บทความหน้าสาม
สวัสดีปีใหม่ 2557





โดย : ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ

พอปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ย่างเข้ามาแต่ละครั้ง คนที่รักเคารพและนับถือกัน นิยมส่งคำอวยพรในรูปแบบต่างๆ ให้แก่กันและกัน รูปแบบของคำอวยพรที่ใส่ลงในบัตรอวยพรล้วนเป็นถ้อยคำที่ให้กำลังใจแก่ผู้รับ ถ้อยคำที่ส่งไปว่า ขอให้มีความสุข ขอให้มีความสำเร็จ ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข จะฟังสักเท่าไรก็ไม่เคยเบื่อ เพราะฟังแล้วมีกำลังใจมีความหวังและมีความสุขในทันที แม้จะเพียงชั่วขณะเวลาสั้นๆหรือยาวนานก็ตาม ขอให้เป็นเวลาที่มีความสุขเถิดล้วนเป็นเรื่องที่ดีมีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น

แม้ตามปกติเวลาที่เราพบกันจะทักทายว่า สวัสดี อยู่เป็นประจำ แต่พอถึงวันปีใหม่ เราจะทักทายกันเป็นพิเศษว่า “สวัสดีปีใหม่”

คำว่า สวัสดี หมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้าในชีวิต หน้าที่ การงาน และครอบครัว

เมื่อกล่าวว่า สวัสดีปีใหม่ จึงหมายความว่า ขอความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง ความราบรื่น สดชื่น เบิกบาน ความคล่องแคล่วในการทำมาหากินจงมีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามานี้

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า ความสวัสดีจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม และพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสวัสดีไว้หลายที่หลายแห่ง แต่พอสรุปได้ดังนี้

ความสวัสดี จะบังเกิดมีแก่ผู้ที่ประพฤติสัปปุริสธรรม อันได้แก่ธรรมะสำหรับคนดี ประกอบด้วย รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้ชุมชนหรือสังคม ผู้ที่รู้จักสิ่งเหล่านี้อย่างดีแล้วปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่นและสังคม ย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหน้าที่และการงานที่จะต้องเกี่ยวข้องประสานกับผู้อื่นในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป

ความสวัสดี จะบังเกิดมีแก่คนที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราว ข้อมูล และความรู้ต่างๆ มามากมาย มีความรู้รอบตัวและรอบด้านทั้งในด้านชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศีลธรรม ศาสนาและวัฒนธรรมแล้วเลือกสรรค์นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ผู้มีปัญญา คือความรอบรู้ ในเรื่องที่จะหาปัจจัยมาบำรุงชีวิตให้มีสุขภาพดี รอดพ้นจากการเบียดเบียนของโรคภัยไข้เจ็บ มีความรอบรู้ในธรรมะเพียงพอที่จะนำมารักษาจิตให้รอดพ้นจากการครอบงำโดยอำนาจฝ่ายต่ำของกิเลส มีความรุ่งเรืองตามทำนองคลองธรรม ตามสมควรแก่ธรรมที่ได้ปฏิบัตินั้นๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการสามประการ คือ การฟัง การอ่าน การคิดพินิจ ตรึกตรอง และการลงมือนำเอาสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ตรึกตรองแล้ว มาปฏิบัติจนเกิดความชำนาญแคล่วคล่องว่องไว ทั้งในเรื่องกายและเรื่องจิตอย่างสมดุล

ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ ผู้ที่มีความพากเพียรอย่างสม่ำเสมอในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน การทำงานและการปฏิบัติธรรม ต้องอาศัยความพากเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้อ่อนกำลังลง ความเพียรมากจะทำให้กำลังของกิเลสอ่อนกำลังลง เมื่อมีความเพียรมากถึงที่สุดที่เรียกว่า ตบะ ก็จะเผากิเลสให้หมดไป ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้นแบบแห่งการใช้ความเพียรเครื่องเผากิเลสจนไม่เหลือแล้ว จึงมีแต่ความสะอาด สว่างและสงบพบแต่ความสวัสดีเป็นนิรันดร์

ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ ผู้สำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในเวลาที่ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส จิตใจรับธรรมารมณ์ การสำรวมคือ การใช้สติคอยรักษาใจมิให้หวั่นไหว มิให้เศร้าหมอง มิให้ประมาทมัวเมา เมื่อกระทบแต่ละครั้ง เพื่อรักษาความปกติของจิตไว้อันนำไปสู่การพัฒนาจิตให้มีความ มั่นคง บริสุทธิ์ อ่อนโยน มีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสวัสดีจักบังเกิดมีแก่ผู้มีสติ คือ ความใคร่ครวญก่อนทำ ก่อนพูดและก่อนคิด เพื่อให้การทำ การพูดและการคิดนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม สะดวกราบรื่น มีความเจริญรุ่งเรือง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘สติมโต สทา ภัททัง’ ผู้มีสติ เป็นผู้เจริญทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญผู้มีสติว่าเป็นผู้เจริญ แต่มิได้ตรัสว่า ผู้มีทรัพย์สินมากเป็นผู้เจริญ เพราะผู้มีทรัพย์สินมากๆ แต่ขาดสติย่อมใช้ทรัพย์สินที่มากมายเหล่านั้นเพื่อความเสื่อมของตนและสังคมส่วนรวมได้ แต่ผู้มีสติ มีความยั้งคิดดีๆ ไม่ว่า จะยากจนหรือมั่งมี ย่อมไม่กระทำความผิด ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญคนมีสติว่า เป็นผู้เจริญที่ไม่มีวันเสื่อมได้เลย

ความสวัสดี ย่อมบังเกิดมีแก่คนที่ปล่อยวางได้ มนุษย์เกิดมามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเท่าเทียมกัน มีความสามารถในการรับรู้ ทาง ตาหู จมูก ลิ้น กาย และใจเท่าๆ กัน แต่มนุษย์ทุกคน มีความสุขและความทุกข์ไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญที่เป็นดัชนีชี้วัดว่าใครจะมีความสุขหรือความทุกข์ มีความหนักใจหรือเบาใจมากน้อยกว่ากันอยู่ที่ว่า เมื่อ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส จิตรับธรรมารมณ์แล้ว ยึดมั่นหรือปล่อยวางได้มากกว่ากัน ถ้ายึดมั่นมากก็ทุกข์มาก หนักมาก ถ้าปล่อยวางได้มาก ก็จะเบากาย เบาใจมาก และความทุกข์ลดน้อยลงตามขณะจิตที่ได้ปล่อยวางนั้น เพราะความยึดมั่นนั้นหนัก การปล่อยวางนั้นเบา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ความไม่ยึดมั่น หรือ ความปล่อยวางนี่เองจะนำความสวัสดี คือ ความโล่ง โปร่งเบามาสู่ชีวิต ไม่ว่าจะปีใหม่หรือในวันเวลาใดๆก็ตามความจริงข้อนี้ก็จะจริงอยู่ตลอดเวลา

การส่งคำอวยพรให้แก่กันในวันปีใหม่ก็เป็นเรื่องดีที่น่ากระทำเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน แต่ถ้าจะทำใจให้มีกำลังและนำชีวิตสู่ความสวัสดีอย่างยั่งยืนพึ่งตนเองได้ ก็ต้องนำธรรมะดังกล่าวนี้มาปฏิบัติแล้วจะพบกับความสวัดีมีสุขอย่างยั่งยืนแท้จริง

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน จงมีความรักธรรม ใคร่ธรรม พากเพียรในการปฏิบัติธรรมอันจะนำมาซึ่งความสุขตามสมควรแก่ธรรม ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติอย่างดีแล้ว จงเป็นพลวปัจจัยให้พบกัยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกขณะแห่งชีวิตเทอญ

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

วันที่ 26 ธันวาคม 2556


 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
22-05-2023 แผนกสูตินรีเวชของ APHCV จัดเสนอบริการรับฝากครรภ์ที่ศูนย์สุขภาพลอสเฟลิซให้แก่ชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว (0/1523) 
05-05-2023 รายงาน : เปิดหมายกำหนดการและขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (0/409) 
30-01-2023 รายงาน : สรุปเทรนด์ตลาดและธุรกิจปี 2565 ในสหรัฐฯ และแนวโน้มปี 2566 (0/861) 
29-09-2022 เพื่อช่วยบุตรหลานของท่านในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแสดงออกที่โรงเรียน ให้ดียิ่งขึ้น (0/996) 
29-03-2022 รู้จัก “ส้มซูโม่” ที่กำลังดังเปรี้ยงทาง TikTok (0/2393) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข