก่โรงเรียนและสถานศึกษาทั้ง 4 แห่งครั้งนี้ ราบรื่น ไร้อุปสรรคกีดขวางใดๆ ทั้งสิ้น     หากจะมีบ้างก็คือสายหมอกที่ปกคลุมถนนและสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านไป แต่นั่นก็ทำให้เราจินตนาการอย่างมีความสุขว่า คณะของเรากำลังโลดแล่นอย่างแสนสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์วิมานบน อีกสายฝนเล่าที่โปรยปรายลงมาเป็นช่วงๆ ก็เป็นเหมือนดั่งเทพไท้เทวาจะเมตตาช่วยบรรเทาคลายร้อนให้กับทุกชีวิตที่ร่วมเดินทางให้รื่นเริงหรรษาอย่างพรรณนามิรู้จบ

สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายให้เด็กๆ และผู้ร่วมงานทุกแห่งฟัง ก็จะยึดหลัก concept ของความรักเป็นเนื้อหาหลักในการบรรยาย เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างเสริมทัศนคติที่ดีงามแก่เด็กๆ เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมมนุษย์อย่างทรงคุณค่าและมีความหมายยิ่ง ตามแก่นสาระของโครงการ “รักษ์โลก รักน้อง”     

การรักษ์โลก คือการรักษาสภาพแวดล้อมของโลกทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตให้อยู่ในสภาพที่พึงประสงค์ ให้สิ่งแวดล้อมของโลกสะอาดสดใสไร้มลพิษ โดยการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เช่น ขยะที่เราต้องทิ้ง ต้องศึกษาเรียนรู้ให้ได้ว่า ส่วนไหนชิ้นใดสามารถนำมา recycle แปรรูปเป็นทุนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เพื่อลดปริมาณขยะที่นับวันจะล้นโลกและช่วยสร้างบรรยากาศที่พึงปรารถนาแก่มนุษยชาติ ตลอดถึงการลดทอนการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำลายทรัพยากรอื่นใดให้น้อยลง เพื่อสร้างความเขียวขจีแก่ผืนโลก ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือ โลกนี้จะสะอาดสดใสตามที่เราจินตนาการ

การรักษ์โลกนั้น ต้องเริ่มจากตัวเราซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ทุกคนพึงยึดหลักพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การหวังพึ่งพาการช่วยเหลือจากคนอื่น แหล่งอื่น จะทำให้เราอ่อนแอจนมิอาจพึ่งตนได้อย่างถาวร    แม้หลักการสังคมสงเคราะห์ทั่วโลกก็ยังยึดหลักว่า Help those who help themselves จงช่วยพวกเขาเพื่อเขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืนยิ่งนัก

ชีวิตที่เราได้มา โอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นมอบให้ คือต้นทุน สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือการต่อยอดแนวคิดให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ทำได้ดังนี้ เราจะกลายเป็นคน กลุ่มคน และชุมชนที่ควรได้รับการช่วยเหลือตลอดไป นี่คือนิยามของการ “รักษ์โลก” แบบเชิงพุทธอย่างแท้จริง

เมื่อเราพึ่งพาอาศัยตนเองได้แล้ว มีความมั่นคงทั้งทางวัตถุ เงินทอง สังคม สติปัญญา วิชาความรู้ คุณธรรมและจิตใจแล้ว ก็อย่าลืมที่จะผองถ่ายแบ่งปันสิ่งที่เรามีบ้างแล้วหรือพร้อมแล้วให้กับเยาวชนคนรุ่นต่อๆ ไปอีก เหมือนดังที่พวกเราได้รับในขณะนี้ นี่คือนิยามของคำว่า “รักน้อง”

ความประทับใจที่เราได้รับและรู้เห็นก็หลากหลายในบริบทที่แตกต่างกัน     ที่โรงเรียนไตรมิตรสามัคคี ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ นั้น นอกเหนือจากการได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแล้ว เรายังได้รับการบอกเล่าจากผู้บริหารโรงเรียนว่า สถานศึกษาแห่งนี้เป็นโรงเรียนเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน และเคยเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางด้านการกีฬา และความเป็นเลิศทางด้านวิชาความรู้ เป็นสถานที่เพาะบ่มฝึกฝนพัฒนาเด็กอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Academy นั่นเอง    หลักฐานที่พิสูจน์ทราบชัดก็คือ เด็กๆ ในอดีตที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงและมีหน้าที่การงานดีทำในสังคมเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่จบแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ครูบาอาจารย์ดีกรีระดับดอกเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมายหลายสาขา

สิ่งที่น่าประทับใจและน่าชื่นชมปราบปลื้มเป็นอย่างมากก็คือ พวกเขาเหล่านั้น ต่างก็แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสถานศึกษาแห่งนี้อยู่มิขาด ในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียน และการมาทุกครั้งมักจะมีอะไรๆ ติดไม้ติดมือมามอบให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่อยู่เสมอ อย่างวันที่เราไปนั้น คุณแอ้วซึ่งเป็นพยาบาลในตำแหน่งระดับสูงของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร ก็ได้ร่วมเดินทางไปกับเราด้วย และถือโอกาสเล่าความเป็นมาของตัวเองที่เติบโตไปจากโรงเรียนแห่งนี้ให้เด็กๆ ฟัง เพื่อเป็นการจุดประกายฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เสกสรรปั้นแต่งพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

ณ ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เราได้พบกับคุณครูสิงหา แซ่ตึ้ง และคุณครูปิยราช สมบัติ โดยเฉพาะคุณครูสิงหาซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของที่นี่ อาจารย์ท่านนี้อยู่ที่นี่มาหลายปีไม่ย้ายหนีจากไปไหน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ เหตุเพราะความผูกพันกับเด็กๆ ที่คุณครูกับคณะได้พร่ำสอน และได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของเด็กๆ หลายต่อหลายรุ่น แกเล่าว่ารู้สึกมีแรงผลักดันทุกครั้งที่ใครต่อใครไปสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ณ ชุมชนการเรียนรู้แห่งนี้เสมอมา จึงไม่อยากจากเด็กๆ ไปไหน ฟังแล้วน่าชื่นใจยิ่งนัก  

แทบจะทุกแห่งที่เราไป ก็จะมีชาวบ้านใกล้เคียงทั้งที่เป็นกรรมการของโรงเรียนและผู้ปกครองของเด็กนักเรียนซึ่งทราบข่าวการมามอบทุนของเรา ก็จะพากันมาต้อนรับ และได้รับรู้ถึงวัตถุประสงค์การมาของเราอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน จนสามารถสร้างรอยยิ้มและความพึงพอใจให้ปรากฏบนใบหน้าของผู้คนเหล่านั้นได้

การไปมอบทุนในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น คณะเราได้รับการต้อนรับด้วยอาหารเพลและอาหารกลางวันแบบอาหารท้องถิ่น เช่น น้ำพริกถั่วเน่าอันเลื่องชื่อของอำเภอแม่แจ่ม พร้อมผักนึ่งเครื่องเคียงอย่างครบถ้วน และที่สำคัญซึ่งขาดไม่ได้คือ เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะ อาหารเมนูจานเด็ดประจำฤดูกาล ที่ใครไม่รู้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษซะไพเราะเพราะพริ้งว่า The earth stars ซึ่งก็น่าจะแปลได้ในภาคไทยว่า “ดาวดิน” นั่นเอง และยิ่งเมื่อรู้ว่าเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะที่ทางโรงเรียนแม่วากนำมาต้อนรับนั้น ได้มาจากการที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนได้หาเจอขณะกำลังดายหญ้าในขณะที่เราไปถึงนั้น ก็ยิ่งทำให้เห็ดเผาะจานนั้นมีคุณค่าที่คู่ควรแก่การรับประทานเป็นอย่างยิ่ง และทำให้ยิ่งประจักษ์ชัดว่า นี่คือสวรรค์บนดินชัดๆ เลย

โรงเรียนสุดท้ายที่เราไปมอบทุนคือโรงเรียนพุทธเกษตร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอขุนยวม และห่างไกลจากโรงเรียนที่สองที่เราไปมอบทุนถึงเกือบ 90 กิโลเมตร เมื่อเราไปถึงจวนจะสี่โมงเย็นแล้ว เด็กๆ และคณะครูต่างก็ตั้งตารอคอยการมาเยือนของคณะเรา คงจะตั้งแต่เช้าเลยแหล่ะ เพราะสังเกตเห็นความอิดระโหยโรยแรงของเด็กๆ และคุณครูได้อย่างชัดเจน มีเด็กระดับประถมสี่ห้าคนถึงกับหลับฟุบไปต่อหน้าต่อตาเมื่อเราเริ่มพิธีมอบทุน หากเป็นภาษาอีสานต้องบอกว่า เป๋นต๋าฮักหลายเด้อ

ณ โรงเรียนพุทธเกษตรขุนยวมแห่งนี้ เราได้พบกับพระรูปหนึ่ง ชื่อพระเจริญพัฒนา ปวฑฺฒโณ ท่านเป็นทั้งอาจารย์ใหญ่และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ท่านเองมีพื้นเพเดิมอยู่แถวจังหวัดทางภาคอีสาน ท่านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนมีโอกาสได้เห็นเด็กๆ ที่จบจากนี่แล้วไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้วหลายคนก็กลับมาช่วยพัฒนาสอนน้องๆ ต่ออีกหลายรุ่น

ปัจจุบัน โรงเรียนพุทธเกษตรขุนยวมแห่งนี้มีนักเรียนชายจำนวน 47 คน นักเรียนหญิง 33 คน รวม 80 คน เป็นโรงเรียนแบบขยายโอกาสและกินนอน มีเด็กเพียง 3 คนเท่านั้นที่ไปกลับ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 3 เด็กๆ จำนวนรวม 80 คนนี้มาจากหลายๆ พื้นที่ของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และมีบางส่วนที่มาจากพม่า

เพราะเป็นโรงเรียนในสังกัดของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นค่าจ้างครู ซึ่งมีครูรวมอยู่ทั้งหมด 9 คน ครูผู้หญิง 5 คน ครูผู้ชาย 3 คน รวมพระด้วย 1 รูปคือตัวท่านพระเจริญพัฒนา ปวฑฺฒโณ อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหารจัดการทุกอย่าง เช่นอาหารการกิน และอื่นๆ อีกจิปาถะ

โรงเรียนแห่งนี้ ยึดหลักปรัชญาว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” เด็กๆ จะถูกฝึกให้รู้จักการพึ่งพาตนเองตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจแบบพอเพียงของในหลวง มีการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงวัว การเพาะเห็ด ปลูกผักนานาชนิด ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และที่สำคัญคือปลูกข้าวกินเองบนพื้นที่ 40 ไร่ ที่พระอาจารย์ชัยยศ ชยยโส ผู้ก่อตั้งโรงเรียนได้หาไว้ให้ในนามมูลนิธิ ผลผลิตจากระบบกสิกรรมทั้งหมดของที่นี่ เมื่อมีออกมาแล้วจะเน้นเพื่อการบริโภคกันเองเป็นประการแรก หากมีเหลือก็นำไปขาย แล้วนำเอาเงินนั้นกลับมาหมุนเวียนเพื่อการบริหารจัดการภายในโรงเรียนต่อไป เป็นโรงเรียนที่ไม่ยืนเอามือมากอดอกแล้วรอคอยการมาช่วยเหลือจากผู้อื่น สมกับเป็นพุทธสาวกโดยแท้   

เหตุการณ์ทั้งหมดจากทั้งสองทริป นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากน้ำจิตน้ำใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ในอเมริกาของท่านอาจารย์ ดร.พระมหา จรรยา สุทฺธิญาโณ ที่ได้ช่วยกันจัดตั้งกองผ้าป่าขึ้นเพื่อการนี้ อีกทั้งยังได้ทำการคัดแยกขยะแล้วนำไปขาย แปรรูปเป็นเงินแล้วนำมาเป็นทุนมอบให้กับโรงเรียนทั้ง 4 แห่งในถิ่นทุรกันดารซึ่งห่างไกลความเจริญเป็นประจำทุกปีมา

ผู้เขียนขอแสดงความซาบซึ้งใจและขอบคุณแทนน้องๆ เด็กๆ ที่อยู่ชายขอบทางการศึกษาเหล่านั้นด้วยถ้อยคำเหล่านี้ว่า “ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณที่กรุณา เมตตาหยิบยื่นสิ่งสูงค่ามาให้ พวกหนูไม่มีอะไร นอกจากน้ำใจขอบคุณ ขอบคุณ” และโดยส่วนตัวของผู้เขียนเอง ก็ขอขอบคุณมายังศิษยานุศิษย์ทุกท่านของอาจารย์ ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ ที่ได้เติมเต็มความฝันของผู้เขียนให้สมบูรณ์จนกลายเป็น “ฝันที่เป็นจริง” ตราบ ณ เวลานี้.

ดร.พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร
1 มิถุนายน 2560 

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2822) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข