บทความหน้าสาม
สิ้น “ราเยส คานนา” และความดับสูญของ “หนังแขก” ในเมืองไทย


ราเยส คานนา




ใบปิด "ช้างเพื่อนแก้ว" ภาพยนตร์ของ ราเยส คานนา ที่คนไทยรู้จักกันดี







โดย : ภาณุพล รักแต่งาม


การเสียชิวิตของ “ราเยส คานนา” หรือ Vinod Khanna ดาราและนักการเมืองของอินเดียวัย 70 ปี กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับนานาชาติ ทั้งจากความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ “บอลลีวูด” และจากความยิ่งใหญ่ของตัว ราเยส คานนา เอง

เขาเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ที่ 27 เมษายน

ซีเอ็นเอ็น บอกว่าดาราอินเดียคนนี้คือ “ซูเปอร์สตาร์” คนแรกของวงการหนังอินเดีย รวมถึงบอกว่า เขามีส่วนอย่างมากในการผลักดันหนังอินเดียให้ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก

เป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์กว่า 170 เรื่อง ในช่วงเวลาประมาณสี่สิบปีที่อยู่ในวงการ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ชื่อของ ราเยส คานนา บนใบปิด กลายเป็นเครื่องรับประกันรายได้ของผู้สร้างไป

ซีเอ็นเอ็น บอกด้วยว่าเขาเป็น “ฮาร์ททรูป” หรือดาราขวัญใจสาวๆ คนแรกๆ ของโลก เป็น “ราชาแห่งหนังโรแมนซ์” เป็นที่คลั่งไคล้ของสาวๆ พร้อมบอกว่าในยุคที่เขากำลัง “พีก” สุดๆ นั้น มีข่าวอยู่เนืองๆ ว่ามีผู้หญิงแต่งงานกับรูปถ่ายของเขา เขียนจดหมายรักด้วยเลือดตัวเองถึงเขา และที่น่าสะพรึงที่สุดคือมีข่าวผู้หญิงหลายคนฆ่าตัวตาย เมื่อทราบว่าเขาเข้าพิธีแต่งงานเมื่อปี 1973...

ปี 1997 ราเยส คานนา เข้าร่วมพรรค Bharatiya Janata Party และเริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ เรื่อยมา โดยครั้งสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุ คือการคว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในปี 2014 ในตำแหน่งที่เรียกว่า 16th Loksabha เขตเลือกตั้ง Gurdaspur ในรัฐปันจาบ

แม้จะไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ จากผลงานของเขา แต่ความยิ่งใหญ่และคุณูปการต่อวงการหนังอินเดียของ ราเยส คานนา ก็ทำให้สถาบันภาพยนตร์ของอินเดีย (IIFA) มอบรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award ให้เขาเมื่อปี 2009

ราเยส คานนา เข้ารับการรักษาตัวจากโรคมะเร็งเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา

ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมหนังอินเดีย ที่เรียกกันว่า “บอลลีวูด” ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจากฮอลลีวูด มีผลงานเด่นๆ ถูกเลือกมาฉายให้ชาวอมริกันได้ดูกันในโรงแทบทุกปี รวมถึงผ่านเข้าคัดเลือกเข้ารอบ “ช็อตลิสต์” ในหัวข้อ “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม” รางวัลออสก้าร์บ่อยมากด้วย

แต่ที่เมืองไทยเรา หนังอินเดีย ที่ถูกเรียกติดปากว่า “หนังแขก” เข้าไปครองตลาดมานานแล้ว...

บล็อคเกอร์เกี่ยวกับภาพยนตร์คนหนึ่ง ชื่อ “วิน” เคยเขียนบทความ “ที่มาหนังอินเดียในไทย” เอาไว้น่าสนใจ เขาบอกว่าหนังอินเดียเข้าไปฉายเมืองไทยตั้งแต่สมัยหนัง 16 ม.ม.ขาวดำ ตั้งแต่ยุค 2500 โน่ย โดยนางเอกยอดฮิตยุคนั้นคือ นีรู ปารอย พระเอกก็ มหิปาล / ราช การ์ปู / เมห์มูด ดาราตลก นางระบำยอดฮิตคือ เฮเลน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังแนวเทพเจ้า ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

โรงหนังในกรุงเทพฯ ที่ฉายหนังอินเดียเป็นหลักคือโรงหนังเท็กซัส (อยู่ถนนระหว่างเยาวราช เชื่อม เจริญกรุง) สมัยนั้น หนังอินเดียได้รับความนิยมอย่างสูง สูงกว่าหนังจีนเยอะ มีผู้จัดจำหน่ายหนังอินเดียหลายเจ้า เช่นอินเดียฟิล์ม ดีวันจันทร์ ซึ่งนายห้างปักหลักอยู่หลังเฉลิมกรุง ยุคนั้นมีหนังอินเดียเป็นโกดัง

ต่อมาหนังอินเดียมีการพัฒนาจากหนังขาวดำมาเป็นหนังสีในบางฉาก เช่นเฉพาะฉากเพลง ก่อนจะกลายมาเป็นภาพยนตร์สีสวยตลอดทั้งเรื่อง โดยหนังอินเดียที่สะกดอารมน์และบีบน้ำตาผู้ชมไดมากที่สุด คงไม่มีเรื่องใดเกิน “ธรณีกรรแสง” ( MOTHER INDIA)

ก้าวสูยุคหนัง 35 ม.ม. หนังอินเดียก็พัฒนาขึ้น ดาราดังๆ ยุคต่อมาที่แฟนชาวไทยนิยมชมชอบคือ คือ ราเยส คานนา กับ มุมตัส ที่ต้องมาคู่เหมือน “มิตร-เพชรา” ของบ้านเรา เพราะเรื่องไหนที่มีดาราคู่นี้แสดง คนดูก็พร้อมควักเงินซื้อตั๋วกันแบบไม่ต้องคิดมากทันที

หนังอินเดียที่สร้างประวัติการณ์การฉายยาวนาน และทำรายได้ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดมหาศาลคือ “ช้างเพื่อนแก้ว” ทำลายสถิติทุกแห่งที่ฉาย พระเอกเรื่องนี้คือ ราเยส คานนา คู่กับ ตนุยา มุคาจี (ไม่ใช่ เฮม่า มาลินี) และบรรดาช้างแสนรู้อีกหลายเชือก

หนังเรื่องนี้ทำให้นักพากย์ฝีปากเอก ทิวา – ราตรี เจ้าของหนัง กลายเป็นมหาเศรษฐี

หนังอินเดียยุต 35 มม ปักหลักฉายที่โรงหนังควีนส์ วังบูรพา และ โรงหนัง บางกอก ย่านราชปรารภ หนังอินเดียดังๆ นั้น ถ้าออกเดินสายสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แถมเพลงในหนังก็ถูกนำมาใส่เนื้อร้องไทยจนโด่งดังมากมาย เช่นเพลง ธรณีชีวิต, มนต์เสียงเพลง ที่ได้นักร้องดังอย่าง ชาตรี ศรีชล และยุพิน แพรทอง มาร้องคู่กัน หรือ รอยรักรอยมลทิน จากหนังดังที่มุมตัส แสดงได้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร นำมาขับร้องเนื้อไทย กำหัวใจคนดูคนฟังไปทั่วประเทศ

แต่เมื่อสังคมเศรษฐกิจแปรเปลี่ยน โรงฉายหนังแบบ ‘สแตนด์อโลน’ (คือตั้งอยู่โดดๆ ไม่อยู่ตามศูนย์การค้า) ทะยอยปิดตัว รวมถึงโรงหนังที่ฉายหนังอินเดียเป็นหลักอย่าง เท็กซัส, ควีนส์ ด้วย

ครั้นถึงยุคโลกาภิวัตน์ หนังอินเดียพัฒนาไปมากทั้งเทคนิคการสร้าง การถ่ายทำ โปรดักชั่นที่มีมาตรฐาน จนกระทั่งเมืองบอมเบย์ ฐานผลิตหนังอินเดียที่ใหญ่ที่สุด ได้รับการขนานนามว่า “บอลลีวูด” สามารถเปิดตลาดไปทั่วโลก ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ก้าวสู่ระดับอินเตอร์ หนังอินเดียบางเรื่องพูดภาษาอังกฤษ และคว้ารางวัลจากการประกวดระดับนานาชาติเยอะแยะมากมาย

แต่หนังอินเดียที่เคยเป็นขวัญใจผู้ชมชาวไทย กลับลดน้อยไปจากตลาดไทย โดยถูกทดแทนด้วยหนังจีน และหนังฝรั่งที่เหรดเข้ายึดครองโรงหนัง ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด รวมทั้งทีวีทุกช่องด้วย

สาเหตุมีหลายประการ เริ่มรสนิยมของผู้ชม ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงหนัง จนถึงผู้จัดจำหน่าย และสายหนัง

ในช่วงปี 2510 เป็นต้นมา หนังจีนจากฮ่องกง โดยเฉพาะของค่ายชอว์บราเดอร์ เริ่มได้รับความนิยม ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในเมืองไทยคือ ยูเนี่ยนโอเดียน มีออฟฟิศอยู่ที่โรงหนังนิวโอเดียน ปัจจุบันก็คือตรงวงเวียนโอเดียนที่มีประตูศิลปะจีนหัวถนนย่านเยาวราช โรงฉายหลักก็นิวโอเดียน ส่วนหนังฝรั่งก็มีตัวแทนจากเมืองนอกมาจัดจำหน่าย ออฟฟิศอยู่ย่านสีลมที่เรียกว่า”ตึกหนัง” กระจายหนังฉายหลายโรง อาทิ พาราเมาท์ เมโทร ย่านประตูน้ำ คิงส์ แกรนด์ ย่านวังบูรพา

หนังญี่ปุ่น ปักหลักฉายที่โรงหนังแคปปิตอล ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่คือ แคปปิตอลฟิล์ม ดาราญี่ปุ่นยุคนั้นที่ดังๆ อาทิ โตชิโร มิฟูเน่ (คู่บุญของยอดผู้กำกับ คูโรซาว่า แห่งเจ็ดเซียนซามูไร) โย ชิชิโด อาคีระ โคบายาชิ

ส่วนหนังไทยก็ฉายอยู่ เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เฉลิมไทย เฉลิมเขตต์ เอ็มไพร์

ต่อมามีโรงหนังใหม่เกิดขึ้นยุคโรงหนังเฟื่องฟู เช่น เพชรรามา (ประตูน้ำ) เอเธนส์ (ราชเทวี) โคลีเซี่ยม (ยมราช) และต่อมาย่านสยามสแควร์ โรงหนังขนาดใหญ่เกิดขึ้นโดยค่ายสยามมหรสพ คือ สยาม ลิโด สกาล่า ที่ฉายหนังคัดเกรด ทั้งที่ซื้อเองละหนังจากค่ายฝรั่ง และต่อมาได้ผนวกกิจการโรงหนังกับโรงค่ายฮอลีวูด โคลีเซี่ยม พาราเมาท์เป็นเครือพีรามิด ทำให้มีศักยภาพด้านการตลาดและอำนาจต่อรองมากขึ้น

พร้อมๆ กับมีโรงหนังชานเมือง หรือที่เรียกว่าโรงหนังชั้นสอง ส่วนใหญ่เป็นของค่าย พูนวรลักษณ์ เจ้าของโรง เพชรรามา แมคเคนน่า (เชิงสะพานหัวช้าง) และโรงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า”เพชร” อาทิ เพชรรามา เพชรเอ็มไพร์ แม้กระทั่ง เพชรพรานนก นอกจากนั้น ที่ดังๆ ก็มีเช่น มงคลราม่า พหลโยธินรามา (ย่านสะพานควาย) เป็นต้น ซึ่งโรงหนังชานเมืองดัง ๆ ในยุคนั้น ถือเป็น ”รายได้สำคัญ” รองลงมาจากโรงใหญ่ เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงที่สำคัญเช่นกัน

ที่ยกเรื่องโรงหนังชั้นหนึ่ง และโรงหนังชั้นสอง มากล่าวก็เพื่อให้เห็นภาพรวมของ”ธุรกิจ” โรงหนังในกรุงเทพฯ ว่าอยู่ในวงจำกัดของไม่กี่ตระกูล และค่อย ๆ ผนวกรวมกันเหลือเพียงไม่กี่เจ้า

“ผู้จัดจำหน่าย” หนังชาติต่าง ๆ มีการแข่งขันและพัฒนาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นหนังอินเดียที่อยู่ในวงแคบและมักเป็นธุรกิจของชาวอินเดียและคนในวงใน เช่น เคยพากย์หนังอินเดียมาก่อน

ส่วน ”สายหนัง” ที่ทำด้านซื้อหนังออกฉายต่างจังหวัด ในยุคที่หนังอินเดียเฟื่องฟูก็พอไปได้ แต่ก็ต้องรับภาระด้านค่าพากย์ที่ต้องใช้ชายจริง หญิงแท้ เนื่องจากหนังอินเดียมีบทเจรจาของผู้หญิงมาก ผิดกับหนังฝรั่งใช้นักพากย์ชายเป็นหลัก สามารถใช้นักพากย์ชายคนเดียวเหมาทั้งพระเอก นางเอก เพื่อนพระเอก เพื่อนนางเอก นางอิจฉา ยันพ่อตาแม่ยาย…


สายหนังต่างจังหวัดรายใหญ่สมัยก่อน จะซื้อหนังไทยเป็นหลัก ส่วนหนังอินเดีย จะมีสายหนังรายย่อยที่น้อยพาวเวอร์รับไป เมื่อออกเร่ฉายก็ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องโรงฉาย วันฉาย รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้

เมื่อการตลาด การโปรโมทโดยภาพรวมหนังอินเดีย ขาดช่วง ขาดงบ ขาดการกระตุ้น การสนับสนุนจึงทำให้ไม่เวิร์ค ตลาดโดยรวมทั้งในกรุงและต่างจังหวัดจึงค่อยๆ ละลายไปจนแทบไม่เหลือ

ในขณะที่โรงหนังที่เคยฉายหนังอินเดียเช่น เท็กซัส ต้องปิดกิจการ โรงหนังควีนส์ ย่านวังบูรพา และโรงหนังบางกอก ( แถวมักกะสัน ) ที่เคยฉายหนังอินเดียเป็นประจำก็ต้องแปรเปลี่ยนเป็นโรงฉายหนัง 2 เรื่องควบ และโรยราในที่สุด

หนังอินเดียจะได้ฉายโรงเมืองไทยก็ต้องเป็นหนังที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เช่น โชเล่ย์ หรือรักข้าเหนือชีวิต (Khuda Gawha) ที่เข้าฉายโรงหนังแอมบาสเดอร์ สะพานขาว

เมื่อยุคโรงหนังแบบตั้งเดี่ยวถดถอยลง โรงหนังในย่านศูนย์การค้าผุดขึ้น ค่ายใหญ่วางเครือข่ายโรงหนังครอบคลุมไปทั่วกรุงและชานเมือง เทรนด์ใหม่ของโรงหนังคือเน้นไปที่ตลาดวัยรุ่น คนเดินห้างช้อปปิ้ง นักเรียนนักศึกษา คนหนุ่มสาว

กระแสความนิยมตะวันตก ทำให้เด็กไทยรู้จักนักฟุตบอลอังกฤษดีกว่านักบอลไทย เช่นเดียวกับ ฟาสต์ฟูด ที่แพร่หลายไปตามห้างสรรพสินค้า ในขณะเดียวกับที่ข้าวแกงยังขายริมถนน โรตีต้องเข็นรถขายตามซอย ตามตลาดชุมชน

“การตลาด สมัยใหม่” ยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้า สื่อสารมวลชนเข้ามามีบทบาท การสร้างภาพลักษณ์ สร้าง”แบรนด์” เป็นสูตรสำคัญของการผลักดันสินค้า

แนวฝรั่งพี่ไทยก็เดินตามแฟชั่นเขาเรียบร้อยไปแล้ว ต่อมาญี่ปุ่นจะไปทางไหน วัยรุ่นไทยก็ไปด้วย แถมเกาหลี จีน ไต้หวัน ละอ่อนไทยรับได้หมด

แต่การตลาดหนังอินเดียในไทยไม่ค่อยกระเตื้อง เพราะ “ภาพลักษณ์“ หนังอินเดียในไทยยังคงเป็นภาพของหนังประเภท “นาร๊าย นาราย” หรือไม่ก็เป็นภาพพระเอกนางเอก (ตัวกลมๆ) ร้องเพลงวิ่งข้ามเขา 3 – 4 ลูก ฉากบู๊ก็ต่อยกันเฉียดไปเฉียดมา ทั้ง ๆ ที่หนังอินเดียยุคใหม่ก้าวไปไกล ทั้งเนื้อหา รูปแบบ การลงทุน การถ่ายทำ การแสดง หรืองานโพสต์โปรดั๊กชั่น เช่นเอ็ฟเฟ็กซ์ และโปรโมชั่น ฯลฯ

หนังอินเดียหลายเรื่อง เช่น Veer-Zaara, Swades, Yuwa, Dhoom, Monsoon Wedding สามารถฉายได้ทั่วโลก

ทางออกของหนังอินเดียในเมืองไทย เท่าที่ปรากฏคือ ออกฉายทางทีวีทั้งซีรี่ส์และหนังเรื่อง แต่ก็กระปริบกระปอย เทียบอัตราส่วนกับหนังจีน หนังญี่ปุ่น เกาหลีแล้ว ผิดกันลิบลับ ทั้งๆ ที่อินเดียผลิตหนังต่อปีมากที่สุดในโลก และวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยก็มีรากมาจากอินเดีย

ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้หนังอินเดียในไทยปัจจุบันจะมีมาฉายเฉพาะกิจเฉพาะกาล เช่น ตามงานเทศกาลหนังนานาชาติ เทศกาลหนังอินเดีย หรือจัดฉายเป็นรอบพิเศษ (รอบเช้าเสาร์ – อาทิตย์ ) แต่ก็เป็นไปเพื่อเอาใจชาวอินเดียในกรุงเทพฯ มากกว่าคนไทยทั่วไป...

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
22-05-2023 แผนกสูตินรีเวชของ APHCV จัดเสนอบริการรับฝากครรภ์ที่ศูนย์สุขภาพลอสเฟลิซให้แก่ชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว (0/1522) 
05-05-2023 รายงาน : เปิดหมายกำหนดการและขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (0/408) 
30-01-2023 รายงาน : สรุปเทรนด์ตลาดและธุรกิจปี 2565 ในสหรัฐฯ และแนวโน้มปี 2566 (0/860) 
29-09-2022 เพื่อช่วยบุตรหลานของท่านในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแสดงออกที่โรงเรียน ให้ดียิ่งขึ้น (0/995) 
29-03-2022 รู้จัก “ส้มซูโม่” ที่กำลังดังเปรี้ยงทาง TikTok (0/2392) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 4

เดี๋ยวนี้เมืองไทยหนังอินเดียบูมมากๆเลยนะคะ ทีวีช่องใหญ่ๆนำหนังอินเดียคุณภาพมาฉายกันเยอะ ทั้งหนังตระกูลเทพเจ้า และหนังชีวิตเจ้าบทบาท เรียกว่าเวลาดาราอินเดียมาไทย ถึงกับมีแฟนคลับไปรับที่สนามบินทีเดียว สำหรับคนที่คิดถึงหนังอินเดียเก่าๆ แบบหาดูยาก ติดตามได้ใน http://aplay.tv//landing/Movie

  • ¼ÙéÊè§: เพชร ธรรมกีรติกุล
  • 58.97.5.50 Jul 17, 2019 @09:39 PM
  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 3

คนนี้ไม่ไช่ครับ

  • ¼ÙéÊè§: คนดูหนัง
  • 171.101.217.215 Jun 11, 2018 @08:19 PM
  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 2

For the umpteenth time, it’s not about the gun. It’s about rude behavior and dishonorable remarks.
replique tank cartier solo http://www.montrecartier.com/tag/montre-cartier-tank-mc/

  • ¼ÙéÊè§: replique tank cartier solo
  • 219.136.75.224 Dec 20, 2017 @01:19 AM
ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข