ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
อาจริยบูชาหลวงพ่อพุทธทาส ในวาระชาตกาล 111 ปี














อาตมาจะงดอาหารหนึ่งวันและศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสแบบเต็มๆ ทุกๆปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม อันเป็นวันตรงกับวันเกิดของหลวงพ่อพุทธทาสเวียนมาถึง เพราะมีศรัทธาท่านเป็นการส่วนตัวทั้งในปฏิปทาการจัดงานวันเกิดที่เรียกว่า วันล้ออายุ และ ชีวิตพรหมจรรย์ที่สวยงามตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด วัดของท่านทั้งที่สวนโมกข์เก่าและสวนโมกข์ใหม่ ล้วนเป็นต้นแบบแห่งความเรียบง่ายที่สัมผัสได้ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ อันสะท้อนถึงปณิธานข้อสามของท่านที่ว่า นำตนออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยมอย่างแท้จริง


ปีนี้พี่น้องพุทธบริษัท 7 คนจากวัดพุทธธรรม เมืองวิลโลบรูค รวมตัวกันแสดงเจตนารมณ์อันเป็นกุศลมาร่วมงานอาจริยบูชา 111 ปีชาตกาลหลวงพ่อพุทธทาสด้วยการเจริญภาวนา และศึกษาชีวิตและงานของหลวงพ่อพุทธทาสร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 26-30 พฤษภาคม 2560 ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองไนล์ รัฐมิชิแกน ต้องขอขอบคุณ พระอธิการรัตน์ รัตนโชโต เจ้าของสถานที่ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

กิจกรรมหลักของงานอาจริยบูชาครั้งนี้ เน้นหนักในเรื่องการเจริญสมาธิภาวนา นั่ง ยืน และเดิน สลับกันไปเพื่อการเพิ่มสติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญาให้มากขึ้น

วิธีปฏิบัติภาวนา ได้ประสานคำบรรยายเรื่องวิปัสสนาแบบลัดสั้นของหลวงพ่อพุทธทาสและของหลวงพ่อชาเข้าด้วยกัน เพราะหลวงพ่อทั้งสองสอนอานาปานสติภาวนาและสติปัฏฐานด้วยกันทั้งคู่ วิธีปฏิบัติอันเป็นเคล็ดต่างๆที่ทำให้ง่ายขึ้นของทั้งสองท่านล้วนปลุกใจนักภาวนาให้เข้าสู่ความตื่นรู้เบิกบานเป็นเป้าหมาย วิธีการอธิบายของอาจารย์ใหญ่ทั้งสองท่านเป็นธรรมชาติที่ทุกคนสามารถฝึกได้

หลวงพ่อพุทธทาสอธิบายวิธีกำหนดลมหายใจ ลงไปตามความจริง ที่ปรากฏจากประสบการณ์ ที่รู้สึกได้ มิใช่ท่องจำและบริกรรม แต่สติพบลมหายใจอย่างไรกำหนดอย่างนั้นตรงไปตรงมาตามอาการที่ปรากฏขึ้น และท่านชี้ให้ด้วยว่า ลมหายใจออกเข้าที่หายใจแต่ละครั้ง ล้วนมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ติดตามมาด้วยเสมอ

เมื่อสติกำหนดลมหายใจจนสนิทสงบดีแล้วก็เฝ้าดูต่อว่า มีความคิดอะไรปรากฏขึ้นมา เป็นความทรงจำก็เป็น สัญญา เป็นความคิดอะไรต่างๆก็เป็นสังขาร หากรับรู้สิ่งที่เข้ามาสัมผัสทางใจ เรียกว่า วิญญาณ แปลว่า การรับรู้ หลวงพ่อเน้นว่า แม้อาการอย่างนี้เกิดขึ้นก็กำหนดรู้ตามที่ปรากฏ แล้วก็จะดับไป เกิดเท่าไร ดับเท่านั้น

คำอธิบายของหลวงพ่อพุทธทาส เชื่อมโยงสู่ขันธ์5 และไตรลักษณ์ได้อย่างกลมกลืน คำบรรยายของท่านจึงเป็นสมถะและวิปัสสนาครบถ้วนตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังสมาธิให้มีขึ้น เมื่อสมาธิมีขึ้นแล้วจะเห็นตามความเป็นจริง

จิตที่แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เป็นสมถะ คือสงบแล้ว

ส่วนสติสัมปชัญญะที่อาศัยจิตเป็นสมาธิพิจารณาการเกิดดับแห่งขันธ์ห้าเรียกว่า วิปัสสนา ท่านผู้สนใจติดตามเรื่องนี้เปิดยูทูป เรื่อง วิปัสสนาลัดสั้น ฟังได้

หลวงพ่อชา ได้ให้อุบายวิธี กำหนดลมหายใจไว้ว่า เบื้องต้น ควรกำหนดลมหายใจผ่านความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่ชัดเจนที่สุด หลวงพ่อแบ่งลมเป็นสามส่วนคือ ลมกระทบริมฝีปาก เรียกว่าต้นลม  ลมที่ผ่านความกระเพื่อมที่หน้าอก เรียกว่า กลางลม และบริเวณท้องตรงสะดือเรียกว่า ปลายลม

ท่านอธิบายว่าต้นลม กำหนดที่ปลายจมูก กลางลมกำหนดที่หน้าอก และปลายลม กำหนดที่ท้องตรงสะดือ ท่านชี้จุดแบบนี้

หลวงพ่อสอนต่อไปว่า พอสติจับจุดกำหนดได้ชัดเจนจิตแนบแน่นกับลมหายใจดีแล้วก็ ก็ละกลางลมและปลายลม ให้เหลือจุดกำหนดที่ ริมฝีปากใกล้จมูก อันเป็นต้นลมจุดเดียวก็พอ

ขณะที่กำหนดนั้นไม่ต้องบังคับลมหายใจ ปล่อยไปตามธรรมชาติเว้นเสียแต่ว่า ถ้าจิตฟุ้งเกินไปก็หายใจให้ยาวเต็มที่ติดต่อกันจนจิตอยู่กับลมหายใจอย่างชัดเจน ตั้งสติแน่วแน่ เมื่อใจออกไปคิดอะไรก็บอกตนเองว่า ไม่ไป ไม่ใช่ ไม่เอา ไม่ใช่ธุระนั้น พอสติรู้อย่างนี้ จิตที่แอบออกไปก็จะกลับมาตรงจุดกำหนดเหมือนเดิม เมื่อจิตปกติแล้วก็เฝ้าดูต่อด้วยความระมัดระวัง

การภาวนาจึงได้แก่ การระมัดระวัง ตั้งใจ ไม่เผลอให้จิตท่องเที่ยวไปไกล ทำจิตให้แนบแน่นอยู่กับลมหายใจและกาย

หลวงพ่อชาอุปมาว่า การภาวนา คือการฝึกจิตให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ เหมือนขังไก่ไว้ในกรง ไก่อาจจะเดินไปมาบ้างแต่ก็ยังอยู่ในกรง

การภาวนาก็เหมือนกัน แม้จิตจะหลุดจากลมหายใจไปจับความรู้สึกจุดต่างๆที่กายบ้างก็ได้ จากหัวลงมาถึงเท้า ปรากฏอย่างไรก็รู้อย่างนั้น

คำอธิบายของหลวงพ่อใหญ่ทั้งสองท่านล้วนตรงตามพระพุทธวาจาที่ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำสมาธิให้มีขึ้น เมื่อสมาธิมีแล้วจะเห็นตามความเป็นจริง”

จุดกำหนด คือ ลมหายใจ หรือ จุดอื่นๆที่กำหนดต้องจริงแท้ทุกจุด
เมื่อนำภาวนาวิธีของท่านอาจารย์ใหญ่ทั้งสองมาปฏิบัติแล้ว จะได้พบลักษณะแห่งสมาธิอย่างครบถ้วนคือ

1 จิตมั่นคง คือจิตแนบแน่นกับลมหายใจ ไม่หวั่นไหว

2 จิตบริสุทธิ์ ขณะที่จิตแนบแน่นกับลมหายใจกิเลสไม่เข้ามาแทรกเพราะมีสติและสัมปชัญญะคอยระวังอย่างหนาแน่น

3 จิตอ่อนโยน เมื่อจิตแนบแน่นเพียงลมหายใจ ไม่ดิ้นรนจิตจะสุภาพอ่อนโยนยิ่งนัก รู้สึกปลอดโปร่งเยือกเย็นอย่างที่สุด

4 จิตตื่นตัวและพร้อม เมื่อจิตอ่อนโยนมีความพร้อมที่ต้อนรับอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาสู่การรับรู้ด้วยสภาวะแห่ง การรับรู้ ดู เห็น ปล่อยวาง อย่างมีประสิทธิภาพ

เวลาแห่งการภาวนาตามแนวทางที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้แนะไว้และนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องประดุจการทดลองฝึกจิตอย่างจริงจังทำให้ผู้ฝึก มีสติเพิ่มมากขึ้น สงบเพิ่มมากขึ้น พบกับความผ่อนคลายทางใจ สัมผัสจิตที่ว่างจากกิเลส แต่มีสติครองได้ชัดเจน มีปัญญากำหนดรู้ว่า แหล่งกำเนิดแห่งสุขหรือทุกข์ทั้งปวงไม่ว่าจะมาจากเหตุปัจจัยอะไร คือ ใจนี่เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้” ต้องการสุขแท้ภายในที่สร้างขึ้นได้เองไม่ต้องซื้อหา ลองมาฝึกจิตกันเถิด แม้ยังฝึกจิตยังไม่ถึงขั้นสูงสุดอย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่การเริ่มลงมือฝึกจิตก็เป็นความดีในตัวดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การฝึกจิตเป็นความดีนี้แล”

ขอส่งความปรารถนาดีมายังท่านสาธุชนทั้งหลายที่เกิดมาแสวงหาความสุขลองมาแสวงหาภาวนาสุขและสันติสุขดูบ้างแล้วท่านจะยอมรับด้วยตนเองว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ขออวยพรให้ท่านผู้แสวงหาสันติสุขจงพบสันติสุขโดยพลันด้วยเทอญ

29 พฤษภาคม 60 เวลา 8.53 น.
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองไนล์ รัฐมิชิแกน

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2827) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข