ข่าวคนไทยในอเมริกา
ผลไม้ไทยหมดอนาคต เชื่อ’นำเข้า’อีกไม่เกิน2ปี


บุญส่ง อนันตสุคนธ์




ดวงใจ กูรมะโรหิต และมะม่วน้ำดอกไม้นำเข้าจากประเทศแม็กซิโก




มะม่วงน้ำดอกไม้จากแม็กซิโก ลักษณะและรสชาติไม่แตกต่างจากที่ปลูกในประเทศไทยแม้แต่น้อย




แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : “บุญส่ง อนันตสุคนธ์” ผู้นำเข้าผลไม้ไทยเพียงเจ้าเดียวของฝั่งตะวันตก บอกจะนำเข้าผลไม้ไทย เช่นมะม่วง เงาะ มังคุด ลำไย มาขายในอเมริกาได้อีกไม่เกินสองปี เพราะเสียตลาดให้กับประเทศใกล้เคียง อย่างแม็กซิโก ที่ปลูกผลไม้ได้ได้ทุกอย่าง รวมถึงเขียวเสวย น้ำดอกไม้ และทุเรียนที่กำลังจะ “บุกอเมริกา” เร็วๆ นี้

หลังเสร็จพิธีแกรนด์โอเพ่นนิ่งร้านอาหารไทย “อิ่มอร่อย” เมืองมอนติเบลโล่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2017 แล้ว นายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ เจ้าของร้านได้ให้สัมภาษณ์ สยามทาวน์ยูเอส ว่า สาเหตุที่ตนเองหันมาจับธุรกิจร้านอาหารก็เพราะว่าธุรกิจนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย ที่เขาทำและประสบความสำเร็จอย่างสูงมานานกว่าสิบปีนั้น อาจจะอยู่ได้อีกไม่นานนัก

โดยปัจจุบันนี้ นายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ ผู้บริหารบริษัท เอ็นทีดับเบิลยู อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต (ยูเอสเอ) เป็นผู้นำเข้าสินค้าจำพวกผักผลไม้เพียงรายเดียว ที่ยังคงนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากประเทศไทย หลังจากที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย 6 ชนิดคือมะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และ สับปะรด มาตั้งแต่สิบปีก่อน โดยในช่วงแรกแรกนั้น มีผู้นำเข้าผลไม้ไทยถึงสามราย คือนอกจาก เอ็นทีดับเบิลยูฯ ของนายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ แล้ว ก็มี เบสท์ โอเรียนทัล ของนายอำนาจ เจริญสุขวานิช และ ดีพี เทรดดิ้ง ของนางดวงใจ กูรมะโรหิต

“คนอื่นเขาหยุดไปหมดแล้ว พวกผลไม้ที่ฉายรังสีนะ เหลือแต่มะขามหวาน ขิง มะพร้าวอ่อน อะไรพวกนี้ เพราะมันไม่ได้กำไร แล้วก็มีเรื่องอะไรต่ออะไรวุ่นวายไปหมด เหลือผมอยู่คนเดียว เพราะว่าเรามีโรงแพ็กผักผลไม้เองอยู่ที่เมืองไทย เป็นโรงแพ็คที่ได้มาตรฐานโลก ส่งออกได้ทุกประเทศ ผู้ส่งออกผลไม้ที่เขาไม่มีโรงแพ็กก็มาใช้ของเรา แต่ผมก็เอามาไม่กี่ตัว เพราะพอฉายรังสีแล้ว บางอย่าง อย่างเงาะขนมันจะดำ ขายยาก”

ที่ผ่านมานั้น การเป็นผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยเพียงรายเดียว (ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา) ก็ทำให้ธุรกิจนำเข้าผลไม้ของนายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ มีผลประกอบการที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

“การนำเข้าผลไม้จากเมืองไทยมันไม่เหมือนก่อนแล้ว เพราะสมัยก่อนมันมีของเราแห่งเดียว เขาก็กิน แต่ตอนนี้ประเทศรอบๆ เรานี่ เอาอย่างแม็กซิโกแค่ประเทศเดียวแล้วกัน ตอนนี้เขาปลูกผลไม้ไทยได้หมดแล้ว มังคุด ลำไย เงาะ มะม่วง ทุเรียนก็ปลูกแล้ว ซึ่งเงาะ มังคุด ลำไยของแม็กซิโก กัวเตมาลา พวกนี้มันกระทบเรามาก เพราะราคาเราสู้เขาไม่ได้ เรามาไกลกว่า ส่งมาทางเครื่องบินด้วย ต่ำๆ นะ เราแพงกว่าเขาสิบเหรียญ ผู้บริโภคเขาก็เห็นว่ามันก็เงาะเหมือนกัน ลำไยเหมือนกัน เขาไม่รู้ว่ารสชาติมันต่างกันยังไง ยอดขายเราเลยลดลง ลดลง”

การแข่งขันที่ผลไม้ไทยเสียเปรียบในเรื่องระยะทางดังกล่าว ส่งผลกระทบรุนแรงในช่วงสองปีที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้ขายเยอะอะไร แค่พออยู่ได้ แต่มันเหมือนกับว่า ที่เคยขายได้ร้อยนี่ มันลดเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ในปีแรก มาปีนี้เหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือที่เรายังมีลูกค้านี่ ก็คือพวกที่เขาชอบผลไม้ไทยจริงๆ เขาติดใจ ลูกค้าบางกลุ่มเขาถามเลยว่านี่มังคุดจากไหน ถ้าไม่ใช่ของไทยเขาไม่เอา เขาชอบ ไม่แคร์ราคา โดยเฉพาะมังคุดจากแม็กซิโกเขาจะเสียเยอะ เพราะมันต้องอบไอน้ำก่อนนำเข้า เนื้อจะแข็ง อย่าง 15 ปอนด์นี่จะกินได้ครึ่งเดียว แต่ของเราแพงกว่า แต่ไม่เสีย ลูกค้าท่ีเขารู้ก็ยังมีอยู่บ้าง แต่น้อย ทุกวันนี้ลูกค้าเราหายไป 50 เปอร์เซ็นต์”

นอกจากปัญหาเรื่องค่าขนส่งที่แพงกว่าผลไม้จากประเทศที่มีพรมแดนติดกับอเมริกาแล้ว นายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ บอกว่าราคาผลไม้ที่ซื้อจากสวนในเมืองไทยก็แพงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

“เราไม่สามารถควบคุมราคาได้ อย่างราคาบ้านเราตอนนี้ ประเทศจีนเขามากว้านซื้อผลไม้ไทยอยู่แล้ว มาเหมาถึงสวนเลย ให้ราคาดีมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตะก่อนเราซื้อมังคุดเกรดคัดนอก กิโล 70-80 เดี๋ยวนี้โน่น 250-300 มันต่างกันเยอะ ทุเรียนก็เหมือนกัน ตะก่อนเราเหมาสวน คัดเกรดมา 70-80 เดี๋ยวนี้ 150-180 มันแพงขึ้นมาเยอะ ตอนนี้ผลไม้บ้านเราขายได้ราคาดีมาก”

ถามว่าภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้ ธุรกิจนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยของ เอ็นทีดับเบิลยู จะทนอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ นายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ ตอบว่าน่าจะไม่เกินสองปี

“ทุกวันนี้ผมนำเข้าผลไม้จากเมืองไทยอย่างเดียว ให้ไปเอามาจากที่อื่นก็คงไม่ทำ เพราะเขาทำกันเยอะมาก กำไรน้อย ก็คงจะหันไปทำอย่างอื่นแทน” นักธุรกิจชื่อดังของเมืองแอลเอ กล่าวและว่าหากตนหยุดการนำเข้าผลไม้สดจากเมืองไทย ยอดส่งออกมาอเมริกาก็คงจะหายไปเกือบหมด เพราะยอดนำเข้าจากนักธุรกิจทางฝั่งนิวยอร์ค ยังมีตัวเลขน้อยมาก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2014 สยามทาวน์ยูเอส เคยนำเสนอข่าวการนำเข้ามะม่วงเขียวเสวย และมะม่วงน้ำดอกไม้จากแม็กซิโก ที่ถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก จำนวนสี่พันลัง โดยบริษัท ดีพี เทรดดิ้ง ในดาวน์ทาวน์ แอลเอ ของนางดวงใจ กูรมะโรหิต เป็นผู้นำเข้า เป็นมะม่วงที่มีลักษณะของผลและรสชาติไม่แตกต่างจากของไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ราคาต่ำกว่ามาก จึง “ขายหมด” อย่างรวดเร็ว

“ก็มะม่วงของบ้านเรานั่นแหละ เขาเอากิ่งพันธุ์มาจากบ้านเรา เอามาทาบกับต้นเก่าเลย ที่จริงมันเป็นสิ่งที่เขาห้ามเอาออกนอกราชอาณาจักรนะ แต่เมืองไทยก็รู้อยู่นะ เขาไม่ดูแล ใครมีเงินก็ไปซื้อมาได้” นางดวงใจ กูรมะโรหิต กล่าว

นางดวงใจ กูรมะโรหิต ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกการนำเข้าผลไม้ ร่วมถึงมะม่วงจากประเทศไทยมาตั้งแต่ปีแรกที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บอกว่ามะม่วงจากประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จในการตีตลาดอเมริกา เพราะค่าขนส่งค่อนข้างแพง ทำให้ต้องจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ในราคาประมาณลังละ 40 ดอลลาร์ขึ้นไป อีกทั้งปฏิกริยาที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสี บวกกับระยะเวลาการขนส่งทางเรือ ที่กินเวลาเกือบเดือน ทำให้คุณภาพของมะม่วงไม่ดีนัก ดังนั้นมะม่วงพันธุ์ไทยจากแม็กซิโก ที่จำหน่ายในราคาประมาณลังละ 16-20 ดอลลาร์ จึง “ปิดโอกาส” ของมะม่วงไทยอย่างสิ้นเชิง

นอกจากมะม่วงพันธุ์ไทยแล้ว ผู้บริหารของ ดีพีฯ กล่าวด้วยว่าขณะนี้ แม็กซิโกมีการปลูกผลไม้ไทย อีกหลายชนิด เช่นมังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ

“ลำไย ลิ้นจี่นี่เขาปลูกมานานมากแล้ว แต่สมัยก่อนลิ้นจี่เขาพันธุ์ไม่ดี หนังหุ้มกระดูก เน้ือบาง เม็ดใหญ่ และก็เปรี้ยว แต่ตอนนี้ เขาก็ทาบกิ่งพันธุ์ดีๆ มาจากเมืองจีนหมดแล้ว ตอนนี้ออกมาทั้งหวาน ทั้งเม็ดเล็ก ต้นมันมีอยู่แล้วใช่ไหม เขาก็แค่ต่อยอด แป๊บเดียวก็ออกดอกแล้ว มังคุดก็เหมือนกัน ปลูกเป็นภูเขาเลย ออกมาแล้วด้วยตั้งแต่ปีที่แล้ว ลูกใหญ่กว่าของเราอีก เนื้อขาวสวยเชียว เพียงแค่เขายังไม่รู้วิธีเก็บ วิธีรักษาไง มังคุดนี่ใช้วิธีเขย่าๆ ให้ตกลงมามันก็แข็งหมด เพราะฉะนั้น มังคุดแม็กซิโกมาถึงจะสู้ของเราไม่ได้”

นอกจากแม็กซิโกแล้ว ผู้บริหารของ ดีพี เทรดดิ้ง ยังบอกด้วยว่าหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกาก็กำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออกผลไม้พันธุ์ไทยเช่นกัน

“น้ำดอกไม้นี่ ชิลีปลูกเยอะมาก แล้วชิลีเป็นประเทศที่อยู่ในข้อตกลง Free economic zones ด้วย ไม่ต้องมีทรีตเมนท์อะไร คุณภาพเขาดีมาก เขาได้ไฮเทคจากไต้หวันไปช่วยคุม ช่วยปลูก สอนวิธีเก็บวิธีแพ็ค สอนทุกอย่าง ทำตลาดให้ด้วย แบบช่วยเหลือประเทศยากจนอะไรแบบนี้ เขามีข้อตกลงกันระหว่างรัฐบาลน่ะ ไต้หวันนี่เก่งเรื่องปลูกผลไม้มากนะ เขาไม่ได้ปลูกน้ำดอกไม้บ้านเขา แต่เอาไปให้ชิลีปลูก แล้วส่งมาขายอเมริกา เอาสิ ฮาวายก็มี แล้วสมัยนี้เขาใช้วิธี Tissue culture (เพาะเนื้อเยื่อ) ไม่ต้องขนกิ่งตอนมาแล้ว หิ้วมาแค่ลูกสองลูก ปลูกได้เป็นสวนเลย” นางดวงใจ กูรมะโรหิต กล่าว.


 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




  • ¤ÇÒÁ¤Ô´àËç¹·Õè : 1

wwwwww

  • ¼ÙéÊè§: michael
  • 51.79.156.8 Aug 27, 2020 @04:03 AM
ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข