ตระเวนแอลเอ
ตระเวนแอลเอ 340

.

.



ปิดทางขึ้นชมป้ายฮอลลีวูด

ถนนบีชวูด (Beachwood Drive) ซึ่งเป็นถนนนำขึ้นไปสู่ โฮลี่ริดจ์ เทรล (Hollyridge trail) ทางเดินบนเขาที่ทอดไปสู่จุดชมป้ายฮอลลีวูดที่ถือว่า “ป็อปปูลาร์” ที่สุดของเมืองแอลเอ จะถูกปิด ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าอีกต่อไป โดยจะมีผลตั้งแต่ในวันที่ 18 เมษายนที่จะถึงนี้ ตามคำสั่งศาล

ข่าวบอกว่า บริษัท ซันเซ็ท แรนช์ ฮอลลีวูด สเตเบิล ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการขี่ม้าชมวิวฮอลลีวูด ได้ทำการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเทศบาลเมืองแอลเอ ฐานทำการโฆษณาหรือแนะนำเส้นทางนี้จนเป็นที่รู้จัก เป็นเหตุให้ถนนเส้นนี้มีนักท่องเที่ยวแน่นขนัด ไม่ต่ำกว่า 15,000 คนต่อวัน ก่อให้เกิดปัญหารถติด และไม่มีที่จอดรถ ทำให้บริษัทต้องเสีย “ลูกค้า” ทั้งที่เลี้ยวกลับเพราะถอดใจกับปัญหารถติด และที่ถูกเจ้าหน้าที่เทศบาล ปิดทางในช่วงที่มีรถยนต์มากเกินไปอีกด้วย

ข่าวบอกด้วยว่า สภาเมืองแอลเอ ลงมติเห็นชอบเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม ให้จัดงบประมาณ 100,000 ดอลลาร์สำหรับศึกษาหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มเส้นทางไปยังจุดชมป้ายฮอลลีวูด ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่า รวมถึงประชาชนหรือธุรกิจในพื้นที่น้อยที่สุด

ขณะนี้ เทศบาลแนะนำนักท่องเที่ยวให้ใช้ถนน Canyon Lake Drive ซึ่งเชื่อมต่อกับ โฮลี่ริดจ์ เทรล ขึ้นไปชมป้ายฮอลลีวูด แทน.





“ชนแล้วหนี” ลด หลังโรบินฮูดมีใบขับขี่

ผลศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ตัวเลขเหตุการณ์ “ชนแล้วหนี” ในรัฐแคลิฟอร์เนียลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากกฎหมาย เอบี 60 ที่อนุญาตให้ผู้ที่มีเอกสารแสดงตัวไม่ครบถ้วนมีสิทธิ์ทำใบขับขี่ มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2015 เป็นต้นมา

ข่าวบอกว่ากฎหมายของแคลิฟอร์เนียฉบับนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเอกสารแสดงตัวไม่ครบถ้วนมากกว่า 850,000 ในแคลิฟอร์เนียสามารถมีใบขับขี่ และมีอินชัวรันซ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่จำเป็นต้องหลบหนีหลังเกิดอุบัติเหตุ เพราะกลัวจะถูกจับหรือถูกเนรเทศอีกต่อไป

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ซึ่งระบุว่าตัวเลขเหตุการณ์ชนแล้วหนีในแคลิฟอร์เนีย ที่ลดลงอย่างน้อย 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 หรือน้อยลงประมาณ 4,000 กรณีเมื่อเทียบกับปี 2014 นี้ เท่ากับเป็นการตอกย้ำความเชื่อของผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงหน่วยงานตำรวจแอลเอ และหน่วยงานเชอรีฟของแอลเอเคาน์ตี ว่า การเปิดโอกาสให้กลุ่มอยู่อยู่อย่างผิดกฎหมายมีโอกาสได้ศึกษากฎจราจร หรือผ่านการสอบขับรถกับเจ้าหน้าที่ และมีอินชัวรันซ์ จะทำให้การใช้รถใช้ถนนในแคลิฟอร์เนียมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสแตนฟอร์ดยังบอกด้วยว่า เหตุการณ์ชนแล้วหนีที่ลดลง สามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มหาศาล โดยประเมินว่าแต่ละปี บริษัทอินชัวรันซ์จะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ชนแล้วหนีเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 17 ล้านดอลลาร์ อันจะส่งผลกระทบต่อค่าฟรีเมี่ยมของผู้ซื้ออินชัวรันซ์ทั้งหมดด้วย

ข่าวบอกด้วยว่า ในแอลเอ และออเรนจ์ เคาน์ตี มีผู้อยู่แบบมีเอกสารไม่ครบถ้วนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน 11.1 ล้านคนทั่วประเทศ และคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องขับรถ ไม่ว่าจะมีใบขับขี่หรือไม่ก็ตาม

ปัจจุบัน มีถึง 12 รัฐในอเมริกา รวมถึงวอชิงตัน ดีซี ที่อนุญาตให้ผู้มีเอกสารแสดงตัวไม่ครบถ้วนทำใบขับขี่ได้ และรัฐนิวยอร์ค กำลังจะเป็นรัฐที่ 13 โดยข่าวบอกว่าผลการศึกษาของสแตนฟอร์ดฉบับนี้ น่าจะช่วยให้บรรดานักการเมืองของรัฐนิวยอร์ค ตัดสินใจสนับสนุนเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น.





คดีเหยียดผิวในแอลเอ พุ่ง

คดีอาชญากรรมที่มีสาเหตุมาจากการเหยียดผิวในเขตลอส แอนเจลิส ในปี 2016 เพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ คือเพิ่มจาก 200 คดีในปี 2015 เป็น 230 คดี ถือว่าเป็นปีที่มีคดีเหยียดผิวสูงที่สุดนับจากปี 2008 โดยคดีที่มีเหยื่อเป็นกลุ่ม แอลจีบีทีคิว เพิ่มสูงที่สุด คือ 24.5 เปอร์เซ็นต์ คือคดีทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม แอลจีบีทีคิว 61 คดี เปรียบเทียบกับ 49 คดีในปีก่อนหน้านั้น

แต่คดีเหยียดผิวที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำยังมีปริมาณมากที่สุด คือ 54 คดีในปี 2016

ข่าวบอกว่า ตัวเลขของคดีอาชญากรรมในลอส แอนเจลิส เพิ่มขึ้นทุกประเภทในปี 2016 เช่นทำร้ายร่างกาย เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ คดีจี้ปล้นเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์.





แอลเอ “แบน” โชว์สัตว์ (ทุกชนิด) ริมถนน

แอลเอไทมส์ รายงานข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสวัสดิการของสัตว์ (Animal Welfare Committee) ของสภาเมืองแอลเอ กำลังพิจารณาญัตติที่ยื่นโดย เดวิด ริว สมาชิกสภาเมืองเขต 4 ให้ “แบน” การแสดงที่ใช้สัตว์มีชีวิต เช่นงู สิงโต ช้าง นก และสัตว์หายากอื่นๆ ในเขตเมืองแอลเอ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบและกลายเป็นเทศบัญญัติของเมืองแอลเอ ก็จะมีผลให้การแสดงที่ใช้สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งในงานปาร์ตี้, เฟสติวัล, คณะละคร หรือการแสดงเปิดหมวกข้างถนนต่างๆ กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปทันที

อย่างไรก็ตาม การห้ามไม่ให้ใช้สัตว์มาประกอบการแสดงดังกล่าว มีข้อยกเว้นสำหรับสวนสัตว์ลอส แอนเจลิส, การถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ และกิจกรรมเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์สัตว์

เดวิด ริว ระบุว่า การใช้สัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อเหตุผลในการสร้างความบันเทิงและหารายได้นั้น ส่งผลให้เกิดการกักขังสัตว์ในกรง เป็นการทรมานสัตว์ ทั้งจากความเหงา ขาดสารอาหาร และเครียดจากการเดินทางขนส่ง นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดการทารุณสัตว์ จากการบังคับให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ผิดธรรมชาติด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2014 เมืองแอลเอ ได้มีเทศบัญญัติห้ามใช้ตะขอ (bullhook) กับช้าง ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงกับคณะละคร ริงลิง บราเธอร์ และเบอร์นัมแอนด์ไบลี เซอร์คัส ที่เดินทางมาเปิดแสดงที่ลอส แอนเจลิส เป็นประจำทุกปี เพราะไม่สามารถใช้ช้าง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สุดขณะเดินทางมาเปิดแสดงในลอส แอนเจลิส ได้อีกต่อไป และกระแสต่อต้านการใช้สัตว์ในการแสดงประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นผลให้คณะละครริงลิง บราเธอร์ฯ ที่มีประวัติยาวนานร่วมร้อยปี ต้องประกาศปิดตัวเองเป็นการถาวรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ข่าวบอกด้วยว่า หากญัตติผ่านความเห็นของของ Animal Welfare Committee ในสัปดาห์นี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมืองแอลเอ ในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้.







แอลเอ “แบน” โชว์สัตว์ (ทุกชนิด) ริมถนน

แอลเอไทมส์ รายงานข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสวัสดิการของสัตว์ (Animal Welfare Committee) ของสภาเมืองแอลเอ กำลังพิจารณาญัตติที่ยื่นโดย เดวิด ริว สมาชิกสภาเมืองเขต 4 ให้ “แบน” การแสดงที่ใช้สัตว์มีชีวิต เช่นงู สิงโต ช้าง นก และสัตว์หายากอื่นๆ ในเขตเมืองแอลเอ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบและกลายเป็นเทศบัญญัติของเมืองแอลเอ ก็จะมีผลให้การแสดงที่ใช้สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งในงานปาร์ตี้, เฟสติวัล, คณะละคร หรือการแสดงเปิดหมวกข้างถนนต่างๆ กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปทันที

อย่างไรก็ตาม การห้ามไม่ให้ใช้สัตว์มาประกอบการแสดงดังกล่าว มีข้อยกเว้นสำหรับสวนสัตว์ลอส แอนเจลิส, การถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ และกิจกรรมเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์สัตว์

เดวิด ริว ระบุว่า การใช้สัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อเหตุผลในการสร้างความบันเทิงและหารายได้นั้น ส่งผลให้เกิดการกักขังสัตว์ในกรง เป็นการทรมานสัตว์ ทั้งจากความเหงา ขาดสารอาหาร และเครียดจากการเดินทางขนส่ง นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดการทารุณสัตว์ จากการบังคับให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ผิดธรรมชาติด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2014 เมืองแอลเอ ได้มีเทศบัญญัติห้ามใช้ตะขอ (bullhook) กับช้าง ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงกับคณะละคร ริงลิง บราเธอร์ และเบอร์นัมแอนด์ไบลี เซอร์คัส ที่เดินทางมาเปิดแสดงที่ลอส แอนเจลิส เป็นประจำทุกปี เพราะไม่สามารถใช้ช้าง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สุดขณะเดินทางมาเปิดแสดงในลอส แอนเจลิส ได้อีกต่อไป และกระแสต่อต้านการใช้สัตว์ในการแสดงประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นผลให้คณะละครริงลิง บราเธอร์ฯ ที่มีประวัติยาวนานร่วมร้อยปี ต้องประกาศปิดตัวเองเป็นการถาวรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ข่าวบอกด้วยว่า หากญัตติผ่านความเห็นของของ Animal Welfare Committee ในสัปดาห์นี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมืองแอลเอ ในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้.





 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข