ข่าวคนไทยในอเมริกา
รายงานหน้าหนึ่ง : ถนัด คอมันตร​์ และสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่เจือจาง


ดร.ถนัด คอมันตร์





ทหารไทยในสงครามเวียดนาม


ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ของสหรัฐฯ ต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เดินทางมาร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ที่แรนโช่มิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2016


เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2016 พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตนักการเมืองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการประเทศ ของไทย ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคชรา ขณะมีอายุได้ 102 ปี


ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชีย ชื่อ โจชัว เคอร์ลานท์ซิค ได้เขียนบทความเรื่อง Thanat Khoman and the Fraying of the U.S.-Thailand Alliance ขึ้นมาเพื่อไว้อาลัยท่าน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งบทความชิ้นนี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่ออย่างแพร่หลาย ทั้งบนเว็บไซต์ของสื่อกระแสหลัก อย่างนิวยอร์คไทมส์ หรือของสถาบันการศึกษาระดับหัวแถวหลายแห่ง และตามเว็บบล็อคที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชีย หรือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ​ ทั่วไป...

บทความชิ้นนี้แนะนำ ดร.ถนัด คอมันตร์ ว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้นำ” ที่เคยมีบทบาทสำคัญในไทยช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีน ทั้งทั้งสามหน คือยุค 1950s, 1960s และ 1970s โดยบอกว่าท่านเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่างปี 1959-1971 อันเป็นยุคสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ กำลังแผ่อิทธิพลเข้าคลุมอินโดจีน โดยเฉพาะลาวและเวียดนามใต้ ซึ่งแน่นอนว่ากระแสลุกฮือของคอมมิวนิสต์ยุคนั้น ได้สร้างความวิตกให้กับรัฐบาลทหารของไทยเป็นอย่างมาก

แม้จะออกตัวว่า “เป็นกลาง” และร่วมมือกับทุกชาติก็ตาม แต่ทราบกันดีว่าไทยเราเริ่มเอียงไปผูกสัมพันธ์แบบที่เรียกว่า “ความร่วมมือทางด้านความมั่นคง” หรือ security partnership กับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ก่อนที่ ดร.ถนัด คอมัตร์ จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเสียอีก

ในเดือนมีนาคม 1962 ดร.ถนัด คอมันตร์ และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ดีน รัสค์ ได้ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือทางด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญคือการที่สหรัฐฯ ให้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย หากไทยถูกรุกรานจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ถือว่าสัญญาความร่วมมือฉบับนั้น เป็นการ “กระชับ” สัมพันธ์ระหว่างไทยสรัฐฯ ที่มีมาเกือบ 130 ปีก่อนหน้านั้น (สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ปี 1833) ให้มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับซึ่งกันและกันว่า... ฉันขาดเธอไม่ได้...

และเมื่อถึงยุคสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ ได้ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธกับกองทัพไทยอย่างเต็มกำลัง และกองทัพของไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามทั้งในลาวและเวียดนามใต้ ซึ่งนอกจากร่วมรบในเวียดนามแล้ว กองทัพไทยมีส่วนร่วมรบกับลาวขวา (the force army royal=FAR) ในสงครามกลางเมืองของลาวในปี 1960 และปีถัดมาก็มีส่วนร่วมฝึกทหารและร่วมรบกับกองกำลังอาสาสมัครของม้งในลาว ที่มีนายพล วังเปา เป็นผู้นำด้วย

โดยในยุคนั้น นอกจากความช่วยเหลือทางด้านการทหารแล้ว สหรัฐฯ ยังได้ “ทุ่มเท” ความช่วยเหลือให้ไทยทุกด้าน รวมถึงด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงระหว่างกลางยุค 1950s ถึงกลางยุค 1970s ที่มีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในภูมิภาคต่างๆ ทั้งการสร้างถนน (ถนนมิตรภาพ) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อน ฯลฯ โดยบทความของ โจชัว เคอร์ลานท์ซิค บอกว่าความช่วยเหลือดังกล่าว นำไปสู่การปรับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของไทยชนิดปรู๊ดปร๊าดเลยทีเดียว

และสัมพันธภาพที่มีกับไทย ก็ทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตัน มี “ส่วนได้” มากมายมหาศาลเช่นกัน ที่สำคัญคือการมีฐานทัพอากาศสำหรับเฝ้าดูแลสถานการณ์ในอินโดจีนที่อุดรธานีและอุบลราชธานี จนทำให้สองจังหวัดภาคอีสานยุคนั้น เป็นเหมือน “มินิ-อเมริกา” ในเอเชียเลยทีเดียว...

ในยุคที่มี “แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์” (Thanat-Rusk Joint Communiqués) หรือถ้อยแถลงสัญญาระหว่าง ดร. ถนัด คอมันตร์ กับนายดีน รัสก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง (real mutual needs) แม้ว่าจริงๆ แล้ว หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยคิด พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่เคยได้รับความยอมรับในราชอาณาจักรไทย แต่ภายใต้สภาพการณ์ในยุคนั้น ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลง (การปกครอง) ขนาดใหญ่กับหลายประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่กระแส “ตื่นภัยแดง” จะระบาดรุนแรง ถึงขั้นที่ผู้นำไทยยุคนั้น ต้องการการปกป้องจากสหรัฐฯ

ขณะที่สหรัฐฯ ก็ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เพราะต้องการคงไว้ซึ่งฐานทัพในประเทศไทย ซึ่งในยุคนั้นถือเป็น “ผู้นำ” ที่โดดเด่นที่สุดของเหล่าประเทศเสรีในเอเชีย และเพื่อให้ประเทศไทย เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดจากระบบเศรษฐกิจเสรี และที่สำคัญคือ ศักยภาพของทหารไทย ที่ได้รับการยอมรับระหว่างรวมรบในสงครามเวียดนามมาแล้ว...

แต่ในระยะหลัง ดร. ถนัด คอมันตร์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าท่านให้ค่าของ “ความร่วมมือทางด้านความมั่นคง” (ที่ท่านมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมากับมือ) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ น้อยลง โดยหันไปชักชวนชาติเพื่อนบ้านของไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มารวมตัวกันและพัฒนาเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ขึ้นมา โดยได้มีการลงนามกันที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967

กลุ่มประเทศอาเซี่ยน เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า “การสร้างความมั่นคงและแก้ไขปัญหาของกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค” มากกว่ามิตรแดนไกลอย่างสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ดร.ถนัด คอมันตร์ ยังสนับสนุนสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างไทยกับประเทศจีนหลังจากสงครามจีน-เวียดนาม (สงครามอินโดจีนครั้งที่สาม) ยุติลงในปลายยุค 1970s ด้วย ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดกระแสความสำคัญของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยลงนั่นเอง

จากนั้น บทบาทสำคัญของ ดร.ถนัด คอมันตร์ ในความพยายามประกาศตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกรุงวอชิงตัน มีขึ้นอย่างชัดเจนในยุค 1980s ในขณะที่ท่านยังคงทำงานด้านการเมืองอยู่ โดยท่านได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่ไทยถูกอเมริกาใช้เป็น “เกราะกันภัย” ของตัวเองแบบที่ผ่านมา

นับจากยุคนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ความสำคัญของไทย ที่สหรัฐฯ เคยมองเห็นและให้ค่า จนก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่แน่นแฟ้นสืบเนื่องมานาน กำลัง “อ่อนแรง” ลงมาก

สาเหตุมาจากปัจจุบันนี้ สหรัฐฯ มี “ส่วนได้” จากประเทศไทยน้อยกว่าในยุคที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ ยังคงเคลื่อนไหว และมีบทบาทสำคัญกับต่อประเทศไทย อย่างเทียบไม่ได้  ความสมดุลของสัมพันธภาพต่อกันจึงเริ่มจะเอียง และทำให้สหรัฐฯ สามารถเอ่ยปาก “วิพากษ์วิจารณ์” ผู้นำของไทยในเรื่องต่างๆ ที่เขาไม่ชอบ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ โดยไม่ต้องเกรงใจอะไรกันมากนัก

อย่าลืมว่าวันนี้ สหรัฐฯ ไม่ต้องอิงกับประเทศไทยในฐานะ “เกราะกันภัย” เหมือนอย่างที่เคยเป็น เพราะไม่มีอันตรายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่มีสงครามใหญ่ๆ ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งที่ผ่านมา  สหรัฐฯ ยังได้สร้างสัมพันธ์แบบใกล้ชิดกับทั้งเวียดนามและสิงคโปร์ สัมพันธ์แบบที่มองกันว่าเข้ามาทดแทนความสัมพันธ์ทุกแบบ รวมถึงแบบ “เกราะกันภัย” ที่เคยมีกับไทยได้อย่างสิ้นเชิง

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นของสัมพันธภาพ ที่เคยเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ยืนยาวมากว่า 180 ปีจึงอ่อนแอลงแบบยากที่จะฟืนฟู...

ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 อย่างที่ใครบางคนพยายามจะบอกคุณ....

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :
 
Detail :
 



ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข