ข่าวคนไทยในอเมริกา
ชี้โอกาสตายเพราะ’ดินไหว’ น้อยกว่าถูกฆาตกรรม/ฟ้าผ่า








แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวระบุโอกาสเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของชาวแคลิฟอร์เนียมีน้อยมาก น้อยกว่าโอกาสตายเพราะฟ้าผ่า แต่ความเดือดร้อนหลังดินไหวจะสาหัสหากไม่รู้จักเตรียมตัวให้พร้อม

สัปดาห์ที่ผ่านมา แอลเอไทมส์ นำเสนอบทความเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกกันว่า “เดอะบิ๊กวัน” โดยมีการสัมภาษณ์ ลูซี่ โจนส์ นักวิทยาแผ่นดินไหว (seismologist) ชื่อดังของสถาบันศึกษาแผ่นดินไหวเมืองลองบีช ที่บอกว่าการเตือนภัยแผ่นดินไหว ที่มีเป็นระยะนั้น ไม่ได้ต้องการให้ชาวแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในลอส แอนเจลิส และเมืองตามรอยแยก ซานแอนเดรส (San andreas fault) ทั้งหลาย ตื่นตระหนก หวาดกลัวจนเกินไป แต่ต้องการให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงรับทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสติ

“โอกาสที่คุณจะตายเพราะถูกเด็กทารกยิงมีสูงกว่าตายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว” เธอกล่าว และย้ำว่าชาวแคลิฟอร์เนียทุกคนจะต้องคิดแบบนี้ เพื่อจะได้ไม่ตื่นตัวจนถึงขั้น “ก้าวขาไม่ออก” เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงๆ

“คุณต้องรู้ว่าโอกาสรอดตายมีสูงมาก ขอเพียงอย่าตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูก และที่สำคัญคือเตรียมตัวให้พร้อม ปรับบ้านของคุณให้ปลอดภัย เช่นอย่าให้ตู้หนังสือ หรือรูปภาพล้มลงเตียงนอนถ้าเกิดแผ่นดินไหว อย่าให้ตัวบ้านเลื่อนออกจากฐาน”

ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวบอกต่อไปว่า การที่มนุษย์เรากลัวแผ่นดินไหวนั้น อธิบายตามหลักจิตวิทยาได้ว่า เป็นเพราะเรากลัวความไร้แบบแผน (randomness) “ข้อเท็จจริงที่ว่าเราทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ คุณไม่มีทางรู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่คุณควบคุมไม่ได้ แต่คุณควบคุมสภาพแวดล้อมตัวเองได้ เพราะฉะนั้น จัดการซะ โดยดูแลสภาพรอบตัว ทั้งที่บ้าน ที่ทำงานให้เป็นที่ปลอดภัยตอนเกิดแผ่นดินไหว”

ถามว่ามีโอกาสมากแค่ไหน ที่ชาวแคลิฟอร์เนียจะเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดร.ลูซี่ โจนส์ บอกว่ามีน้อยมาก โดยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพราะแผ่นดินไหวปีละไม่เกิน 40 คน น้อยกว่าตัวเลขชาวอเมริกันทั่วประเทศที่เสียชีวิตเพราะถูกเด็กทารกยิงในปี 2015 เล็กน้อย

หรือหากเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต ก็ยังน้อยกว่าอยู่ดี “มีชาวอเมริกันเสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่าปีละประมาณ 75 คน” ดร.ลูซี่ โจนส์ บอก

“ผู้คนในแคลิฟอร์เนียภาคใต้เสียชีวิตเพราะเหตุธรรมชาติที่มาพร้อมกับฝน อย่างโคลนถ่ม น้ำท่วมมากกว่าเสียชีวิตเพราะแผ่นดินไหวหลายเท่าตัวเลย”

ดร.ลูซี่ โจนส์ สรุปว่าในชั่วชีวิตของคนชาวแคลิฟอร์เนียนั้น มีโอกาสเสียชีวิตเพราะแผ่นดินไหวเพียง 1 ต่อ 20,000 ขณที่ความเสี่ยงต่อการถูกฆาตกรรม อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 และโอกาสเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ 1 ต่อ 100

“คุณมีโอกาสตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมมากกว่าเป็นเหยื่อของดินดินไหว” ดร.ลูซี่ โจนส์ ย้ำ

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกุมาภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ได้จัดทำแผนงาน “เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐอาณา โดยมีสาระสำคัญ เช่น

-ชาวไทยสามารถศึกษาข้อมูลการเตรียมความพร้อมรับมือได้จาก http://readyla.org, www.emergency.lacity.org

-ประชาชนในพื้นที่ควรลงทะเบียนรับข่าวสาร ข้อมูลการเตรียมความพร้อม และการเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ http://notifyla.org/  http://preparelanow.org  http:/twitter.com/readyla  http://www.facebook.com/readyla

-แต่ละชุมชนควรเข้าร่วมการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมจาก Community Emergency Response Team Training (http://www.cert-la.com/) หรือหลักสูตรออนไลน์ http://training.fema.gov/is/crslist.aspx

-โดยที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยอาจไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย/ ผู้ประสบภัยทันทีหลังเกิดภัยพิบัติ ทุกชุมชนจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นอย่างน้อย ๗ วัน – หลายสัปดาห์ นครลอสแอนเจลิสจึงได้จัดเตรียมเครื่องมือในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติสำหรับชุมชน 5 Steps Neighborhood  Preparedness โดยขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมครอบคลุมสาระสำคัญ ได้แก่

1 ประชาชนต้องทำความรู้จักกับชุมชนของตนเอง

2 คัดเลือกผู้นำเพื่อการประสานงานในการเตรียมความพร้อมก่อนภัยพิบัติ การจัดการในระหว่างเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ จัดเตรียมการประชุม จัดระบบการติดต่อประสานครอบครัวต่าง ๆ ในชุมชน จัดตั้งศูนย์/ เครือข่ายการดูแลเด็ก คนชรา คนพิการ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ในชุมชน

3 มีความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงของชุมชนต่อภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ อาทิ สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า แผ่นดินไหว ฯลฯ และผลกระทบต่อชุมชน

4 รวบรวมข้อมูลสำหรับการติดต่อบุคคลในชุมชน และข้อมูลเกี่ยวกับทักษะความเชี่ยวชาญของคนในชุมชน อาทิ แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ช่างสาขาต่าง ๆ เพื่อจะได้จัดเตรียมการฝึกอบรมชุมชนในสาขาที่จำเป็น

5  จัดหาสถานที่สำหรับการเป็น “จุดรวม (Gathering Place)” ของทุกคนในชุมชนหากเกิดภัยพิบัติ เพื่อประสานงานการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ.


 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/26)   
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/194) 
16-04-2024 ภูมิใจ! แอลเอครองแชมป์ “ยุงชุม” สุดในประเทศ (0/110) 
15-04-2024 “โคชเดี่ยว” สร้างสถิติใหม่ บอสตัน มาราธอน (0/84) 
15-04-2024 ด่วน! เข้าอเมริกา อาจไม่ต้องผ่านด่านตรวจที่สนามบินแล้ว (0/94) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข